xs
xsm
sm
md
lg

แบ่งเค้กงบจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เงินใต้โต๊ะมาก่อนประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - อาการเร่งรีบเปิดทีโออาร์เดินหน้าโครงการก่อสร้างตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความชัดเจน ข้ามขั้นตอน ล็อกสเปก เอื้อต่างชาติ ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่สนผลกระทบสิ่งแวดล้อม หวังจ้องงาบเงินใต้โต๊ะที่รีดได้สูงถึง 40-50% แทนที่จะช่วยแก้ไขกลับจะยิ่งสร้างปัญหา หลายฝ่ายรุมค้าน-ฟ้องศาล

หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำคลอด “แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ” เมื่อเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา พร้อมกับออกระเบียบสำนักนายกฯ จัดตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีอำนาจจัดทำแผนปฏิบัติการ อนุมัติแผนงาน และอำนวยการกำกับดูแลติดตาม โดยมีสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของ กนอช.และ กบอ. ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) นั้นถูกลดบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเท่านั้น

จากนั้นทาง กบอ. ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน ได้เปิดให้บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งในและต่างประเทศเข้ารับเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา หรือทีโออาร์ (Term of Reference) ออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา และมีกำหนดประชุมชี้แจงรายละเอียดทีโออาร์ต่อเอกชนที่สนใจเข้ารับเอกสารร่วม 400 รายในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ทีโออาร์เจ้าปัญหา ขาดความชัดเจน โปร่งใส

กล่าวสำหรับทีโออาร์ที่รัฐบาลจะชี้แจงต่อเอกชนนั้น ความจริงแล้วเรื่องนี้มีปัญหามาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส เพราะแรกทีเดียว กบอ.ซึ่งนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมนั้นไม่ยอมเปิดเผยเนื้อหาของทีโออาร์ต่อสาธารณชน กระทั่งถูกฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และสังคมตั้งข้อสงสัย สุดท้าย ครม.จึงมีมติให้เปิดเผยรายละเอียดทีโออาร์ ซึ่งมีเนื้อหาอยู่เพียง 8 หน้า

สาระสำคัญของทีโออาร์มีประเด็นหลักๆ คือ 1. รัฐบาลมีแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งแผนเร่งด่วนและระยะยาว โดยเน้นบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ซึ่งมีอยู่ 8 แผนงาน ส่วนลุ่มน้ำอื่นทั้งประเทศอีก 6 แผนงาน จะเชิญชวนผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และผลงานในการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของไทย

2. คุณสมบัติของผู้ที่ยื่นข้อเสนอ ต้องเป็นนิติบุคคลหรือกลุ่มนิติบุคคลในลักษณะที่ปรึกษาหรือคอนซอร์เตียม (Consortium) หรือร่วมทุน (Joint Vemture) ซึ่งจะต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างระบบป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้งในช่วงระหว่างปี 2545-2555 ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มของนิติบุคคลในลักษณะคอนซอร์เตียมหรือร่วมทุน มูลค่างานดังกล่าวให้นับรวมผลงานของแต่ละนิติบุคคลเข้าด้วยกัน แต่ผลงานที่จะนำมานับรวมเข้าด้วยกันนั้นต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละ 2,000 ล้านบาท

3. รายละเอียดของข้อเสนอ ต้องจัดทำเป็นภาษาไทยในส่วนบทสรุปผู้บริหาร โดยกรอบแนวคิดที่เสนอ (1) ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้น (2) ต้องวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องจากสภาวะโลกร้อน (3) ต้องแสดงให้เห็นว่าโครงการสามารถเก็บกักน้ำ ชะลอน้ำ ระบายน้ำอย่างไร สัมพันธ์กับโครงการอื่นอย่างไร (4) ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด (5) ต้องเสนอรูปแบบการลงทุน การดำเนินงานและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ (6) ประมาณการค่าใช้จ่ายตามแผนงานโครงการ (7) ต้องเสนอแหล่งเงินทุนและวิธีจ่ายคืนในส่วนงบประมาณที่จะเพิ่มเติมให้ชัดเจน

4. รัฐบาลจะพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย โดยดูจากข้อเสนอด้านเทคนิคและเอกสารคำชี้แจงเพิ่มเติม โดยการประกาศผลการพิจารณา รัฐบาลจะคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของรัฐบาลไทยมากที่สุด
ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
คลุมเครือ เอื้อต่างชาติ-ทุนใหญ่ ไม่เห็นหัวประชาชน

