xs
xsm
sm
md
lg

“ทศพร” ย้อนศร ปชป.ค้านโหวตแก้ รธน.อ้างเคยแก้ระบบเขตเดียว-ซัด รธน.50 ทหารบีบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกรัฐบาลแจงโพล วอนอย่าโทษนักการเมืองคอร์รัปชันฝ่ายเดียว อ้างเป็นเรื่องสมยอมกันกับพ่อค้า-นักธุรกิจ เปรียบเป็นแพะตัวใหญ่ ส่วนเรื่องโหวตแก้ รธน.วาระ 3 เชื่อสถานการณ์ดุเดือดแต่ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ชี้ ปชป.เล่นแปรญัตติทุกมาตรา แถมสมัยเป็นรัฐบาลยังแก้ระบบเลือกตั้งเขตเดียว อ้าง รธน.ปี 50 ทหารบีบบังคับประชาชน แก้ไขรอบนี้ตามวิถีทางประชาธิปไตย

วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพโพลล์ ระบุถึง “ความเห็นของคนกรุงต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์” ระบุว่าร้อยละ 88.0 เห็นว่าระดับความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย อยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 62.9 ระบุว่า คือนักการเมืองระดับชาติ ว่าส่วนตัวแล้วมองว่าเรื่องปัญหาคอร์รัปชันเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้หมดไป แต่ถ้าเปรยๆ ขึ้นมาลอยๆ ก็ยากที่จะให้ไปจัดการ เพราะส่วนมากเป็นการสมยอมของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าแจ้งเรื่องมาแล้วมีหลักฐานมายืนยันเราก็สามารถเข้าไปจัดการได้ ถ้าจะให้ได้ดีจริงต้องนำข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาดูเลยว่าในแต่ละปี มีการทุจริตคอร์รัปชันกี่คดี เป็นของนักการเมืองกี่คดี เป็นของข้าราชการประจำกี่คดี ถ้านำข้อมูลตรงนี้มาแล้วทำโพลให้ประชาชนเห็นชัดแจ้ง ตนคิดว่าโพลก็จะมีความแม่นยำยิ่งขึ้น

“เดี๋ยวนี้การคอรร์รัปชันค่อนข้างแนบเนียน ยกเว้นมีทั้งคนและหลักฐานมายืนยัน ถึงจะสามารถเล่นงานได้ เพราะถ้ามีเรื่องมาแบบนี้เราก็พร้อมที่จะดำเนินการส่ง ป.ป.ช.ต่อ ผมไม่อยากให้มองว่าสาเหตุเป็นเพราะนักการเมืองอย่างเดียว มีทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำ แต่นักการเมืองจะเป็นแพะตัวใหญ่ถ้ามีอะไรก็โยนลงนักการเมืองก่อน ก็เลยเป็นตะกร้าใบใหญ่สำหรับทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชัน ทั้งนี้ รัฐบาลอยากจะให้แก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายด้วย เช่น พ่อค้านักธุรกิจก็ต้องไม่ยอมจ่ายด้วย หรือได้แต่พูดบ่นแต่ไม่ให้หลักฐาน ก็ไม่สามารถจะไปจัดการอะไรได้” นพ.ทศพรกล่าว

ส่วนกรณีที่กรุงเทพโพลล์ระบุว่านักการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุดอันดับแรก คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นพ.ทศพรกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะการทำงานของนายกรัฐมนตรีสะท้อนให้เห็นออกมาเช่นนั้น

นพ.ทศพรยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐสภา เตรียมที่จะบรรจุระเบียบวาระผลการดำเนินงานรัฐบาลในรอบ 1 ปีว่า เป็นเรื่องดีเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องทำ และรัฐบาลจะได้สรุปว่า 1 ปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ทั้งนโยบายเร่งด่วน และนโยบายทั่วไปว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ประชาชนจะได้เข้าใจและเห็นถึงศักยภาพของรัฐบาล ส่วนเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวนั้น เห็นว่าฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ ป.ป.ช.จะต้องตรวจสอบ และทำให้ชัดเจนต่อไปในสายตาของประชาชน

เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมือง ที่รัฐบาลเตรียมเสนอให้เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมวาระสาม โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนมองว่าสถานการณ์คงดุเดือดขึ้น แต่ไม่อยากให้เป็นแบบนี้เลย เพราะเรื่องนี้เราก็สู้กันมาอย่างเต็มที่แล้วในสภา พรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามสู้ทุกวิถีทาง เช่น แปรญัตติเล่นกันทุกมาตรา อภิปรายกันหลายวัน รวมทั้งมีการแย่งเก้าอี้ประธานสภา มีการขว้างแฟ้มและท้ายที่สุดก็ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็น่าจะยอมรับกระบวนการที่จะดำเนินต่อไป และก็เห็นว่าจะไปยื่นอีกรอบ ถ้าเล่นกันอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

นพ.ทศพรกล่าวว่า คิดดูว่าสมัยที่แล้วที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนั้นยิ่งเห็นชัดเลยว่า ก่อนหน้านั้นมีการเลือกตั้งที่เป็นเขตละ 3 คน แต่ประชาธิปัตย์มองว่าพรรคพลังประชาชนในขณะนั้นได้เปรียบ ก็เลยอยากจะแก้กลับไปเป็นเขตเดียว คนเดียวเหมือนเดิม เพื่อสลายความได้เปรียบ เขายังทำจุดมุ่งหมายแบบนี้แท้ๆ เลยเขายังทำได้ และเมื่อประชาธิปัตย์มีเสียงข้างมากกว่าในขณะนั้นก็ลากผ่านไปได้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นจะออกมาโวยวาย มาถ่วงมารั้งหรือขัดขวาง ก็ยังปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วตอนนี้ถ้าจะมีการแก้ไขก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าแก้กันโดยวิถีทางประชาธิปไตย มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจากทั่วประเทศ จากนั้นก็มีประชามติอีกครั้ง

“แล้วทีทหารทำประชามติในปี 2550 ก็รู้กันชัดเจนว่าทหารในยุคนั้น ออกมาบีบบังคับมาควบคุมประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นตำหนิโวยวายอะไรเลย แต่ครั้งนี้เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทำไมต้องมาขวางกัน ก็สู้กันในวิถีทางประชาธิปไตย” นพ.ทศพรกล่าว

ส่วนการสานเสวนารับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศนั้น โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเป็นการยืดระยะเวลาออกไป แต่เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นมากกว่า ส่วนที่มีบางฝ่ายกังวลว่า รูปแบบเวทีสานเสวนา รัฐบาลมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นผู้ดำเนินการ อาจจะถูกชี้นำจากบางฝ่ายได้นั้น นายทศพร กล่าวว่า ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะถ้าสถาบันการศึกษานี้ไม่ได้อยู่ในทางการเมืองโดยตรง ก็จะช่วยให้มีความเป็นกลางด้วยมากกว่า เอาคนนอกวงการมาทำเลยจะเป็นการดีที่สุด และตนคิดว่าเขาคงไม่ยอมให้ใครมาชี้นำได้ และเราอยู่ในสปอตไลท์ของสังคมที่ส่องอยู่ ใครจะไปชี้นำคงไม่ได้ โดยเฉพาะสถาบันพระปกเกล้าตนเชื่อว่าไม่มีใครมาชี้นำหรือเลือกข้างได้


กำลังโหลดความคิดเห็น