xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์ 14 ปีคดี ปรส. ลูกหนี้ไทยตายแล้วตายอีก ต่างชาติได้สิทธิ์ปล้นตาม กม.!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานปรส.
คดีสืบเนื่องมาจากศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ให้จำคุกนายอมเรศ ศิลาอ่อน และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ คนละ 2 ปี แต่เนื่องจากนายอมเรศ กับพวกมีอายุมากแล้ว ศาลอาญาเห็นว่าให้โอกาสเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษ รายละเอียดในคำพิพากษามีสิ่งที่เป็นสาระสำคัญคือมูลแห่งหนี้ที่ ปรส.ขายทรัพย์ให้แก่ต่างชาตินั้นศาลอาญาพิพากษาว่าเป็นการมิชอบ

ปัญหานี้เป็นอุทาหรณ์ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแล 58 ไฟแนนซ์ ในภาพรวมแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักภาระให้ ปรส.เป็นผู้ขายหนี้ดังกล่าว แม้ตามพระราชกำหนดฉบับแรกลูกหนี้ไม่สามารถเข้าไปซื้อหนี้ได้ด้วยตนเอง และฉบับที่ 2 ถึงลูกหนี้จะออกเสียงได้แต่ก็เป็นการยากที่จะเข้าซื้อหนี้ตัวเองได้ในราคาถูก บริษัทต่างชาติเพียงหอบเอกสารเข้ามาฉบับเดียวอ้างว่าธนาคารต่างชาติรับรองสถานะทางการเงินโดยไม่ต้องใช้เงิน คนไทยไม่ได้เห็นเงินตราแม้บาทเดียวก็สามารถซื้อหนี้ใน ปรส.ได้ในราคาตั้งแต่ร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 55 แม้จะมีกฎหมายห้ามเรียกหนี้ที่ซื้อมาแบบค้ากำไรเกินควรก็ตาม แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ไม่สามารถบังคับเอากับนายทุนต่างชาติหรือสถาบันการเงินต่างๆ ในไทยได้ เช่น กรณีซื้อหนี้มาร้อยละ 6 เงิน 100 ล้านบาทต่างชาติซื้อแค่ 6 ล้านแล้วมาเรียกหนี้ 100 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยรวมค่าทนายความแล้วลูกหนี้จะเอาที่ไหนไปชำระ มีหลักประกันอะไรในการควบคุมเจ้าหนี้ต่างชาติมิให้เรียกเงินและค้ากำไรเกินควรเอากับคนไทย รัฐไม่ดำเนินการจริงจังกับสิ่งเหล่านี้แต่กลับไปเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนซึ่งสร้างปัญหาให้คนไทยในชาติ โดยหวังเพียงผลประโยชน์หรือค่าคอมมิชชันที่ไม่มีใบเสร็จ และหวังความเจริญก้าวหน้าในทางการเมืองเท่านั้น เคราะห์กรรมของประชาชนจะเป็นเช่นไรย่อมแขวนอยู่บนเส้นด้าย ประชาชนไม่มีสิทธิ์กำหนดชีวิตตนเองจากการเป็นหนี้เพราะชาวต่างชาติเข้ามารับซื้อหนี้จาก ปรส. แล้วรัฐเองยังไปออกกฎหมายคุ้มครอง ปรส. ว่าการกระทำของ ปรส.นั้นไม่ว่าด้วยเหตุผลใดห้ามนำคดีไปฟ้อง ปรส.เพราะ ปรส.ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ การตีความของกฎหมายเรื่องการเป็นหน่วยงานของรัฐดังกล่าวนี้ต้องขอปรบมือให้กับ คตส. ซึ่งมีท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายตีความว่าที่ห้ามฟ้อง ปรส.นั้น เขาห้ามมาฟ้องแค่ศาลปกครอง ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามฟ้องต่อศาลยุติธรรมหากมีการทุจริตเกิดขึ้นและมีการกระทำที่ไม่ชอบ เช่นเมื่อมีการผ่านขั้นตอนการสอบสวนของ คตส. หรือโอนคดีมายัง ป.ป.ช.ก็ตาม กฎหมายบอกว่าให้ศาลตัดสินไปตามแนวการสอบสวนของ ป.ป.ช. เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลเห็นสมควรก็คือ การวินิจฉัยให้รอการลงโทษหรือวินิจฉัยว่าผู้กระทำเจตนากระทำผิดเท่านั้น

