xs
xsm
sm
md
lg

‘รันเวย์สุวรรณภูมิยุบ’ยิ่งสาวยิ่งเสียว! จี้‘ยิ่งลักษณ์’ปิด-สร้างรันเวย์ที่ 3 ด่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
 
เกาะติดการยุบตัว และรอยร้าวเป็นล่องคลื่นในพื้นผิวแท็กซี่เวย์และรันเวย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ อาจไม่ใช่เพราะกลุ่มบริษัท ITO Joint Venture ใช้วัสดุผิดประเภทเพียงอย่างเดียว แต่ความน่ากลัวอยู่ที่มีการปล่อยให้น้ำท่วมขังซึ่งผิดเงื่อนไขที่ผู้ออกแบบระบุไว้และเป็นต้นเหตุให้เกิดการทรุดตัวของชั้นดินที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง นี่คือต้นตออันตรายของการขึ้นและลงของเครื่องบินได้ง่าย ขณะที่ฝ่ายวิศวกรรมเสนอ ‘4 ทางเลือก’แก้วิกฤตสนามบินสุวรรณภูมิแบบยั่งยืน

การแก้ปัญหาการยุบตัวเป็นหลุมของบริเวณแท็กซี่เวย์และรันเวย์ในสนามบินสุวรรณภูมิต้องไม่ใช่ปัญหาที่ผู้บริหารการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) :ทอท.หรือนายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะปิดเงียบหรือดำเนินการแก้ปัญหาเป็นการภายในอีกต่อไป

เพราะเรื่องนี้ควรอย่างยิ่งจะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับรัฐบาลที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ

ทั้งนี้เพราะการยุบตัวของพื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์ ของสนามบินฯไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก หรือเป็นเรื่องปกติอย่างที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้ความเห็น

เพราะข้อเท็จจริงแล้ว หากปล่อยให้มีการแก้ปัญหาแบบใช้ไปซ่อมไปมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้สนามบินและทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างยิ่งโดยที่ไม่สามารถฟ้องเอาผิดกับผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ออกแบบได้แต่ประการใด และที่สำคัญจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

“รันเวย์และแท็กซี่เวย์มีปัญหารอยร้าว มีการยุบตัวเป็นหลุมลึก ตั้งแต่มีการเปิดใช้สนามบินเมื่อกรกฎาคม ปี 2549 น่าจะมีการซ่อมกว่า 250 ครั้งได้แล้ว แต่เป็นการซ่อมเพื่อให้ได้ใช้งาน พูดง่ายๆ ก็ซ่อมแบบลวกๆ ขอไปทีนั่นแหละ” แหล่งข่าวจากสนามบินสุวรรณภูมิ ระบุ
 
ภาพจากเว็บไซต์ www.suvarnabhumiairport.com
 
ใครรับผิดชอบสุวรรณภูมิยุบตัว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับพื้นผิวของรันเวย์และแท็กซี่เวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิที่ฝ่ายวิศวกรรมกังวลก็คือ ที่ผ่านมาการซ่อมพื้นผิวที่มีรอยร้าว และยุบตัวเป็นหลุมนั้น เป็นการซ่อมแบบฉุกเฉินและใช้สารในการปิดรอยต่างๆ แบบรวดเร็ว จะเห็นว่าเพียง 1-2 ชั่วโมงก็เปิดใช้รันเวย์ได้แล้ว

อีกทั้งบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาทั่วไป ในการวางแผนแม่บทออกแบบเบื้องต้น (General Engineering Consultants :GEC) ประกอบด้วย Netherlands Airport Consultants B.V.(NACO),Louis Berger International Inc.,Design 103 Co.,Ltd., Team Consulting Engineering Co.,Ltd.,Asian Engineering Consultants Co.,Ltd., และบริษัท Index International Gruop Co.,Ltd., ระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นผิวแอสฟัลติก หรือยางมะตอยจะปล่อยให้มีน้ำท่วมขังไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหากับพื้นผิวทำให้เกิดรอยร้าวและล่อนตัวได้ง่าย

แหล่งข่าวระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีรอยร้าวและล่อนตัวยุบเป็นหลุมอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจากความผิดพลาดของการระบายน้ำในสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2549 ที่สภาพอากาศแปรปรวน เกิดพายุฝนตกกระหน่ำ แต่ผู้รับผิดชอบไม่ดำเนินการระบายน้ำออกไปให้ได้ กลับปล่อยให้น้ำท่วมขังอยู่หลายวันและน้ำได้ซึมเข้าไปข้างในระหว่างรอยต่อของแอสฟัลติกกับบริเวณที่มีการปลูกหญ้า

