“ก.บ.ศ.” ตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 ในประเด็นตรวจสอบอำนาจศาลยุติธรรม
วันนี้ (28 ก.พ.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้สามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายตุลาการได้ว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ.ตั้งขึ้น เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะอำนาจของศาลยุติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมีประเด็นใดบ้างที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจกับศาลมากเกินไป โดยคณะกรรมการอาจมีความเห็นเสนอให้ตัดออกไป ส่วนอำนาจใดที่จำเป็นจะต้องคงไว้ก็จะเสนอให้คงไว้ ซึ่งสรุปคือพิจารณาเพียงว่าศาลจะต้องมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง โดยไม่ควรมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกำลังศึกษาอยู่ แต่ไม่ได้นำความเห็นของกลุ่มต่างๆ มาพิจารณา
“เรื่องการตรวจสอบพูดกันยากจะตรวจสอบศาลเรื่องอะไร ศาลถูกตรวจสอบอยู่แล้ว เรื่องการตัดสินคดีโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายก็มีศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ส่วนเรื่องการให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และข้อบังคับประธานศาลฎีกา การแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาก็มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มีตัวแทนที่วุฒิสภาส่งมาเข้าร่วมเป็นกรรมการ หากศาลทำอะไรไม่ถูกต้องตัวแทนทั้งสองต้องนำไปบอกวุฒิสภาอยู่แล้ว” นายสิทธิศักดิ์กล่าว
โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ ส.ส.ร.ชุดนั้นต้องการเห็นคดีที่นักการเมืองกระทำผิด หรือทุจริตต้องพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว แต่ภายหลังได้มีการแก้ไขกฎหมายให้คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่