ฝนถล่มเมืองกรุงอัมพาต พิสูจน์อุโมงค์ยักษ์ของพรรคดีแต่โม้ คุยโขมงอุโมงค์ยักษ์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ สุดเจ๋ง ระบายน้ำได้รวดเร็วทันใจหายวับในพริบตา แต่พอฝนเทกระหน่ำลงมาไม่กี่วันกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรก็กลายสภาพเป็นนรกบนดินเพราะน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัดถึงขั้นเป็นอัมพาตทั้งเมือง จนถามไถ่กันเซ็งแซ่ว่า ไหน กทม.คุยนักคุยหนาว่าอุโมงค์ยักษ์จะช่วยแก้น้ำท่วม แล้วทำไมถึงไม่เป็นไปดังที่ติดป้ายโฆษณากันทั่วกรุงว่าอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และยั่งยืน
นี่แค่น้ำฝน ยังไม่นับว่าหากต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำเหนือไหลบ่าลงมาสมทบ จะเกิดวิกฤตหนักหนาสาหัสเพียงใด ยิ่งมีคำเตือนให้ระมัดระวังฝนตกหนักในหลายจังหวัดทั่วประเทศรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ หรือจะว่าไปแล้วอาจเป็นเดือน ต.ค.อีกทั้งเดือนที่เมืองหลวงแห่งนี้มักจะมีฝนตกตลอด คนกรุงเทพฯ คงได้แต่ต้องทำใจรับสภาพฝนฟ้า เพราะจะว่าไปแล้วยังไม่มีนักการเมืองจากพรรคไหนไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ มาช่วยปัดเป่าบรรเทาให้ปัญหาเบาบางลงได้จริง
หากยังจำกันได้ “คุณชายสุขุมพันธุ์” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แสดงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในงานแถลงผลความคืบหน้าภารกิจกรุงเทพฯ ก้าวหน้า ว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่จะช่วยรองรับและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนักในกรุงเทพฯ จะมุ่งเน้นการจัดการปัญหาด้วยการ “นำ” ปัญหา ไม่ใช่ “ตาม” ปัญหา เหมือนที่ผ่านมาแล้วหลายสิบปี ซึ่งใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบไม่ถูกต้อง และสิ้นเปลืองงบประมาณ ขณะที่การดำเนินงานตามแผนก่อสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจะก่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำมั่นที่สร้างความหวังให้คนกรุงเทพฯ อย่างเหลือล้น
หลังจากนั้น กทม.ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 สาย ประกอบด้วย
หนึ่ง พระรามเก้า-รามคำแหง มีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วไม่ต่ำกว่า 60 ลบ.ม.ต่อวินาที มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. และความยาว 5 กม. จุดเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง และสะพานสูง ใช้งบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท
สอง อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร เริ่มก่อสร้างกลางปี 54 เพื่อช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ โดยอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาวประมาณ 6.5 กม. เริ่มจาก ถ.รัชดาภิเษกตัดกับ ถ.สุทธิสารไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา
สาม อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง เป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินที่ยาวที่สุด มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 6 ม. ความยาว 13.5 กม. โดยครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตร.กม. ย่านจตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และบางส่วนของพื้นที่เขตสายไหม
สี่ อุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. และมีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที มีความยาว 9.5 กม. เริ่มจากสวนหลวง ร.9 ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์นี้จะทำให้พื้นที่กว่า 85 ตร.กม.ได้รับประโยชน์ รวมถึงพื้นที่ย่านประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง ใช้งบประมาณ 995 ล้านบาท โดยอุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง และอุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2555
นอกจากนั้น กทม.ยังได้ขยายแนวอุโมงค์ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปทางบางนา รวมระยะทางยาว 9.5 กิโลเมตร งบประมาณ 4.9 พันล้านบาท ขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ประเวศ พระโขนง บางนา และสวนหลวง
สำหรับสถานีของอุโมงค์ระบายน้ำจุดแรกอยู่ภายในโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย ในพื้นที่บริษัทไม้อัดไทย เขตบางนา ซึ่งตามกำหนดการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ทั้งหมดข้างต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558 เมื่อถึงเวลานั้นผู้ว่าฯ กทม.มั่นใจว่าหากอุโมงค์ทั้งหมดเปิดเต็มรูปแบบ จะทำให้พื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาคลี่คลายระบายน้ำได้ดีกว่าเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา
อุโมงค์ใต้ดินขนาดยักษ์ 4 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพฯ มากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปี และจะเป็นอุโมงค์ระบายน้ำที่ถือว่าใหญ่ที่สุดและยาวที่สุดในประเทศไทย
“ระบบ 4 อุโมงค์ยักษ์จะทำให้กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล อุโมงค์ยักษ์ 4 แห่งนี้ใหญ่มโหฬารขนาดที่ว่า ปริมาณน้ำที่จะระบายได้เท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระ ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 วินาที” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว
