xs
xsm
sm
md
lg

โต้การเมืองแทรกระบบยุติธรรมพัง พธม.นัดหารือ10มี.ค.ก่อนเคลื่อนทัพใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปกครองโต้ "วัฒนา" ถามยุบศาลฯแล้วประชาชนได้อะไร ยันการทำงานของศาลฯ ตรวจสอบได้- คดีเยอะ-ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานภาครัฐ ชี้หากการตั้งตุลาการต้องผ่านการสรรหาของฝ่ายการเมืองจะทำระบบยุติธรรมเสียหาย ด้านผู้ตรวจฯ รธน. ตั้ง "นรนิติ" ปธ.ที่ปรึกษาแก้รธน. ฉบับผู้ตรวจฯ คาดทำงานเสร็จภายใน 1-2 เดือน ด้าน“วิษณุ” แจงแค่จัดทำข้อเสนอแนะ ไม่มีหน้าที่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ "ปู" บอกไม่แก้หมด คงหมวดพระมหากษัตริย์ไว้ ด้านกมธ.แก้ไขรธน. เลือก "สามารถ แก้วมีชัย" เป็นประธาน ส่วนพันธมิตรฯ นัดหารือแกนนำ 10 มี.ค. ประเมินสถานการณ์ก่อนเคลื่อนทัพใหญ่

วานนี้ ( 29 ก.พ.) ทีมโฆษกศาลปกครองกลาง นำโดย นายไพโรจน์ มินเด็น น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ และนายวชิระ ชอบแต่ง แถลงข่าวกรณี นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยุบศาลปกครองไปเป็นรวมเป็นแผนกหนึ่ง ในศาลฎีกา โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจว่าจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขมีการดำเนินการอย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เป็นเรื่องอนาคตว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง

แต่ทั้งนี้การแก้ไขประเด็นสำคัญคือ จะต้องบอกที่มาที่ไปว่าเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาใด และแก้ปัญหาองค์กรนั้นได้จริงหรือไม่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ศาลฯไม่ได้วิตกกังวลกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เพราะก็ยังไม่รู้ถึงเหตุผลที่แท้จริง หากจะมองว่าองค์กรศาลถูกตรวจสอบไม่ได้ ก็เห็นว่าไม่จริง โดยเฉพาะศาลปกครอง เรามีกระบวนการตรวจสอบมาก เนื่องจากการทำงานเป็นรูปขององค์คณะตุลาการ แต่ละคนตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว เวลาวินิจฉัยคดี และการวินิจฉัยคดีของแต่ละองค์คณะ ก็จะถูกถ่วงดุลโดยตุลาการผู้แถลงคดี เมื่อศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัย หากผู้ฟ้องคดี หรือผู้ถูกฟ้องไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ อีกทั้งคำพิพากษา ก็ลงในราชกิจจานุเบกษา สามารถให้ประชาชนเข้าตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการได้ ขณะที่ในส่วนตัวของตุลาการ ก็จะมีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ กศป. ซึ่งมีวุฒิสภาร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ ให้อยู่ในจริยธรรม ดูแลในเรื่องวินัยต่างๆ ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ยุติธรรม ยังต้องอยู่ใต้ประมวลกฎหมายอาญา หมวดว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ยุติธรรม มาตรา 201 และ 202 ซึ่งจะมีโทษสูงกว่าข้าราชการปกติ

" ถ้าจะยุบเลิกโดยมาจากเหตุผลนี้ หรือจะแก้ไขในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการโดยให้ต้องผ่านการสรรหาของฝ่ายการเมือง อันนี้สำคัญ เพราะจะแก้ไขอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ให้องค์กรใด หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาแทรกแซงการทำงานตุลาการได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้ระบบยุติธรรมเสียหาย ความยุติธรรมไม่เกิดแน่นอน" นายไพโรจน์ กล่าว

