xs
xsm
sm
md
lg

“หัสวุฒิ” ยันยึดหลักเที่ยงธรรมสอบรัฐ ไล่ดูเจตนารมณ์ รธน.40 ก่อนยุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล
ปธ.ศาลปกครองสูงสุดชี้ปรับยุบศาลฯ ระวังกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน จี้ย้อนดูเจตนารมณ์ก่อตั้งศาลใน รธน.40 ยันตรวจสอบรัฐตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ พร้อมระบุไม่เห็นด้วยให้ตุลาการไปเป็นนั่งสรรหา กก.องค์กรอิสระ ขณะที่แถลงผลงานชี้ 11 ปี คดีมาก 7 หมื่นคดี คาดปี 55 คดีเพิ่มขึ้นเหตุสังคมขัดแย้ง เผยปชช.ยังเชื่อมั่นแม้สถิติระบุแพ้คดีในศาลมากกว่ารัฐ


วันนี้ (8 มี.ค.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวเป็นครั้งแรกในระหว่างการแถลงผลงานของศาลปกครองในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการเปิดทำการศาลปกครอง ถึงกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองต้องการจะยุบเลิกศาลปกครอง กล่าวว่า เรามีความตั้งใจให้ศาลปกครองเป็นศาลแห่งความเชื่อมั่น เป็นหลักของประเทศเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความชัดเจนยังไม่มี สิ่งที่เราทำคือมุ่งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อประชาชน เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ เราไม่ได้มีอำนาจใดๆ เลย ถ้าไม่มีการฟ้องคดีเข้ามา หรือแม้มีการฟ้องคดี ศาลฯ ก็ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นศาลก็ไม่ได้เป็นผู้ตราขึ้น อยากบอกว่าเราไม่ได้เป็นคู่ความในคดี แต่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตามหลักนิติรัฐ ตามหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งที่มีการะบุว่าการมีศาลฯทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐก็อยากให้พูดให้ชัดว่าเป็นอุปสรรคอย่างไร

“อยากบอกว่าการวินิจฉัยของศาลฯ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ทำให้รัฐมีปัญหาถามว่าแล้วใครร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แต่ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบว่ารัฐมีการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ซึ่งศาลฯแม้จะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจหนึ่งในสามอำนาจที่มีอยู่แต่ก็ไม่เหมือนองค์กรอื่นที่ต้องถ่วงดุล เพราะเราตรวจสอบตามที่องค์กรอื่นเขาออกกฎ กติกามาทั้งนั้น โดยพยายามทำหน้าที่ของเราอย่างเที่ยงธรรมให้ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งถ้าจากสถิติและผลสำรวจความเห็นประชาชนก็จะเห็นว่าประชาชนยังเชื่อมั่นศาลฯ ทั้งที่เขาแพ้คดี”

นายหัสวุฒิยังกล่าวด้วยว่า อยากให้ย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์การจัดตั้งศาลปกครองในรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าทำไมต้องการให้มีศาลปกครองเป็นศาลคู่ ทำไมไม่ให้คดีปกครองไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม และเวลานี้มูลเหตุของปัญหานั้นหมดไปหรือยัง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีผลกระทบถึงองค์กรตุลาการอยากให้ใคร่ครวญให้รอบคอบ เพราะการเปลี่ยนแปลงองค์กรศาลฯที่เป็นองค์กรหลักของประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ

“ในฐานะศาลเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ซึ่งก็คือหลักของประเทศ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมันเป็นเรื่องใหญ่ นักลงทุนต่างชาติเขาจับตาอยู่ว่าขนาดเป็นองค์กรหลักของประเทศยังถูกเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเขาจะมีความเชื่อมั่นในการมาลงทุนในประเทศนี้ได้ยังไง อยากจะฝากให้คิด ส่วนถ้ามันจะไม่เกิดก็เป็นผลดี”

เมื่อถามว่าหมายความว่าถ้าเปลี่ยนแปลงระบบศาลซึ่งเป็นหลักใหญ่ได้ การเปลี่ยนแปลงระบบอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าก็อาจเกิดขึ้นได้ตามมาหรือไม่นั้น นายหัสวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้คิดเอง แต่นักลงทุนคิดมากแน่ อย่างปัญหาอุทกภัยปลายปีที่ผ่านมามันก็บั่นทอนความเชื่อมั่นอยู่แล้ว แล้วถ้าจะมาทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ต้องถามว่าทำไม คิดใคร่ครวญดีแล้วใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายหัสวุฒิเห็นด้วยหากจะมีการเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของตุลาการ ที่จะเข้าไปมีส่วนในการคัดเลือกบุคคลากรในองค์กรอิสระ เพราะมองว่าศาลฯ ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรในองค์กรอิสระอื่นใดเลย เนื่องจากหากมีคดีความเข้ามาจะถูกมองในแง่ความเที่ยงธรรม ที่พูดว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์เป็นความเข้าใจผิด ทางสากลหมายถึงการใช้อำนาจทางตุลาการในการเข้าไปวินิจฉัยคดี ไม่ใช่การเข้าไปเป็นกรรมการแต่งตั้งสรรหา โดยตุลาการที่เข้าไปสรรหาบางคนก็เป็นอดีตตุลาการ ซึ่งไม่ได้เข้าไปใช้อำนาจตุลาการแต่อย่างใด

ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดว่าประธานศาลฎีกาต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภานั้น เห็นว่าในส่วนของตุลาการศาลปกครองผ่านการรับรองจากรัฐสภาอยู่แล้ว และโดยขั้นตอนการถูกตรวจสอบก็ไม่ได้น้อยไปกว่าที่ศาลอื่นใดเลย ตุลาการต้องมีการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และยังถูกถอดถอนโดยมติสภาได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สมัครเข้าไปตุลาการศาลปกครองจำนวนมาก แต่ก็กลับผ่านการคัดสรรน้อย เพราะนอกจากศาลจะยึดว่าตุลาการฯจะต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความยุติธรรมแล้ว ยังมองว่าต้องมีความกล้าหาญเพราะงานที่ทำอยู่อันตรายมาก แต่ไม่มีระบบการคุ้มครองตุลาการใดๆ เลย หากเจ้าของสำนวนถูกขู่แล้วเกิดความกลัว คำวินิจฉัยก็จะเบี่ยงเบนได้

เมื่อถามต่อว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยลดอำนาจของศาลปกครองในการวินิจฉัยคดี เช่นคดีสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 นายหัสวุฒิกล่าวว่า เป็นเรื่องจิตสำนึกของทุกคนว่าจะมีความจริงใจต่อบ้านเมืองหรือไม่ เพราะมาตรา 67 เป็นมาตราที่ป้องกันซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ไม่ใช่มาเน้นในเรื่องมาตรการเยียวยาที่ประเทศเจริญแล้ว เขาไม่ใช้กันแล้ว ดังนั้นจึงต้องถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญ 50 ที่เน้นในเรื่องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินงานของศาลปกครองตลอด 11 ปีนับตั้งแต่เปิดศาลจนถึงวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมามีคดีเข้าสู่การพิจารณารวม 70,921 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 56,050คดี คิดเป็นร้อยละ 80 คงเหลือค้างการพิจารณา 14,871 คิดเป็นร้อยละ 20 ของคดีรับเข้าทั้งหมด ซึ่งศาลฯจะพยายามพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 โดยหน่วยงานที่ถูกฟ้องคดีมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนคดีสิ่งแวดล้อมที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลฯนับแต่เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 2 ส.ค.54-29 ก.พ.ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 413 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาอุทกภัยใน กทม.และปริมณฑล โดยในคดีสิ่งแวดล้อมนี้ศาลมีนโนบายที่จะให้มีการพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่ที่มีการฟ้องคดีเพื่อให้ทันต่อการเยียวยา เพราะคดีสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบเฉพาะคู่กรณีที่ฟ้องคดี แต่ยังมีกระทบต่ออาณาบริเวณโดยรอบของชุมชนหรือพื้นที่ที่มีการฟ้องคดี

นายหัสวุฒิยังกล่าวอีกว่า จากสถิติการฟ้องคดีต่อศาลปกครองมีอัตราเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยพบว่าปี 54มีคดีเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 53 ถึงกว่า 500 คดี สะท้อนว่า ความขัดแย้งในสังคมมีมากขึ้น ประกอบกับการที่ประชาชนตื่นตัวในการปกป้องสิทธิตามกฎหมายของตนเอง ซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในขณะนี้เชื่อว่า ในปีนี้จะมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองมากยิ่งขึ้น ส่วนที่มองว่าคำพิพากษาของศาลปกครองนั้นเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนมากกว่ารัฐ ยืนยันจาก การสำรวจข้อมูลคดีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้วพบว่าคดีที่เอกชนเป็นฝ่ายชนะคดีคิดเป็นร้อยละ 44.42 คดี ขณะที่คดีที่หน่วยรัฐชนะคิดเป็นร้อยละ 44.39 ส่วนอีกร้อยละ 2.38 เป็นการถอนฟ้องระหว่างพิจารณาคดีเนื่องจากคู่กรณีสามารถตกลงกันได้ และร้อยละ 8.81 ศาลสั่งให้คดีสิ้นสุดเนื่องจากเหตุความเดือดร้อนเสียหายหมดสิ้นไป อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เปิดทำการศาลฯ จนปัจจุบัน ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อศาลปกครองพบว่ามีความเชื่อมั่นศาลปกครองอย่างต่อเนื่องโดยในปีที่ผ่านมามีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ91

“คิดว่าการที่ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นศาลฯ มากจากคำพิพากษาของศาลฯนั้นตั้งอยู่บนเพื้นฐานของความถูกต้องเที่ยงธรรม เพราะไม่เช่นนั้นคำพิพากษาก็คงถูกปฏิเสธ จะเห็นได้ว่าที่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อศาลพิพากษาแล้ว ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ เพราะคำพิพากษาเป็นเหตุเป็นผล ทำให้ฝ่ายแพ้ก็เข้าใจว่าทำไมถึงแพ้ ฝ่ายชนะก็จะรู้ว่าทำไมถึงชนะ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเกิดขึ้นกับองค์กร”

สำหรับทิศทางการทำงานของศาลฯในปี 55 เพื่อรองรับการเพิ่มสูงขึ้นของคดีที่จะมีเข้ามานอกจากจะมีการเร่งรัดคดีที่ค้างการพิจารณาอยู่ในแล้วเสร็จ ก็จะมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งตุลาการ และพนักงานคดีให้มีความรอบรู้ เพื่อรองรับกับคดีที่จะมีความซับซ้อน ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนารูปแบบในการให้บริการ เช่น ให้มีการฟ้องคดีด้วยวาจา การไต่สวนและแสวงหาข้อเท็จจริงผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายหัสวุฒิได้มีคำสั่งลงวันที่ 8 มี.ค. 2555 ให้นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานศาลปกครองไปจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองได้มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งนายดิเรกฤทธิ์ เป็นผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.

สำหรับ นายดิเรกฤทธิ์ เคยเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นโอนย้ายมาเป็นพนักงานคดีปกครอง ผอ.นโยบายและแผน สำนักงานศาลปกครอง และรองเลขาธิการ สำนักงานศาลปกครองก่อนที่จะได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานศาลปกครอง

กำลังโหลดความคิดเห็น