เมื่อเทียบกับกระสอบทราย พนังกั้นน้ำชั่วคราว และเครื่องสูบน้ำที่ใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงนับว่าอุโมงค์ยักษ์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่คุณชายสุขุมพันธุ์เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะสามารถระบายน้ำท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว และลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านระบบระบายน้ำอื่นๆ อีกด้วย
แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อฝนเทกระหน่ำลงมาติดต่อกันน้ำก็ขังเจิ่งนองไปทั่ว รวมทั้งบริเวณเขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ ห้วยขวาง และสะพานสูง ซึ่งอยู่ในแนวอุโมงค์ยักษ์แห่งแรกที่เปิดใช้แล้ว คืออุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง
ความไม่มีประสิทธิภาพหรือขีดความสามารถในการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วดังคำโฆษณาของอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อุโมงค์ดังกล่าวทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้น้ำท่วมขังหลายจุดในทุกครั้งที่เกิดฝนตกหนัก บางคนคิดไปไกลถึงขั้นถามไถ่ว่าอุโมงค์ยักษ์ที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่
ข้อกังขาดังกล่าว ก่อนหน้านี้ “เด็จพี่” นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็เคยตั้งคำถามทำนองเดียวกันมาแล้ว พร้อมกับลงพื้นที่ตรวจสอบ แล้วออกมาแถลงว่า อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ใช้การได้แค่ 30-40% เท่านั้น เพราะมีปัญหาเนื่องจากติดคอขวดที่ประตูระบายน้ำที่รับน้ำมาจากคลองแสนแสบได้ขวางกั้นทางน้ำไว้ จึงทำให้ระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างล่าช้าและระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้ง กทม.ไม่ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
นอกจากนี้ “เด็จพี่” ยังตามกระหน่ำซ้ำด้วยการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุจริตอุโมงค์ยักษ์อีกด้วย
เมื่อกระแสเสียงความไม่พอใจของชาวกรุงเทพฯ กระหึ่มขึ้นในช่วงใกล้ลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่จวนใกล้จะมาถึงในเร็ววันนี้ และประชาธิปัตย์ก็เลือกส่งคุณชายสุขุมพันธุ์ลงสนามแข่งกับเพื่อไทยอีกครั้ง ทำให้คุณชายจำต้องรีบออกมาตอบคำถามสังคม โดยก่อนอื่นก็โทษฟ้าฝนไว้ก่อนว่าเป็นเพราะเดือน ก.ย.กรุงเทพฯ มีสถิติปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 50 ปี
“สำนักการระบายน้ำได้รายงานว่า สถิติฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงเดือนกันยายนนี้มีปริมาณสูงสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งต้องใช้เวลาในการระบายน้ำจริงๆ แต่ก็ไม่ถึงกับข้ามคืน จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ” คุณชายออดอ้อนคนกรุงเทพฯ
ส่วนอุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหงนั้นทำงานอย่างเต็มที่ โดยรับน้ำมาจากคลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ ทำหน้าที่ระบายน้ำท่วมขังในเขตบึงกุ่ม ห้วยขวาง ลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ จตุจักร มีนบุรี บางซื่อ สะพานสูง คันนายาว เพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสามารถระบายน้ำได้ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม้ว่าจะพบขยะไหลมาตามน้ำวันละ 20 ตัน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำ เนื่องจากมีตะแกรงกรองขยะก่อนจะระบายน้ำออก
“ขอยืนยันกับผู้ที่ตั้งข้อสงสัยว่า อุโมงค์แห่งนี้ทำงานเต็มที่ เพียงแต่อุโมงค์แห่งเดียวไม่สามารถจะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ทั้งเมือง เพราะมีเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม.เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ มีกว่า 1,600 ตร.กม. กทม.จึงมีแผนจะก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มอีก 3 แห่ง ที่คลองบางซื่อ บึงหนองบอน และดอนเมือง เพื่อระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้การทำงานของอุโมงค์เต็มประสิทธิภาพทั้งระบบ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งพระนครได้เกือบทั้งหมด” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวย้ำ พร้อมโต้กลับเพื่อไทยว่าอย่าเอาการเมืองเข้ามาแทรกแซง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานแก้น้ำท่วมของ กทม.
แต่เรื่องน้ำท่วมกับการเมือง ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว งานนี้ “เด็จพี่” จึงเดินหน้าทั้งท้าชนผู้ว่าฯ กทม.ให้ออกมาลุยพิสูจน์อุโมงค์ยักษ์ และให้ผู้ว่าฯ กทม.เตรียมตอบคำถามเรื่องทุจริตโดยจะขอดูผลสอบการตรวจสอบการทุจริตอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่มีการดองเรื่องไว้ อีกทั้งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรด้วย
งานนี้นอกจากเพื่อไทยจะจงใจดิสเครดิตประชาธิปัตย์ก่อนสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะร้อนฉ่าขึ้น ซึ่งเป็นการชิงลงมือก่อนที่อีกฝ่ายจะทันตั้งตัว อีกทางหนึ่งนี่คือการเอาคืนของพวกแค้นฝังหุ่นเหตุเพราะ กทม.เล่นเล่ห์ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยดีในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเตรียมรับมือน้ำท่วมในปีนี้ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์วางแผนทดสอบระบบระบายน้ำซึ่ง กทม.ไม่เล่นด้วย เพราะหวาดระแวงว่าจะถูกวางยาให้เสียคะแนนนิยม
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วการเล่นเล่ห์ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของสองพรรคใหญ่โดยจับประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นตัวประกัน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนอกจากการประจานตัวเองว่าดีแต่โม้ทั้งคู่