xs
xsm
sm
md
lg

‘ยิ่งลักษณ์’สุดยอด!พาคนไทยเป็นหนี้ทั่วหน้า ทารกยันคนชราแบกหนี้ต่อหัวกว่า1แสนบาท! (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและอาจารย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รองคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจนิด้า ยันการบริหารการคลังของรัฐบาลเสี่ยงเศรษฐกิจไทยทรุด ห่วงหนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน 60% ของจีดีพี ชี้กู้ 2.27 ล้านล้านบาท ส่งผลให้คนไทย 64.41 ล้านคน ต้องแบกหนี้ต่อหัว104,687.05 บาท หากหนี้สาธารณะเกินเพดาน ประชาชนก็จะรับกรรมหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอีก จี้รัฐบาลออกแผนการหารายได้ภาครัฐให้ชัดเจน ก่อนภาษี 3 ตัวลดตามนโยบายและเทรนด์การค้าโลก แนะรัฐเก็บภาษีเพิ่มตั้งแต่ภาษี VAT และดึงกลุ่มคนนอกฐานภาษีเข้าสู่ระบบ ทั้งพ่อค้า-เกษตรกรรายใหญ่ที่มีจำนวนรายได้มหาศาล เชื่อดันจีดีพีเพิ่มทวีคูณ

แม้จะจบไปแล้วสำหรับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2556 ด้วยมติเห็นชอบ 279 เสียงต่อ 8 และงดออกเสียง 127

เท่ากับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2556 ผ่านไปแบบฉลุย! ใครก็หยุดไม่อยู่
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2556 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล
โดยมีงบรายจ่ายอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท รายได้ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะกู้เงินด้วยการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก่อหนี้ประมาณ 2.27 ล้านล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปี โดยรัฐบาลประเมินว่าเมื่อกู้แล้วจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 50% จากปัจจุบันมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 42.55% ของจีดีพี

เมื่อกลไกทางรัฐสภาเปิดช่องไว้เรียบร้อย ต่อจากนี้ไปรัฐบาลสามารถเดินหน้ากู้เงินมาใช้ในโครงการแรกคือแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พร้อมโครงการอื่นๆ เพื่อการพัฒนาประเทศดังที่รัฐบาลประกาศนโยบายไว้

อย่างไรก็ดี “ทีม special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ได้นำเสนอไว้แล้ว 2 ตอนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าโครงการประชานิยมใดบ้างควรยกเลิก และโครงการใดลงทุนไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจพร้อมกลยุทธ์ในการหาเงินของรัฐและวิธีดัดหลังกลุ่มทุนการเมือง

ส่วนการนำเสนอตอนที่ 3 จะชี้ให้เห็นว่า การก่อหนี้ของภาครัฐที่กำลังเกิดขึ้นนั้นจะทำให้ประชาชนคนไทยทุกคน แม้วันนี้จะเพิ่งลืมตาดูโลกก็ตาม จะต้องร่วมแบกรับหนี้สาธารณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ไปนั้นคนละกี่หมื่นกี่แสนบาท และวิกฤตหนี้ครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความหายนะได้หรือไม่?

ระวังตัวเลขซ่อน-หนี้สาธารณะพุ่ง

ผศ.ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและอาจารย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า การที่รัฐบาลจะเดินหน้า พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่ตั้งไว้ในจำนวน 2.4 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการบริหารทางด้านการเงิน โดยเฉพาะวิธีการหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด

“รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.กู้เงินปีละ 4 หมื่นล้านบาท รวม 5 ปีก็เป็นเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ถ้าดูให้ดี พ.ร.ก.ตัวนี้จะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎการคลังของประเทศไทย โดยเฉพาะกรอบความยั่งยืนทางการคลัง”

โดยเมื่อไปดูกฎระเบียบของทาง สบน. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ได้มีระเบียบว่าการกู้ยืมเงินไม่ควรเกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย

สำหรับปี 2556 นี้ จึงมีกรอบกู้เงินได้ 5 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุลไปแล้ว 3 แสนล้านบาท (จากงบประมาณขาดดุล โดยมีงบฯ รายจ่าย 2.4 ล้านล้าน แผนหารายได้เข้ารัฐ 2.1 ล้านล้านบาท) ตรงนี้ยังไม่รวมกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทในงบฯ ช่วยน้ำท่วม รวมเป็นเงินกู้ทั้งหมด 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเกินกรอบการบริหารเงินด้านการคลังอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีไหนในการหารายได้เข้ารัฐ แล้วอีก 4 ปีข้างหน้าจะชำระคืนแบบไหน ซึ่งรัฐบาลควรจะบอกวิธีการหาเงินที่ชัดเจน ว่าจะหาเงินเข้ารัฐด้วยวิธีการใด เพราะรัฐบาลกำลังสร้างหนี้ให้ภาคประชาชน สร้างหนี้ให้คนรุ่นหลัง เท่าที่ดูรัฐบาลก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเรื่องที่จะบริหารการเงินในระยะยาว

“รัฐบาลประกาศตัวเลขจีดีพีออกมา นักเศรษฐศาสตร์ก็ดูแล้วว่าเป็นตัวเลขที่ดูดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกู้เท่าไรก็ได้ มันมีวิธีการคำนวณ เพราะการสร้างหนี้ก็ต้องมี limit หรือต้องมีการจำกัด ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจขยายตัว (Growth) แล้วจะทำอะไรก็ได้”

เสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำ “ต้มยำกุ้ง”

ผศ.ดร.ศาสตรากล่าวต่อว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในเวลานี้ต่อให้รัฐบาลไม่กู้เงิน หนี้เก่าที่มีอยู่แล้วก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว และถ้ารวมสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วงในเวลานี้ ถ้าไม่ระมัดระวังเรื่องของกรอบการคลัง ประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

“สปน.คาดการณ์หนี้สาธารณะว่าจะขึ้นเกิน 50% ต่อจีดีพี อยู่แล้ว ตรงนี้ถ้าเศรษฐกิจของไทยยังดี ตัวเลขหนี้สาธารณะก็จะไม่สูงมากนัก แต่เมื่อไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจไม่ดี จะมีหนี้ที่รัฐบาลมีภาระผูกพันจากหนี้ก้อนเดิมของรัฐวิสาหกิจ และของบริษัทเอกชน เช่น FIDF (หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) หรือการประกันเงินออม (พันธบัตร) ที่รัฐบาลอุ้มไว้ ส่วนนี้จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มเป็นทวีคูณ”

ปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐกิจเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ และชัดเจนที่สุดก็คือ รัฐบาลกำลังเพิ่มความเสี่ยงทางการคลังของประเทศนั่นเอง

“ปี ค.ศ. 1996 ที่ไทยประสบปัญหาต้มยำกุ้ง หนี้สาธารณะของไทยตอนแรกอยู่ที่ 14-15% ต่อจีดีพี และในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ระดับหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวอยู่ระดับ 40.2% ต่อจีดีพี และมีการปรับเพิ่มต่อเนื่องไปสู่ระดับสูงสด 57.2% ในปี ค.ศ. 2001 ทันที แสดงให้เห็นว่าหนี้สาธารณะไว้ใจไม่ได้ ต้องมีกรอบควบคุมทางการคลังที่เข้มงวด”

ดึงเงินกู้เข้าระบบงบประมาณ-ตรวจสอบได้

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง 2 ประการสำคัญคือ ประการแรกควรให้เงินกู้ทั้งหมดอยู่ในระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ผ่านระบบการตรวจสอบที่ถูกต้อง ประการที่สองรัฐบาลควรจัดระบบความสำคัญของโครงการประชานิยมและโครงการลงทุนต่างๆ ว่าโครงการใดควรทำก่อนทำหลัง และโครงการใดไม่มีประสิทธิภาพก็ควรหาทางประหยัด หรือรัดเข็มขัด

“ถ้าไม่ดูเข็มขัดตัวเอง คนนั้นก็จะล้มละลายในไม่ช้า ต้องเอาสิ่งที่ไม่อยู่ในระบบ มาอยู่ในระบบของรัฐบาลเสีย จะได้ปลอดภัยระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นหนี้สาธารณะจะเต็มเพดานที่ 60% ของจีดีพี”

