“วิทยา” ไม่หวั่น “แพทย์ชนบท” บุกกระทรวงจุดเทียนประท้วง ยัน รบ.ให้ความสำคัญจัดซื้อคุรุภัณฑ์จำเป็น แจงเหตุตั้ง กก.กลั่นกรอง หวังให้รอบคอบ ระบุ ล็อตแรก 2 พันล้าน จ่อเข้า ครม.เร็วๆนี้ วอนอย่ามองว่าใครมาหาประโยชน์
วันนี้ (1 ก.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นัดหมายจุดเทียนที่กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อประท้วงความล่าช้าการอนุมัติใช้งบจัดซื้อคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ตามโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือโครงการเงินกู้ DPL จำนวน งบประมาณ 3.6 พันล้านบาท ว่า ไม่ได้วิตกกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ไม่เข้าใจเหตุผลของทางชมรมแพทย์ชนบท เพราะในส่วนของงบประมาณดีพีแอลที่ท้วงถามนั้น คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติแล้วว่า ให้ขยายกรอบการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงเดือน ก.ย.2556 อีกทั้งล่าสุดก็ได้มีการนำเสนอโครงการบางส่วนเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลังตามขั้นตอน เพื่อเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เบื้องต้นได้จัดกลุ่มตามอันดับความจำเป็น ในส่วนของโครงการที่มีความเร่งด่วน 2 พันกว่าล้านบาท หากผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลังแล้ว ก็จะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทันที
“ยืนยันว่า เรื่องนี้ รัฐบาลต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเน้นที่ความจำเป็น การที่ต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการขึ้นมา ก็เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเพื่อให้ได้เรื่องที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่าพยายามมองว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องนี้ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างก่อนที่ผมจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเสียอีก” นายวิทยา ระบุ
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการภายในกระทรวงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตลอดระยะระยะเวลาที่ผ่านมา ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นด้วยกับบทบาทของชมรมอยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นความพยายามก่อกวนโดยหมอไม่กี่คนที่อาศัยชื่อดูดีว่าเป็นแพทย์ชนบท ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งชมรมแพทย์ชนบท เพื่อให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีต่อสังคม อย่างไรก็ตามแม้จะมีความไม่พอใจ แต่ก็ไม่ออกมาต่อต้าน เพราะได้ยึดหลักอหิงสาให้อภัยเหตุการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด
“ระยะหลังๆ ทางชมรมนี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะประธานชมรมปัจจุบัน ที่หลายคนก็ด่าทอแรงๆ ว่า ไม่รู้ว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเพี้ยน ชอบทำตัวเป็นพวกทำลายบ้านตัวเอง ขณะที่พฤติกรรมของตัวเองก็ใช่ว่าเป็นคนดี หรือดูดีตามชื่อชมรมแพทย์ชนบท” แหล่งข่าว ระบุ
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า เรื่องที่สร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการในกระทรวงมากที่สุด คือการที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้รับการอนุมัติเพิ่มค่าตอบแทนให้กับแพทย์ และทันตแพทย์ในชนบท ถึงรายละ 5 หมื่นบาท รวมของเดิมเป็นมากกว่า 6 หมื่นบาท ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอ้างว่า เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกล แต่เรื่องนี้กลับสร้างความแปลกแยกแตกต่างในโรงพยาบาลชนบทเป็นอย่างมาก เพราะมีเพียงแพทย์เท่านั้นที่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นรวดเดียว 5 หมื่นบาท แต่พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆกลับยังได้รับเพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น ทั้งๆที่งานและความรับผิดชอบไม่แตกต่างกันมากนัก
