xs
xsm
sm
md
lg

เล็งชง ครม.อนุมัติกรอบเพิ่มกำลังคนสาธารณสุขระยะเร่งด่วน ปี 55-57 กว่า 5 หมื่นอัตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ประชุมแพทย์ สสจ.-ผอ.โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เตรียมพร้อมร่วมจ่าย 30 บาท ทั่วประเทศ 1 ก.ย.นี้ เตรียมชง ครม.นโยบายแผนกำลังคน และค่าตอบแทนระยะยาว

วันนี้ (24 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายที่สำคัญ และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายประมาณปี 2555 โดยได้เชิญนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน โดย นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการชี้แจงถึงนโยบายสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรคตามความสมัครใจ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 โดยให้ดำเนินการตามเงื่อนไข ประกอบด้วย 1.ให้มีการร่วมจ่ายในโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปจนถึง รพศ.รพท.และรพ.ขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เว้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจากเป็น รพ.ขนาดเล็กอยู่ นอกนั้นให้ทุกแห่งทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 1,000 แห่ง เริ่มดำเนินการทันที 2.ให้เก็บเงินเฉพาะมีการสั่งจ่ายยาเท่านั้น 3.ให้ขยายเวลาการให้บริการจากเดิมมีแค่ช่วงเช้า เป็นขยายเวลาช่วงบ่ายด้วย และ 4.การเรียกเก็บ 30 บาทจะยกเว้นในบุคคลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ยกเว้นไว้

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มยกเว้นมีการกำหนดไว้อยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล โดยกลุ่มยกเว้นจะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ (ฉบับ 2) ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 และบุคคลรวมทั้งบุคคลในครอบครัวตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2553 รวมแล้วมีกลุ่มยกเว้น 23 กลุ่ม อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เด็กต่ำกว่า 12 ปี ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้นำชุมชน พระภิกษุ สามเณร ทหารเกณฑ์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมออาสาหมู่บ้านตามโครงการของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ส่วนบุคคลทั่วไปตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากสามารถจ่ายก็ให้เป็นไปตามมติ บอร์ด แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถจ่ายได้จริงก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจเช่นกัน
นพ.ไพจิตร์ วราชิต
การประชุมครั้งนี้ นอกจากย้ำเรื่องแนวทางปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ยังย้ำเรื่องการใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสิทธิของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีความสะดวกในการใช้ เพราะปัจจุบันเลขที่บัตรประชาชนสามารถลิงก์ข้อมูลได้ทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการไม่น่ามีปัญหา และเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะร่วมจ่าย เพราะส่วนหนึ่งจะรู้สึกถึงความมีศักดิ์ศรีด้วย” ปลัด สธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมยังมีการชี้แจงนโยบายแผนกำลังคน และค่าตอบแทน โดย นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอเนื้อหาตามเอกสารการประชุม ว่า แผนกำลังคนกระทรวงสาธารณสุขระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2555-2560 โดยแผนดังกล่าวเป็นการศึกษาถึงความต้องการบุคลากรสาธารณสุขในระบบ ซึ่งทำโดย นพ.ปิยะ หาญวรงศ์ชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ทำการศึกษา เพื่อสรุปจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพที่ควรมีในระบบ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า แพทย์มีความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ 2,500 ประชากร คาดการณ์ว่า ในปี 2560 ต้องมีแพทย์ประมาณ 25,963 คน แต่ปัจจุบันมีแพทย์อยู่ 14,956 คน ยังขาดอีก 11,007 คน 2.ทันตแพทย์ มีความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ 8,740 ประชากร คาดการณ์ว่า ในปี 2560 ต้องมีทันตแพทย์จำนวน 7,426 คน ปัจจุบันมี 4,437 คน ยังขาด 2,989 คน 3.เภสัชกร ความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ6,200 ประชากร คาดการณ์ในปี 2560 ต้องมีเภสัชกร 7,328 คน ปัจจุบันมี 6,994 คน ยังขาดอีก 334 คน

4.พยาบาลวิชาชีพ ความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ 550 ประชากร คาดการณ์ในปี 2560 ต้องมีพยาบาลวิชาชีพ 118,013 คน ปัจจุบันมี 100,783 คน ยังขาด 17,230 คน 5.นักเทคนิคการแพทย์ ความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ 11,000 ประชากร คาดการณ์ปี 2560 ต้องมี 4,130 คน ปัจจุบันมี 3,135 คน ยังขาด 995 คน และ 6.นักกายภาพบำบัด มีความต้องการในอัตราส่วน 1 ต่อ 10,000 ประชากร คาดการณ์ปี 2560 ต้องมี 4,543 คน ปัจจุบันมี 1,995 คน ยังขาดอีก 2,548 คน

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกี่ยวกับแผนกำลังคนดังกล่าว เบื้องต้นได้ชี้แจงในที่ประชุม ว่า จะนำแผนดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมทั้งจะขออนุมัติกรอบอัตรากำลังคนกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มใหม่ ในระยะเร่งด่วน 2555-2557 จำนวน 51,051 อัตรา และกรอบอัตรากำลังคนกระทรวง เพิ่มใหม่ในระยะยาว 2558-2560 อีก 25,718 อัตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น