เลขาธิการและฝ่ายกฎหมายของศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติรวมทั้งหน่วยงานอัยการบางส่วนได้พยายามต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลากว่าสิบปีเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการกลับปล่อยให้ลูกหนี้ต้องรับชะตากรรมเอาเอง

มีคำถามว่าหากคดีนี้ไม่ถูกหยิบยกและฟ้องโดยอัยการ แต่เป็นการฟ้องโดยราษฎร (ลูกหนี้) ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะมีโอกาสได้รับการพิสูจน์ผ่านศาลและเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือไม่ แม้โทษทัณฑ์ที่ผู้กระทำผิดได้รับจะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับความเสียหายของลูกหนี้และการต่อสู้ยังอีกยาวไกลที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้ก็ตาม

กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติจึงจัดสัมมนาในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อมูล หาตัวช่วยให้สิทธิพื้นฐานของลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง เนื่องจากมีความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความรุนแรงทางแพ่งที่ลูกหนี้ได้รับ

ทั้งนี้ เดิมคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องนั้นศาลชั้นต้นจะพิจารณายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือพิพากษาไปย่อมมีอำนาจกระทำได้ซึ่งเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากความยากลำบากของประชาชนในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทำให้ภาคประชาชนหลายๆ ฝ่ายช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งนี้เพราะพบว่าหากนำเสนอคำฟ้องของราษฎรต่อศาลนั้น การอ่านเพียงคำฟ้องประการเดียวแล้วทำการวินิจฉัยยกฟ้องอาจจะเป็นการตัดโอกาสมิให้ราษฎรนำคดีข้อเท็จจริงความเดือดร้อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียตั้งแต่ต้น รัฐธรรมนูญในปี 2550 มาตรา 40 จึงได้ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังนี้

มาตรา 40 (2) สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิพากษาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับทราบเหตุผลประกอบ คำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่งมาตรา 40 (3) บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิพากษาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

หากตีความตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีคำถามว่าราษฎรมีสิทธิเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตนตามหลักประกันขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาคดีได้จริงหรือไม่ การตัดโอกาสตัดสิทธิมิให้ราษฎรนำหลักฐานเข้าสู่กระบวนการไต่สวนที่ศาลเองนัดไต่สวนไว้แล้วโดยพิพากษายกฟ้องทั้งที่ยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ ถือได้ว่าเป็นการกระทำขัดรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากในกรณีราษฎรต่างจังหวัดโชคร้ายได้ทนายความที่ไม่สามารถเรียบเรียงคำฟ้องได้ครบถ้วนตามจริง แปลว่าราษฎรผู้นั้นไม่มีโอกาสนำคดีความทุกข์ร้อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ใช่หรือไม่ วินิจฉัยดังกล่าวจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40(3) ที่ระบุไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ หากราษฎรยื่นคำฟ้องและศาลนัดไต่สวนแล้วแต่กลับมาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนทำให้ไม่มีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตนเข้าสู่ศาลได้ ราษฎรจะสามารถรักษาสิทธิพื้นฐานในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของตนได้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (2)(3) เกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างไร

