xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกศาล ปค.ถามเจตนารมณ์ “วัฒนา” เสนอยุบ ขวางแทรกแต่งตั้งตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกสำนักงานศาลปกครองสูงสุด แถลงจุดยืนในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครอง
ทีมโฆษกศาลปกครอง แถลงการณ์โต้ข้อเสนอ “วัฒนา” แก้ รธน.ยุบรวมศาลปกครองขึ้นตรงต่อศาลฎีกา ยืนยันศาลปกครองตรวจสอบได้-ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ข้อเสนอ ขวางบุคคลภายนอกแทรกแซงการแต่งตั้งตุลาการ เชื่อส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมแน่

วันนี้ (29 ก.พ.) ทีมโฆษกศาลปกครองกลาง นำโดย นายไพโรจน์ มินเด็น น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ และนายวชิระ ชอบแต่ง ได้แถลงข่าวกรณีนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ยุบศาลปกครองไปเป็นรวมแป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา โดยนายไพโรจน์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจว่าจะดำเนินการอย่างไร เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขมีการดำเนินการอย่างถูกต้องอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เป็นเรื่องอนาคตว่าจะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง แต่ทั้งนี้การแก้ไขประเด็นสำคัญคือจะต้องบอกที่มาที่ไปว่าเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาใด และแก้ปัญหาองค์กรนั้นได้จริงหรือไม่ ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร

นายไพโรจน์ยังกล่าวอีกว่า ศาลฯไม่ได้วิตกกังวลต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เพราะก็ยังไม่รู้ถึงเหตุผลที่แท้จริง หากจะมองว่าองค์กรศาลถูกตรวจสอบไม่ได้ก็เห็นว่าไม่จริง โดยเฉพาะศาลปกครองเรามีกระบวนการตรวจสอบมาก เนื่องจากการทำงานเป็นรูปขององค์คณะตุลาการ แต่ละคนตรวจสอบกันเองอยู่แล้วเวลาวินิจฉัยคดี และการวินิจฉัยคดีของแต่ละองค์คณะก็จะถูกถ่วงดุลโดยตุลาการผู้แถลงคดี เมื่อศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัย หากผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้อง ไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ อีกทั้งคำพิพากษาก็ลงในราชกิจจานุเบกษาสามารถให้ประชาชนเข้าตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการได้ ขณะที่ในส่วนตัวของตุลาการก็จะมีคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ กศป. ซึ่งมีวุฒิสภาร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการให้อยู่ในจริยธรรม ดูแลในเรื่องวินัยต่างๆ ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ยุติธรรมยังต้องอยู่ใต้ประมวลกฎหมายอาญา หมวดว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ยุติธรรมมาตรา 201 และ 202 ซึ่งจะมีโทษสูงกว่าข้าราชการปกติ

“ถ้าจะยุบเลิกโดยมาจากเหตุผลนี้ หรือจะแก้ไขในเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการโดยให้ต้องผ่านการสรรหาของฝ่ายการเมือง อันนี้สำคัญ เพราะจะแก้ไขอย่างไรก็ตามต้องไม่ให้องค์กรใด หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้ามาแทรกแซงการทำงานตุลาการได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้ระบบยุติธรรมเสียหาย ความยุติธรรมไม่เกิดแน่นอน”

ส่วนที่มองว่าปริมาณคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองมีจำนวนน้อย จึงควรยุบรวมเป็นแผนกในศาลฎีกา ก็ขอยืนยันว่า คดีที่เข้าสู่ศาลฯ มีปริมาณมาก ปีละ 6-7 พันคดี ซึ่งตลอดเวลา 11 ปีของการมีศาลปกครอง ก็ได้พิจารณาคดีแล้วเสร็จไปกว่า 7 หมื่นคดี และทุกวันนี้ก็ยังมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอย่างต่อเนื่อง สำหรับที่ว่าการพิจารณาคดีของศาลเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐนั้น อยากทำความเข้าใจว่า การพิจารณาของขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ซึ่งไม่เสมอไปที่ศาลจะมีคำพิพากษาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายประชาชนหรือเอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดี โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลปกครองให้เป็นนโยบายกับตุลาการทุกองค์คณะว่าจะมีมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต้องมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1. คำสั่งของรัฐที่ผู้ฟ้องๆ นั้นต้องมีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2. ความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลังหากศาลไม่มีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

และ 3. การออกคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ หรือบริการสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาถ้าองค์คณะไม่สามารถตอบเงื่อนไขได้ทั้ง 3 ข้อก็จะไม่มีการออกคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว

“ศาลฯ ก็ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาหรืออะไร เพราะศาลก็ไม่ชัดเจนว่าเหตุผลในการที่เสนอยุบมาจากอะไร ปัญหาเบื้องลึกเบื้องหลังจริงที่ทำให้คิดจะยุบคืออะไร ก็อยากให้สื่อช่วยติดตาม แต่ทั้งนี้ศาลฯ ก็ไม่เคยหวั่นไหว เพราะศาลฯ ไม่คิดว่าศาลฯ ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่คิดว่าเราช่วยแก้ไขปัญหามากกว่า ที่พูดกันว่าศาลฯเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนที่เข้าไปเยียวยาทุกข์ เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เราก็จะทำหน้าที่ของเราต่อไป เพื่อพิสูจน์กับประชาชนว่าเรามีบทบาทสำคัญที่จะสามารถคุ้มครองประชาชนได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น