“หลังน้ำท่วมขังระบายไปหมดแล้ว ห่างกันเพียง 15 วัน ก็ปรากฏบริเวณแท็กซี่เวย์เกิดเป็นร่องลึก แตกชัดเจน และปัญหาน้ำท่วมขังจึงมีผลถึงวันนี้”

เขาอธิบายว่า ในช่วงที่ทำการปรับปรุงคุณภาพดินและงานผิวทาง (Ground Improvement for Airfield Pavement) เพราะที่บริเวณก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเป็นดินอ่อน มีการทรุดตัวของดินไปแล้วประมาณ 1.50 เมตร เหลืออีก 20 เซนติเมตร ที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะหยุดการทรุดตัว โดยนับจากที่ได้มีการถมทรายแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ซึ่งจะหยุดทรุดตัวในปี 2564

“การปล่อยให้น้ำท่วมพื้นผิวแอสฟัลติก นั่นแหละเป็นตัวทำให้พื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์พังเร็วขึ้น ทุกวันนี้เรายังไม่สามารถเอาน้ำออกได้หมด จึงเป็นปัญหาที่ผู้บริหาร ทอท.และผู้บริหารสุวรรณภูมิรู้ดี แต่ก็แก้ปัญหาโดยใช้วิธีเทคอนกรีตปิดตรงที่แตกไว้ แต่มันก็สามารถไปเกิดพื้นผิวล่อน เป็นหลุมตามจุดที่มีการใช้งานมากได้ตลอดเวลา”

ขณะเดียวกันในด้านวิศวกรรมได้มีการตรวจสอบพบว่าการทรุดตัวของดินในสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่หยุด และต้องไปดูว่ายังมีการทรุดตัวของชั้นพื้นผิวเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งในทางธรรมชาติแล้วการทรุดตัวของชั้นดินจะไม่สม่ำเสมอ เพราะที่นี่มีบางส่วนเป็นดินอ่อน บางส่วนดินอ่อนมาก แต่บางส่วนยังเป็นดินแข็ง จึงไม่รู้ว่าบริเวณไหนมีน้ำอยู่มากและตรงไหนมีน้ำอยู่น้อย

“ถ้าการทรุดตัวของดินสม่ำเสมอก็ไม่น่าห่วง แต่นี่มีการทรุดตัวไม่เท่ากันในแต่ละช่วงโดยเฉพาะตรงบริเวณทางขึ้นและลงของเครื่องบินรวมไปถึงทางเชื่อมไปยังรันเวย์ จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายมากในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ”

 
‘ITO Joint Venture’ ยกประเด็นน้ำท่วมพื้นผิวสู้ทอท.

แหล่งข่าวระบุอีกว่า จากการที่พื้นผิวมีการหลุดล่อน เป็นคลื่นยุบลงที่มีการตรวจพบว่ากลุ่มบริษัท ITO Joint Venture ซึ่งประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2. Takenaka Corporation 3. Obayashi Corporation ได้ทำการก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะวัสดุที่นำมาปูผิวแท็กซี่เวย์แอสฟัลติกมีความบกพร่องของส่วนผสม ทำให้ความแข็งแรงและสภาพพื้นผิวแท็กซี่เวย์ไม่คงทน

จนเป็นเหตุให้กลุ่ม ITO ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมครั้งนี้ถึง 500 ล้านบาท และทาง ทอท.ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 3 พันล้านบาทซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอัยการสูงสุดนั้น (ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้นำเสนอใน ‘พบแล้ว!เหตุรันเวย์สุวรรณภูมิยุบตัว วัสดุผิดสเปก-แนะเปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีต’) แหล่งข่าวระบุว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายนั้นเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างไรก็ดีเชื่อว่ากลุ่ม ITO ชนะแน่นอน

“ทอท.ก็รู้แต่เป็นการยื่นฟ้องตามกระบวนการหรือเป็นการฟ้องแก้เกี้ยวเท่านั้นเอง และเชื่อว่าอัยการสูงสุดก็คงเสนอแนวทางเข้าสู่การตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้”

แหล่งข่าวระบุว่า เงื่อนไขสำคัญที่กลุ่ม ITO จะนำมาใช้ในการต่อสู้ก็คือ แบบก่อสร้างระบุชัดเจนว่า โครงการนี้จะปล่อยให้มีน้ำท่วมขังไม่ได้ เพราะพื้นผิวจะไม่เกิดปัญหาล่อนและยุบตัวได้ง่าย

