xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมือง “มาเหนือเมฆ” ยึดโพลฟอกตัว-สร้างภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนทำโพลรับระยะหลังผลสำรวจเอื้อนักการเมืองมีมาก กลายเป็นพื้นที่สีเทา ยากฟันธงโพลไหนรับเงินนักการเมือง ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาแนะดูคำถามชี้นำ คำตอบบังคับ ดึงประชาชนเขว จี้ คนทำยึดจรรยาบรรณ ด้านบริษัทเอกชนเผยผู้ว่าจ้างกำหนดได้หมด เปิดทางนักการเมืองใช้โพลทั้งฟอก-กันลืม-สร้างภาพ แถมสื่ออื่นพร้อมขยายผลต่อ

ในช่วงปลายปี 2555 สำนักโพลชื่อดังต่างๆ ได้สร้างความฮือฮาด้วยผลสำรวจที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการสำรวจในลักษณะนี้ออกมา รวมไปถึงการเผยแพร่ผลสำรวจที่ออกมาในเชิงบวกต่อรัฐบาลและคนในครอบครัวชินวัตร

ทั้งการเกาะกระแสปรากฏการณ์วันสิ้นโลกตามปฏิทินของชนเผ่ามายาในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวดังกล่าวทั่วประเทศ จำนวน 1,461 คน ระหว่างวันที่ 12-18 ธันวาคม 2555 หนึ่งในหัวข้อที่สอบถาม “7 นักการเมืองไทย” ที่ประชาชนอยากให้รอด ถ้าหาก “วันสิ้นโลก” เป็นจริง

อันดับ 1 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 32.35% อันดับ 2 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 19.48% อันดับ 3 ทักษิณ ชินวัตร 12.86% อันดับ 4 ชวน หลีกภัย 10.66% อันดับ 5 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 9.92% อันดับ 6 เฉลิม อยู่บำรุง 9.19% อันดับ 7 บรรหาร ศิลปอาชา 5.54%

ตามมาด้วยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจ “สุดยอด CEO แห่งปี 2555 ในสายตาพนักงานบริษัทเอกชน และสุดยอดวาทกรรมทางการเมืองแห่งปีในสายตาประชาชน” กลุ่มตัวอย่างที่สำนักเอแบคไปสำรวจ เป็นพนักงานบริษัทเอกชนกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ และตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ 895 ตัวอย่าง

ผลสำรวจสุดยอด CEO แห่งปี 2555 ในกลุ่มนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อันดับที่หนึ่ง ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 32.8% อันดับที่สอง อานันท์ ปันยารชุน 20.7% อันดับที่สาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ร้อยละ 12.8% อันดับที่สี่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 11.5% อันดับที่ห้า ชวน หลีกภัย 10.1% อันดับที่หก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 8.8% และ 3.3% ระบุอื่นๆ

ถัดมาศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ที่สุดของความคิดสร้างสรรค์แห่งปี 2555” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,275 คน พบว่า ร้อยละ 52.1 ยกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองของไทยที่มีผลงานสร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 16.3 และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ 15.3

ขณะที่ร้อยละ 18.1 ยกให้โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการของรัฐบาลที่สร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมา โครงการรถยนต์คันแรก ร้อยละ 16.4 และโครงการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ร้อยละ 13.8 นอกจากนี้ ร้อยละ 8.9 ยกให้กองทัพไทย เป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์สร้างสรรค์มากที่สุด
ดุสิตโพล
เพื่อไทยบวก-คู่แข่งลบ

การสำรวจดังกล่าวแม้จะถูกอ้างว่าดำเนินการตามหลักวิชาการ แต่ผลที่ออกมาขัดต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย และสร้างความกังขาถึงกรรมวิธีการทำโพลของสำนักวิจัยโพลชื่อดัง ทั้งดุสิตโพล และ เอแบคโพลล์ โดยเฉพาะรายหลังที่ผลโพลออกมาเป็นเชิงบวกต่อรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้น และเข้าสู่ปี 2556 ดุสิตโพลได้ออกผลสำรวจ “ความคาดหวังของคนไทย ในปี 2556” เมื่อ 1 มกราคม 2556 จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,558 คน ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค.2555

ความคาดหวังต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในปี 2556 พบว่า อันดับ 1 เป็นผู้นำที่ดี ตั้งใจทำงาน ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ร้อยละ 49.24 รองลงมาคือ นำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า แก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 28.41 และอันดับ 3 สร้างความสามัคคีปรองดอง เปลี่ยนการเมืองไทยให้เป็นการเมืองที่ขาวสะอาด ร้อยละ 22.35

ด้านความคาดหวังต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในปี 2556 พบว่า อันดับ 1 ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้หมดไป ร้อยละ 42.21 รองลงมาคือ การทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องยุติธรรม ร้อยละ 41.33 และอันดับ 3 เป็นตัวหลักสำคัญในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นทางการเมือง ร้อยละ 16.46

