xs
xsm
sm
md
lg

พบแล้ว!เหตุรันเวย์สุวรรณภูมิยุบตัว วัสดุผิดสเปก-แนะเปลี่ยนเป็นพื้นคอนกรีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดข้อมูลบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาร่วมทุนญี่ปุ่น-ไทย ‘IMMS/JAC/KJV’ ที่เข้าตรวจสอบสาเหตุการยุบตัวบริเวณแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ยุค พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร พบวัสดุปนเปื้อนในแอสฟัลติก (Asphaltic) เป็นตัวการใหญ่ ทั้งที่ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้พื้นผิวไม่เกาะตัว ขาดความแข็งแรงและไม่คงทน พร้อมเสนอเปลี่ยนพื้นทั้งหมดเป็นคอนกรีต ขณะเดียวกัน ทอท.ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทฯรับเหมาก่อสร้าง อิตาเลียนไทยและพวก กว่า 3 พันล้านบาท

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะยืนยันว่าการยุบตัวเป็นหลุมกว้างของพื้นรันเวย์ตะวันตกของสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นเรื่องปกติ เพราะปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีการใช้งานมาหลายปีแล้ว อีกทั้งจำนวนเที่ยวบินก็สูงกว่าที่คาดหมายไว้ ที่สำคัญน้ำหนักของเครื่องบินก็มีส่วน แต่มั่นใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย และได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแล้ว

อย่างไรก็ดี “ASTV ผู้จัดการรายวัน” ยังคงเกาะติดกับข่าวดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดการยุบตัวเป็นหลุมในบริเวณพื้นผิวแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ มาด้วยกันหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุคที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานบอร์ด การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และมี นายต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธานคณะกรรมการกลาง ตรวจสอบหาสาเหตุของรอยร้าวที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การพิจารณาแก้ปัญหา และเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” จึงติดต่อสัมภาษณ์นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขตามหลักการวิศวกรรม ซึ่งเขาบอกว่ายอมรับไม่ได้กับคำกล่าวของผู้บริหารสนามบินฯ ที่ว่า “ใช้ไปซ่อมไป” เพราะการปล่อยให้มีการยุบตัว ทรุดตัวเป็นหลุม แล้วใช้วิธีการซ่อมแซมอย่างรีบด่วน ไม่แก้ที่สาเหตุ เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากสำหรับผู้ใช้สนามบินสุวรรณภูมิ

“ถนนใช้ไปซ่อมไป พอรับได้ แต่สนามบินมันน่ากลัวมาก หากล้อเครื่องบินกระแทกหลุมจะเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญเราตามดูหรือไม่ว่า การยุบตัวของชั้นผิวดินนั้นมีความสม่ำเสมอกันหรือไม่ เพราะถ้าไม่สม่ำเสมอ ผสมกับการยุบตัวหรือทรุดตัวจากเหตุอื่นด้วย ประเทศชาติจะเสียหาย ต่างชาติก็จะขาดความเชื่อมั่นได้”

เขาบอกอีกว่า ในยุค พล.อ.สพรั่ง เป็นประธาน ทอท. ที่มีการยุบตัวเป็นหลุมใหญ่นั้น ได้มีการว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2550 เพื่อศึกษาตรวจสอบสาเหตุของความชำรุด เสียหาย บริเวณทางขับ และทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเสนอมาตรการแก้ไข ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท

“ข้อมูลวิศวกรที่ปรึกษาสรุปว่าเกิดจากเหตุอะไร และจะแก้อย่างไร เป็นเรื่องที่ ทอท.ต้องนำมาเปิดเผยให้สังคมได้รู้ หากมีปัญหาจริงก็ต้องแก้ไขไม่ใช่เก็บเงียบไว้ รู้กันแค่ภายใน ทอท.เท่านั้น”
โดยนายต่อตระกูลระบุว่า ผลสอบออกมาเป็นอย่างไรบ้างนั้น ตัวเขาไม่รู้ เนื่องจากออกมาจากการเป็นกรรมการ ทอท.ก่อนที่ผลการศึกษาจะสรุปออกมา จึงไม่รู้สาเหตุและข้อเสนอแนะในการแก้ไข แต่เชื่อว่าข้อมูลนี้จะทำให้เรารู้ข้อเท็จจริงถึงสาเหตุ พื้นผิวแท็กซี่เวย์และรันเวย์ มีการยุบตัวเป็นหลุมอยู่บ่อยๆ

ดังนั้น จึงได้ติดต่อสอบถาม อดีตผู้บริหารการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งเขายอมรับว่า มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ทำการสำรวจและตรวจสอบจริง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในนาม IMMS/JAC/KJV ประกอบด้วย IMMS CO.,Ltd., Japan Airport Consultants, Inc. และ KISO-JIBAN Consultants Co.,Ltd.

