xs
xsm
sm
md
lg

ซัดพท.ทำสัตยาบันแก้รธน. อุ้ม"นช.ทักษิณ" ยุบศาลปค.ทำลายความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-นักวิชาการ ซัด เพื่อไทย เสนอ ทำสัตยาบันแก้รธน. แค่โยนหินถามทาง “มาร์ค” ค้านหวั่นปากว่าตาขยิบ ประธานศาลปกครองชี้ ยุบแล้ว! ระวังกระทบเชื่อมั่นนักลงทุน “ปู”อ้างสื่อนอก "การเมืองไทยเข้าสู่การปรองดอง เหลิมบอกมี"เซอร์ไพร์"พา"แม้ว"กลับ เพื่อนซี้รับปลายปีบรรยากาศการเมืองดี กลับแน่!

ช่วงค่ำวันที่ 7 มี.ค. ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยขณะนี้ เข้าสู่ภาวะปกติ และรัฐบาลกำลังเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรองดองแห่งชาติ

**“เหลิม” มี"เซอร์ไพร์"พา"แม้ว"กลับ

ขณะที่วานนี้(8มี.ค.55) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกกับสื่อต่างประเทศ ว่าจะกลับประเทศไทยในเร็วๆนี้ ว่าจะมีวิธีการใดที่จะกลับมาได้บ้าง ว่า มีแต่ยังไม่บอก เดี๋ยวจะไม่เซอร์ไพร์ ไม่ตื่นเต้น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำสิ่งที่กฎหมายห้าม

**"ธวัช"เพื่อนซี้"แม้ว"เชื่อได้กลับบ้าน

พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รักษาการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้ เพราะเท่าที่ดูจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ถือว่ายังไปได้อยู่
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ระยะเวลาที่พ.ต.ท.ทักษิณระบุในปลายปีนี้คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือช้าไปเร็วไปหรือไม่ พล.ต.ต.ธวัช กล่าวว่า ถ้าในปลายปีนี้บรรยากาศทางการเมืองเป็นไปได้ดีก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมและสมควร

** เย้ย แค่ขบวนการเชลียร์นาย

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นความพยายามของร.ต.อ.เฉลิมที่จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการเชลียร์เดินเกมทางการเมืองเพื่อเอาใจพ.ต.ท.ทักษิณ ที่สถานะทางการเมืองของตนเองภายในพรรคอยู่ในภาวะง่อนแง่น
การที่สื่อมวลชนต่างประเทศสำนักข่าว บลูมเบิร์กตั้งคำถามต่อพ.ต.ท.ทักษิณว่ายอมติดคุกเพื่อแลกกับการกลับมาประเทศหรือไม่ ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณกลับปฏิเสธยืนกระต่ายขาเดียวว่าตัวเองไม่มีความผิด แสดงให้เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณยังไม่สำนึกในความผิดชอบตนเองและไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

**"มาร์ค"ยังไม่เห็นรายงานพระปกเกล้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงกรณีที่สถาบันพระปกเกล้า ได้นำเสนอร่างรายงานการวิจัย 6 แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อ กมธ. ปรองดอง ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้เห็นรายงานที่เป็นทางการของทางสถาบันพระปกเกล้า ซึ่ง กมธ. คงต้องพิจารณาเรื่องนี้ก่อน แต่ประเด็นเหล่านี้ ยังไม่เป็นข้อยุติที่ชัดเจน ซึ่งตนเห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ศึกษากรณีความขัดแย้งในหลายประเทศแล้ว แนวทางที่พูดออกมาก็เป็นแนวทางหลักๆ ที่มีการใช้กัน เช่น ทำอย่างไรถึงจะมีการคลี่คลายโดยกระบวนการยุติธรรม โดยมีการเสนอให้นิรโทษกรรม แต่การนิรโทษกรรมก็มีขีดวงขอบเขตว่าแค่ไหน อย่างไร และกรณีที่เห็นชัดว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเช่นการฝ่าฝืนพ.ร.ก. ในขณะนั้นอาจจะอะลุ่มอล่วยให้มีการนิรโทษกรรมได้ แต่ถ้านิรโทษกรรมรวมไปถึงอาญาคงไม่น่าจะใช่ ไม่น่าจะเข้าข่าย เพราะจะเป็นปัญหาเดิมที่วนเวียนตรงนี้อยู่ ดังนั้นคงต้องรอรายงานที่เป็นทางการแล้วก็ให้ทาง กมธ.ได้มีโอกาสพิจารณาด้วย