คำถามบอกเจตนา

นักวิชาการคณะทำงานด้านวิจัยโพลของมหาวิทยาลัยเอกชนรายหนึ่ง กล่าวว่า โพลที่ออกมาในระยะนี้จะมองว่าเป็นการบิดโพลหรือไม่ ? เป็นเรื่องที่ตอบยาก ขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ของผู้ทำโพล ซึ่งไม่มีใครยอมบอกวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสำรวจ

ขั้นตอนการทำโพลโดยทั่วไปต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ เริ่มที่ตัวคำถาม แน่นอนว่าเมื่อต้องการสำรวจหรือวัดความรู้สึกของประชาชนย่อมต้องเป็นคำถามชี้นำ มีการตั้งธงเรื่องคำตอบ เพื่อจี้ให้ประชาชนตอบในสิ่งที่ผู้ทำโพลต้องการ

ประการต่อมา คือ กลุ่มประชากรเป้าหมาย บุคคลเหล่านั้นถือเป็นตัวแทนได้ครอบคลุมหรือไม่ มีการกระจายพื้นที่ในการสำรวจมากน้อยแค่ไหน

“ในภาคประชาชนที่รับข้อมูลของโพลต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมานั้น พึงทำความเข้าใจว่าโพลเป็นเพียงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ถึงขนาดเป็นงานวิจัยที่มีความแม่นยำสูงกว่า”

นักวิชาการคนนี้ ยอมรับว่า หากผู้ทำโพลมีเจตนาที่ไม่ดีทำโพลก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเทา คือ ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้อง และจะกลายเป็นการให้คุณให้โทษกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการคอร์รัปชันในเมืองไทยนอกจากจะมีนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องเพิ่มนักวิชาการเข้าไปอีกด้วย
เอแบคโพลล์
โพลรับจ้าง-จรรยาบรรณอ่อน

ขณะที่หนึ่งในทีมงานโพลของมหาวิทยาลัยภาครัฐ ยอมรับว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระยะที่ผ่านมานั้น มีทั้งส่วนที่เป็นการช่วยยกภาพลักษณ์ของนักการเมืองบางกลุ่มและสร้างภาพลบต่อนักการเมืองบางกลุ่ม

เมื่อถามถึงการซื้อโพลของนักการเมืองได้รับคำตอบว่า “ที่นี่ซื้อไม่ได้” ส่วนที่อื่นไม่ทราบ

นอกจากนี้ ยังอธิบายว่า อย่างเรื่องการสอบถามการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ต้องไปถามคนในกรุงเทพฯ หรือถามคนที่เกี่ยวข้องรวมถึงคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่ว่าคนในกรุงเทพฯ ถามได้ทุกคน เพราะบางคนมาจากต่างจังหวัด แค่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับคำแนะนำต่อประชาชนในการพิจารณาว่าโพลนั้นผิดปกติหรือไม่ ต้องดูที่สำนักโพลนั้นตั้งประเด็นและตัวคำถามว่าชี้นำแค่ไหน สำคัญที่สุดคือผลโพลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวมหรือไม่ คนที่ทำโพลนั้นมีจรรยาบรรณหรือไม่

แม้ว่ามหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งจะมีการทำโพล แต่ก็มีจุดอ่อนคือไม่มีการทำข้อตกลงร่วมกันในการสร้างจรรยาบรรณของคนทำโพล แตกต่างจากองค์กรวิชาชีพอื่น จึงทำให้บางแห่งเลือกที่จะทำโพลรายวันและเน้นสร้างประเด็นที่ฮือฮาต่อสังคม

นักวิชาการรายนี้แนะนำเพิ่มเติมว่า นอกจากคำถามที่บ่งบอกแล้วว่าผู้ทำโพลมีเจตนาอะไร ตรงนี้จะล็อกด้วยตัวคำตอบที่กำหนดให้มาเฉพาะต้องตอบตามตัวคำตอบที่มีมา สิ่งที่น่าพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของโพลให้ดูที่กลุ่มประชากรที่สำรวจ แม้ว่าเกือบทุกที่จะระบุว่าสอบถามจากพื้นที่ใด จำนวนเท่าไหร่ แต่เป็นการแจ้งคร่าวๆ ไม่มีรายละเอียดมากกว่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ในการนำเสนอ

เช่น หากจะสำรวจให้เป็นผลบวกกับพรรคการเมืองใดก็อาจเลือกเฉพาะพื้นที่ที่เป็นประชากรเป้าหมายของพรรคนั้น เช่นถ้าสำรวจพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อไทยก็มาเป็นอันดับหนึ่ง และถ้าจะทำให้เป็นผลลบกับพรรคคู่แข่งก็สำรวจในพื้นที่เดียวกัน

ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัย สร้างโพลขึ้นมาเพื่อให้เป็นช่องทางในการหารายได้ ในระยะแรกอาจจะทำโพลเพื่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักก่อน หลังจากนั้น ก็จะมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาว่าจ้าง เช่น ภาคธุรกิจที่ต้องการออกสินค้าใหม่ก็มาว่าจ้างเพื่อสำรวจความต้องการของลูกค้า แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์ใหม่

จากนั้นภาคการเมืองก็จะเข้ามาทั้งในรูปแบบของการสร้างบุญคุณ หรือการว่าจ้างในทางลับ เพราะทุกสำนักโพลไม่มีใครบอกว่าผลสำรวจที่ออกมานั้นทำขึ้นมาเองหรือใครว่าจ้างให้สำรวจ แต่เมื่อเผยแพร่ออกสู่สาธารณะแล้วย่อมมีผลต่อจิตวิทยาของประชาชน สามารถโน้มน้าวใจคนได้

บางรายว่าจ้างกันในหลัก 10 ล้านบาท เพื่อสำรวจ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ว่าจ้างว่าต้องการให้ครอบคลุมประชากรเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน
กรุงเทพโพลล์
จ้างได้-สั่งได้

ขณะที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง เล่าว่า เราเคยว่าจ้างสถาบันการศึกษาเหล่านี้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นให้ แน่นอนว่า ผู้ว่าจ้างสามารถกำหนดความต้องการได้ว่าต้องการถามอะไร ต้องการกลุ่มประชากรเป้าหมายเป็นใคร

ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาว่าต้องการเอาผลสำรวจไปทำอะไร ต้องการเผยแพร่หรือไม่เพื่อวัตถุประสงค์อะไร โพลบางประเภททำให้คนหรือสินค้ากลุ่มหนึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมา บางประเภทเหยียบให้คนหรือสินค้าคู่แข่งด้อยลง

หลายคนอาจจะแนะนำให้มองในเรื่องตัวคำถามว่าชี้นำหรือไม่ แต่ที่น่าสนใจมากกว่า คือ ตัวคำตอบ เพราะผู้ทำโพลสามารถบีบได้ว่าให้ตอบได้กี่ข้อและตัวเลือกที่มีอาจกำหนดให้เจาะจงลงไป ที่สำคัญคือขั้นตอนในการแปลผลของงานวิจัย ตรงนี้สามารถเลือกได้เช่นกันว่าต้องการให้ผลออกมาเป็นอย่างไร เช่น ถ้าผลออกมาเป็นบวกกับผู้ว่าจ้างก็ให้เผยแพร่ หรือถ้าเป็นลบกับผู้จ้างก็ไม่ต้องนำออกมา เป็นต้น

การทำให้ผลการสำรวจผิดไปจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่นั้น กลุ่มประชากรเป้าหมายที่ลงไปสำรวจก็เป็นตัวแปรสำคัญ แม้จะมีการกำหนดประชากรเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว แต่ขั้นตอนในการลงไปสำรวจหรือสอบถามความคิดเห็นนั้น ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของนักศึกษาหรือคนที่มารับงาน ตรงนี้ไม่มีใครไปตรวจว่าพวกเขาเลือกกลุ่มประชากรเป้าหมายได้ตรงตามข้อกำหนด

ทั้งนี้ เป็นเพราะเรื่องของเวลาเป็นตัวเร่ง เช่น ต้องสำรวจให้เสร็จภายในกี่วัน คนสำรวจลงพื้นที่จริงหรือไม่ เลือกประชากรเป้าหมายจริงหรือไม่ ถ้าไม่ทันแล้วกรอกเองหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่นับโพลที่มีเจตนาไม่ดี

ที่ผ่านมา โพลที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองมักจะมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง แต่ระยะหลังเมื่อดูจากหัวข้อ คำถามและผลที่ออกมา ถ้ามองในคนที่อยู่วงการทำโพลด้วยกันก็อดคิดไม่ได้ว่ารับจ้างนักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

สำนักโพลต่างๆ อยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเพื่อโปรโมตชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อีกส่วนหนึ่งมาจากการรับงานว่าจ้างทั้งจากภาคธุรกิจและทุนอื่นๆ รวมไปถึงนักการเมือง และคงไม่มีใครยอมบอกว่ามีนักการเมืองมาว่าจ้างให้ทำ

โพลที่ออกมาจึงกลายเป็นพื้นที่สีเทา ด้านหนึ่งอ้างหลักวิชาการ อีกด้านรับจ้างสำรวจ จึงไม่แปลกที่นักการเมืองเลือกใช้ช่องทางนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเอง เพราะการเผยแพร่โพลเกี่ยวกับการเมืองนั้น จะมีสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวทางโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์พร้อมที่จะนำไปเผยแพร่ต่อทันที

กำลังโหลดความคิดเห็น