xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2556 “ปู” ทำพิษ “การเมืองร้อน-ศก.ดิ่งเหว” คนแห่ต้านพา “ทักษิณ” กลับ-ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปี 2556 การเมืองร้อน! รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เดินหน้าลุยพา “ทักษิณ” กลับบ้าน เชื่อคนแห่ต้านรุนแรง เหตุรับไม่ได้ล้มกระบวนการกฎหมายไทย ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจจะเข้าขั้นวิกฤต “หนี้สาธารณะพุ่ง-รายได้เข้ารัฐยอดตกฮวบ” ประชาชนรับกรรม “LPG+พิษค่าแรง 300 บาท” ทำสินค้าราคาแพงหูฉี่ ดันปัญหาปากท้องขึ้นอันดับ 1 ส่วนจำนำข้าวปีนี้เจ๊งระนาว ที่เก็บข้าวไม่มี ขาดทุนจากรอยรั่วมหาศาล สุดช้ำราคาข้าวถุงเพิ่ม คุณภาพตก ขณะที่ปัญหารถคันแรก 1 ล้านคัน ทำจราจรเป็นอัมพาต ทั้ง กทม.และเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ถ้านับในหลายปีที่ผ่านมาแล้ว การเมืองปี 2555 ดูเหมือนจะร้อนแรงน้อยกว่าปีอื่นๆ

ปิดท้ายการเมืองปี 2555 ด้วยการออกมาส่งสัญญาณของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงสมุนน้อยใหญ่ทั้งนักการเมือง นักวิชาการพรรคเพื่อไทย ตลอดจนมวลชนคนเสื้อแดงว่าต้องผลักดันเต็มที่ให้มีการลงประชามติเกิน 24 ล้านเสียง และกึ่งหนึ่งต้องเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านมาให้ได้

ถึงขนาดรีบๆ ร้อนๆ ประกาศนโยบายแจกเงินลงตำบล หมู่บ้าน ยาวนานถึง 20 ปี เพราะกลัวจะไม่ทัน ข้ามหน้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไปแบบไม่แคร์สื่อ

กล่าวได้ว่า แผนการพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน ที่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทำเป็นวาระแห่งชาติแซงหน้านโยบายอื่นๆ โดยมีความพยายามดำเนินการตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2554 นับจนถึงปลายปี 2555 แล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ

ประเมินจากทีมคีย์แมนพรรคเพื่อไทย ถ้าเดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วงไปได้สวย จะใช้เวลาแค่ 4 เดือน แล้วกลับมาที่กระบวนการในรัฐสภา รวมทั้งสิ้น ปี 2556 ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็กลับบ้านได้

แต่การเมืองจะเป็นไปได้ง่ายอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ บงการหรือสั่งการนั้นไม่ได้! เพราะการเมืองไทย ประกอบด้วย หลายปัจจัย และไม่ใช่เรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะทำอะไรได้ดั่งใจง่ายๆ เช่นกัน
เปิดศักราชปี พ.ศ.2556 ศึกการเมืองยังเป็นศึกที่น่าจับตาที่สุด...

ศึก กทม.“เพื่อไทย” รู้จุดอ่อน “ปชป.”

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ศักราชการเมืองปี 2556 ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 แต่สิ่งที่น่าจับตาที่สุด คือ ศึกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถ้าจะดูว่าเป็นการเลือกตั้งตามกำหนด เป็นการเลือกตั้งเมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่ง จึงต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และมองว่า เป็นเวทีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก็มองได้ แต่จริงๆ แล้วการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมีขึ้นกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเป็นศึกที่เรียกว่ามีเดิมพันการเมืองระดับชาติ

ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะไม่ธรรมดา โดยทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อชิงชัยชนะ เพราะหมายถึงสิ่งที่สะท้อนถึงชัยชนะและการพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองทั้งสองในศึกการเลือกตั้งระดับชาติด้วย

จากข้อมูลในการทำการสำรวจความคิดเห็นภาคประชาชนของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ชี้ชัดเจนว่า คน กทม.นั้น จะมีการตัดสินใจเลือกตั้งด้วยกัน 3 แบบ แบบที่ 1 คือ เลือกตัวพรรค พรรคส่งผู้สมัครคนใดมาก็เลือกหมด 2.เลือกที่ตัวคนโดยดูว่าคนใดเก่ง คนใดทำประโยชน์ให้กับคน กทม.โดยไม่สนใจว่าคนคนนั้นจะอยู่พรรคอะไร และ 3.เลือกทั้งพรรคและตัวคน