**เคารพ 25 ล้านเสียงที่ไม่เลือกเพื่อไทย

ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ พูดที่เกาหลีใต้ว่าคนไทย 66 ล้านสนับสนุนการแก้ไขรธน. และอยากกลับบ้านในปีนี้นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้บ่งบอกหลายอย่าง และพ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย

“การพูดบางเรื่องก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้เป็นไปตามข้อเท็จจริง 66 ล้านคนไม่รู้นับยังไง คุณทักษิณมีสิทธิดีกว่าประชาชนอื่นๆ อย่างไร กลุ่มคนเสื้อแดงที่คุณทักษิณได้ชักชวนให้มาต่อสู้เพื่อเรื่องนั้น เรื่องนี้ รวมทั้งเพื่อตัวคุณทักษิณด้วย ไปให้คำมั่นสัญญาประกาศว่าจะมานำเขาในการเคลื่อนไหว สุดท้ายหลายคนไปทำผิดกฎหมายแล้วถูกดำเนินคดี เขาก็ต้องรับสิ่ง ผมว่าตรงนี้น่าจะย้อนกลับไปวันที่คนระดับโลกที่เป็นที่ปรึกษาของ คอป. เขามา ก็เคยมีการพูดถึงว่า คุณทักษิณจะตัดสินใจได้หรือยังว่า ตกลงแล้วจะเดินหน้าประเทศ หรือเอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อวานนี้ก็เป็นการบ่งบอกว่าคุณทักษิณก็ยังยึดตัวเองเป็นใหญ่ ใหญ่กว่าศาล ใหญ่กว่าคนอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งไม่เป็นการเอื้อให้เกิดการปรองดอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**หวังพลังทางสังคม ถ่วงดุลย์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ช่องทางที่ดีที่สุดในการปรองดองของประเทศไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ สามารถกลับประเทศได้ คือการที่ พ.ต.ท.ทักษิณยอมรับผิดตามกฎหมายก่อน แล้วจะให้มีการดำเนินการอภัยโทษอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เพราะสิ่งที่สำคัญก็คือ อยากเห็นความปรองดอง

“แต่เราก็ต้องมีบรรทัดฐานของสังคม พูดไปพูดมาบางคนก็บอกว่า สรุปที่ยังไม่สงบ เพราะคุณทักษิณยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ สรุปก็เหมือนกับว่าประเทศนี้ต้องหมุนตามความต้องการของคุณทักษิณมันก็เป็นเรื่องแปลก แล้วถ้าเกิดเป็นอย่างนี้ได้ ต่อไปก็ไม่มีกติกา ใครมามีอำนาจรัฐ ใครมีอิทธิพล จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นด้วยความที่มีเสียงสนับสนุน จะด้วยความที่มีสตางค์หรือมีอำนาจ ไม่ว่าทำผิดเป็นถูก ให้คนถูกเป็นผิดได้ วันข้างหน้าก็จะทำให้สังคมรุนแรงขึ้นขัดแย้งขึ้น เพราะทุกคนก็จะมองว่า ขอให้ช่วงชิงชนะได้อำนาจ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าพอได้มาแล้วก็ทำให้สิ่งผิดเป็นสิ่งถูกได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**พระปกเกล้ายันไม่มุ่งนำใครกลับปท.