ส่วนที่มองว่าปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง มีจำนวนน้อย จึงควรยุบรวมเป็นแผนกในศาลฎีกา ก็ขอยืนยันว่า คดีที่เข้าสู่ศาลฯ มีปริมาณมาก ปีละ 6-7 พันคดี ซึ่งตลอดเวลา 11 ปี ของการมีศาลปกครอง ก็ได้พิจารณาคดีแล้วเสร็จไปกว่า 7 หมื่นคดี และทุกวันนี้ ก็ยังมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับที่ว่า การพิจารณาคดีของศาลฯ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐนั้น อยากทำความเข้าใจว่า การพิจารณาของศาล ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ซึ่งไม่เสมอไปที่ศาลจะมีคำพิพากษาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายประชาชน หรือเอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดี โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลปกครองให้เป็นนโยบายกับตุลาการทุกองค์คณะว่า จะมีมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ต้องมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1 . คำสั่งของรัฐที่ผู้ฟ้องๆ นั้นต้องมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. ความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง หากศาลไม่มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว 3 . การออกคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ หรือบริการสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมา ถ้าองค์คณะไม่สามารถตอบเงื่อนไขได้ทั้ง 3 ข้อ ก็จะไม่มีการออกคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

" ศาลฯก็ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหรืออะไร เพราะศาลก็ไม่ชัดเจนว่าเหตุผลในการที่เสนอยุบ มาจากอะไร ปัญหาเบื้องลึกเบื้องหลังจริงๆ ที่ทำให้คิดจะยุบ คืออะไร ก็อยากให้สื่อช่วยติดตาม แต่ทั้งนี้ศาลฯ ก็ไม่เคยหวั่นไหว เพราะศาลฯไม่คิดว่าศาลฯ ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่คิดว่าเราช่วยแก้ไขปัญหามากกว่า ที่พูดกันว่าศาลฯเป็นฝ่ายบริหารนั้น ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนที่เข้าไปเยียวยาทุกข์ เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เราก็จะทำหน้าที่ของเราต่อไป เพื่อพิสูจน์กับประชาชนว่า เรามีบทบาทสำคัญที่จะสามารถคุ้มครองประชาชนได้" โฆษก ศาลปกครอง กล่าว

** ผู้ตรวจฯประชุม10 กูรูด้านรธน.

วานนี้ ( 29 ก.พ.) คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นประธาน ได้เชิญประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คน เป็นครั้งแรก

หลังการประชุมนางผาณิต แถลงว่า ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาฯ มีมติเลือก นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโฆษก

นายวิษณุ แถลงถึงการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯว่า จะทำงานตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ( 3) ได้ให้อำนาจผู้ตรวจฯ เกี่ยวกับการติดตามประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะ ในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งเบื้องต้นสำนักติดตามประเมินปผลการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการรวบรวมประเด็นรัฐธรรมนูญที่สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรมีการแก้ไขไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีการทำในลักษณะข้อเสนอแนะว่า ควรจะแก้ไขอย่างไร ทางคณะที่ปรึกษาก็จะนำประเด็นที่มีการรวบรวมไว้มาศึกษาพิจารณา และไม่ละเลยประเด็นที่สาธารณชนพูดถึง

" ในเมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้ตรวจติดตาม ประเมินผล จัดทำข้อเสนอ และเสนอแก้ไขในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น ซึ่งการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯ ก็จะทำทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน แต่จะเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นกรณีการแก้ไขมาตรา 291 ที่จะเป็นข้อเสนอในเชิงวิชาการ ว่าในทางทฤษฎีแล้วการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีเหตุอย่างไร โดยจะยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ปี 2549 และ ปี 2550 มาเป็นหลักพิจารณา