โดยกลุ่มที่เลือกทั้งตัวพรรคและตัวคนจะมีอยู่ประมาณเกือบ 25% แต่คนที่เลือกพรรคการเมืองจะมีอยู่สูงกว่าคือประมาณ 30% ซึ่งพรรคที่ได้เปรียบเวลานี้ คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนนิยมในตัวพรรคการเมืองสูงกว่า ก็ถือว่าประชาธิปัตย์ยังมีแต้มต่อ

“ช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมสูงขึ้น เรามีการสำรวจได้ข้อมูลว่า ถ้าคน กทม.บอกว่า จะเลือกพรรคเพื่อไทย 20% จะมีคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ประมาณ 40% แต่ก็ต้องยอมรับว่า คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีต่ำลง ซึ่งการวัดความต่างของความนิยมในตัวพรรคการเมืองของคน กทม.ล่าสุด จึงพบว่า ประชาธิปัตย์มีคะแนนนำเพื่อไทยลดลง แต่ก็ยังนำอยู่ประมาณ 14-15% ถือว่าพรรคเพื่อไทยเริ่มใช้กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ”

สำหรับข้อได้เปรียบหลักของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อประชาธิปัตย์ คือ การที่ได้เป็นรัฐบาล และการแบ่งระบบงานที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย ทั้งขับเคลื่อนพรรค การแก้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจนนี้ทำให้แต่ละฝ่ายสามารถทำงานขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันได้เป็นอย่างดี

ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ทุกอย่างรวมศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นกองหน้า กองกลาง กองหลัง ทุกคนอยู่กลุ่มเดียวกัน ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องออกมาเล่นทุกเรื่อง

“ทีมกลยุทธ์เพื่อไทยรู้จุดอ่อนประชาธิปัตย์อย่างมาก ดังนั้น การที่คุณอภิสิทธิ์ และคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) โดนคดี 99 ศพ จึงเป็นการเตะขาคู่แข่ง ทำให้เพื่อไทยมีความได้เปรียบทางการเมืองขึ้นมา เมื่อรวมกับการที่เพื่อไทยเป็นมวยรองในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้ว เพื่อไทยจึงมีเป้าหมายแค่ว่า ถ้าไม่ชนะก็ขอให้มีคะแนนสูสี ซึ่งการมีคะแนนสูสี เพื่อไทยก็จะถือว่าได้รับชัยชนะเช่นกัน แม้ตัวเลขจะแพ้ประชาธิปัตย์ก็ตาม”

 
สนาม กทม.“ปชป.” แพ้ไม่ได้!

สำหรับกลยุทธ์ที่พรรคเพื่อไทยจะใช้ต่อสู้ศึกเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ ก็คือตัวคนเป็นหลักเพื่อดึงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าพรรคเพื่อไทยทำได้สำเร็จระดับหนึ่งแล้ว โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ขณะนี้แม้ว่าจะยังไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจน แต่ระหว่างตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็พบว่า คะแนนนิยมตัว พล.ต.อ.พงศพัศ ชนะอยู่ประมาณ 10% ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมืองที่ประชาธิปัตย์มีเหนือกว่าประมาณ 14-15% ก็เท่ากับว่า ขณะนี้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยมีโอกาสที่จะชนะทั้งคู่ เพราะคะแนนสูสี

อีกทั้งขณะนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังโดนคดีต่อสัญญากับ BTS ที่ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และจะมีการสอบสวน 9 ม.ค.นี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะมีการเตรียม กรณ์ จาติกวณิช และ องอาจ คล้ามไพบูลย์ สำรองไว้สำหรับลงเลือกตั้งแทนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี พื้นที่ กทม.เป็นศูนย์รวมของกลุ่มคนที่เป็นมันสมองของประเทศ และคนเหล่านี้มีผลสะเทือนต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล ตามที่มีคำกล่าวไว้ว่า คนต่างจังหวัดเลือกนายกฯ คนกรุงเทพฯ ขับไล่รัฐบาล ดังนั้นตั้งแต่เวลานี้จนกลางเดือนกุมภาพันธ์ การเมืองจะร้อนแรงมากในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ และแต่ละฝ่ายก็จะแพ้ไม่ได้

โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่ฐานคะแนนสำคัญจะเป็นคนกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะมีฐานคะแนนชนชั้นกลางลงมา