บทเรียนเรื่องคดี ปรส.น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าเป็นเวลานานถึง 14 ปีกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการซื้อหนี้ของกองทุนโกลบอลไทยนั้นไม่ชอบ แล้วลูกหนี้ที่ต้องล้มละลายหมดตัวฆ่าตัวตายไปเพราะการกระทำของกองทุนต่างชาตินี้จำนวนเท่าไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจะเป็นผู้เยียวยา นอกจากเรื่องของกองทุนโกลบอลไทยแล้วยังคงมีเรื่องของกองทุนอื่นที่ข้อเท็จจริงยังคงถูกหมกเม็ดอยู่อีกหลายกองทุน ข้อเท็จจริงคงจะทยอยออกมาเร็วๆ นี้ พฤติกรรมขายชาติพวกนี้ยังไม่จบ ปัจจุบันยังปรากฏชาวต่างชาติรีดไถลูกหนี้ได้โดยใช้ช่องว่างของพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 กฎหมายที่ตราขึ้นในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤตทำให้ต้องเร่งรีบจนออกเป็นพระราชกำหนด แต่เวลาผ่านไปถึง 14 ปี กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ยังคงเป็นพระราชกำหนดอยู่ ??? ทั้งที่พ้นวิกฤตแล้ว มีใครเห็นช่องว่างของกฎหมายฉบับนี้แล้วจงใจไม่แก้ไขหรือไม่ ทำให้ต่างชาติก็ยังสามารถดำเนินการซื้อหนี้ 100 บาท ในราคา 10 บาทแล้วมาตามเรียกหนี้ 100 บาทบวกดอกเบี้ยปรับผิดนัด

อะไรทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพร้อมใจกันมองไม่ออก มองไม่เห็น รู้ไม่ทัน แต่ท้ายสุดปลายทางใครจะได้ผลประโยชน์ไปเท่าใดก็ย่อมจบอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นจึงมีปัญหาที่จะต้องร่วมกันพิจารณาคือ หากราษฎรไม่สามารถนำความเดือดร้อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงจะทำอย่างไร ตัวอย่างกรณีวาณิชธนกิจต่างชาติแห่งหนึ่งใช้ช่องว่างของพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ปลอมแปลงเอกสารยื่นศาลไทย ทำให้ศาลมีคำสั่งโดยผิดหลงให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นอมินีของวาณิชธนกิจต่างชาติสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แล้วปล่อยให้วาณิชธนกิจเหล่านั้นเข้ามาขูดรีดสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

ปรากฏตัวอย่างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ
7 คดียื่นต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการสวมสิทธิ ศาลยกคำร้องโดยไม่ไต่สวน คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์
3 คดียื่นต่อศาลอาญาฟ้องเรื่องปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ให้การเท็จ ฯลฯ ศาลจำหน่ายคดีโดยไม่ไต่สวน
1 คดีในศาลอาญายื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ อ้างพบหลักฐานการทุจริตใหม่ นัดไต่สวนแล้วแต่ยังไม่ไต่สวน แต่จะสอบถามข้อเท็จจริงก่อน
1 คดีในศาลล้มละลายกลางขอให้ไต่สวนกรณีละเมิดอำนาจศาลเพราะมีการปลอมแปลงเอกสาร ยื่นเอกสารเท็จต่อศาล ศาลเห็นเองแล้ว ศาลยกคำร้อง
2 คดียื่นต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแห่งชาติ คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงาน
รวม 14 คดี 2 ปีเศษมีหลักฐานการปลอมแปลงเอกสารชัดเจนของนอมินีต่างชาติ ราษฎรยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะนำข้อเท็จจริงสู่กระบวนการยุติธรรม!!! คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับช่องทางการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศ

กรณีการตัดต่อปลอมแปลงเอกสารของวาณิชธนกิจต่างชาติกลุ่มนี้มีผลประโยชน์หลายหมื่นล้านเกี่ยวข้อง ผลประโยชน์เหล่านั้นอาจเป็นเหตุจูงใจทำให้มีการจงใจละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกิดความผิดปกติในการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่หรือเป็นเพราะระบบที่เกี่ยวข้องบกพร่องไม่มีประสิทธิภาพ ประการสำคัญ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติย้ำว่า ถ้าราษฎรเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีของตนถูกแทรกแซงจะดำเนินการอย่างไรเพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในคดี

มีปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามมาตรา 39-มาตรา 40 ว่าใช้ได้จริงหรือไม่ กรณีที่ศาลมีดุลพินิจพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วกลับพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจะขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 40(2) หรือไม่ ลูกหนี้จะปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างไร หากราษฎรฟ้องร้องปกป้องสิทธิด้วยตนเองจะได้รับการตอบรับจากศาลยุติธรรมแค่ไหน เหมือนเช่นตัวอย่างในเรื่องกรณี ปรส. กี่คดีที่ราษฎรฟ้อง ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวน ศาลยุติธรรมผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร รวมทั้งในขณะเดียวกันก็มีคำถามถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่าเป็นมาตรการเดียวกันหรือไม่ระหว่างสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 กับมาตรา 197 ที่ว่าผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาคดี จนสรุปกันโดยทั่วไปว่าวินิจฉัยของตุลาการนั้นก้าวล่วงมิได้ ราษฎรกับตุลาการถูกปกป้องโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากันหรือไม่