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวยืนยันว่าจุดยืนของสถาบันพระปกเกล้า มีความเป็นกลางและไม่ได้มุ่งหมายที่จะนำใครคนหนึ่งคนใดกลับประเทศแน่นอน นอกจากนี้ ข้อเสนอในระยะสั้น ทางสถาบันมีทางเลือกให้ ยกตัวอย่างเช่นข้อเสนอการนิรโทษกรรม ที่จะมีทางเลือกให้หลายๆ ทาง เช่น อาจจะเป็นตัวเลือกที่ 1. ล้มล้างความผิดทั้งหมด หรือ 2. เว้นการพิจารณาคดีเป็นบางกรณี หรือ 3. เปลี่ยนการพิจารณาคดีให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นการล้างความผิดให้กับบุคคลที่กระทำความผิดไปทั้งหมดแต่อย่างใด แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมาธิการปรองดองเองว่าจะเลือกแนวทางใด

ส่วนในระยะยาวจะมีการเสนอให้มีการส่งเสริมบรรยากาศการปรองดอง โดยการให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมือง ให้มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการสร้างความปรองดองแห่งชาติโดยเร็วที่สุด ให้รัฐบาลสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เห็นว่าการสร้างความปรองดองแห่งชาติมีความสำคัญยิ่ง และให้รัฐบาลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปของตัวเงินและความรู้สึก และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ให้ทุกฝ่ายงดเว้นการกระทำที่ทำให้คนรู้สึกว่า สังคมไม่เคารพกฎหมายและนิติรัฐ เช่น การนำมวลชนออกมากดดันต่อเรื่องต่างๆ

** สามารถเสนอลงสัตยาบันแก้รธน.

อีกด้าน กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.. กล่าวว่า เรื่องที่หลายฝ่ายไม่สบายใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเสนอต่อที่ประชุม ให้ทุกฝ่ายที่ไม่ใช่คณะกรรมาธิการฯ ทั้งจากทุกพรรคการเมือง จากส.ส. จากส.ว. มาร่วมลงสัตยาบันร่วมกันว่า หากสสร.จะเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องคำนึงถึงข้อห่วงใยตรงนี้ด้วย

"เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อร่างเสร็จ ให้ผ่านสภาฯ ให้มาพิจารณาร่วมกันก่อนว่า ข้อเสนอที่เคยได้ร่วมลงสัตยาบันกันนั้น สสร. ได้เขียนตามข้อห่วงใย ที่ได้ลงสัตยาบันกันไว้หรือไม่ หากเขียนแล้วก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ให้เอาไปทบทวน ก่อนส่งให้ประชาชนลงประชามติ ตรงนี้น่าจะขจัดความห่วงใยจากทุกฝ่ายไปได้"

เรื่องการทำสัตยาบัน อาจจะมีการทำให้เขียนไว้ว่า ตัวแทนของพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นกรรมาธิการห่วงในประเด็นใดบ้าง และอาจจะเพิ่มเติมในรายละเอียด มาตรา 291 ที่เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะส่งเข้ารัฐสภ่า เพื่อให้สภาพิจารณาก่อนลงประชามติ

**ค้าน'สัตยาบัน'หวั่น'ปากว่าตาขยิบ'

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กังวลว่าเสียงข้างมากในสภาฯ อาจปากว่าตาขยิบ ตนจึงจะเสนอแปรญัตติให้เขียนเป็นกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมาทีหลัง เป็นเรื่องแปลกเพราะมีอำนาจในการที่จะเขียนขอบเขต แต่ก็ไม่เขียน แล้วก็พยายามจะรับปากเฉยๆ ว่าจะไม่ให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะไปทำได้อย่างไร เสร็จแล้วกลับมาถ้าสมมติว่าปากว่า ตาขยิบล่ะ คนที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เกือบจะมีเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำเป็นบอกว่าอย่าไปแก้ แล้วพอเขาแก้ก็กลับมาบอกว่าให้เป็นเรื่องของสภาฯ

แนวทางที่พยายามจะพูดจะเป็นสัตยาบัน หรือการเอากลับเข้ามาสภา ตนไม่เห็นด้วย ซึ่งตนแปรญัตติเพิ่มให้ 1.เขียนลงไปเลยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นให้เอาหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี40 2.การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องไม่ไปกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่มีผลในการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการในอดีต หากเขียนก็ไม่ต้องขัดแย้งกันอีกต่อไป และหากร่างเสร็จก็ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่