ศึกครั้งนี้ถ้าประชาธิปัตย์แพ้ หมายความว่า กลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปของ กทม.เริ่มหวั่นไหว และเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งระดับชาติ ที่อาจจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกเป็นระยะเวลานาน เพราะเสียฐานเสียงส่วนสำคัญไป จะเหลือก็แต่แฟนพันธุ์แท้ที่จะเลือกประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้ก็ล้วนมีอายุ 50 ปีขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนคนกลุ่มใหม่ๆ ก็มีพรรคเพื่อไทยแทรกเข้ามาได้จำนวนไม่น้อย ตรงนี้เป็นผลจากการที่ประชาธิปัตย์ทำโครงการยุวประชาธิปัตย์ แต่ขาดช่วงไปช่วงใหญ่ซึ่งน่าเป็นห่วงมากสำหรับประชาธิปัตย์

แต่สำหรับเพื่อไทย ถ้าแพ้ ก็ถือว่าไม่มีอะไรจะเสีย เพราะเป็นมวยรองอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าชนะ สิ่งที่เพื่อไทยกำลังดำเนินการอยู่ในการทำงานของรัฐบาลก็จะง่ายขึ้น

“พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอยู่ถือว่าได้เปรียบ ถ้าได้เวทีท้องถิ่นด้วย ก็เท่ากับว่าเป็นการเกลี่ยทั้งอำนาจ และผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ยังเป็นการปูพรมสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติที่สำคัญยิ่งด้วย”

ปี 2556 นี้จึงต้องจับตาศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กลางเดือนกุมภาพันธ์อย่างใกล้ชิด!

ส่วนการเมืองอื่นๆ นั้น รศ.ดร.สุขุม มองว่า รัฐบาลจะมีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป แต่คิดว่าจะไม่รีบร้อนมากนัก จะใช้วิธีทอดยาว

เรื่องที่น่าห่วง คือ กรณีเขาพระวิหารที่จะมีการให้การในเดือนเมษายน และจะมีการตัดสินในช่วงปลายปี ก็น่าจะเป็นประเด็นร้อนอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นเรื่องใหญ่ในช่วงปลายปี 2556

ปี 56 การเมืองเข้มข้น!

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.วิเคราะห์ว่า การเมืองปี 2556 จะยิ่งเข้มข้นกว่าปี 2555 เพราะทุกอย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินการจะมาตกผลึกในปี 2556 นี้

“ปี 2555 ยังไม่มีอะไรมาก เพราะทุกคนให้โอกาสรัฐบาลบริหารงานก่อน และเป็นช่วงหลังน้ำท่วมก็ต้องฟื้นฟูประเทศ แต่ปี 56 ปัญหาจะเริ่มปรากฏ”

โดยเฉพาะปัญหาใน 2 ส่วนใหญ่ คือ จากนโยบายรัฐ ซึ่งปัญหาการทุจริตจำนำข้าวจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่หลายภาคส่วนจะจับตามองในปีนี้ และชัดเจนมากว่าจะมีปัญหาทั้งเงิน และการขาดทุนที่ชัดเจนมากขึ้น

อีกส่วนเป็นปัญหาของรัฐบาลที่เร่งเดินหน้าแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะชัดเจนแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด และต้องการให้เดินหน้าการทำประชามติ ดังนั้นปี 2556 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายเพื่อช่วยคนคนเดียว ก็จะออกมาคัดค้าน และรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ถือว่าเข้าสู่ช่วงการต่อสู้ทางความคิดอย่างรุนแรง

เช่นเดียวกับ เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีเงาด้านเศรษฐกิจ ที่มองว่า การเมืองไทยมีแนวโน้มที่จะร้อนแรงมากกว่าในปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลยังมีท่าทีที่จะผลักดันการแก้กฎหมายเอื้อประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากคดีและกลับประเทศไทยได้เป็นหลัก

ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 การออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ได้สนใจเรื่องปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง และการที่เน้นจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณเพียงอย่างเดียว จะทำให้ฝ่ายที่คัดค้าน หรือขบวนการภาคประชาชนจะออกมาต่อต้านในปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะคนเหล่านี้รับไม่ได้ที่รัฐบาลมีพฤติกรรมในการล้มกระบวนการทางกฎหมาย

