xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายรัฐป่วนตลาดเงิน ‘ดอกเบี้ย’ฝากเหนือพันธบัตร 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ใหญ่-เล็กเปิดศึกชิงเงินฝาก สวนทางวิกฤตหนี้ยุโรป นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยชี้สินเชื่อโตตามไม่ทัน แนะช่วงนี้ดอกเบี้ยฝากแบงก์สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล แถมอายุฝากสั้นกว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยโปรโมชันเงินฝากยังมีต่อหลังสภาพคล่องแบงก์ตึงตัว คนการเงินรับต้นเหตุหลักอยู่ที่นโยบายรัฐบาลดันต้นทุนผลิตสูง ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ น้ำท่วม เพิ่มเงินสมทบ

แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงมติยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% หรือการเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก ที่เดิม 11 สิงหาคมนี้จะคุ้มครองเงินฝากเพียงแค่ 1 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรีได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไป ด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินในทวีปยุโรป

แต่ในตลาดเงินฝากยังมีการแย่งชิงกันของธนาคารพาณิชย์ที่ออกโปรโมชันเงินฝาก ชูดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราปกติ แต่คราวนี้ธนาคารรายใหญ่ออกเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาล่อใจกันอย่างพร้อมเพรียง หลังจากปล่อยให้ธนาคารขนาดกลางและเล็กออกโปรโมชันชิงเงินฝากไปก่อนหน้า

โปรโมชันเงินฝากมีทั้งฝากระยะสั้นและระยะยาวให้เลือก 4 ธนาคารรายใหญ่ เปิดตัวบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษกันครบ

ดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตร

ธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า คำแนะนำในการเลือกฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์รายใดต้องขึ้นกับวงเงิน ยังคงคุ้มครองที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทโดยได้รับการค้ำประกัน ใช้บริการที่ไหนก็เหมือนกัน

แต่ถ้าเหลือการคุ้มครองแค่ 1 ล้านบาท คงต้องดูที่แบงก์ใหญ่หรือแบงก์รัฐ รวมทั้งพิจารณาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตามปกติแล้วแบงก์เล็กมักจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าแบงก์ใหญ่

อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยเสนอให้กับผู้ฝาก คงไม่ใช่ดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจาก 6 เดือนที่ผ่านมาแบงก์ไทยปล่อยสินเชื่อโตมากกว่า 13% ขณะที่เงินฝากโตตามไม่ทัน แบงก์จึงต้องเร่งระดมเงินฝากกัน แต่คงเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ

“จะเห็นได้ว่าแบงก์กรุงไทยให้ดอกเบี้ยสูงถึง 4% กับระยะเวลาฝาก 22 เดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลในช่วงก่อน ที่พันธบัตรอายุ 4 ปี ผลตอบแทนเพียง 3.5%”

ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี อยู่ที่ 3.08% อายุ 5 ปีผลตอบแทน 3.15% และพันธบัตร 10 ปี ผลตอบแทน 3.29%

ด้านฝ่ายเงินฝากของธนาคารรายหนึ่งกล่าวว่า ปีนี้อัตราดอกเบี้ยตามปกติคงทรงตัว แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะมีปัญหา แต่สำหรับประเทศไทยแบงก์พาณิชย์อาจจะมีการออกเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษที่ให้ดอกเบี้ยสูงมาอีกในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากภาคธุรกิจมีความต้องการสินเชื่อสูง แบงก์จึงต้องระดมเงินฝากควบคู่ไปด้วย

“สำหรับผู้มีเงินออมคงต้องพิจารณาจากความพร้อมของตัวเองเป็นหลัก โดยคนที่อยู่ในวัยเกษียณเมื่อเห็นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อาจจะเลือกฝากระยะยาว ส่วนบางคนอาจคาดหวังดอกเบี้ยสูงกว่าที่เป็นอยู่ก็อาจจะเลือกฝากสั้นๆ เพื่อรอโปรโมชันใหม่ หรืออาจจะแบ่งเงินฝากกระจายไปตามแบงก์ต่างๆ”

ฝากสั้น-ยาว

ธนาคารไทยพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากประจำพิเศษ 11 เดือน และเพิ่มจำนวนวันที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยแถมให้อีก 11 วัน ผลตอบแทน 3.46% ต่อปี เปิดบัญชีขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท และบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ 7 เดือน ดอกเบี้ย 3.30% ต่อปี เปิดบัญชีขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ 14 กรกฎาคม

ธนาคารกสิกรไทย เงินฝากประจำขั้นบันไดดอกสูงว้าว 18 เดือน จ่ายดอกเบี้ยสูงสุด 15% ต่อปี หรือดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงถึง 3.61% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน วงเงินฝากขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท เปิดรับฝากถึง 31 สิงหาคมนี้

ธนาคารกรุงเทพ เงินฝากประจำ 5 เดือน ดอกเบี้ยพิเศษ 3.25% ยอดเปิดบัญชีขั้นต่ำ 2 แสนบาท ถึง 27 สิงหาคม 2555