“ITO มีข้อมูลหลักฐานที่ทาง ทอท.ปล่อยให้มีน้ำท่วมขังบริเวณนี้ในช่วงน้ำมาก เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับประชาชนที่อยู่บริเวณรอบสนามบินและเห็นว่าเป็นช่วงที่เพิ่งจะเริ่มเปิดใช้สนามบินตรงนี้ จึงเป็นเหตุที่จะนำมาหักล้างได้”

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวย้ำว่า การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังพื้นผิวเป็นเวลานานจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาของการเกิดรอยร้าว พื้นผิวล่อนตัวและยุบตัวรวมไปถึงวิธีการซ่อมแบบฉุกเฉินจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝ่ายวิศวกรรมเห็นควรอย่างยิ่งจะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขสนามบินสุวรรณภูมิก่อนที่จะสายเกินแก้

 
4 ทางเลือกแก้รอยร้าว-ยุบตัวของรันเวย์

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากการหารือและพูดคุยกันภายในหน่วยงานและวิศวกรทั้งจากภายในและภายนอกโครงการ มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และกระทรวงคมนาคมจะต้องตัดสินใจกับการแก้ปัญหารอยร้าว และการยุบตัวเป็นหลุมของพื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์อย่างรีบด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอันตรายและทำให้ประเทศชาติสูญเสียได้แน่นอน

สำหรับแนวทางในการแก้ไขนั้น ฝ่ายวิศวกรรมเชื่อว่ามีประมาณ 4 แนวทาง ซึ่งจะเป็นทางออกในขณะนี้ ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 นำผลการศึกษาและข้อเสนอของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ‘IMMS/JAC/KJC’ ที่ระบุถึงสาเหตุของการยุบตัวและข้อเสนอที่ต้องการให้ปรับปรุงทั้งรันเวย์และแท็กซี่เวย์จากพื้นผิวแอสฟัลติก (Asphaltic) ยางมะตอย เป็นพื้นผิวคอนกรีตทั้งหมด รวมไปถึงหากมีการสร้างรันเวย์ที่ 3 ก็ควรเลือกเป็นพื้นผิวคอนกรีตซึ่งจะมีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี มาพิจารณา

“ถ้าเป็นพื้นผิวคอนกรีตอายุใช้งาน 20 ปีจึงจะมีการปิดซ่อมใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ซ่อมเลยตลอด 20 ปี เพียงแต่ว่าในช่วงการใช้งาน 20 ปีนั้น หากพื้นผิวตรงไหนมีการใช้งานมากก็จะเกิดแรงกดและบดอัดมาก ก็จะมีการซ่อมเป็นจุดๆ เป็นช่วงๆ ไป”

ส่วนพื้นผิวรันเวย์และแท็กซี่เวย์ในปัจจุบันเป็นพื้นผิวแอสฟัลติกที่มีอายุการใช้งานเพียง 7 ปี และวันนี้ก็ใช้มาแล้วเกือบ 6 ปี

“ถ้าดูกันแบบช่างหรือวิศวกรที่ประเมินจากสภาพการใช้งานและมองเห็นกันอยู่ตลอดเวลา เราเห็นว่าวันนี้ก็ควรอย่างยิ่งที่จะมีการปิดซ่อมรันเวย์ครั้งใหญ่ได้แล้วเพื่อความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของผู้ใช้สนามบิน”

ประเด็นที่ 2 หากไม่มีการปิดซ่อมครั้งใหญ่หรือการปิดซ่อมถาวรในเส้นทางรันเวย์และแท็กซี่เวย์ ควรจะเร่งหามาตรการหรือแนวทางแก้ไขเพื่อยืดอายุการใช้งานได้นานกว่าที่เป็นอยู่เพื่อไม่ให้ผู้ใช้สนามบินสุวรรณภูมิต้องเดือดร้อนหรือมีปัญหาความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น

แหล่งข่าวระบุว่า หากเลือกไม่ปิดซ่อมครั้งใหญ่ แนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระสนามบินสุวรรณภูมิได้ก็คือ รัฐบาลจะต้องมีนโยบายย้ายสายการบินระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุดอีกจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่สนามบินดอนเมือง เหมือนอย่างที่รัฐบาลตัดสินใจย้ายสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ก็จะช่วยลดภาระสนามบินสุวรรณภูมิได้มาก