พิษจำนำข้าว-ขาดทุนอื้อ

ส่วนนโยบายที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศเป็นลำดับที่ 2 คือ เรื่องการรับจำนำข้าว ที่ปัญหาจะยิ่งทับทวีคูณ ทั้งในส่วนของเกษตรกรที่ไม่ได้เงินตามโครงการจริง ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นจะยิ่งทับถมทำให้ความสามารถในการแข่งขันในสินค้าข้าวของไทย ที่เคยเป็นอันดับ 1 ตกอันดับไปอีก และขาดทุนมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท

“ไทยเคยส่งออกได้ 10 ล้าน แต่ปีที่ผ่านมาส่งออกได้แค่ 5 ล้านตัน แล้วส่วนมากก็เป็นภาคเอกชน ภาครัฐเองส่งออกได้แค่ 1 ล้านกว่าตัน ส่วนสต็อกในประเทศ 10 ล้านตันก็เต็มหมดแล้ว ถ้ารับจำนำรอบหน้าก็ไม่มีที่เก็บ ส่วนที่เก็บอยู่ก็มีแต่เสื่อมสภาพลง ปีนี้จะเห็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น”

ดังนั้น ปัญหาจำนำข้าวไม่ใช่ปัญหาระยะยาว แต่เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นระยะกลาง และรัฐควรจะต้องทบทวน อีกทั้งไม่ควรเปิดรับจำนำรอบใหม่ในปีหน้า

นโยบายต่อมาที่จะแสดงความล้มเหลวออกมาคือ นโยบายการลดภาษีรถยนต์ หรือโครงการรถคันแรก ที่ ขณะนี้มีประชาชนไปขอภาษีรถคันแรกคืนทะลุ 1 ล้านคัน รวมวงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ข้อกังวลในนโยบายนี้คือปีหน้ารถที่จะออกมาในท้องถนนจำนวน 1 ล้านคันนั้น จะสร้างปัญหาจราจรติดขัดอีกเท่าไร ซึ่งไม่เพียงแต่พื้นที่ กทม. แต่ยังขยายปัญหาจราจรติดขัดไปที่หัวเมืองใหญ่ๆ ด้วย ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช หาดใหญ่ ฯลฯ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลต้องวางแผนว่าจะแก้อย่างไร

ขณะที่ปัญหาที่ตามมา คือ จะกระทบกับสถานะการคลังของประเทศ เพราะที่จริงแล้วเงินจำนวน 8-9 หมื่นล้านบาทนั้น ถ้ารัฐบาลนำมาสร้างรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินจะสามารถสร้างได้ถึง 2-3 สาย ซึ่งเป็นส่วนที่น่าเสียดาย อีกทั้งคนที่ซื้อรถไปแล้วนั้นจะมีกำลังพอที่จะผ่อนรถจนครบระยะกับไฟแนนซ์หรือไม่

ปัจจุบันพบว่า บางคนยังใส่ชุดนักศึกษาไปจองรถก็มี อีกทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์เอง การเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดมากเกินไปก็จะทำให้กระทบต่ออุตสาหกรรมในปีนี้ ว่า จะมีกำลังการผลิต และยอดส่งออกเท่าไร ในเมื่อปีที่ผ่านมารัฐได้มีการผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้อิ่มตัวไปแล้ว

ปัญหา ศก.ยุโรปกระทบแรงส่งออก

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีนี้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ยุโรป ว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะขณะนี้ก็ยังถือว่ากระบวนการแก้ไขหนี้ยุโรปยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับการส่งออกของประเทศไทยอีก เพราะยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของไทย รวมถึงตลาดสหรัฐอเมริกาที่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอยู่เช่นกัน เมื่อรวม 2 ตลาดนี้แล้ว ถือว่าเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทยรวมกันถึง 20-30%

จุดนี้ภาครัฐได้มีการเตรียมมาตรการรองรับหรือยัง โดยเฉพาะการเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ

“ตั้งแต่รัฐบาลนี้ทำงานมา ไม่เห็นว่าจะมีนโยบายรองรับในส่วนนี้เลย โดยเฉพาะวันที่แถลงนโยบายรัฐบาลกับรัฐสภาในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ก็ไม่มีการระบุว่าจะมีนโยบายเปิดตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มละตินอเมริกา ทั้งๆ ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก ซึ่งรัฐบาลนี้มีการตั้งผู้แทนการค้าขึ้นมา 5 คน แต่นับจนถึงวันนี้ก็ไม่เห็นผลงาน”

