xs
xsm
sm
md
lg

“หมอแอร์” ชี้ “เด็กยุคไอที” เฟื่องเผชิญสารพัดโรค เตรียมจัดกิจกรรม “สมาร์ททีน” สร้างฝันสู่จุดหมาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
“หมอแอร์” สะท้อนปัญหาเด็กยุคใหม่ ที่มีผลจากการเสพติดสังคมออนไลน์ ส่งผลร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ แนะผู้ปกครองเฝ้าสำรวจพฤติกรรมลูก-หลาน หวั่นเด็กต้องเผชิญกับสารพัดโรคที่มีต้นเหตุมาจากโลกไอที ทั้งไมเกรน-โรคอ้วน-สมาธิสั้น-ขาดทักษะในการเข้าสังคม-ขี้อิจฉา-ติดเกม-เสพติดความรุนแรง ปรับตัวต่อสิ่งรอบข้างไม่ได้ เตรียมจัดโครงการ “สมาร์ททีน” สร้างจุดหมายในชีวิตให้เด็กยุคไซเบอร์

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การสื่อสารในยุคปัจจุบัน ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกสบาย สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายได้ทุกที่ ส่งผลให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป และนำไปสู่พฤติกรรม “เสพติดสังคมออนไลน์” ได้ง่าย

หลายคนใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่ในโลกออนไลน์ และยังให้ความสำคัญต่อการสร้างตัวตนในโลกเสมือนเกิดขึ้นจริง อีกทั้งอัตราการเล่นเกมของเด็กในยุคนี้ก็สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นจนชินตา ไม่เว้นแม้กระทั่งตามที่สาธารณะต่างๆ อย่างบนรถเมล์ รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือแม้กระทั่งการกดสมาร์ทโฟนระหว่างเดินตามท้องถนนก็มีให้เห็นทั่วไป

การเสพติดเทคโนโลยีดังกล่าวที่มากจนเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะกับเด็กกำลังกลายเป็นปัญหาที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ควรตระหนักถึงภัยร้ายที่มาจากความทันสมัยของโลกเทคโนโลยีที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

เสพติดสื่ออินเทอร์เน็ต
 

พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล (หมอแอร์) จิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวช และยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ และในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกถึงปัญหาและโรคในเด็กยุคปัจจุบันที่น่าเป็นห่วง และควรได้รับการดูแลจากผู้ปกครอง ทั้งด้านพฤติกรรมการบริโภคที่ติดของหวาน นิยมกินอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้น และการเสพติดโลกไซเบอร์-สังคมออนไลน์ มากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาในขณะนี้
 
“เด็กหลายคนเอาชีวิตไปผูกติดกับสังคมออนไลน์ ให้ความสำคัญมาก เมื่อมีคนมาแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กในทางไม่ดี ก็นำมาคิดมาก กลุ้มใจ แม้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นคนที่ไม่รู้จักกันเลยในชีวิตจริงก็ตาม”

ความแตกต่างเกิดขึ้นระหว่างเด็กยุคก่อน และเด็กยุคปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดคือ เด็กยุคใหม่จะมีเรื่องของเทคโนโลยี ไอที สังคมออนไลน์ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น การเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งสมัยก่อนไม่มี

ดังนั้นวิถีการดำเนินชีวิตของเด็ก และพัฒนาการของเด็กย่อมต่างจากเด็กยุคเก่าซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจน

สำหรับการเข้ามาของเทคโนโลยี สังคมออนไลน์มีทั้งด้านบวก และลบ แล้วแต่คนจะเลือกใช้ในอัตราที่เหมาะสม แต่หากอะไรที่ใช้มากจนเกินไปก็ย่อมส่งผลในทางลบ โดยเฉพาะเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโต ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรให้คำแนะนำ ดูแล

“ในชีวิตปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการทำงานยังต้องพึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเด็กยุคใหม่จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้ เนื่องจากโตมากับสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ผู้ใหญ่บางคนยังไม่สามารถเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เองได้เลย”
 
พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล (หมอแอร์)
 
พบสารพัดโรคในเด็กยุคไอที
 

อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลีบอกด้วยว่า การเสพติดด้านไอทีของเด็กยุคใหม่มากเกินไปนั้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ปรากฏให้เห็นดังนี้

1. เด็กมีภาวะอ้วนง่ายกว่าในอดีต และพบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทั้งค่านิยมในการรับประทานอาหาร และกิจกรรมที่เด็กทำ โดยเด็กยุคนี้นิยมการหันมาใช้เวลาว่างในการเล่นเกม หรือใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แม้การใช้เทคโนโลยีจะช่วยฝึกการทำงานประสานกันระหว่างสายตา และกล้ามเนื้อมัดเล็กก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็จะนั่งๆ นอนๆ เล่น ซึ่งยังพบว่าเด็กสมัยนี้มีกิจกรรมทางกายน้อยลง ดูไม่กระฉับกระเฉง และมีการออกกำลังกายน้อยลง

ต่างจากเด็กสมัยก่อนที่นิยมทำกิจกรรมในยามว่างร่วมกับเพื่อน โดยการวิ่งเล่น เล่นกีฬา ออกกำลังกายกลางแจ้ง ซึ่งการละเล่น หรือกิจกรรมเหล่านั้นจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กให้แข็งแรง

ดังนั้น เด็กปัจจุบันเสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากกว่าอดีต และจากความอ้วนจะส่งผลให้เกิดโรคตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และเมื่อเด็กอ้วนโตขึ้นจะส่งผลให้มีปัญหาเรื่องข้อเข่า

ความอ้วนในเด็กยังรวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กพบว่าติดหวาน และมีอัตราการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น เพราะเด็กยุคนี้นิยมดื่มน้ำอัดลม กินอาหารฟาสต์ฟูด จากการที่ได้รับวัฒนธรรมการกินมาจากประเทศในแถบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่า เคเอฟซี ไก่ทอด ประกอบกับปริมาณยี่ห้อขนมขบเคี้ยวที่มีให้เลือกมากขึ้น รวมถึงรสชาติที่อร่อย หาซื้อง่าย และที่สำคัญผู้ปกครองเองก็ชอบรับประทานเช่นกัน เป็นส่วนเสริมทำให้เด็กก็รับประทานตาม อย่างในบ้านก็มีขนม หรือน้ำอัดลมวางอยู่

“เด็กบางคนสมัยนี้กินน้ำเปล่าไม่เป็น ต้องกินน้ำหวาน ชาเย็น ชาไข่มุก หรือน้ำอัดลมต่างๆ ซึ่งน้ำเหล่านั้นผสมน้ำตาลทั้งสิ้น ทำให้เด็กเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้น”

2.โรคสมาธิสั้น ที่เกิดจากการเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวีเยอะ บางคนเข้าใจผิดเห็นลูกดูโทรทัศน์ได้นานเป็นชั่วโมง แล้วนึกว่าเด็กมีสมาธิดี แต่โดยหลักการวัดสมาธิเด็กจะไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาวัด เนื่องจากถือว่าเป็นสิ่งเร้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในหนึ่งนาทีมีการเปลี่ยนภาพเป็นพันภาพ

การที่เด็กได้ดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมนานๆ และรู้สึกสนุกจนเมื่อทำอย่างอื่นก็รู้สึกไม่สนุกเท่า เมื่อต้องมาอ่านหนังสือ มาทำอะไรนิ่งๆ จึงจดจ่อได้ไม่นาน เกิดความรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเป็นตัวกระตุ้นเดียว ต่างจากสมัยก่อนเด็กต้องฝึกคัดไทย หรือแม้แต่การละเล่น เช่น หมากเก็บ ลิงชิงบอล มอญซ่อนผ้า ลีลีข้าวสาร เป็นส่วนสร้างให้เด็กมีสมาธิ