“สนามบินสุวรรณภูมิไว้รองรับเฉพาะสายการบินระยะไกลระหว่างประเทศ ที่เป็นเครื่องขนาดใหญ่เท่านั้นก็จะช่วยแบ่งเบาภาระสุวรรณภูมิได้มาก”

ประเด็นที่ 3 เลือกที่จะปิดซ่อมใหญ่ 1 รันเวย์ ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ว่าทางผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ทั้งนโยบายรัฐบาล ทอท.จะต้องขอความร่วมมือกับสายการบินให้ย้ายเที่ยวบินให้มากที่สุด และเหลืออยู่ที่สุวรรณภูมิน้อยที่สุด

ปัจจุบันถือเป็นโอกาสที่ดีหากจะตัดสินใจปิดซ่อมครั้งใหญ่ 1 รันเวย์ เพราะขณะนี้ได้มีการปิดซ่อมรันเวย์ตะวันออกซึ่งคาดว่าประมาณวันที่ 18-19 ก็จะสามารถเปิดใช้ได้ และเมื่อแล้วเสร็จเราก็เปิดใช้ควบคู่กับสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับได้มาก

จากนั้นก็เร่งวางแผนกำหนดการปิดซ่อมรันเวย์ตะวันตกครั้งใหญ่ได้ทันที เพราะถ้าไม่ทำวิธีนี้และปล่อยให้ทั้ง 2 รันเวย์ต้องแบกรับภาระมาก อีกไม่นานก็คงมีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งไม่รู้ว่าจะรุนแรงหรืออันตรายกว่าหรือไม่เพียงใด

“เราต้องยอมรับว่าสนามบินดอนเมืองมีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ วิธีนี้ก็คือการใช้ดอนเมืองคู่กับสุวรรณภูมิจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี หากไม่สามารถสร้างรันเวย์ที่ 3 ได้ในเวลานี้”

ประเด็นที่ 4 เร่งดำเนินการสร้างรันเวย์ที่ 3 ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมสภาพดินไว้พร้อมแล้ว แต่มีปัญหาในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องรีบดำเนินการเคลียร์กับชุมชนที่อยู่อาศัยในละแวกนั้น อีกทั้งงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับการก่อสร้าง 3 พันกว่าล้านบาท ทาง ทอท.ก็ได้จัดไว้พร้อมเช่นกัน

แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนวัสดุในการก่อสร้างจากพื้นยางมะตอยเป็นพื้นคอนกรีตตามข้อเสนอของ ‘IMMS/JAC/KJC’ นั้น คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท

“ถ้าเลือกเป็นพื้นคอนกรีตก็ต้องรีบตัดสินใจว่าจะหางบประมาณจากไหน หากรีบด่วนรัฐบาลจะช่วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการให้พร้อม”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า วิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้และเวลานี้ฝ่ายวิศวกรที่เกี่ยวข้องเห็นควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กัน คือมีการสร้างรันเวย์ที่ 3 ไปพร้อมๆ กับการใช้ทั้ง 2 รันเวย์แบบซ่อมไปใช้ไป และดำเนินการย้ายสายการบินอีกจำนวนหนึ่งไปใช้สนามบินดอนเมืองทดแทน

ทั้งนี้ หากตัดสินใจสร้างรันเวย์ที่ 3 ในช่วงเวลานี้จะมีขั้นตอนก่อนลงมือก่อสร้างและระหว่างก่อสร้างรวมเบ็ดเสร็จประมาณเกือบ 3 ปี เชื่อว่าปลายปี 2558 ก็จะสามารถใช้รันเวย์ที่ 3 ได้

เมื่อมีรันเวย์ที่ 3 มาทดแทนแล้ว จากนั้นจะสามารถปิดซ่อม 1 รันเวย์แบบครั้งใหญ่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้า ทอท.มีงบประมาณเพียงพอที่ต้องการเปลี่ยนพื้นผิวจากแอสฟัลติกเป็นคอนกรีตก็สามารถดำเนินการได้

“ถ้าเปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีต ก็จะใช้งบประมาณเหมือนกับการก่อสร้างใหม่ในรันเวย์ที่ 3 คือใกล้เคียง 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อรันเวย์นี้เสร็จ เราก็ปิดซ่อมอีก 1 รันเวย์ตามมาได้ทันทีโดยผู้โดยสารไม่เดือดร้อน”

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล กระทรวงคมนาคม และ ทอท. จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีวัวหายแล้วจึงล้อมคอก..

เพราะหากปล่อยให้วันนั้นมาถึง ประเทศชาติ...จะสูญเสียมหาศาล!!

กำลังโหลดความคิดเห็น