xs
xsm
sm
md
lg

ว่ากันด้วยเรื่อง DRGs (อีกครั้ง) / คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“คุณแม่ท้องแก่ที่อาศัยในเขตคนจนในเมืองหลวงของกรีซรายหนึ่ง ต้องปฏิเสธที่จะเข้ารับการผ่าตัดทำคลอดบุตรในโรงพยาบาลในกรุงเอเธนส์ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าผ่าตัดจำนวน 1,200 ยูโร (ราว 45,000 บาท) ซึ่งทางโรงพยาบาลยื่นเงื่อนไขว่า จะต้องยึดตัวทารกไว้จนกว่าคุณแม่จะหาเงินมาจ่ายค่าทำคลอดได้ครบ”

ข่าวต่างประเทศที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์วันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2555 สะท้อนปัญหาอันเลวร้ายในระบบสุขภาพของประเทศกรีซ หนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่กำลังมีปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล ข่าวยังรายงานอีกว่า โรงพยาบาลในประเทศกรีซ ต้อง “รีด” ค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพใดๆ หลังรัฐบาลตัดงบประมาณสนับสนุนระบบสาธารณสุขในประเทศถึงร้อยละ 13 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศไร้หลักประกันสุขภาพ

ในช่วงเวลาน้ำท่าบริบูรณ์ เศรษฐกิจดี เงินทองเป็นของหาง่าย การที่จะต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาพยาบาลตนเอง หรือคนในปกครองบ้าง คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าอยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง หากเกิดล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่มีแรงออกไปทำมาหากิน ไหนยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย คงจะเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลกระทบกับคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยเราโชคดีกว่าอีกหลายประเทศก็ตรงที่เรามี “หลักประกันสุขภาพ” นี่แหละครับ แม้ว่าประเทศเราจะมีหลักประกันสุขภาพหลายระบบ เช่นระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ความหมายและหลักการไม่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึง “สิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน โดยที่ภาระด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการไม่เป็นอุปสรรคที่ประชาชนจะได้รับสิทธินั้น”

ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งดูแลประชาชนไทยราว 48 ล้านคน รัฐสนับสนุนในการดูแลสุขภาพจำนวน 2,755.6 บาทต่อคน ในปี 2555 และมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเท่าเดิมในปี 2556 การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน จึงเป็นประเด็นสำคัญและท้าทาย เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพต้องทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลแทนผู้ป่วยภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การจ่ายตามราคาที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ (fee for service) วิธีนี้ง่ายและตรงไปตรงมา แต่ปัญหาคือ แต่ละโรงพยาบาลมีราคาเรียกเก็บที่ไม่เท่ากัน แม้ว่าจะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีเดียวกันก็ตาม ดังนั้น การจ่ายชดเชยด้วยวิธีนี้อาจส่งผลกระทบให้งบประมาณที่มีจำกัด ไม่พอจ่ายและรัฐไม่สามารถควบคุมงบประมาณได้

อีกวิธีหนึ่งคือ การเหมาจ่าย (capitation) โดยจ่ายให้โรงพยาบาลล่วงหน้า อาจจัดสรรโดยใช้จำนวนประชากรที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือตามผลงานในอดีต และให้โรงพยาบาลบริหารงบประมาณเอง วิธีนี้ก็ง่าย ตรงไปตรงมา แต่อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน เพราะโรงพยาบาลอาจปฏิเสธการให้บริการ หรือปฏิเสธการส่งต่อไปรับบริการในโรงพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า เพราะนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น

ทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ อีกด้านหนึ่งแม้ว่าจะทำให้คุมงบประมาณได้ แต่ประชาชนอาจเข้าไม่ถึงบริการ จึงมีการหาวิธีการที่ไม่ส่งผลกระทบไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป วิธีการนั้นคือ การจ่ายเงินชดเชยตามผลงาน โดยใช้ระบบ DRGs

DRGs เป็นระบบการจัดกลุ่มผู้ป่วยแบบหนึ่ง เป้าหมายคือ ให้ผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยและการรักษา และใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาใกล้เคียงกัน อยู่ในกลุ่มเดียวกัน (iso-resource group) โดยใช้หลักการทางสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง

DRGs เป็นนวัตกรรมด้านการบริหารโรงพยาบาลในช่วงปี 1968 ในสหรัฐอเมริกา โดยหัวหน้าคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล 2 คน คือ Robert Fetter ซึ่งเป็นวิศวกรอุตสาหกรรมและพยาบาลชื่อ John Thompson โดยมีวัตถุประสงค์ในช่วงแรกเพื่อใช้สำหรับพัฒนาคุณภาพของการบริหารงานโรงพยาบาล และกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงพยาบาลในเวลาต่อมา โดยใช้แนวคิดหลัก 2 แนวคิด คือ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และแนวคิดทางวิศวอุตสาหกรรมที่ผลักดันให้ค้นหาวิธีวิเคราะห์การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานในระดับจุลภาค

เริ่มครั้งแรกจริงๆ ในปลายปี 1970 ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันใช้กันแพร่หลายในหลายประเทศเช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์

ในช่วงแรกประเทศไทยได้รับแนวคิด DRGs มาจากสหรัฐอเมริกา โดยมีการทำ DRG รุ่นที่ 1 ในปี 2541 และพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง ปี 2545 เปิดรับแนวคิด DRGs จากประเทศออสเตรเลียและพัฒนามาเป็นรุ่นที่ 3 โดยมีการจำแนกความรุนแรงของโรคร่วมและโรคแทรก แยกกลุ่มให้ชัดเจนตามระดับความรุนแรง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ประกาศใช้ DRGs รุ่นที่ 3 เป็นเครื่องมือในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา

เนื่องจากความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา DRGs จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับต้นทุนในการรักษาพยาบาล การพัฒนาและปรับปรุง DRGs ในประเทศไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยคณะนักวิจัย ซึ่งมี นายแพทย์ ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย ปัจจุบันเป็น DRGs รุ่นที่ 5 และเป็นเครื่องมือสำคัญในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ของสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จากจุดเริ่มต้นของ DRGs ในสหรัฐอเมริกา วันนี้ประเทศไทยได้ต่อยอดและพัฒนา DRGs ให้สอดคล้องกับบริบททางการแพทย์ในประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลการรักษาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทั่วประเทศมาวิเคราะห์ทางสถิติ ร่วมกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สาขาต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เหมาะสมที่สุดและเป็นธรรมมากที่สุด

*****

คอลัมน์ ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง

**1669 คนไทยความจำเป็นเลิศในปฐพี / คอลัมน์ ได้อย่างไม่เสียอย่าง
**ท้าทายระบบอาหารด้วยการบริโภคที่รู้เท่าทันกลยุทธ์เซเลบริตีเชฟ/คอลัมน์ ได้อย่าง..ไม่เสียอย่าง
**กองทุนเดียวด้านสุขภาพ : ชอบกด Like ใช่ “กดดัน”/คอลัมน์ได้อย่าง...ไม่เสียอย่าง
**รายงานมาตรา 301 พิเศษ : แผงกระสุนของสหรัฐฯเพื่อสกัดการเข้าถึงยา/คอลัมน์...ได้อย่าง ไม่เสียอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น