ศาลปกครอง โคราช สั่งโรงงานรีดยางพาราแก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมโรงงานแก้ปัญหาอย่างเคร่งครัด ชี้กระทบสุขภาพ-การดำรงชีวิตชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองนครราชสีมา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งให้บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ใน ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งประกอบกิจการ โรงงานรีดยางพาราและเก็บรวบรวมเศษยาง-ยางแผ่นและผลิตยางแท่น STR 20 ดำเนินการป้องกัน ควบคุม ขจัดกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการ มิให้ส่งกลิ่นรบกวนการดำรงชีพโดยปกติสุขและสุขภาพของนายทองแดง สุวรรณเพชร ผู้ฟ้องคดี และพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นประชาชน ที่พักอาศัยอยู่บริเวณรอบโรงงานดังกล่าว
โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และนายกเทศมนตรีบึงเจริญ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ดำเนินการออกคำสั่งหรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายแก่บริษัทฯ เพื่อให้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และขจัดกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวโดยเคร่งครัด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายทองแดง และพวกรวม 13 คน ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบโรงงานของบริษัทไทยฮั้วฯ ได้ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลบึงเจริญ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ นายกเทศมนตรีบึงเจริญ อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กรณีปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการกับบริษัทไทยฮั้วฯ ที่ประกอบกิจการแล้วทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนสุขภาพและการดำรงชีพของประชาชนซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบโรงงาน
ส่วนเหตุที่ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระบุว่า บริษัทไทยฮั้วฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการรีดยางพาราและเก็บรวบรวมเศษยาง-ยางแผ่น โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตที่บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติ คือ ต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตหรือวัตถุดิบไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อน หรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งก่อนที่นายทองแดงจะฟ้องคดีพบว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.บุรีรัมย์ เคยมีคำสั่งให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขโรงเก็บวัตถุดิบให้มิดชิดเพื่อป้องกันกลิ่นออกสู่ภายนอก พร้อมทั้งเก็บวัตถุดิบ (ยางถ้วย) ที่อยู่ภายนอกโรงเก็บวัตถุดิบเข้าไปในโรงเก็บวัตถุดิบให้หมด และชำระล้างบริเวณโดยรอบเพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นและทำความสะอาดพื้นที่บริเวณรอบๆ โรงงานให้สะอาดโดยด่วนเพื่อระงับเหตุรำคาญจากกลิ่นดังกล่าว และมีการปรับเงินบริษัทเป็นจำนวน 2 พันบาท เนื่องจากดำเนินการตามคำสั่งล่าช้า
อีกทั้งจากการให้ถ้อยคำของคู่กรณีสอดคล้องกันว่า ประชาชนยังคงได้รับกลิ่นเหม็นจากกระบวนการผลิต อบวัตถุดิบของโรงงาน โดยเฉพาะเวลาเดินเครื่องเร่งกำลังการผลิตเต็มที่ จะเกิดกลิ่นเหม็นรุนแรงแพร่กระจายจนประชาชนโดยรอบไม่สามารถอยู่นอกอาคารได้ ซึ่งกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการ แม้ว่าจะมิได้เกิดขึ้นทุกวัน แต่หากไม่มีการใช้มาตรการควบคุมและป้องกันกลิ่น หรือใช้ระบบขจัดกลิ่นที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้เกี่ยวข้อง ในการออกคำสั่งหรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายแก่บริษัทฯ เพื่อระงับกลิ่นเหม็น ก็จะก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อการดำรงชีพโดยปกติสุขและสุขภาพของประชาชนที่ พักอาศัยอยู่บริเวณรอบโรงงานโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ศาลจึงเห็นว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าว