xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจเชฟทีมเยาวชนไทยเหรียญทองโอลิมปิกอาหาร ชัยชนะที่ได้มาด้วยความอดทน ทุ่มเทและหนี้สิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เชฟทีมไทยที่คว้าเหรียญทองและเหรียญในการแข่งขัน IKA Culinary Olympic 2012
ข่าวเชฟทีมชาติไทยที่ไปแข่งขันโอลิมปิกอาหารในรายการIKA Culinary Olympic 2012 ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 5 - 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวเล็ก ๆ ที่หลายหน่วยงานรัฐไม่ได้ความสำคัญ แม้ชัยชนะครั้งนี้เทียบเท่ากับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเช่นกัน
เชฟปุ๊-จตุพร จึงมีสุข โค้ชผู้ฝึกเชฟเยาวชนทีมชาติไทย
 
“เชฟปุ๊-จตุพร จึงมีสุข” หัวหน้าทีมหรือโค้ชทีมเชฟเยาวชนไทยที่ไปแข่งขัน บอกว่า IKA Culinary Olympic 2012 ถือเป็นหนึ่งในเวทีแข่งขันด้านอาหารระดับสากลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก ที่จัดการแข่งขันมานานกว่า 112 ปี โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปีคล้ายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค มีเชฟจากทั่วโลกกว่า 50 ประเทศเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน และในปีนี้ก็ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เชฟไทยเดินทางไปร่วมการแข่งขันและสามารถคว้า 4 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน กลับมาครอบครองได้อย่างสวยงาม

โดยการแข่งขันแบ่งเป็น 2 ระดับคือ เชฟระดับอาชีพ และเชฟระดับเยาวชน ซึ่งในส่วนของเยาวชนได้รับ 2 เหรียญ คือ เหรียญทองจากการปรุงอาหารร้อน ซึ่งได้รางวัลจากเมนูอาหารไทย คือส้มตำไทย และปลาคอตราดซอสต้มยำ,ลาวิโอลี่ห่อหมกกับโฟมต้มข่า ส่วนเหรียญ เงินจากหมวดอาหารโชว์ สำหรับประเภทมืออาชีพนั้นได้รับ 3 เหรียญทองคือ งานน้ำตาลประดิษฐ์ เค้กแต่งงาน และของหวานยุโรป

 
เชฟปุ๊-จตุพร เล่าย้อนถึงที่มาของการแข่งขันครั้งนี้ว่า ต้องยกให้กับความทุ่มเทของเชฟวิวเมนต์ ลีอองหรือ “เชฟเหลียง” เชฟชาวสิงคโปร์แต่หัวใจไทย ซึ่งเป็นประธานผู้ก่อตั้ง Thailand Culinary Academy (TCA) และเป็นผู้หาเวทีประกวดใหญ่ๆในต่างประเทศให้กับทีมเชฟไทยเพื่อไปหาประสบการณ์ สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ทางคณะกรรมการของ TCA ช่วยกันคัดเลือกเชฟที่ชนะการแข่งขันจากเวทีการแข่งขันทำอาหารในประเทศไทยในหลายเวที

“เราจะเข้าไปดูในทุกสนามเพื่อมองหาเด็กที่มีพรสวรรค์และมีความตั้งใจ เราจะเชิญมาเข้าร่วมทีม โดยเชฟเหลียงจะทำหน้าที่หาสปอนเซอร์ ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตช่วยเหลือเรื่องสถานที่ฝึกซ้อมให้ผู้แข่งขันเกือบทุกรายการ หลังจากคัดตัวได้ก็ต้องเก็บตัวใช้เวลาให้เขาฝึกซ้อมก่อนแข่งขันนาน 4 เดือน” เชฟปุ๊เล่าพร้อมรอยยิ้มและแววตาที่สุกใส
น้องเอ็ม-อำนาจธนสมบัติ
 
สำหรับเชฟเยาวชนที่ลงแข่งครั้งนี้ประกอบด้วย สอง-ปรัชญา ชอบงาม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยดุสิตธานี และอีก 4 คนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คือ ป็อด-เจษฎา เครือพันธุ์, เอ็ม-อำนาจ ธนสมบัติ, น้องดาว-วรันธร ชินประหัษฐ์, แชมป์-สุภกิณห์ บูชา