3. ปัญหาด้านสายตาที่เกิดจากการเพ่ง การใช้สายตาเยอะ และใช้ในที่มีแสงไม่เหมาะสม จะทำให้ปวดตาได้ง่าย

4. ภาวะปวดหัว และโรคไมเกรน เกิดจากการทำงานของสมองอย่างหนึ่ง พบว่าแสงจ้าๆ จากคอมพิวเตอร์ มือถือ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ เด็กบางคนปิดไฟมืด แล้วเล่นไอแพด เป็นต้น
 

 

นอกจากปัญหาที่เกิดกับร่ายกายแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจตามมา ซึ่ง พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลีบอกว่า ผู้ปกครองสามารถสังเกตลูก หลานที่อยู่ในบ้านได้ ซึ่งจะพบว่าเขามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น

1.ทักษะในการเข้าสังคมลดลง เนื่องจากอยู่แต่กับเกม คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี มีการเข้ากลุ่มทำกิจกรรมน้อยลง โดยเฉพาะเด็กที่มีทักษะสังคมไม่ค่อยดีอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้ทักษะการเข้าสังคมแย่ลงไปอีก ส่วนเด็กที่รู้จักเข้ากับผู้อื่นก็จะได้รับผลน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนไม่กล้าเข้าไปพูดคุยกับเพื่อน เพราะไม่รู้จะเริ่มสนทนากับคนอื่นยังไง แต่หากให้สนทนาผ่านโปรแกรมสนทนาต่างๆ สามารถทำได้ดี

ต่างจากเด็กสมัยก่อนที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขนาดปัจจุบัน เด็กจะใช้เวลาว่างในการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนสร้างให้เกิดทักษะในการเข้าสังคม และทำให้ร่างกายแข็งแรง เช่น การเล่นกีฬาไม่ได้ช่วยแค่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังทำให้รู้จักแพ้-ชนะ รู้จักการให้อภัย รู้จักการขอโทษ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการละเล่น และกิจกรรมของเด็กได้ทั้งไอคิว และอีคิว รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

แต่การเล่นเกมในคอมพิวเตอร์ เมื่อแพ้ก็สามารถเริ่มเล่นใหม่ได้ แต่ถ้าในชีวิตจริงจะไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีเรื่องของทีม หรือว่าการวางตัว การปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับเพื่อนได้ เป็นที่รักของเพื่อน แต่ในเกมคอมพิวเตอร์หรือในสังคมออนไลน์ผู้เล่นสามารถเลือกตัวแทนได้ตามที่ตัวเองต้องการ

2. ให้คุณค่ากับวัตถุนิยมเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการซึมซับโฆษณาที่แฝงอยู่ในโลกไซเบอร์ เนื่องเพราะเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงเป็นรายบุคคลได้ง่าย ดังนั้นการโฆษณาชวนเชื่อ การแฝงโฆษณาก็สามารถทำได้ง่าย ส่งผลให้เด็กมีความต้องการทางวัตถุที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อยากได้สินค้าที่สื่อแฝงออกมา

อีกทั้งยังสร้างค่านิยมให้ไม่พอใจในตนเอง มองคนที่เปลือกนอก อยากสวย อยากขาว อยากหล่อ และวิ่งตามแฟชั่น ทำให้ต้องซื้อสินค้าเหล่านั้นมาใช้ เพราะคิดว่าจะทำให้ตนดูเท่ เก๋ เป็นต้น โดยมองคนที่คุณค่าของความดีงามในจิตใจลดลง

3.การเข้าถึงสื่อลามกได้ง่าย อาจเรียนรู้ในเวลาที่ไม่เหมาะสมตามวัย ส่งผลให้เกิดการซึมซับ และคิดว่าเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะพบอัตราการท้องในเด็กเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมตะวันตกเข้ามาและการเสพสื่อลามกบ่อยๆ จะเพิ่มความต้องการทางเพศสูงขึ้น