“การขึ้นค่าตอบแทนครั้งนั้น นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบค่าตอบแทนทั้งระบบ เพราะหมอได้อาชีพเดียว แต่เภสัช พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ได้แต่มองตาปริบๆ ดูพวกหมอเบิกกันสบาย ผ่านมาหลายปีก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ดึงให้หมออยู่ทำงานที่ชนบทได้เลย แต่พวกที่ออกมาเรียกร้องสบาย ได้เงินไปฟรีๆ โดยที่งานน้อยกว่าเดิม เพราะหมอพวกนี้ส่งต่อตลอด ภาระหนักตกอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดที่ต้องทำงานมากขึ้น ก็ถามกันว่า แบบนี้เรียกว่าอยู่เพราะชาวบ้านหรืออยู่เพราะเงินกันแน่ อุดมการณ์ของพวกคุณขึ้นอยู่กับเงินที่ได้ใช่ไหม” แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกต
แหล่งข่าวบอกด้วยว่า เวลาที่ชมรมนี้ออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะมีเรื่องไม่พอใจ ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องงบประมาณไทยเข้มแข็ง 3 พันกว่าล้านบาทที่ล่าช้า แต่ก็เป็นความล่าช้าที่ต้องการให้การใช้งบประมาณโปร่งใส เมื่อเป็นแบบนี้เราจึงได้เห็น นพ.เกรียงศักดิ์ออกมาอีกครั้ง ตามมาด้วย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่มีการเคลื่อนไหวแบบนัดหมายกันเป็นขบวนการชัดเจน ทั้งที่จริงๆแล้วพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีความรู้จริงๆ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่ออกมาสร้างเรื่องว่า ชาวบ้านในชาวชนบทจะขาดโอกาส หรือเข้าถึงบริการของรัฐที่ไม่มีคุณภาพ แต่เรื่องที่ชมรมนี้หยิบยกขึ้นมาก็ผิดไปจากข้อเท็จจริง นำงบประมาณมาโยงกับเครื่องมือคนละแบบคนละรายการ ทำให้ราคาต่างกันมาก จนถูกมองว่าเกิดการทุจริตขึ้น
“ตอนนี้คนในกระทรวงไม่อยากขยับอะไรแล้ว กลัวท่านทั้งหลายจนหัวหดไปหมด อย่ามาอ้างว่าชาวบ้านขาดโอกาส เพราะชาวบ้านขาดโอกาสมาหลายปี ตั้งแต่งบไทยเข้มแข็งยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ที่ล่าช้าก็เพราะคนพวกนี้ไปมีผลประโยชน์แอบแฝง พอผู้บริหารจะให้รอบคอบ ช้าหน่อยก็ออกมาด่า พอจะรีบทำก็บอกว่าโกง” แหล่งข่าวกล่าวย้ำ
แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ชมรมแพทย์ชนบทยื่นเรื่องร้อง ป.ป.ช.ให้สอบรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงนั้น อยากให้ยื่นตรวจสอบเรื่องการทุจริตเงินสนับสนุนจากมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ ในการจัดสร้างอาคารโรงพยาบาลวังกระพุง จ.เลย ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ และกำลังจะมีการส่งหลักฐานไปที่ ป.ป.ช.และเรื่องที่มีการนำบริษัทพวกพ้องจาก กทม.ไปรับงานล้างแอร์ในโรงพยาบาลที่ จ.เลย ทั้งที่ช่างในพื้นที่ก็สามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ที่มีการซื้อกล่องยาสามัญประจำบ้านแจกทุกหลังคาเรือน แต่ดำเนินการโดยไม่โปร่งใส และถูกชาวบ้านร้องเรียน จนเรื่องมาถึง ป.ป.ช.อีกเช่นกัน หรือแม้แต่งานประมูลรับเหมาก็มีหมอบางคนที่มีอิทธิพลเข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะเรื่องการประมูลสร้างตึกโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่มีการกลั่นแกล้งแก้แบบหลายครั้ง จนผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานได้ และนำบริษัทพรรคพวกตัวเองเข้าไปรับงานแทน เรื่องเหล่านี้อยากนายวิทยา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้คนผิดมาลงโทษ กระชากหน้ากากเปิดโปงคนไม่ดี และลดอำนาจเถื่อนในวงการสาธารณสุขอีกด้วย