xs
xsm
sm
md
lg

ปล้นเพื่อเธอ/คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เราเริ่มบริการฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่นตั้งแต่ 1 เม.ย.55 ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2555 ผมนั่งดูรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ คุณสรยุทธ รายงานข่าวว่า ตามที่มีการจับกุมผู้ต้องหาวัยรุ่น 8 คน ที่ก่อเหตุปล้นทรัพย์ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ถึง 5 แห่งในหลายพื้นที่ หนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่าแรงจูงใจในการปล้น เพราะต้องการเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลของเพื่อนสาวที่ต้องผ่าตัดสมองจากอุบัติเหตุจราจร

คุณสรยุทธ ตามไปยังเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อติดตามว่าเป็นจริงตามคำรับสารภาพหรือไม่ พบว่า ผู้บาดเจ็บออกจากโรงพยาบาลแล้ว และไปพักฟื้นที่บ้าน เล่าว่า รู้จักกับผู้ต้องหาทั้งหมดและเป็นเพื่อนสนิทกับ 1 ใน 8 ผู้ต้องหา วันที่ 8 กรกฎาคม 2555 นัดหมายกับเพื่อนทั้ง 8 คน ไปเดินเที่ยวแถวคลองหลอด ย่านสนามหลวง โดยซ้อนจักรยานยนต์กันไปเป็นกลุ่ม แต่เมื่อไปถึงชุมชนสวนอ้อย รถจักรยานยนต์คันที่ตนเป็นผู้ซ้อนประสบอุบัติเหตุศีรษะกระแทกพื้น ไม่ได้สติ เพื่อนแจ้งรถฉุกเฉินนำตัวส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่า ขณะนั้นใช้บัตรทอง 30 ไม่ได้ เนื่องจากบัตรไปอยู่ที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ก็เลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการ X-Ray สมอง และค่ารักษาพยาบาลไปกว่า 17,000 บาท ผู้ปกครองไม่มีเงินมากพอจึงต้องไปกู้มา ก่อนที่จะย้ายไปรักษาตามสิทธิของบัตรทองในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง อาการของผู้บาดเจ็บ คือ กะโหลกศีรษะร้าว กระดูกสะโพกร้าว และมีบาดแผลตามลำตัว วันรุ่งขึ้นเพื่อนทั้ง 7 มาเยี่ยม และได้พูดคุยถึงค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อนรู้สึกผิดและอยากจะช่วยค่ารักษาพยาบาล 17,000 บาทที่เสียไป แต่ไม่คิดว่าเพื่อนจะไปใช้วิธีการปล้นเช่นนี้…
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
อ้าว! เราเริ่มบริการฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 แล้วนี่ครับ ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต สามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรณีนี้ประสบอุบัติเหตุศีรษะกระแทกพื้น หมดสติ เข้าข่ายฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตแน่นอน แต่ทำไมจึงต้องเสียค่าใช้จ่าย

เพื่อให้เข้าใจถึงสิทธิของประชาชนในการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หลักการ และเงื่อนไขที่ประชาชนควรทราบ มีอะไรบ้าง
ตามกฎหมาย ประชาชนไทยที่ไม่ใช่ข้าราชการ ข้าราชการท้องถิ่น หรือไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ย่อมมีสิทธิรักษาพยาบาลตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นปีที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผลบังคับใช้ (ถ้าท่านผู้อ่านอยากทราบว่าท่านมีสิทธิใด สามารถโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1330 เพื่อสอบถามตามระบบตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลอัตโนมัติได้ตลอด 24 ชั่วโมง) และเมื่อท่านมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็สามารถเลือกหน่วยบริการประจำ หรือโรงพยาบาลที่ท่านสะดวกจะไปรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย เช่น ผมมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอปากช่อง ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในอำเภอปากช่อง ก็ลงทะเบียนเลือกโรงพยาบาลปากช่องนานาเป็นหน่วยบริการประจำ เจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลได้ใกล้บ้าน ไม่เดือดร้อนครอบครัวต้องตามไปช่วยดูแลต่างถิ่น หลวงท่านก็ทราบแน่นอนว่า โรงพยาบาลใดดูแลท่าน ก็จัดส่งงบประมาณไปให้แบบถูกฝาถูกตัว แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยหนักหนาเกินที่หน่วยบริการประจำจะรักษาได้ ก็จะส่งไปรับการรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ตามระบบส่งต่อที่กระทรวงสาธารณสุขท่านวางระบบไว้

แต่ในชีวิตจริงผมก็ไม่อยู่ปากช่องตลอดเวลา อาจเดินทางไปค้าขายต่างจังหวัดบ้าง หรือพักร้อนไปเที่ยวในจังหวัดไกลๆ บ้าง และบังเอิญว่า ไปเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตขึ้น ก็สามารถเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิตนี้ ประชาชนไทยทุกคนไม่ว่าจะมีสิทธิรักษาพยาบาลใดได้รับสิทธินี้อย่างเท่าเทียมกันตั้งแต่ 1 เมษายน 2555

และถ้ามีเหตุต้องย้ายไปทำงานต่างเมืองนานๆ หรือย้ายถิ่นฐานอยู่เรื่อยๆ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็อำนวยความสะดวกให้ท่านสามารถย้ายหน่วยบริการประจำได้ 2 ครั้งต่อปี โดยใช้หลักฐานเพียงสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อเจ้าตัว หรือถ้าไปพักบ้านญาติก็ใช้สำเนาทะเบียนบ้านของญาติและให้ญาติรับรองว่าท่านไปพักอยู่ด้วยจริง หากเป็นบ้านเช่าที่เราเป็นผู้เช่าก็ใช้สัญญาเช่าฉบับนั้นเป็นหลักฐาน แต่ถ้าหากท่านไม่ได้เป็นผู้เช่าเอง ก็นำสัญญาเช่า และให้ผู้ให้เช่ารับรอง หรือขอหนังสือรับรองของผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็ได้ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นหลักฐานเพื่อย้ายหน่วยบริการประจำได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยทุกแห่ง หากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครยื่นได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง ยกเว้นเขตสัมพันธวงศ์ วังทองหลาง และเขตวัฒนา

หลักการสำคัญ คือ หลวงต้องการให้ท่านเข้ารับบริการแบบ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” ใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น ดังนั้น ถ้าท่านย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ไหนนานๆท่านก็มีหน้าที่ในการย้ายหน่วยบริการประจำไปด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลได้ทราบจำนวนประชาชนที่อยู่ในการดูแลให้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ในการจัดเตรียมทรัพยากรในการส่งเสริมป้องกันให้เพียงพอ และรองรับการเจ็บไข้ได้ป่วยให้พอเพียงนั่นเอง

เมื่อเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของประชาชนแล้ว ก็หวังว่าจะไม่เกิดกรณี “ปล้นเพื่อเธอ” ให้เดือดร้อนสังคมกันอีกนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น