ในสนามการแข่งขันที่ใช้เวลา5 ชั่วโมงครึ่งกับการรังสรรค์อาหาร 90 จานโดยทีมงานตั้งใจนำอาหารไทยไปเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแต่ละเมนูที่คิดขึ้นมาจึงเป็นการนำอาหารรสชาติไทยประยุกต์กับรูปแบบการจัดจานให้เป็นสากล ที่ตอบโจทย์วัตถุดิบ “ผัก” เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยซึ่งรังสรรค์ออกมาเป็น “ส้มตำ” และอาหารจานหลักเป็นปลาคอตซอสต้มยำ ลาวิโอลีห่อหมกกับโฟมต้มข่า พวกเขาต้องทำงานเป็นทีมโดยแบ่งงานในแต่ละหน้าที่ต้องแข่งกับเวลาภายใต้แรงกดดันคือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันระหว่างการแข่งขัน
น้องดาว-วรันธร ชินประหัษฐ์
 
หนุ่ม-สาวหน้าตาสดใสทั้ง 5 คนในชุดเชฟ มีเหรียญทองและเหรียญเงินคล้องคอบอกกับเราว่า ตื่นเต้นและ รู้สึกดีใจมาก แต่เมื่อได้เหรียญก็หายเหนื่อยกับการซ้อมมาอย่างหนัก โดยน้องเอ็ม-อำนาจ บอกพอรู้ว่าผ่านการคัดเลือกก็เคลียร์ตารางเรียน และฝึกซ้อมอย่างจริงจัง โดยเอ็มอยู่ในส่วนของการจัดเตรียมผัก ขณะที่น้องดาว-วรันธร เชฟสาวหนึ่งเดียวของทีม บอกว่า ทั้งตื่นเต้นและดีใจ ครั้งนี้เธออยู่ในส่วนผักและสลัด โดยน้องดาว เป็นผู้ปรุงเมนูส้มตำในการแข่งขัน
ป็อด-เจษฎา เครือพันธุ์
 
ด้านป็อด-เจษฎา หนุ่มหน้าใสที่ผ่านเวทีประกวดมามากมายบอกว่าการแข่งขันนี้ถือว่าเป็นที่สุดของเขา เขารับผิดชอบดูแลแป้งและมันฝรั่งซึ่งนำมาทำลาวิโอลี ส่วน แชมป์-สุภกิณห์ ดูแลรับผิดชอบเรื่องปลา และน้องสอง-ปรัชญา รับหน้าที่กระบี่มือสุดท้ายอยู่หน้าเตาทำหน้าที่ปรุงวัตถุดิบที่เพื่อน ๆ ในทีมเตรียมให้กลายมาเป็นอาหารจานอร่อยเพื่อให้คณะกรรมการได้ลิ้มรสชาติอาหารฝีมือเด็กไทย
แชมป์-สุภกิณห์ บูชา
 
เมื่อถามถึงปัญหาและแรงกดดันสำหรับการแข่งขันนั้น เชฟปุ๊บอกว่า ในเรื่องแข่งไม่มีปัญหาเพราะเด็กทุกคนมีความพร้อมทุกคนใจเต็มร้อย แต่อุปสรรคมีเรื่องเดียวคือ เรื่องขาดการสนับสนุน ซึ่งการเดินทางไปแข่งขันครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 ล้านกว่าบาท ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการฝึกซ้อม ค่าเดินทาง ที่พักของทีมงานตลอด 10 วันที่เดินทางไปแข่งขัน โดยมีสปอนเซอร์หลักคือกระทรวงพาณิชย์และห้างแมคโคร

"เงินที่เรามี ก็มาจากการบริจาคส่วนตัว มีบริษัทเอกชนบ้างที่เข้ามาช่วยเหลือเรา เรายังหาเงินสนับสนุนอยู่ จึงอยากให้ภาครัฐมาสนใจพวกเราบ้าง เพราะเด็กเหล่านี้ไปแข่งขันในนามประเทศไทย เรากำลังทำหน้าที่ฑูตวัฒนธรรมด้านอาหารเพื่อไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย"
สอง-ปรัชญา ชอบงาม
 
การได้รับรางวัลเหรียญทองและเหรียญเงินจากการแข่งขันด้านอาหารในระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน และเป็นเกียติอันยิ่งใหญ่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงอาหาร แต่สำหรับทีมงานที่เดินทางไปแข่งขัน หลายคนต้องตกงานเพราะองค์การไม่อนุมัติให้หยุดงานได้นานถึง 10 วัน และที่สำคัญคือตอนนี้เชฟเหลียงยังต้องวิ่งเต้นหาเงินมาใช้หนี้ที่เกิดจากเดินทางไปแข่งขัน

“ ที่เมืองนอกเชฟคนไหนที่ชนะการแข่งขันโอลิมปิกอาหาร จะมีทั้งโรงแรมและร้านอาหารมาจองตัวคิวยาวเลย แต่ที่เมืองไทยนอกจากจะไม่มีใครสนใจแล้ว เรายังต้องวิ่งเต้นหาเงินมาใช้หนี้อีกด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น