สำหรับโครงการที่อยากให้ตัดออก หรือยกเลิกคือโครงการรับจำนำข้าว ที่ใช้เงินไปแล้ว 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพซ่อนอยู่ ถ้ายกเลิกโครงการนี้รัฐบาลก็จะประหยัดหรือไม่ต้องเสียเงินเปล่าไปมากถึง 1 แสนล้านบาท

“อุดหนุนได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด ไม่ให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า”

ต่อมาเป็นโครงการรถยนต์คันแรกที่ขัดกับนโยบายด้านการประหยัดพลังงาน เป็นการกระตุ้นให้ก่อหนี้ที่ไม่มีประสิทธิภาพก็ควรยกเลิก

“นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการพูดถึงหมดในประเด็นนี้ รัฐบาลควรรับฟังประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าถอยไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายพรรคการเมือง กลัวจะเสียเครดิตทางการเมือง แต่ที่เป็นห่วงคือรัฐบาลไม่สนใจฟังข้อแนะนำของนักวิชาการเพราะเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก”

กู้ให้น้อย จ่ายเงินต้นให้มาก

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญขณะนี้ ก็คืออยากให้รัฐบาลพยายามกู้เงินให้น้อยที่สุด เมื่อมองประเทศเหมือนคน ก็ต้องมีเงินไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน

“แม้รัฐบาลบอกว่าเป็นการกู้หนี้ในประเทศ คนได้ดอกเบี้ยคือคนในประเทศ แต่ถ้าวันหนึ่งประเทศเกิดขาดความสามารถในการชำระคืนจะเป็นอย่างไร ถ้าจะกู้เงิน และจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลไปปีละ 7 แสนล้านบาทอย่างนี้ ทำไปสัก 5 ปี มีปัญหาตามมาแน่นอน”

ทั้งนี้เพราะการกู้เงินจำนวนมาก ความสามารถในการชำระเงินต้องสูงตามด้วย ต้นทุนการลงทุนในประเทศไทยก็จะสูงตามมา รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งดอกเบี้ยยังเป็นดอกเบี้ยไม่คงที่

“กู้ 2.27 ล้านบาท ดอกเบี้ยจะต่ำอยู่ตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ ดอกเบี้ยจะสูงขึ้น กระทบชิ่งไปเรื่อยๆ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนก็จะผันผวนอย่างมาก”

อีกประการหนึ่ง ในการชำระเงินกู้ในส่วนที่เป็นเงินต้น ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครกล่าวถึง คือ รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะชำระคืนเงินต้นที่ 0.4% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก รายจ่ายส่วนใหญ่ที่รัฐบาลระบุเป็นรายจ่ายดอกเบี้ยแต่ไม่ใช่การคืนเงินต้น ส่วนนี้ควรมีการชำระคืนเงินต้นให้สูงขึ้น เพราะรัฐบาลจะมีการกู้เพิ่มขึ้นทุกปี คือเงินต้น 2.4-2.5 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยก็ตกอยู่ที่ระดับแสนล้านบาทแล้ว

“หนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี การกำหนดใช้คืนเงินต้นไว้ที่ 0.4% ของจีดีพี น้อยไปถ้าเทียบกับดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งจะไม่สามารถรักษาความมั่นคงทางการคลังไว้ได้”
ที่สำคัญเมื่อถึงวันนั้น ปัญหาทั้งหมดจะไปสุมอยู่ที่ภาคประชาชนที่จะเดือดร้อนหนักที่สุด!

คนไทยแบกหนี้ 1 แสนบาทต่อหัว

ผศ.ดร.ศาสตรากล่าวว่า ระดับหนี้สาธารณะคงค้างในวันนี้เมื่อหารด้วยจำนวนประชากรแล้ว วันนี้เด็กเกิดมาเป็นหนี้ทันทีเกือบ 7 หมื่นบาทต่อคน

โดยหนี้สาธารณะคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 4,473,206.88 ล้านบาท ประชากรไทยมีจำนวน 64.41 ล้านคน เท่ากับเป็นหนี้ต่อคนอยู่ที่ 69,445.72 บาท

นี่ยังไม่รวมเงินกู้ที่รัฐบาลกำลังจะกู้เพิ่ม!