ขณะเดียวกันทราบว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญของรัฐสภา กำลังมีการพิจารณากันอยู่ คณะที่ปรึกษาก็อาจจะมีข้อเสนอว่า หากจะแก้ไขมาตรานั้น มาตรานี้ เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน มีการวิจารณ์กันอย่างไร การใช้มีปัญหาอย่างไร ถ้าจะควร จะแก้ไขให้เป็นอย่างไร ซึ่งการทำงานตรงนี้เชื่อว่า จะเสร็จภายใน 1-2 เดือน หรือเสร็จก่อนการทำงานของ ส.ส.ร. ที่จะเกิดขึ้นแน่ เพราะเราไม่ได้ยกขึ้นมาทุกมาตรา หรือ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไปแข่งขันกับ ส.ส.ร. เพราะไม่ใช่หน้าที่"

นายวิษณุ ยังกล่าวด้วยว่า ในการพิจารณาประเด็นรัฐธรรมนูญที่ควรมีการแก้ไข ความเห็นของที่ปรึกษาในแต่ละประเด็นเป็นอย่างไร ก็จะรวมใส่ไว้ในรายงานทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม

ดังนั้น จึงไม่ต้องมากังวลว่า คณะที่ปรึกษานี้จะทำงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ รวมทั้งอย่ามองว่า การทำงานของคณะที่ปรึกษาฯนี้ จะกลายเป็นการไปคอนโทรล หรือกำหนดประเด็นให้กรรมาธิการฯ ของรัฐสภา และ ส.ส.ร. ต้องมาเดินตาม เพราะเมื่อทำงานเสร็จคณะที่ปรึกษาส่งรายงานให้ผู้ตรวจฯแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจฯ ที่จะพิจารณาว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอคณะที่ปรึกษาในประเด็นใด และสมควรที่จะส่งข้อเสนอนั้นไปยังรัฐสภา หรือสาธารณชนหรือไม่อย่างไร หรือ จะไม่เห็นด้วยเลยก็ได้

ทั้งนี้นายวิษณุ ยังระบุว่าด้วยว่า เพื่อให้การทำงานเป็นอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นคณะที่ปรึกษา จึงตกลงที่จะประชุมทุกสัปดาห์ และนัดครั้งต่อไปในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 16.00 น.

** ส.ต่อต้านโลกร้อนค้านยุบศาลฯ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านแนวคิดยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า ในฐานะองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ที่ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานภาครัฐ และนักการเมืองชั่ว ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และขอต่อต้านจนถึงที่สุด เพราะถือว่าเป็นแนวคิดล้าหลัง ถอยหลังเข้าคลอง และน่าจะมีเป้าหมายทำลายกระบวนการยุติธรรม หรือระบบนิติรัฐ ที่ตนเองไม่สามารถครอบงำได้ เพื่อเสริมพวกชอบใช้เผด็จการทางอำนาจของนักการเมือง และฝ่ายปกครอง ที่ถือเสียงข้างมาก หรือพวกมากลากไป ที่ชอบใช้อำนาจเหนือประชาชน ทั้งๆที่ควรเป็นผู้รับใช้ประชาชน

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เป็นระบบศาลคู่ คือ ศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง ศาลอาญา ฯลฯ) และศาลปกครอง ซี่งมีกระบวนวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยที่ศาลยุติธรรมใช้ “ระบบกล่าวหา” นั่นคือ ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นต้องนำสืบ โดยมีทนายความ หรืออัยการเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีทางศาลให้กับคู่ความ

ส่วนศาลปกครอง เป็น “ระบบไต่สวน” ซึ่งศาลสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยวิธีของศาลเอง เพราะตุลาการจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่กว้างขวาง ช่วยลดภาระและความแตกต่างเชิงอำนาจระหว่างประชาชนผู้ถูกกระทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีทั้งอำนาจ ข้อมูล บุคลากร และงบประมาณ ที่อยู่เหนือประชาชนทุกช่องทางได้

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรสูงสุดในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาท หรือความชอบของบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอยู่เหนือการครอบงำของนักการเมือง มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาเป็นตุลาการเหมือนในอดีต เพราะคำวินิจฉัยจะต้องผู้พันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เพราะถือเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดของประเทศ

ดังนั้น นักการเมืองที่เสนอยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะมิใช่นักการเมือง ตามความหมายในทางรัฐศาสตร์ หรือนักการเมืองในอุตมรัฐของสังคม แต่น่าที่จะเป็นนักกินเมือง ที่ชอบที่จะหาหนทางที่จะไซฟ่อน หรือบ่อนทำลาย กระบวนการยุติธรรมให้อ่อนแอ เพราะตน และพวกไม่สามารถครอบงำได้ เพื่อที่ตน และพวกพ้องจะได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปแทรกแซง ครอบงำระบบของสังคม เพื่อหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ หรือคอร์รัปชันทางอำนาจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตน และพวกพ้อง ผ่านโครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ บนคราบน้ำตาประชาชน โดยการถลุงเงินงบประมาณ ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนโดยมิต้องมีผู้ใด หรือองค์กรใดมาขัดขวาง โดยเฉพาะกับเรื่องเงินใต้โต๊ะ หรือเงินทอน 20-30 %

ทั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศ ออกมาแสดงพลังขับไสไล่ส่ง นักการเมืองและพรรคการเมือง ที่เสนอแนวคิดดังกล่าวให้สิ้นไปจากสังคมไทย โดยไม่เลือกบุคคล และพรรคการเมืองที่มีแนวคิดหรือสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นนักการเมืองที่มุ่งทำลาย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพทางศาล และองค์กรอิสระ ที่เป็นระบบคุ้มครองสิทธิของประชาชน

**"ปู"บอกจะไม่แก้ทั้งหมด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายมองว่า อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ว่า ในส่วนของรัฐบาลนั้น ครม.เห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนเนื้อหา เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะคัดเลือกตัวแทนจากภาคประชาชน แล้วเข้ามาถกเถียงกันในเนื้อหาสาระอีกครั้ง

ส่วนที่มีส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการยกเลิกองค์กรศาล และองค์กรอิสระอื่นๆ นั้น จริงๆ แล้วเนื้อหาอยู่ที่กระบวนการของส.ส.ร. ที่จะเป็นผู้พิจารณา

" แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของดิฉัน เราไม่ควรจะแก้ทั้งฉบับ ที่สำคัญต้องคงไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า เห็นทางพรรคเพื่อไทย มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เตะต้องสถาบันฯ และจะรณรงค์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ เห็นว่าเป็นมติของพรรค ซึ่งเป็นเรื่องของทางพรรคที่จะแถลง แต่สำหรับจุดยืนของตนเอง เห็นด้วยว่าไม่ควรจะแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนที่มีข้อเสนอให้มีการเพิ่มส.ส.ร.เป็น 150 คนนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสภาฯ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ให้ตรวจสอบจริยธรรมนายกฯ กรณี ว. 5 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังผู้ตรวจการ อย่างไรก็ตาม นายกฯ ไม่ยอมตอบคำถาม ว่าจะไปตอบกระทู้สด ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นต่อสภาในเรื่องนี้หรือไม่

** "เหลิม"เมินเพิ่มส.ส.ร.เป็น150 คน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวน ส.ส.ร. เป็น 150 คน ว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมรัฐสภา แต่ตนยังคิดว่า ส.ส.ร.เลือกตั้ง 77 คนนั้น เหมาะสม เพราะเป็นตัวแทนแต่ละจังหวัด และนักวิชาการอีก 22 คน เป็น 99 คน หากมากไปก็ไม่กระทัดรัด น้อยไปก็ไม่เหมาะสม อย่างเมื่อตอนแก้ไขรัฐธรรมนุญปี 2540 มีส.ส.ร. 99 คน สามารถทำงานได้เร็ว ซึ่งความคิดเรื่องนี้ ตนว่าพอได้แล้ว

นอกจากนี้ ตนยังคิดว่า กรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 180 วัน ถือว่าไม่เร็ว ที่ช้านิดนึงเพราะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว เปิดประชุมสภาได้ จำนวน 180 วัน ก็พอแล้ว ตนว่า กำลังดี