สำหรับปัญหาเศรษฐกิจภายนอกที่จะกระทบกับเศรษฐกิจภายใน ซึ่งเมื่อรวมกับอีก 2 นโยบายใหญ่ คือการประกาศเพิ่มราคาก๊าซ LPG หลังเปิดปีใหม่ และการดำเนินนโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศที่จะเริ่มหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ราคาสินค้าขยับตัวสูงขึ้น จนทำให้ปี 2556 ประชาชนจะมีปัญหาปากท้องที่รุนแรงขึ้น และต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าในราคาที่สูงกว่าภาวะเงินเฟ้อที่รัฐบาลประกาศแน่นอน ซึ่งความจริงแล้วกระทรวงพาณิชย์มีเครื่องมือดูแลได้หลายประการ และต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นการดำเนินการเพื่อควบคุมราคาสินค้าแต่อย่างใด และปีนี้ราคาสินค้าก็จะพุ่งสูงขึ้นจากราคาก๊าซ LPG ที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน

“ขณะนี้คนชั้นกลางในเมืองก็ต้องกินข้าวถุงที่ราคาสูงขึ้นแล้ว แถมคุณภาพยังต่ำลงอีก ปัญหาคือทัศนคติผู้บริหารไม่ได้ดูแลต้นทุน แต่กลับบอกว่าข้าวจานหนึ่งไม่กี่บาท ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”

นอกจากนี้ ปัญหาการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาล ปี 2556 จะเป็นปีที่ทุกอย่างจะค่อยๆ เปิดเผยออกมาหมด โดยขณะนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับกว่า 43% ไม่รวมหนี้ที่ซ่อนอยู่ตามรัฐวิสาหกิจ ทั้งหนี้ซ่อนอยู่ในโครงการรับจำนำข้าวที่เสียหายกว่า 2 แสนล้านบาทไปแล้ว รวมถึงสารพัดเงินกู้ และ พ.ร.ก.เงินกู้ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในปีนี้ เชื่อว่าปัญหาหนี้สาธารณะจะเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดในปีหน้า

ที่สำคัญ เชื่อว่า ปีนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีการเล่นแร่แปรธาตุเกี่ยวกับตัวเลขหนี้สาธารณะอย่างมาก จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด!

ในด้านการหาเงินรายได้เข้ารัฐ มองว่าปี 2556 ระบบภาษีจะมีการเก็บรายได้เข้ารัฐลดน้อยกว่าปี 2555 ทั้งภาษีสรรพสามิตที่หายไปกับโครงการรถคันแรกแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท ภาษีรายได้นิติบุคคลที่ลดจาก 30% เหลือ 23% รวมทั้งภาษีนำเข้าที่ลดลงทุกปีอยู่แล้ว ก็จะทำให้ปี 2556 ในส่วนของรายได้เข้ารัฐมีแนวโน้มน้อยลงอย่างมากด้วย

 
งบน้ำท่วมเหลว

อีกประการที่ต้องจับตา คือ การตั้งงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ในปีที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณกว่า 3.5 แสนล้าน เงินลงไปแล้ว แต่ผลงานไม่มีปรากฏ แถมยังซ้ำเติมเกษตรกรด้วยปัญหาภัยแล้ง เพราะประเมินสถานการณ์ผิดพลาด และไม่มีการลงไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรอย่างทันท่วงที

ดังนั้น เกษตรกรที่เดือดร้อนหนักสุดก็คือ เกษตรกรภาคอีสาน นั่นเอง

“ภาคอีสานเป็นภาคที่ปีนี้มีฝนตกชุกที่สุด และต้องการใช้น้ำมากที่สุด อีกทั้งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่กลับไม่มีมาตรการกักเก็บน้ำ และยังประสบภาวะแห้งแล้งรุนแรง ตรงนี้ความจริงต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ”

ดังนั้น เปิดศักราชปี 2556 ประชาชนคนไทยทุกคนก็ต้องตระหนักถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งในด้านการเมืองที่นับวันยิ่งร้อนแรงขึ้น ด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง และเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะได้รับผลพวงทั้งจากนโยบายของรัฐบาลเอง และปัจจัยภายนอกประเทศที่มากระทบ หากเราไม่ตั้งรับให้ดี ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่อีกครั้งที่คนไทยไม่อาจเลี่ยงได้!

กำลังโหลดความคิดเห็น