เลือกตั้ง กทม. ต้นปีหน้าเริ่มคึกแม้ 2 พรรคใหญ่ยังไม่ประกาศตัวผู้สมัคร พบ “ศึกใน” ทั้ง 2 พรรคดุเดือดกว่าศึกนอก ส.ส.กทม.เพื่อไทยหนุน “คุณหญิงสุดารัตน์” ต้าน “พงศพัศ” เหตุข้าราชการเชื่องช้าไม่ทันกินนักการเมือง ขณะที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหวั่นสั่ง “เจ๊หน่อย” ซ้ายหันขวาหันไม่ได้ ด้าน ปชป.แม้จะได้เปรียบเรื่องฐานเสียงแน่นหนากว่า แต่ศึกในกลับระอุ ส.ก.อาวุโส 19 คนต้าน “กรณ์ จาติกวณิช” เหตุรับไม่ได้แทรกแซงเลือกตั้งประธานสภา กทม. พร้อมหนุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงเลือกตั้งอีกสมัย สะท้อนภาพขัดแย้งภายในที่นักการเมืองเก่ารุมต้าน “กลุ่มเลือดใหม่” สร้างรอยร้าวทุกระดับ และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ “อภิสิทธิ์” ต้องเร่งกำจัดจุดอ่อน ก่อนพ่ายเพื่อไทย!
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับศึกเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ต้นปี 2556 ขณะนี้แม้ยังไม่มีการประกาศตัวอย่างเป็นทางการว่าพรรคไหนจะส่งใครเป็นตัวแทน แต่ก็มีชื่อแพลมออกมาแล้วทั้ง 2 พรรคด้วยความคุกรุ่นของศึกภายใน โดยพรรคไทยรักไทยมีชื่อของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นคู่ชิงหลัก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน และนายกรณ์ จาติกวณิช กลุ่มเลือดใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่อยากจะก้าวเข้าสู่เก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” นี้เช่นกัน
ศึกเลือกตั้งสนาม กทม.ครั้งนี้จึงประมาทไม่ได้ ส่วน ปชป.และเพื่อไทยใครจะได้เปรียบในสนามนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม!
พรรคไหนจะส่งใคร? และพรรคไหนได้เปรียบสนาม กทม.ครั้งนี้?
ศึกเลือกตั้ง กทม.เดือด-ปูทางเวทีใหญ่
รศ.ดร.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ กล่าวว่า จากการติดตามการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนมาตลอด ก็พบว่าในเวทีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้น เป็นเวทีที่สำคัญไม่แพ้เวทีการเลือกตั้งใหญ่ เพราะแม้ว่าทั้ง 2 พรรคใหญ่จะหันไปแข่งกันที่นโยบายประชานิยมในกลุ่มรากหญ้ากันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่พบว่าคะแนนนิยมคนกรุง หรือชนชั้นกลางในเมือง ยังเป็นคะแนนที่ทั้งสองพรรคหวังช่วงชิง เนื่องจากจะส่งผลต่อคะแนน ส.ส.ในการเลือกตั้งใหญ่ด้วย
“การที่พรรคใดครองใจคนกรุงเทพฯ ได้ หมายถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งใหญ่ก็จะได้มากเช่นเดียวกัน เพราะ ส.ส.ใน กทม.มีจำนวนมากถึง 33 คน อีกทั้งการที่คนกรุงเทพฯ นั้นมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ก็จะมีผลในการผลักดันนโยบาย รวมถึงการแสดงออกความพอใจ ไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งเกิดผลสะเทือนกับรัฐบาลได้ ดังนั้นศึกเลือกตั้ง กทม.จึงเป็นศึกที่ดุเดือดของทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์”
ปัจจุบัน ส.ส.กทม.จำนวน 33 คนนั้น เป็นของประชาธิปัตย์ 23 คน และเพื่อไทย 10 คน โดยเพื่อไทยจะได้ในพื้นที่ส่วนรอบนอก กทม.เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชัยระบุว่า ขณะนี้พรรคที่ได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง กทม.คือพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะมีความขัดแย้งในการเลือกตัวผู้สมัคร ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และนายกรณ์ จาติกวณิช แต่ในระบบฐานเสียง ทั้งระบบการหนุนกันของ ส.ก. ส.ข.และ ส.ส.ในพื้นที่ ที่มีการทำงานสนับสนุนกันดีกว่าของพรรคเพื่อไทย จึงถือเป็นข้อได้เปรียบหลักของประชาธิปัตย์ ร่วมกับการที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ว่าฯ กทม.นานถึง 8 ปี คือเป็นตั้งแต่ปี 2547 ในสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จนมาถึงปัจจุบัน จึงมีความได้เปรียบเพราะจะรู้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องการอะไร ที่จะนำมากำหนดเป็นนโยบายหาเสียงได้ตรงจุด และรู้กลไกการทำงานมากกว่า