** "จรัส-ธีรภัทร" ชี้ แค่โยนหินถามทาง

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตส.ส.ร.ปี 50 แสดงความคิดเห็นว่า หากมีการเสนอเรื่องของการลงสัตยาบัน ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลก เพราะคิดว่า ส.ส.ร.ต้องมีอิสระเต็มที่ เพราะกระบวนการที่ตนเคยเห็นคือ ส..ส.ร.จะเขียน และรับฟังความเห็นจากประชาชนทำไปพร้อมๆกัน และก็ใช้ประชามติ

ด้าน ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แสดงความเห็นว่า การลงสัตยาบันจะเขียนอย่างไรให้คำนึงเรื่องข้อกังวลหรือไม่คำนึง ซึ่งตนไม่ขอวิจารณ์ แต่สำหรับหน้าที่ของ ส.ส.ร. นั้นตามระบอบของประชาธิปไตยต้องฟังเสียงของประชาชน ถ้าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนต้องการอะไร

**เพื่อไทยขอความเห็นปชช.

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าไปวางกรอบก่อนมีสสร. จะถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291 เพื่อให้มีสสร.เข้ามาร่าง เพราะต้องการให้มีความเชื่อมโยงจากประชาชน อีกทั้งระหว่างยกร่างยังต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม

น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย สายเสื้อแดง ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงวันนี้มีการแทรกแซงก้าวก่ายศาลมาก เพราะให้อำนาจมากเกินไป เข้าไปยุ่งได้ทุกอย่าง ขนาดเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญให้ศาลปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงอายุ 70ปี ในฐานะที่เป็นหมอ คนเราทำงานได้ถึงอายุ 65ปีน่าจะไปเลี้ยงหลานได้แล้ว ถึง70ปีรู้สึกว่าจะมากไป มันคล้ายกับขัดขวางคนอื่นไม่ให้ก้าวขึ้นมาใช่หรือไม่ ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งปลายเปิด ดังนั้นอย่าไปเห็นแก่ตัวมากมาย จะมาอ้างว่าอยู่เพื่อทำหน้าที่ให้องค์กรก็ไม่ได้ เพราะในองค์กรยังมีคนรอทำหน้าที่อีกหลายคน

หากจะมีการแก้ไขเกี่ยวกับองค์กรศาล เราไม่ควรคิดแทนเขาแต่ควรให้ตัวแทนศาลเข้ามาแสดงความคิดเห็นขั้นกรรมาธิการด้วย ว่าหากประเทศไทยจะมีศาลเดี่ยวหรือศาลคู่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ต้องฟังความเห็นจากศาล เช่นเดียวกับองค์กรอิสระ ต้องเชิญตัวแทนมาพูดถึงข้อดีข้อเหมือนกัน เพราะคงไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคนที่ปฏิบัติ ปัญหาข้อห่วงใยที่บางกลุ่มอ้างว่ามีประชาชนกลุ่มใหญ่ห่วงใยไม่อยากให้มีการแก้ไข ก็อยากถามว่าถ้าอีกลุ่มอ้างประชาชนอีกกลุ่มใหญ่เขาก็ห่วงใยเหมือนกัน แล้วจะเป็นอย่างไร เพราะแต่ละฝ่ายก็มีประชาชนกลุ่มใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ อย่างนี้ไม่ตีกันตายก่อนหรือ

**กมธ.แก้รธน.แขวนหลักการ3หมวด

วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีนายสามารถ ประธานกรรมาธิการทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยประธานมีมติวินิจฉัยให้แขวนส่วนหลักการ แก้ไขมาตรา 291 ไว้ก่อน เพื่อดำเนินการพิจารณาต่อในส่วนของเหตุผล ซึ่งเชื่อมโยงกับหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมาตรา 291/1 ระบุถึงที่มาของสสร.และจำนวนสสร.