ราษฎรจะร้องขอความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานตามกระบวนการยุติธรรมนี้จากใคร ยกตัวอย่างเช่น หากราษฎรเชื่อว่าถูกตุลาการกลั่นแกล้งสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อขอโอกาสนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยในศาลได้หรือไม่ หากราษฎรนำความเชื่อที่ว่าตนถูกตุลาการกลั่นแกล้งนั้นนำมาระบุในคำฟ้องหรือคำร้องจะถือเป็นการหมิ่นศาลและเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ สรุปคำถามง่ายๆ ก็คือ ราษฎรสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฟ้องตุลาการต่อศาลยุติธรรมได้หรือไม่ ฟ้องแล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี เช่น ทนายความ พยานบุคคล ผู้รับมอบอำนาจ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

ในกรณีตัวอย่างที่ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติกำลังต่อสู้เกี่ยวกับวาณิชธนกิจปลอมแปลงเอกสารใช้ช่องว่างของกฎหมายขูดรีดเงินจากคนไทยความเสียหายหลายหมื่นล้านเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงนั้น ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติไม่ทราบว่าเพราะเหตุผลใดซึ่งอาจเกิดจากเจ้าหนี้ก็ดี อำนาจฝ่ายบริหารก็ดี อำนาจฝ่ายตุลาการก็ดี ทำให้ฝ่ายกฎหมายของศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติต้องอันตรธานหายไปโดยปล่อยให้ลูกหนี้ต้องรับชะตากรรมกันเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในฐานะองค์กรภาคประชาชน เลขาธิการยืนยันว่าก็จะอดทนต่อไปเพื่อยืนเคียงข้างลูกหนี้ ปัจจุบันแม้ตัวเองจะมีผลกระทบจากหลายฝ่ายให้หยุดแสวงหาความยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจล้มเลิกความคิดของศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติได้ และหวังว่าการเปิดเผยความจริงในครั้งนี้คงไม่ต้องรอนานถึง 14 ปี เช่นคดี ปรส.

ดังนั้น หากราษฎรพบว่ากระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซงแล้วไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ขอให้สังคมช่วยกันผลักดันให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมาธิการยุติธรรมสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ ดำเนินการยื่นขอแก้ไขข้อกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อราษฎรจะได้รับทราบขอบเขตสิทธิของตนเองและไม่บังอาจกระทำการใดๆ ที่อาจผิดพลาดทำให้อาจถูกตีความว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้

ก่อนที่จะแก้ไขกฎหมาย กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ วอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเร่งทำความชัดเจนในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจมีผลกระทบได้ด้วยคำพิพากษาในคดี ปรส.ข้างต้น รวมทั้งกล่าวขอโทษฝ่ายกฎหมายของศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม ผ่านการสัมภาษณ์นี้ว่า ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติมีความเห็นใจทนายความเป็นอย่างมากที่ได้รับผลกระทบจากการที่ศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติยืนยันจะพิสูจน์การใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยการรับมอบอำนาจจากลูกหนี้ฟ้องตุลาการและทำให้ทนายความได้รับผลกระทบหลายทางไปด้วย ซึ่งศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติจะหาทางปกป้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มตามสามารถ ทั้งนี้เพราะศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติยังคงมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย

เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติอยากให้สาธารณะได้ใช้กรณีของ ปรส.เป็นอุทาหรณ์ 14 ปีแห่งการร้องเรียนของลูกหนี้ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนานัปการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ผู้บริหารกองทุนโกลบอลไทยเดินทางออกนอกประเทศไปนานแล้ว คงเหลือเพียงเศษซากความปรักหักพังของความสูญเสียของลูกหนี้บ้านช่องที่ทำกินสูญสิ้น ทั้งที่ความผิดเกิดจากผู้บริหารประเทศที่ไม่แยกหนี้ดีจากหนี้เสีย ไม่ให้โอกาสลูกหนี้ซื้อหนี้ตนเอง ก่อนปิดบริษัทเงินทุนจงใจละเลยไม่ชำระบัญชีเพื่อให้ทราบอย่างเท็จจริงว่าหลักทรัพย์ในบัญชีหนี้ต่างๆ นั้นเป็นการลงทุนของลูกหนี้เท่าใด เป็นของเจ้าหนี้เท่าใด เพราะลูกหนี้มิได้รับเงินกู้เต็มตามมูลค่าทรัพย์สิน ลูกหนี้ต้องลงทุนเองส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อย การรวบเอาไปขายในราคาที่ต่ำให้คนต่างชาติแต่ลูกหนี้ห้ามซื้อ จึงเรียกได้ว่าเป็น “การปล้น” ซึ่งเรื่องนี้เลขาธิการ ปรส.คนแรกได้เคยมีคำสั่งให้มีการชำระบัญชีก่อนการขายทรัพย์สิน แต่ไม่รู้ว่าหตุผลกลใดจึงไม่ทำและยังเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ปรส.มาเป็นนายอมเรศ ศิลาอ่อน คนที่เป็นจำเลยในคดีอาญาครั้งนี้นั่นเอง หากกรณีพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที โศกนาฏกรรมเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรณี ปรส.ก็ต้องซ้ำรอยกับลูกหนี้ไทยอยู่ตลอดไป

กัลยาณี รุทระกาญจน์ สรุปว่า เรื่องของผลประโยชน์เป็นเรื่องพูดยากในสังคมปัจจุบันนี้ เรื่องหนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์โดยตรง และ “หนี้” ก็กำลังจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของสังคมไทย ด้วยยอดจำนวนบัญชีเงินกู้ประเภทต่างๆ ในระบบเกือบ 10 ล้านบัญชี บัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอีก 22 ล้านบัญชี ไม่นับรวมบัญชีหนี้นอกระบบอีกมหาศาลแทบทุกครอบครัวเกี่ยวพันกับหนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ประมาณการประชาชนคนไทยเกี่ยวข้องกับ “หนี้” ไม่ต่ำกว่า 45 ล้านคน ความผิดพลาดเฉพาะเรื่อง ปรส. ทำให้ประเทศเป็นหนี้สาธารณะค้างชำระมานาน 14 ปีเป็นเงินถึง 1.7 ล้านล้านบาท ผู้กระทำผิดไม่ต้องติดคุกสักคน ความเสียหายนี้ยังไม่รวมถึงความเสียหายของภาคประชาชนที่ต้องปิดกิจการ คนตกงาน ที่ทำกิน บ้านช่อง โรงงานถูกยึดต้องล้มละลายหายสาบสูญ ท้ายสุดฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมาก ปริมาณผู้เกี่ยวข้องและมูลค่าความเสียหายที่สูงขนาดนี้ กัลยาณี รุทระกาญจน์ ถามกลับว่ามากพอหรือยังที่สังคมจะลุกขึ้นปัดกวาด ข้อบังคับ กฎระเบียบ ประกาศ กฎหมาย รวมทั้งจัดการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ก.ล.ต. หรือศาลยุติธรรม หากเชื่อได้ว่าหน่วยงานใดถูกแทรกแซง ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดระหว่างเจ้าหนี้ผู้เพียบพร้อมด้วยเงินทอง บุคลากร ความรู้ เทคโนโลยี กับลูกหนี้ซึ่งอ่อนด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน สังคมใดไม่พึงระมัดระวังในการสร้างสมดุลระหว่างผู้มีกับผู้ด้อย ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ จะทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัวและหวาดระแวงว่าไร้ที่พึ่ง เพราะศาลไม่สามารถเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน สังคมนั้นย่อมไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข ปัญหาความไม่สมดุลเหล่านี้รอวันปะทุขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ หากถึงวันนั้นแล้วอาจจะสายเกินไปที่จะแก้ไขด้วยสันติวิธี!!!
วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการปรส.
กำลังโหลดความคิดเห็น