4. โดนหลอกง่าย เนื่องจากมีช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงเด็กได้โดยตรง มีความเป็นส่วนตัวมาก เช่น ผ่าน facebook โดยนิยมหลอกว่าจะติดต่อให้ไปเป็นนางแบบ ดารา พิธีกร และส่วนใหญ่เด็กจะไม่บอกที่บ้าน เนื่องจากกลัวผู้ปกครองจะขัดขวาง และไม่อยากบอกเพื่อนด้วย เพราะอยากดังคนเดียว กลัวเพื่อนจะเด่น จะดังไปด้วย

“เด็กยุคใหม่อยาก เด่น ดัง อยากเป็นดารา นักร้อง”

อย่างไรก็ตาม แม้พฤติกรรมในสังคมออนไลน์ก็เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้ 100% การติดต่ออาจไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง ไม่สามารถเห็นการแสดงออกทางแววตา หรือน้ำเสียงของคู่สนทนาได้เลย จึงไม่สามารถสัมผัสอารมณ์ของคู่สนทนาที่แท้จริงได้ และจากการที่ไม่เห็นตัวจริง จึงทำให้คนสามารถโกหกได้ง่าย

5. แสดงด้านมืด บางคนในสังคมออนไลน์จะมีความกล้าหาญ เพราะไม่เห็นตัว และมักจะดึงด้านมืดออกมาใช้ เช่น ด่าคน กล้าแสดงความคิดเห็นในทางรุนแรง หยาบคาย ซึ่งอาจต่างจากตัวจริงที่ไม่กล้าแสดงออก เนื่องจากกลัว

ปัจจุบันยังพบ “ไซเบอร์ บูลลี่ (Cyber-bullying)” หรือการรังแกผ่านโลกไซเบอร์ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับเด็ก รังแกกัน ประจาน ใส่ร้ายกัน ผ่านสังคมออนไลน์ โดยคิดว่าไม่มีใครรู้ว่าตนเองเป็นคนทำ

6. เด็กที่เสพติดโลกไซเบอร์มากๆ จะขาดความอดทน เมื่อมาทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ไหว บ่นว่าร้อน เหนื่อย เหนียวเหนอะหนะ ไม่อยากทำ ต่างจากอดีต วิ่งเล่น ร้อนก็ว่าสนุก พอเจอกิจกรรมที่เหนื่อยก็จะสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า ซึ่งพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกนั้น ยังมีผลมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และวิถีชีวิต แม้เด็กที่เกิดมาจะมีพื้นฐานทางอารมณ์ บุคลิกภาพ คาแรกเตอร์อยู่เดิม ไม่เหมือนกัน แต่การเลี้ยงดู ขัดเกลา เป็นส่วนต่อยอด ส่งเสริมให้เด็กเป็นไปในทิศทางใดก็ได้

ขณะที่ในปัจจุบัน พ่อ แม่ มักเลี้ยงลูกแบบตามใจ เนื่องจากมีลูกน้อยลง บางบ้านมีหลานแค่คนเดียว จึงเหมือน “ไข่ในหิน” ตามใจ อยากได้อะไรก็ได้ และให้การช่วยเหลือเด็กเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่ก็อยากได้ความรักจากเด็กเช่นกัน กลัวเด็กไม่รัก การกระทำเหล่านั้นส่งผลให้เด็กเอาแต่ใจตัวเองในที่สุด แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ขัดเด็กทุกอย่าง จนทำให้เด็กไม่ฟังและต่อต้าน ดังนั้นควรเลี้ยงดูให้เหมาะสม

“การที่เด็กถูกตามใจจะติดเป็นนิสัย ทำให้เอาแต่ใจตัวเอง อยู่ในกลุ่มเพื่อนก็ต้องการให้เพื่อนตามใจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้เข้ากับคนอื่นได้ยากขึ้น ซึ่งหลายบ้านเด็กมีอำนาจเหนือพ่อแม่ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ด่า ว่า สวนกลับพ่อแม่”