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 2 การให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยเห็นว่าควรมีเวลาพักไว้สัก 90 วันเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัวและทราบข้อมูลก่อนจึงจะนำไปทำประชาชนได้รับทราบก่อน

อย่างไรก็ตามได้มีมติ เลื่อนไปประชุมต่อในวันที่ 14 มี.ค. เวลา 09.00 น.โดยประธานสรุปให้เชิญกกต.และกรรมการกฤษฏีกามาชี้แจงในการประชุมสัปดาห์หน้า

นายสามารถ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะกำหนดกรอบการทำงานก่อนเสนอให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.พิจารณาส่วนประเด็นอื่น ที่ประชุมยังไม่ระบุกรอบการทำงานที่ชัดเจน เนื่องจากต้องการให้ สสร.มีเสรีภาพและได้รับการยอมรับ ส่วนในหมวดศาลและองค์กรอิสระ ได้มอบหมายให้ทุกพรรคการเมืองและ สว.ร่วมหารือว่า ควรจะมีข้อคำนึงฝากไปยัง สสร.ทั้งนี้ อาจทำเป็นสัตยาบัน อย่างไรก็ตาม จะหารือในที่ประชุมอีกครั้งในประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นต่างกัน

**ผู้ตรวจพร้อมส่งศาลรธน.ตีความ

ที่รัฐสภา นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คน ขึ้นมาศึกษาการบังคับใช้รธน. 50 ว่า เป็นการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 244 (3) เพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญว่าที่ผ่านมามีปัญหาอะไรหรือไม่ และ หากไม่ทำสังคม อาจถามได้ หาแล้ว และ ยิ่งในขณะนี้ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วด้วย

**ผบ.ทบ.ปล่อยรบ.แก้ปัญหาปมรธน.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เป็นกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐบาล เราเป็นประเทศประชาธิปไตย ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และดูในสิ่งที่เหมาะที่ควร ส่วนที่มีความกังวลว่าจะเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุน และกลุ่มคนที่คัดค้านนั้น ต้องดูแลไม่ให้มีการปะทะกันต้องช่วยกันห้ามปราม ต่างฝ่ายต้องอยู่ในกรอบของตัวเอง ถ้าปะทะแล้วได้อะไรไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ประเทศชาติก็เสียหาย และตัวเองก็ไม่ปลอดภัยและก็จะเดือดร้อนกันอีก

**ศาลปค.ชี้ ระวังกระทบเชื่อมั่นนักลงทุน

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวเป็นครั้งแรกในระหว่างการแถลงผลงานของศาลปกครองในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการเปิดทำการศาลปกครอง ถึงกระแสข่าวว่าฝ่ายการเมืองต้องการจะยุบเลิกศาลปกครอง กล่าวว่า เรามีความตั้งใจให้ศาลปกครองเป็นศาลแห่งความเชื่อมั่น เป็นหลักของประเทศเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังการร่างรัฐธรรมนูญคงไม่มีใครตอบได้ว่ามันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะความชัดเจนยังไม่มี สิ่งที่เราทำคือมุ่งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อประชาชน เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง แต่ในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ เราไม่ได้มีอำนาจใด ๆ เลย ถ้าไม่มีการฟ้องคดีเข้ามา หรือแม้มีการฟ้องคดี ศาลฯก็ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยนอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นศาลก็ไมได้เป็นผู้ตราขึ้น อยากบอกว่า เราไม่ได้เป็นคู่ความในคดี แต่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตามหลักนิติรัฐ ตามหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งที่มีการะบุว่าการมีศาลฯทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐก็อยากให้พูดให้ชัดว่าเป็นอุปสรรคอย่างไร

“อยากบอกว่าการวินิจฉัยของศาลฯตามมาตรา 67 วรรค 2 ทำให้รัฐมีปัญหาถามว่าแล้วใครร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แต่ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบว่ารัฐมีการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ซึ่งศาลฯแม้จะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจหนึ่งในสามอำนาจที่มีออยู่แต่ก็ไม่เหมือนองค์กรอื่นที่ต้องถ่วงดุล เพราะเราตรวจสอบตามที่องค์กรอื่นเขาออกกฎ กติกามาทั้งนั้น โดยพยายามทำหน้าที่ของเราอย่างเที่ยงธรรมให้ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งถ้าจากสถิติและผลสำรวจความเห็นประชาชนก็จะเห็นว่าประชาชนยังเชื่อมั่นศาลฯทั้งที่เขาแพ้คดี”