“หญิงหน่อย” มีแต้มต่อกว่า “พงศพัศ”
ขณะที่พรรคเพื่อไทยค่อนข้างตกเป็นรอง โดยเฉพาะความขัดแย้งในการเลือกตัวผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าทั้ง 2 คนมีผู้สนับสนุนกลุ่มที่ชัดเจน
โดยมีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ถือเป็นตัวเก็งนำ เนื่องจากได้แรงหนุนจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เข้าร่วมกับ “เจ๊แดง” เยาวภา วงษ์สวัสดิ์ และอยู่ในสายตาของนายหญิง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กลุ่ม ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็กปั้นในสังกัดคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พร้อมฐานคะแนนเสียง “สีแดง” ในเขตรอบนอก กทม.ที่แน่นปึ้กก็เป็นฐานเสียงในฐานสนับสนุนของคุณหญิงสุดารัตน์เอง
รศ.ดร.สมชัยกล่าวว่า หากคุณหญิงสุดารัตน์ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์จะมีโอกาสชนะได้มากกว่าส่ง พล.ต.อ.พงศพัศเข้ามา โดยมองว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนในพื้นที่จาก ส.ส. ส.ก.และ ส.ข.ในสายคุณหญิงสุดารัตน์ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่
“มีการประกาศแล้วว่า ถ้าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้สมัครลงผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ส.ส.กลุ่มหนึ่งจะออกไปลงรับสมัครเลือกตั้งกลุ่มใหม่ แสดงว่าหากพรรคส่ง พล.ต.อ.พงศพัศลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้ ส.ส.กลุ่มนี้ไม่ได้ออกไปตั้งกลุ่มรับสมัครเลือกตั้งใหม่จริง แต่ก็จะไม่ให้การสนับสนุนในด้านฐานเสียงที่ดีนัก”
ดังนั้น พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะผู้นำจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ ว่าจะเอาคนที่ชี้ให้หันซ้ายหันขวาได้ อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ส่งเข้าไปยังไงก็แพ้ หรือจะเลือกคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์จะมีความเป็นอิสระ ซึ่งผู้นำพรรคเพื่อไทยตัวจริงอาจคุมไม่ได้ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่จะมีทั้งได้และเสีย
จับตา! ผู้สมัครอิสระ “ตาอยู่”
นอกจากนี้ รศ.ดร.สมชัยมองว่า หากพรรคเพื่อไทยแก้ปัญหานี้ได้ โอกาสพลิกมาชนะพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช่ว่าจะปิดประตูตาย เนื่องจากจุดแข็งที่พรรคเพื่อไทยได้เปรียบคือพื้นที่รอบนอก กทม. ซึ่งประชากรที่อยู่ในบริเวณนั้นมีลักษณะภักดีต่อพรรคสูง ไม่โลเล ไม่เปลี่ยนใจง่าย ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่เพื่อไทยต้องทำให้ได้คือเจาะเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในให้ได้มากที่สุด
“พื้นที่ส่วนใน กทม.เป็นพื้นที่ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่า และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าพื้นที่รอบนอกกทม. แต่ที่น่าสนใจคือพฤติกรรมทางการเมืองของคนกลุ่มนี้กลับมีท่าทีโลเล เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และไม่ได้ยึดติดกับพรรคการเมือง”
ดังนั้น “บุคคลที่ 3” ก็มีโอกาสเกิด!