หากพิจารณาจากทีโออาร์ข้างต้น ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมพุ่งเป้าไปยังเรื่องต่างๆ ดังนี้

หนึ่ง การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติหรือทุนใหญ่เป็นสำคัญ เพราะการกำหนดคุณสมบัติที่ต้องเคยพัฒนาออกแบบก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท หรือผลงานของกลุ่มร่วมทุนที่นำมารวมกันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าผลงานละ 2,000 ล้านบาทนั้น มองเห็นตัวตนของผู้ที่จะได้งานคล้ายกับมีการล็อกสเปกด้วยการกำหนดคุณสมบัติที่คัดทิ้งรายย่อยไปในตัว

สอง ทีโออาร์มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าการเสนอกรอบแนวความคิดเอกชนจะมาคิดเงินกับรัฐบาลไม่ได้ กล่าวง่ายๆ คือ ทำให้ฟรี แต่ในโลกความเป็นจริงของฟรีไม่มีในโลก ยิ่งเมื่อทีโออาร์กำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมเสนอกรอบแนวความคิดที่มีทั้งบริษัทที่ปรึกษา ออกแบบ รับเหมาก่อสร้าง หากบริษัทที่ปรึกษาร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้างเสนอกรอบแนวความคิดให้รัฐบาล คำถามคือบริษัทที่ปรึกษาจะเสนอโดยอิงอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักหรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก

เรื่องอย่างนี้แวดวงผู้รับเหมาต่างรู้กันดีว่า หากอยากได้งาน ล็อกสเปก เขาทำกันตั้งแต่ชั้นต้นผ่านทางบริษัทที่ปรึกษาทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลบอกต้องทำให้ฟรีแต่มีบริษัทเอกชนสนใจเข้ามาเสนอกรอบความคิดให้กับรัฐบาลมากกว่า 400 แห่ง

สาม จากการกำหนดรายละเอียดของข้อเสนอทีโออาร์เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังมุ่งออกแบบก่อสร้างโครงการเป็นเป้าหมายหลัก โดยละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนและบริบทของสังคม ขาดการให้ความสำคัญต่อการเสนอกรอบความคิดด้านการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ทั้งที่ตามขั้นตอนการดำเนินการโครงการใหญ่มีหลักปฏิบัติอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1. ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เพื่อดูว่ามีกี่ทางเลือก แต่ละทางเลือกมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง และกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ 3. จัดประเภท จัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของโครงการ

ทีโออาร์ที่เปิดกว้างให้บริษัทที่ปรึกษา ออกแบบ ก่อสร้างโครงการเข้าร่วม คล้ายกับการเปิดประมูลในลักษณะเทิร์นคีย์ คือครบวงจรทั้งศึกษา สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง ซึ่งผู้ที่เสนอได้สอดคล้องกับแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจะได้รับการคัดเลือกนั้นมีเค้กก้อนใหญ่ที่รัฐบาลเตรียมไว้รอพรรคพวกเดียวกัน นั่นคือ แผนงานบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 แผนงาน วงเงิน 3 แสนล้านบาท ที่มีทั้งการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์ และอ่างเก็บน้ำอื่นๆ รวม 21 แห่ง, การจัดทำพื้นที่ปิดล้อมหรือพนังกั้นน้ำทั้งเขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม, การปรับปรุงระบบชลประทาน ปรับปรุงสภาพลำน้ำและคันดินริมแม่น้ำสายหลัก ฯลฯ

ที่สำคัญคือ การจัดทำทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย์ที่ใช้งบสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งแนวฟลัดเวย์ฝั่งเจ้าพระยาตะวันตก (ท่าจีน-เจ้าพระยา) ความยาว 314 กม. และแนวฟลัดเวย์เจ้าพระยาตะวันออก (ป่าสัก-เจ้าพระยา) ความยาวประมาณ 322 กม. มีการศึกษาไว้แล้ว แต่รัฐบาลเปิดเผยไม่ได้โดยอ้างว่าจะเกิดการเก็งกำไรที่ดินเพราะตามแนวฟลัดเวย์รัฐบาลจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ไปพร้อมกันด้วย

ตามขั้นตอนดำเนินการฟลัดเวย์ รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้บริษัทที่ปรึกษายื่นเสนอกรอบแนวความคิดตามทีโออาร์ จากนั้นจะเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติและประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุน ซึ่งหลังจากคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาและผู้ก่อสร้างได้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเสร็จภายใน 2 ปีครึ่ง โดยใช้เวลาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