ผศ.ดร.ศาสตราย้ำว่า ถ้านำหนี้คงค้างมารวมกับเงินกู้ที่รัฐบาลจะกู้เพิ่มอีก 2.27 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 6,743,206.88 ล้านบาท คิดเป็นหนี้ต่อหัวประชากร 104,687.05 บาทต่อคน

“ทันทีที่รัฐบาลกู้ เด็กเกิดใหม่จะมีหนี้ 104,687.05 บาทต่อหัวทันที และทุกคนในประเทศก็จะเป็นหนี้104,687.05 บาทเช่นกัน!



 
ปรับด่วนระบบภาษีก่อนเจ๊ง!
 

ผศ.ดร.ศาสตราระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะบอกตัวเลขการใช้เงินในการบริหารประเทศ แต่รัฐบาลไม่เคยบอกวิธีการหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายตามนโยบายที่ประกาศไว้
ตรงนี้ทำให้นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ มีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงพยายามหาแนวทางเพื่อเสนอแนะทางออกให้กับรัฐบาล

“ทุกครั้งที่จะทำนโยบายขาดดุล ก็ต้องมีแผน มีวิธีการบริหารนโยบายขาดดุลที่ดีด้วย ต้องมีแผนการหาเงินเข้ารัฐที่ชัดเจนจึงจะถูกต้องเหมาะสม”

โดยเฉพาะการที่รัฐบาลประกาศลดภาษีนิติบุคคล ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดว่า รัฐบาลกำลังมีรายจ่ายมหาศาล มีรายได้ไม่พอรายจ่าย แล้วยังมีภาษีอีกหลายตัวที่จะต้องลดลงจากทั้งนโยบายรัฐ และเทรนด์การค้าโลก อย่างน้อย 3 ตัวคือ

การลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งเป็นเงินรายได้ที่รัฐจะได้จากการลงทุนภาคเอกชนลงไปอีก ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมีวิธีการหาเงินชดเชย, ภาษีการนำเข้าสินค้า หรือ Import Tax ที่เทรนด์การค้าโลกจะมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะถูกกดให้ลดลงตามอัตโนมัติเพราะต้องแข่งขันกับประเทศอื่น โดยเฉพาะการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน หรือ AEC

ดังนั้นแผนการหารายได้เข้ารัฐ โดยเฉพาะในเรื่องฐานภาษีจึงต้องมีการปรับให้เหมาะสม
“รัฐบาลต้องบอกวิธีการหาเงินให้ชัด อย่างน้อยก็พอเห็นทางออกของประเทศ ว่ามีปัญญาชำระหนี้ได้ ถ้าไม่บอกวิธีการชำระ แต่ไปบอกวิธีการกู้เงิน คิดว่าไม่ถูกต้อง”

ส่วนนี้อยากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มภาษี VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเวลานี้มีการคิดภาษีในส่วนนี้แค่ 7% ซึ่งมองว่าน้อยเกินไป ควรขึ้นเป็น 10 หรือ 12%

“ทุกวันนี้รายได้จาก VAT ได้รายได้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท คิดง่ายๆ ว่า 1% ของภาษี VAT จะได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นถ้าเพิ่มอีก 3% ก็จะมีรายได้เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ส่วนนี้เอามาเป็นค่าต้นทุนทำเมกะโปรเจกต์ก็จะดีกว่าไปกู้”

นอกจากนี้รัฐบาลควรหาวิธีติดตามและดึงกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในระบบภาษี และมีรายได้สูงกว่า 2 แสนบาทต่อปีเข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้หมด เพราะทุกวันนี้มีคนทำธุรกิจหรือแรงงานที่อยู่นอกระบบภาษีจำนวนมาก ทั้งพ่อค้าและเกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งหากเก็บภาษีกลุ่มนี้ได้เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่หารายได้เพิ่มให้กับรัฐได้จำนวนมาก และมองว่าอาจจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว

“ถ้าบริหารดีๆ จะไม่ต้องกู้เงินมากมายอย่างนี้ การกู้เงินมากๆ เป็นการสร้างภาระให้คนรุ่นหลัง แต่ไม่ได้บอกเขา และไม่ได้ถามเขา ว่าเขายินดีที่จะจ่ายไหม”

ที่สำคัญสุดวันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้คนไทยจำนวน 64.41 ล้านคน มีหนี้ติดตัวคนละ 104,687.05 บาทแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น