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ปลุกระดมให้คนออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองนายกฯ กล่าวว่า จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ ใจร้อนไป ยังไม่ทันทำอะไรเลย กรรมาธิการยังตรวจสอบ มาตรา 291 อีก 17 ประเด็น ยังไม่เสร็จ ส.ส.ร. ก็ยังไม่ได้เลือก และยังไม่รู้ว่า ส.ส.ร. จะร่างอย่างไร แล้วมาปลุกระดมให้คนต่อต้านเรื่องอะไร

นอกจากนี้ ใครก็ตามที่พูดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเพื่อคนคนเดียวนั้น คิดผิด เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายที่จะไปปลดปล่อยอะไรได้

**"สามารถ"นั่งประธานกมธ.แก้ไขรธน.

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (29 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..รัฐสภา นัดแรกโดยมีนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว โดยที่ประชุมมีมติเลือกนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยนายสามารถ กล่าวภายหลังขึ้นทำหน้าที่ประธานว่า แนวทางการทำงานของกรรมาธิการ จะต้องมีความชัดเจน โดยข้อสรุปแต่ละมาตราที่กรรมาธิการพิจารณาไป ต้องเป็นเรื่องที่อธิบายต่อสาธารณะได้ ถึงที่มาที่ไป ให้มีความชัดเจน

จากนั้น ที่ประชุมพิจารณากำหนดตำแหน่งในกรรมาธิการ โดยพรรคเพื่อไทย เสนอให้มีรองประธาน 4 คน โดยให้เหตุผลว่า การทำงานของกรรมาธิการมีมาก จำเป็นต้องมีรองประธานหลานคน ขณะที่กรรมาธิการฝ่ายพรรคประชธิปัตย์ เสนอให้มีกรรมาธิการ 3 คน มาจากตัวแทนของ ส.ส.ฝ่ายค้าน , ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ในที่สุดกรรมาธิการของฝ่ายค้านไม่ติดใจ ที่ประชุมจึงกำหนดให้มีรองประธานจำนวน 4 คน

อย่างไรก็ดี ในการเสนอชื่อรองประธานกรรมาธิการ คนที่ 1 มีความเห็นไม่ตรงกัน เมื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธปิตย์ เสนอชื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี เสนอ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อประธานจะให้ลงมติที่ประชุมเห็นว่า น่าจะมีการพูดจากตกลงกันได้ ไม่จำเป็นต้องมีการลงมติในการประชุมครั้งแรก

ขณะที่ นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เสนอว่า เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ส.ว.เสนอที่จะเป็นรองประธานกรรมาธิการ ในที่สุดผู้เสนอรายชื่อทั้งสองฝ่าย ยินดีถอนชื่อ โดยนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เสนอ นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐม เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง

จากนั้น ที่ประชุมพิจารณาเลือกรองประธานกรรมาธิการคนที่สอง ซึ่ง นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่สอง เมื่อเสนอแล้วประธานได้ถามว่า จะมีการเสนอชื่อใครหรือไม่ เมื่อไม่มีใครเสนอ นายสามารถ จึงขานว่า นานพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองประธานคนที่สอง ขณะที่นายวิชาญ มีชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กลับเสนอชื่อ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่สอง ที่ประชุมจึงเกิดการทักท้วง โดยกรรมาธิการฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าประธานได้วินิจฉัยแล้ว ขณะที่กรรมาธิการฝั่งพรรคเพื่อไทยยืนกรานที่จะเสนอนายพีระพันธุ์ พาลุสุข อย่างไรก็ดีในที่สุดนายสุนัย ยอมให้ถอนชื่อนายพีระพันธุ์ พาลุสุข โดยเสนอให้เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่สามแทน จากนั้นที่ประชุมได้เลือก นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานกรรมาธการคนที่สี่

จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ และ ให้นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง , นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณูโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง และให้นายเชิดชัย ตันตติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนที่สาม และนายอโณทัย รอดมุ้ย นิติกรเชี่ยวชาญพิเศษ เป็นผูช่วยเลขานุการคนที่สี่

ที่ประชุมยังได้เลือก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ,นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร , นายธนา ชีวรวินิจ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ,นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังชล เป็นโฆษกรรมาธิการ ที่ประชุมได้เสนอตำแหน่งที่ปรึกษากรรมาธการ โดยที่ประชุมเห็นว่า ควรมีที่ปรึกษามาจากทุกพรรคการเมือง มาเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ โดยที่ประชุมเสนอชื่อ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา , นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ,พลเอกชูชาติ สุขสงวน ส.ว.สรรหา , นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ,นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ในส่วนของตัวแทนภาคประชาชน ที่ประชุมมีความเห็นให้แจ้งคณะภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างละ 1 คน โดยให้ภาคประชาชนพิจารณาว่าสมควรส่งใครมาเป็นที่ปรึกษา

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร เสนอให้เชิญ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และ 2550 (นายนรนิติ เศรษฐบุตร ) รวมถึงเชิญตัวแทนของภาคประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นที่ปรึกษาด้วย อย่างไรก็ดีนายสามารถ ท้วงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนให้มีสสร.ก่อนยังไม่ถึงขั้นที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการไม่ขัดข้องที่จะเชิญอดีตประธานสสร.มาเป็นที่ปรึกษา โดยตนจะทำหนังสือเชิญไปยังอดีตประธานทั้งสองคน ส่วนประเด็นที่ปรึกษาที่มาจากภายนอกขอให้แขวนไว้ก่อนโดยจะนำมาพิจารณาอีกครั้งในภายหลัง

ที่ประชุมยังได้กำหนดกรอบเวลาการทำงาน โดยให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น. โดยให้เริ่มประชุมนัดต่อไปในวันที่ 1 มี.ค. ทั้งนี้ให้การประชุมเป็นการประชุมโดยปกติโดยให้สื่อมวลชนสามารถฟังการประชุมได้ตลอดเวลา โดยให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภา

***พธม.หารือ 10 มี.ค.ก่อนเคลื่อนทัพ ***

วานนี้ (29 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพตส์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าพันธมิตรฯจะจัดประชุมแกนนำ เพื่อกำหนดท่าทีต่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ลุมพินีสถาน ( อาคารลีลาศ ) สวนลุมพินี ในเช้าวันเสาร์ที่ 10 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. จึงขอเรียนเชิญท่านที่สนใจ มาร่วมประชุมในวันและเวลาดังกล่าว

ในวันเดียวกันนี้ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ รายการอินไซด์ไทยแลนด์ เจาะลึกประเทศไทย ได้สัมภาษณ์นายปานเทพ ถึงการประชุมแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อกำหนดท่าทีเกี่ยวกับคัดค้านขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 มี.ค.นี้ว่า ในวันดังกล่าวเป็นเพียงการประชุมของแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อกำหนดท่าทีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการนัดการชุมนุม แต่อย่างใด โดยการประชุมดังกล่าว จะเป็นการระดมความคิดเห็นจากภาคแกนนำประชาชน ผู้ประสานงาน และตัวแทน เพื่อหาข้อสรุปการเคลื่อนไหวต่อไป

เมื่อถามว่า คิดว่าสถานการณ์ในขณะนี้ มีความสุกงอมที่จะออกมาเคลื่อนไหวแล้วใช่หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า หากเราดูจากผลการสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่กว่า 80 % ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ประชาชนส่วนใหญ่กำลังรอดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไข ความอันตรายมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงทำให้ยังไม่เกิดการความเคลื่อนไหวในการคัดค้านที่ชัดเจน ซึ่งการที่จะมีการกำหนดออกมาเคลื่อนไหวช่วงเวลาไหน เวลาใดนั้น คงจะต้องรอช่วงเวลา และเนื้อสาระที่จะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น