โดยผลศึกษาสรุปส่งมาให้ ทอท.เมื่อปี 2551 พบว่าสาเหตุของการยุบตัวเป็นหลุมนั้น เกิดจากวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะวัสดุที่นำมาปูผิวแท็กซี่เวย์แอสฟัลติกมีความบกพร่องของส่วนผสม ทำให้ความแข็งแรงและสภาพพื้นผิวแท็กซี่เวย์ไม่คงทน ซึ่งเป็นความผิดของอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบริเวณดังกล่าว
“ลักษณะที่พบตอนนั้นพื้นผิวมีการหลุดล่อน เป็นคลื่นยุบลง เราเจาะทั้งหมด 800 จุด พบมีหินอ่อนผสมอยู่ในแอสฟัลติก ซึ่งความจริงมันผสมไม่ได้ เพราะทำให้ลื่น ไม่จับยาง ซึ่งเรื่องนี้อิตาเลียนไทยเขาก็รับผิดชอบ”

อีกทั้งแอสฟัลติกหรือพื้นยางมะตอยโดยทั่วไป เมื่อต้องเจอกับน้ำบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายพื้นผิวหลุดล่อนได้ตามสภาพหรือคุณภาพของยางมะตอยได้อยู่แล้ว
“เราเชื่อว่าอิตาเลียนไทยไม่ได้เจตนา แต่อาจเป็นเพราะแหล่งที่มาของหินคลุกที่อิตาเลียนใช้นั้น อาจจะเป็นแหล่งที่หินอ่อนแทรกปนอยูในหินปูนมาก ในทางธรณีวิทยาจึงเกิดปัญหาในด้านความแข็งแรงและคงทนได้

ในเรื่องนี้ ทอท.ก็ได้ดำเนินการให้บริษัท อิตาเลียนไทย เข้ามาซ่อมแซม โดยในส่วนที่ ทอท.ดำเนินการเองไปรวม 17 ล้านบาท และอิตาเลียนไทยซ่อมแซมเป็นเงินทั้งสิ้น 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทอท.ก็ได้ดำเนินการส่งฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และพวกเป็นเงิน 3 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา

แหล่งข่าวบอกด้วยว่า บริษัท IMMS/JAC/KJV ได้เสนอแนะในการปรับปรุงครั้งนี้ว่า ควรจะเปลี่ยนพื้นผิวแท็กซี่เวย์และรันเวย์ เป็นพื้นคอนกรีต ซึ่งจะทำให้อายุการใช้งานยาวนานถึง 20 ปี จึงจะมีการปิดซ่อมครั้งใหญ่

“ที่ว่าพื้นผิวเป็นคอนกรีตนั้น ไม่ใช่พื้นคอนกรีตที่ถนนทั่วไป แต่เป็นพื้นผิวคอนกรีตที่ต้องเสริมเหล็กข้ออ้อยขนาดใหญ่ 7 นิ้ว 2 ชั้น จึงจะรองรับการใช้งานได้”

อย่างไรก็ดี พื้นผิวแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ ที่เป็นพื้นแอสฟัลติกนั้น อายุการใช้งานเพียงแค่ 7 ปี ก็ควรมีการปิดซ่อมใหญ่ และปัจจุบันสนามบินได้มีการเปิดใช้มาเกือบ 6 ปีแล้ว แต่หากจะทำการปิดซ่อมใหญ่เชื่อว่าเกิดปัญหาแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ ทอท.อยู่ระหว่างดำเนินการหาแนวทางในการบริหารจัดการสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อไม่ให้ผู้ใช้สนามบินต้องเดือดร้อน!


กำลังโหลดความคิดเห็น