ส่วนธนาคารกรุงไทยมีบัญชีฝากประจำใจถึง ระยะเวลาฝาก 22 เดือน ดอกเบี้ย 4% เริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาท โดยเปิดมาตั้งแต่ 7 มิถุนายนและจะหมดเขตในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

ธนาคารเกียรตินาคิน มีบัญชีเงินฝากประจำ 18 เดือน ดอกเบี้ย 4% ฝากขั้นต่ำ 1 แสนบาท เริ่มตั้งแต่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีเงินฝาก 3 เดือน ดอกเบี้ย 3.25% ยอดฝากขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท

เงินฝากโตไม่ทันสินเชื่อ

สำหรับสาเหตุของการแข่งขันด้านเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งสวนทางกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปเงินฝาก สินเชื่อและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ใน 6 เดือนแรกของปี 2555 ระบุว่า ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 8.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.00 แสนล้านบาท จาก 7.91 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2555 หรือเติบโตราวร้อยละ 13.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนยอดเงินฝากสิ้นเดือนมิถุนายน 2555 มีจำนวน 8.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.68 แสนล้านบาท จาก 7.82 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2555 หรือเติบโตราวร้อยละ 18.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) ปรับลดลง 1.47 แสนล้านบาท จาก 1.29 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2555 มาที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือหดตัวลงร้อยละ 20.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากการครบกำหนดของตั๋วแลกเงิน และการปรับแนวทางการระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์ด้วยการหันมามุ่งเน้นการระดมเงินฝาก หลังจากการบังคับใช้เกณฑ์การนำส่งเงินสมทบใหม่ เพื่อบริหารจัดการหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ

ขณะที่สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 เงินให้สินเชื่อสุทธิ เพิ่มขึ้น 4.81 แสนล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 6.38 จาก ณ สิ้นปี 2554 ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.05 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 14.54 จาก ณ สิ้นปี 2554 ส่วนตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมลดลง 5.78 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2554

ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 สภาพคล่องมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ขณะที่การแข่งขันระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์คงหนุนให้ผลตอบแทนเงินฝากพิเศษแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

จากสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไปนั้น คาดว่าท่ามกลางสภาวะการแข่งขันระดมเงินออมที่เข้มข้นนั้น คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ มีเงื่อนไขที่สอดรับกับความต้องการของผู้ฝากเงิน ตลอดจนเหมาะสมกับการบริหารจัดการสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร อันอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษปรับเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงระยะเวลาการออม (Term) ของผลิตภัณฑ์เงินฝากที่สั้นลง ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปตามประกาศของธนาคาร จะยังมีแนวโน้มทรงตัวตามระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ถูกคาดหมายว่าจะคงระดับร้อยละ 3.0 ไปจนถึงสิ้นปี 2555

นโยบายรัฐต้นเหตุหลัก

แหล่งข่าวจากวงการแบงก์พาณิชย์กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อที่ขยายตัวมากขึ้นสวนทางกับวิกฤตยุโรป ทั้งนี้เป็นเพราะภาคธุรกิจของไทยต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนในการผลิต ทั้งจากผลพวงของน้ำท่วมใหญ่ที่สุดเมื่อปลายปี 2554 ผู้ผลิตต้องการสินเชื่อเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วม และยังต้องมาเจอกับนโยบายของรัฐบาลทั้งในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท มีนโยบายบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้า

รวมไปถึงธุรกิจของคนไทยที่เริ่มหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ที่เป็นผลมาจากการลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม หนีเรื่องต้นทุนแรงงาน ทำให้ความต้องการสินเชื่อจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องเจอคู่แข่งที่ต้องการชิงเงินออมจากประชาชนเช่นกัน ทั้งจากกองทุนรวม ประกันชีวิต พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้จากบริษัทเอกชนและธนาคารของรัฐ

แม้ว่าในช่วง 1 ปี แบงก์พาณิชย์จะระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นได้ถึง 18.64% ขณะที่สินเชื่อเพิ่มขึ้น 13.65% แต่ในอีกด้านหนึ่งเงินฝากที่อยู่ในรูปตั๋วแลกเงินในเดือนพฤษภาคม 2555 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 1.47 แสนล้านบาท หรือ 20.67%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาครัฐต้องการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงโอนภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกลับมาไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และเพิ่มการเก็บเงินสมทบจากเงินฝากเป็น 0.47% จากเดิม 0.4% และยังเก็บจากตั๋วแลกเงินในอัตราเดียวกันจากเดิมที่ตั๋วแลกเงินไม่ต้องส่งเงินสมทบ

เมื่อเทียบกับสิทธิในการคุ้มครองเงินฝากแล้วตั๋วแลกเงินไม่ถือว่าเป็นเงินฝาก แต่ต้องส่งเงินสมทบเหมือนกับเงินฝาก จึงไม่มีแบงก์ไหนออกหรือต่ออายุตั๋วแลกเงินอีก

ดังนั้น สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จึงค่อนข้างตึงตัว เป็นเหตุผลที่ทำให้การแข่งขันระดมเงินฝากในช่วงที่ผ่านมาและตลอดทั้งปี 2555 มีการแข่งขันที่รุนแรงแม้จะมีการยืดระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทออกไป โดยยังคงคุ้มครองที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น