7. เขียนภาษาไทยผิด มีศัพท์แสลงมากขึ้น

“ศัพท์แสลงบางส่วนหมอคิดว่าเป็นวิวัฒนาการ แต่ในนักภาษาศาสตร์อาจมองว่าเป็นภาษาวิบัติ เช่น ใช่ไหม เป็น ชิมิ เพราะพิมพ์ง่าย สั้นกว่า”

 

 
 
แนะ “พ่อแม่” ใส่ใจดูแล
สอนให้รู้จักคิด-แบ่งเวลา
 

พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลีบอกด้วยว่า อยากแนะนำให้พ่อแม่ยุคใหม่ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับลูก โดยสอนให้รู้จักคิด และมีวินัยในตนเอง รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้จักคุณค่าของตนเอง สามารถแบ่งเวลาได้เหมาะสม เพื่อสำรวจความต้องการ ความถนัด ความชอบของตนเอง ไม่ใช่เสียเวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไป เพราะเด็กยุคนี้ หรือวัยรุ่นอายุ 13 ปีขึ้นไปมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง การเล่นสื่ออินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

“การใช้สมาร์ทโฟน เล่นเกม ของเด็กไม่ควรเกิน 1 ชม.ติดต่อกัน ส่วนเด็กเล็กจนถึงระดับอนุบาล ควรเล่นติดต่อกันไม่เกินครึ่งชั่วโมง และไม่ควรให้เด็กเล่นเกมทุกวัน เล่นเฉพาะวันหยุดก็พอ เพราะหากเล่นแล้วจะติด ทำให้เสียเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่นได้”

อย่างไรก็ดี หมอแอร์ยังเล่าอีกว่า สมาคมกุมารแพทย์อเมริกาแนะนำว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบห้ามเล่นเกม ทีวีก็ห้ามดู เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการ แต่บ้านเราตรงข้าม นิยมเลี้ยงลูกด้วยเกม ด้วยทีวี เนื่องจากเมื่อเด็กได้ดูทีวีเด็กก็จะนิ่ง ผู้ใหญ่จะได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน

อีกทั้งยังควรจัดกิจกรรม และให้ความใส่ใจให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ชวนเด็กเรียนเทนนิส ว่ายน้ำ เรียนเต้น ฯลฯ กลายเป็นว่าการจะออกกำลังกายของเด็กสมัยนี้เป็นเรื่องที่ต้องจัดทำอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันเด็กแทบไม่ได้ออกกำลังกาย จะได้ออกกำลังกายก็แค่ชั่วโมงพละเท่านั้น

สำหรับการเข้าถึงเทคโนโลยี และข้อมูลมีส่วนดี และเป็นประโยชน์อย่างมาก หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ส่งผลให้เด็กมีความทันสมัย ทันยุค เท่าทันเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว การพิมพ์ได้เร็ว อีกทั้งยังเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูลในปัจจุบันได้อย่างดี และรวดเร็วในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางในการค้นคว้า และต่อยอดในการเรียน อย่างเด็กบางคนที่บ้านอาจไม่มีหนังสือมากนัก แต่ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งความรู้ที่ให้ข้อมูลอย่างมหาศาล

หมอแอร์บอกอีกว่า ข้อดีหรือจุดแข็งของเด็กยุคใหม่ คือมีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้น มั่นใจในตัวเอง มีความสามารถด้านไอทีในสายเลือด ผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าใจและสอนในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงระเบียบวินัย การแบ่งเวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยหมอแอร์ได้ร่วมกับเพื่อนในการจัดกิจกรรมให้เด็กอายุ 13-18 ปี ในช่วงปิดเทอม ชื่อ สมาร์ททีน เพื่อให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้จักเข้าสังคม มีเพื่อน มีจุดหมายของชีวิต กตัญญูต่อพ่อแม่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/airanchulee”ได้
 

กำลังโหลดความคิดเห็น