ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อชะลอหรือหยุดยั้งโครงการที่ก่อให้เกิดมลพิษยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชุมชนมาบข่า ระยอง ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาลเมืองมาบตาพุดต่อศาลปกครองระยอง ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานถ่านหินโค้กทั้งที่ถูกคัดค้านมากว่า 5 ปี
วันนี้ (3 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองระยอง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ร่วมกับชาวมาบข่า อ.นิคมพัฒนา ชาวห้วยโป่ง มาบตาพุด จำนวน 79 คน เดินทางไปยื่นฟ้องปลัดเทศบาลเมืองมาบตาพุด และนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ต่อศาลปกครองระยอง ข้อหาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยมิชอบ โดยการอนุมัติ/อนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานถ่านหินโค้ก ชื่อบริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอน โค้ก จำกัด ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานได้ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การกระทำของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการลุแก่อำนาจในการให้ใบอนุญาตแก่บริษัท เข้าข่ายเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หลายมาตรา เช่น มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 วรรคสอง มาตรา 287 ทั้งที่ชาวชุมชนมาบข่า-ห้วยโป่ง ได้คัดค้านโรงงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปีแล้วก็ตาม
“เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าโรงงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้งว่าเพื่อประกอบกิจการผลิตถ่านหินโค้ก โดยนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย มาผลิตในเมืองไทยเพื่อส่งออก 75% ซึ่งจะเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษมากที่สุดในพื้นที่ชุมชน ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ในเขตควบคุมมลพิษ โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และหรือพิจารณานำข้อคัดค้านของผู้ฟ้องคดีหรือชาวบ้านไปดำเนินการ หรือรับฟังข้อมูลผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาอย่างรอบด้านจากชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ฟ้องคดีเสียก่อนตามรัฐธรรมนูญ 2550”
ทั้งนี้ ในการยื่นฟ้องดังกล่าวชาวบ้านได้มีคำขอท้ายคำฟ้อง ดังนี้ 1) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารโรงงานทั้งหมดที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุญาตให้บริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนโค้ก จำกัดไปแล้วเสีย และให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันรับผิดชอบต่อความเสียหายของบริษัทดังกล่าวโดยส่วนตัวด้วย
2) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญาต่อผู้ถูกฟ้องคดีในความผิดเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
3) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 287 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดทั้งหมด
4) ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างครบถ้วนก่อนใช้อำนาจทางปกครองใดๆ ในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการต้องดำเนินการให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 26 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 78 มาตรา 85 (5)
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 87 มาตรา 287 มาตรา 290 ประกอบพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 11 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 และหรือระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่เกี่ยวข้อง และหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยยึดถือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 3/2552 เป็นหลักด้วย
อนึ่ง รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ
มาตรา 58 บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน
มาตรา 67 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 287 ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าวได้ด้วย
ในกรณีที่การกระทำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นในสาระสำคัญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งข้อมูลรายละเอียดให้ประชาชนทราบก่อนกระทำการเป็นเวลาพอสมควร และในกรณีที่เห็นสมควรหรือได้รับการร้องขอจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนการกระทำนั้น หรืออาจจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเพื่อตัดสินใจก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรายงานการดำเนินงานต่อประชาชนในเรื่องการจัดทำงบประมาณการใช้จ่าย และผลการดำเนินงานในรอบปี เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
……