“ลองสังเกตดู คนกรุงเทพฯ บางทีก็เบื่อพรรคการเมือง ไปเลือกคนที่มาลงรับสมัครแบบอิสระ แต่แสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ เช่น ดร.พิจิตต รัตนกุล, พลตรีจำลอง ศรีเมือง และคุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ แต่ได้คะแนนถล่มทลายจนได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แซง 2 พรรคใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา”
ปัญหาในขณะนี้คือ “ตัวชิง” ยังไม่เปิดหน้าหมด จึงมองไม่เห็นว่า ผู้สมัครอิสระคนไหน โอกาสเป็น “ตาอยู่” จะเป็นใคร มีแต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ รศ.ดร.สมชัยก็มองว่า “มือยังไม่ถึง”
เพื่อไทยรับฐานเสียงเป็นรองปชป.
“เรารู้ดีว่าพรรคที่ได้เปรียบตอนนี้คือประชาธิปัตย์เพราะเป็นผู้ว่าฯ กทม.มาหลายสมัย และเพื่อไทยมีฐานคะแนนด้อยกว่า แต่เพื่อไทยก็คิดว่าสู้ได้ เพราะความเป็นรัฐบาล ยังใช้นโยบายดันคะแนนนิยมจากประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้” นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ระบุ
นายวิชาญบอกอีกว่า คนกรุงเทพฯ เป็นคนที่มีความรู้ ดังนั้น ทั้งคนที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ ทั้งคนที่จะสมัคร ส.ก. ส.ข. รวมถึง ส.ส. จะต้องเลือกคนที่ได้รับการยอมรับจากคนกรุงเทพฯ ไปพร้อมๆ กับนโยบาย ซึ่งต่างจากเขตพื้นที่อื่นๆ คือทั้งคน และนโยบาย จะต้องทำให้คนกรุงเทพฯ เห็นว่าจะเข้ามาผลักดันและแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ได้จริง คนกรุงเทพฯ ถึงจะลงคะแนนเสียงให้ ซึ่งโอกาสพลิกเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ของพรรคเพื่อไทยอยู่ตรงจุดนี้
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่สุดคือตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ ของพรรค ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ามีเพียง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สุดท้ายแล้วอยู่ที่ผู้ใหญ่ของพรรคว่าจะเลือกใคร แต่โดยส่วนตัวแล้วยังเห็นว่า คุณหญิงสุดารัตน์จะได้เปรียบทั้งในการเลือกตั้ง และการทำงานมากกว่า
เนื่องจาก พล.ต.อ.พงศพัศนั้นถือว่าเป็นคนที่ทำงานแต่ในระบบราชการมาโดยตลอด การทำงานจึงอยู่ในลักษณะทำตามนโยบายใหญ่ ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญ ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนักการเมืองมาตลอด และมีประสบการณ์ในทางการเมือง ในทางการบริหารราชการมายาวนานกว่า ในกระบวนการตัดสินใจจะสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการของพรรค ซึ่งเป็นจุดได้เปรียบหลัก
“แต่สุดท้าย ถ้าผู้ใหญ่เลือกใคร คนคนนั้นก็ต้องทำงานแบบนักการเมืองให้ได้ บทนี้จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือพล.ต.อ.พงศพัศ ที่ต้องผ่านให้ได้ในเวทีการเมือง”
ทั้งนี้ นายวิชาญกล่าวว่า ไม่หวั่นว่าคนกรุงเทพฯ จะหันไปเทคะแนนให้กับผู้สมัครฯ อิสระ เพราะอย่างไรแล้ว ผู้สมัครอิสระถ้าอยากได้เปรียบก็มีการสนับสนุนทางการเมืองของ 2 พรรคใหญ่อยู่ดี ซึ่งคนกรุงเทพฯ ก็จะรู้ว่าพรรคไหนสนับสนุนใคร จึงไม่น่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ดี นายวิชาญย้ำว่า พื้นที่ฐานคะแนนเสียงแน่นหนาของพรรคเพื่อไทยคือกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ลาดกระบัง, มีนบุรี, หนองจอก, บางเขน, คลองสามวา, ดอนเมือง, หลักสี่ และพื้นที่ดุสิตบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่เพื่อไทยจะยังชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ส่วนนี้ ที่เหลือเป็นเขตพื้นที่กรุงเทพฯ รอบใน ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะใช้นโยบายจากรัฐบาลในการดึงคะแนนเสียงส่วนนี้มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ
ศึกในเดือด! ต้าน “กรณ์ จาติกวณิช”
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่ความจริงแล้วทั้งฐานคะแนนเสียงที่มากกว่า ทั้งการคุมอำนาจในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มายาวนานถึง 8 ปี แม้จะดูว่าได้เปรียบอยู่หลายขุม แต่กลับพบว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังมีศึกภายในที่อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้แพ้พรรคเพื่อไทยได้ง่ายๆ เช่นกัน
นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ อดีตรองประธานสภา กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น มองว่าพรรคได้เปรียบในด้านการทำงานและฐานคะแนนเสียงอยู่แล้ว โดยเฉพาะ ส.ก. ส.ข.ของพรรคก็ยังมั่นใจในตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัฒน์ ว่าจะสามารถนำทีม ส.ก. ส.ข.ของพรรคชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ได้ แม้จะผ่านศึกชิงพื้นที่ข่าวกับพรรคเพื่อไทยอย่างหนักในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา
โดยพรรคประชาธิปัตย์มีจุดเดียวที่กังวลว่าจะพ่ายการเลือกตั้งในเวทีผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้คือ ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์เอง โดยมองว่าการบริหารงานของกลุ่มเลือดใหม่ ที่เป็นคนหนุ่มอายุน้อย เรียนหนังสือจบมาจากต่างประเทศนั้น โดยเฉพาะ กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของการบริหารงานในระดับการเมืองท้องถิ่น
“การเลือกตั้งประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นตัวแสดงให้เห็นชัดว่า สภา กทม.มีความแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรเวทีใหญ่อย่างมาก สภา กทม.มีลักษณะนับถืออาวุโส จะไม่มีการแบ่งแยกพรรคการเมือง จะร่วมกันทำงาน และจะมีการเลือกประธานสภาฯ จากคนที่มีประสบการณ์บริหารงาน กทม.อย่างยาวนาน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสภา กทม. แต่คุณกรณ์ไม่เข้าใจ มีการเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง กระทั่งมีบางคนใช้โอกาสนี้มาซื้อเสียง ส.ก. ส.ข.ด้วยกันเอง ซึ่ง ส.ก.ของพรรคที่เป็นคนเก่าแก่ 19 คนรู้สึกว่ารับไม่ได้ จึงทำหนังสือร้องเรียนถึงทางพรรคแล้วให้รีบแก้ไขปัญหานี้ด่วน”
นายไสวบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนา ส.ก. ส.ข.ของพรรคที่หัวหิน แล้วมีวาระเลือกประธานสภา กทม.ซึ่งไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แถมในการเลือกตั้งก็ยังมีไฟดับ ซึ่งมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส ทาง ส.ก.ของพรรคก็รู้สึกไม่ดีว่าไม่โปร่งใส จึงมีการจัดการเลือกตั้งประธานสภา กทม.ของพรรคขึ้นมาใหม่
ขณะเดียวกันเขาได้ระบายความในใจในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดย special scoop ได้นำมาเสนอบางส่วน ว่า