สี่ แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศและผังเมือง และห้า ทีโออาร์ขาดการเสนอกรอบแนวคิดกำหนดพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงเหลือเพียงการทำเขื่อนหรือแนวคันกั้นน้ำ เป็นต้น

รุมตรวจสอบ-ฟ้องศาลปกครองระงับทีโออาร์

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการ กยน. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ทีโออาร์ของ กบอ.นั้น ทาง กยน.ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้มาก่อน ความจริงแล้ว กบอ.น่าจะมาชี้แจงต่อ กยน. ซึ่งขณะนี้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อมารับข้อเสนอ ข้อแนะนำไป แต่กลับไม่มีการคุยกัน และ กยน.ไม่ได้ประชุมกันมา 2 เดือนแล้วหลังจากที่มีการตั้ง กบอ. มาถึงตอนนี้ที่ กบอ.เปิดให้เอกชนมารับทีโออาร์ที่คลุมเครือ มุ่งออกแบบก่อสร้าง ทั้งที่ความจริงต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อน ทำตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสองก่อน ตอนนี้สังคมกำลังจับตามอง ถ้าทำไม่ได้ หรือทำคนเดียวแบบวันแมนโชว์จะทำได้ยาก สุดท้ายก็ไปไม่รอด ทำให้เกิดมีกระแสว่ากรรมการ กยน.ลาออกเพราะไม่อยากตกเป็นเป้าของสังคมเนื่องจากไม่ได้รับรู้ในสิ่งที่ กบอ.ทำมาแต่ต้น

กระแสตรวจสอบแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังลุกลามออกไป ไม่เพียงแต่ถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการน้ำด้วยกันเท่านั้น ทางสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เพิ่งจัดสัมมนาวิพากษ์ทีโออาร์ ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อสรุปว่า จะเสนอให้รัฐบาลเลิกทีโออาร์และทบทวนใหม่เนื่องจากขาดความชัดเจน เอื้อต่างชาติ รีบร้อน ซึ่งการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต้องถูกหลักวิศวกรรม ถูกหลักกฎหมาย และต้องไม่มองข้ามผลกระทบต่อประชาชนด้วย

ขณะที่เครือข่ายต้านคอร์รัปชันกำลังติดตามการเปิดทีโออาร์แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเช่นกัน เพราะเวลานี้มีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายฯ ถึงการเรียกเงินใต้โต๊ะสูงถึง 40-50% เพื่อให้ได้งานป้องกันน้ำท่วมในระดับท้องถิ่นแล้ว 5-6 โครงการ ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราติดสินบนเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4- 5 ปี จากอัตรา 25-30% เพิ่มเป็น 30-35%

เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามข้อมูลทีโออาร์เพื่อจัดทำข้อมูลป้องกันการทุจริต เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมาก และใช้วิธีประมูลด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย จึงต้องเร่งจัดทำข้อมูลเสนอรัฐบาลก่อนเปิดประมูลโครงการ

นอกจากนั้น ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับเครือข่ายนักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และชาวบ้านทั่วประเทศและในจังหวัดนครสวรรค์ ยังยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา กรณีเห็นชอบให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มูลค่า 13,280 ล้านบาท โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสกัดการให้เอกชนออกแบบวางแผนการจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านที่เปิดให้ทีโออาร์ไปแล้ว และเพื่อเป็นการตอบโต้แผนของรัฐบาลที่จะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 21 เขื่อนตามกรอบในทีโออาร์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ ด้วย

ดูเหมือนการเตรียมล้อมวงตัดแบ่งเค้กงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านระหว่างนักการเมืองกับบริษัทเอกชนรายใหญ่จะไม่ราบรื่นดังคิด แม้จะวางแผนกีดกันให้ กยน.อยู่นอกวงสวาปามเพราะกรรมการแต่ละคนล้วน “บิ๊กเนม” ควบคุมไม่ได้ และอีกไม่นานก็จะได้รู้กันว่าการทุ่มเทงบมหาศาลเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม-ฝนแล้ง จะบรรเทาทุกข์หรือจะยิ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนหนักขึ้นไปอีก คราวนี้อาจไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะน้ำท่วม เผลอๆ อาจถูกไล่ที่เพราะฟลัดเวย์หรือลอยคอในแก้มลิงรับน้ำโดยไม่รู้ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น