อยากให้ย้อนกลับไปดูเจตนารมณ์การจัดตั้งศาลปกครองในรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าทำไมต้องการให้มีศาลปกครองเป็นศาลคู่ ทำไมไม่ให้คดีปกครองไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม และเวลานี้มูลเหตุของปัญหานั้นหมดไปหรือยัง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีผลกระทบถึงองค์กรตุลาการอยากให้ใคร่ครวญให้รอบคอบ เพราะการเปลี่ยนแปลงองค์กรศาลฯที่เป็นองค์กรหลักของประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ

“ในฐานะศาลเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ซึ่งก็คือหลักของประเทศ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมันเป็นเรื่องใหญ่ นักลงทุนต่างชาติเขาจับตาอยู่ว่าขนาดเป็นองค์กรหลักของประเทศยังถูกเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเขาจะมีความเชื่อมั่นในการมาลงทุนในประเทศนี้ได้ยังไง อยากจะฝากให้คิด ส่วนถ้ามันจะไม่เกิดก็เป็นผลดี”

เมื่อถามว่าหมายความว่าถ้าเปลี่ยนแปลงระบบศาลซึ่งเป็นหลักใหญ่ได้ การเปลี่ยนแปลงระบบอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่าก็อาจเกิดขึ้นได้ตามมาหรือไม่นั้น นายหัสวุฒิกล่าวว่าเรื่องนี้ขอให้คิดเอง แต่นักลงทุนคิดมากแน่ อย่างปัญหาอุทกภัยปลายปีที่ผ่านมามันก็บั่นทอนความเชื่อมั่นอยู่แล้ว แล้วถ้าจะมาทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ต้องถามว่าทำไม คิดใคร่ครวญดีแล้วใช่หรือไม่

ทั้งนี้ เห็นด้วยหากจะมีการเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของตุลาการ ที่จะเข้าไปมีส่วนในการคัดเลือกบุคคลากรในองค์กรอิสระ เพราะมองว่า เพราะศาลฯไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรในองค์กรอิสระอื่นใดเลย เนื่องจากหากมีคดีความเข้ามาจะถูกมองในแง่ความเที่ยงธรรม ที่พูดว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์เป็นความเข้าใจผิด ทางสากลหมายถึงการใช้อำนาจทางตุลาการในการเข้าไปวินิจฉัยคดี ไม่ใช่การเข้าไปเป็นกรรมการแต่งตั้งสรรหา โดยตุลาการที่เข้าไปสรรหาบางคนก็เป็นอดีตตุลาการ ซึ่งไม่ได้เข้าไปใช้อำนาจตุลาการแต่อย่างใด

ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดว่าประธานศาลฎีกาต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภานั้น ก็เห็นว่า ในส่วนของตุลาการศาลปกครองผ่านการรับรองจากรัฐสภาอยู่แล้ว และโดยขั้นตอนการถูกตรวจสอบก็ไม่ได้น้อยไปกว่าที่ศาลอื่นใดเลย ตุลาการต้องมีการแสดงบัญชีทรัพย์สิน และยังถูกถอดถอนโดยมติสภาได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สมัครเข้าไปตุลาการศาลปกครองจำนวนมาก แต่ก็กลับผ่านการคัดสรรน้อย เพราะนอกจากศาลจะยึดว่าตุลาการฯจะต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความยุติธรรมแล้ว ยังมองว่าต้องมีความกล้าหาญเพราะงานที่ทำอยู่อันตรายมาก แต่ไม่มีระบบการคุ้มครองตุลาการใด ๆ เลย หากเจ้าของสำนวนถูกขู่แล้วเกิดความกลัว คำวินิจฉัยก็จะเบี่ยงเบนได้

เมื่อถามต่อว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยลดอำนาจของศาลปกครองในการวินิจฉัยคดี เช่นคดีสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 นายหัสวุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องจิตสำนึกของทุกคนว่าจะมีความจริงใจต่อบ้านเมืองหรือไม่ เพราะมาตรา 67 เป็นมาตราที่ป้องกันซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ไม่ใช่มาเน้นในเรื่องมาตรการเยียวยาที่ประเทศเจริญแล้ว เขาไม่ใช้กันแล้ว ดังนั้นจึงต้องถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญ 50 ที่เน้นในเรื่องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น