“กรณีที่มีชาวบ้านโทร.ถามว่าอ่านหนังสือพิมพ์เดลินิวส์หรือยัง มีข่าวว่าพรรคจะพิจารณาความผิด ส.ก.ที่เป็นอดีตรองประธานสภา 3 คนเรื่องฝ่าฝืนมติพรรคในการเลือกประธานสภา กทม.นั้นข้อเท็จจริง คือ การเลือกประธานสภาแทนคนเก่าที่หมดวาระโดยปกติก็จะมีการโหวตกันที่ กทม. แต่คราวนี้พรรคมีหนังสือถึง ส.ก.เชิญสัมมนาที่หัวหิน และ ส.ส.กรณ์ จาติกวณิช เป็นผู้เซ็นหนังสือ โดยไม่มีวาระการเลือกตั้งประธานสภาแต่อย่างใด
แต่หลังจากนั้นมีการบรรจุวาระการเลือกตั้งประธานเข้ามา ส.ก.หลายคนก็งง หลายคนติดภารกิจที่กรุงเทพฯ ก็ต้องรีบเดินทาง มาทราบภายหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปว่ามีผู้ใหญ่ในพรรคอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการวิจารณ์กันว่าพวกที่ได้รับการเลือกตั้งมีการเตรียมการโดยผู้ใหญ่ในพรรคเช่นดับไฟในระหว่างนับคะแนน อาศัยความไม่พร้อมของผู้เข้าแข่งขัน เหตุการณ์นี้จึงมีการปรึกษาหารือของกลุ่ม ส.ก.ที่มีอาวุโสว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมาะสมด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
1. มีการซื้อเสียงด้วยตัวเงินที่ไม่น่าเชื่อว่าระดับ ส.ก.จะกระทำได้ถ้าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง
2.ความเป็นอาวุโสยังไม่สมควรเพราะเพิ่งเป็น ส.ก.เพียง 2 สมัย
3.ผู้ใหญ่ในพรรคบางคนไม่วางตัวเป็นกลาง เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำให้เกิดความแตกแยกในพรรค
ส.ก. 18 คนมีความเห็นร่วมกันให้เสนอชื่อแข่งเลือกประธานในวันประชุมสภา กทม. ผลปรากฏว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งคือ ส.ก.พิพัฒน์ ลาภปรารถนา โดยได้การสนับสนุนจาก ส.ก.ประชาธิปัตย์ 18 เสียง และ ส.ก.จากเพื่อไทย 14 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ตั้งกรรมการสอบ ส.ก.โทษฐานไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ส.ก. 18 คนรับว่าผิดที่ไม่ปฏิบัติตามผลการเลือกตั้งที่หัวหิน แต่เห็นแย้งว่าไม่ใช่มติพรรคเพราะในวาระการสัมมนาไม่แจ้ง
แต่ก็ยอมรับว่าทำผิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าคณะกรรมการบริหารจะพิจารณาความผิดและได้รับผิดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคไปแล้ว และได้ตกลงกันว่าจะไม่เคลื่อนไหวใดๆ เนื่องเพราะทางพรรคมีเรื่องสำคัญที่จะต้องทำอีกหลายอย่าง แต่ก็มีผู้หวังดีให้ข่าวหนังสือพิมพ์ ฯลฯ”
สำหรับนายไสวแล้วถือเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม ส.ก.เก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่สะท้อนให้สังคมได้รับรู้โดยผ่านโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และยังสื่อข้อความโดยตรงถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง
ปัญหาความขัดแย้งของ “เลือดใหม่” กับ “ผู้ใหญ่เก่าแก่” ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้มีทุกระดับตั้งแต่การเมืองระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่น นับว่าเป็นปัญหาที่ “นายอภิสิทธิ์” มองข้ามไม่ได้
เพราะนี่คือ “จุดอ่อน” ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้อง “กำจัด” ให้ได้ก่อน ไม่เช่นนั้น “โอกาสพ่าย” ก็ใช่ว่าไม่มี...ตั้งอีกสมัย สะท้อนภาพขัดแย้งภายในที่นักการเมืองเก่ารุมต้าน “กลุ่มเลือดใหม่” สร้างรอยร้าวทุกระดับ และนี่คือโจทย์ใหญ่ที่ “อภิสิทธิ์” ต้องเร่งกำจัดจุดอ่อน ก่อนพ่ายเพื่อไทย!