xs
xsm
sm
md
lg

ตีแสกหน้านโยบาย ‘300 บาท’ เพื่อไทย ค่าครองชีพถีบตัวแซงค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้า 300 บาทตามสัญญา แต่ท้ายที่สุดแรงงานที่หลงคารมเลือกรัฐบาลนี้เข้ามาต้องเจ็บปวด หลังค่าครองชีพถีบตัวแซงหน้าค่าแรงใหม่ ไม่ต่างถูกต้ม ต้องเผชิญกับรายได้ที่อาจลดลงจากเกณฑ์ใหม่นายจ้าง หรือเสี่ยงถูกเลิกจ้าง นักวิชาการแรงงานชี้เป็นเกมการเมืองที่เพื่อไทยชิงฐานเสียงจากประชาธิปัตย์ ท้ายที่สุดปล่อยคนไทยทั้งประเทศแบกค่าแรง 300 บาทแทนผ่านราคาสินค้า

เมื่อ 1 เมษายน 2555 ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เริ่มนำร่องใช้ใน 7 จังหวัดและเดินหน้าใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศในต้นปี 2556 แม้จะมีความพยายามที่จะทัดทานแนวทางดังกล่าวจากฝ่ายนายจ้าง ท้ายที่สุดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ฝ่าด่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้

แรงกระเพื่อมจากนโยบายดังกล่าว ก่อตัวมาตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2554 โดยเฉพาะราคาสินค้าหลายรายการเริ่มขยับขึ้นอันเนื่องมาจากค่าแรง 300 บาทถือเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการหลายรายใช้สาเหตุดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นราคาสินค้า แต่บังเอิญได้ช่วงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศเข้ามาเป็นตัวชะลอ

เมื่อน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ผ่านพ้นไปในช่วงปลายปี ผู้ประกอบการจึงค่อยๆ เดินหน้าเตรียมรับมือกับค่าแรง 300 บาทที่กำลังจะมาเป็นตัวบั่นทอนกำไรของเขาในอีกไม่ช้า ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นถูกใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการขึ้นราคา เมื่อรวมกับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ ย่อมกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการไม่น้อย

กรรมวิธีในการรับมือของผู้ประกอบการกับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย จึงถูกนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นอยู่กับช่องทางและวิธีการของนายจ้างแต่ละราย เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายและเพื่อให้ต้นทุนค่าจ้างในองค์กรเพิ่มน้อยที่สุด

300 บาททุกขลาภแรงงาน

“300 บาทตามนโยบายของรัฐบาล ถือว่าเป็นทุกขลาภของแรงงานไทย แม้ใน 7 จังหวัดจะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าแรงงานทั้งหมดในพื้นที่นำร่องจะได้ค่าแรง 300 บาททั้งหมด บางบริษัทยังมีการยืดเรื่องนี้ออกไป มีแค่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีสหภาพแรงงานที่ทำได้” แหล่งข่าวจากฝ่ายลูกจ้างกล่าว

ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางมีทั้งจ่ายและไม่จ่าย และมีเทคนิคในการกดค่าจ้างสารพัดวิธี ส่วนธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องใช้แรงงานคนคงต้องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาจจะเลือกจ้างคนน้อยลงและคนงานก็ต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

ที่ผ่านมาจะเป็นการปรับขึ้นตามสภาพค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดมีตั้งแต่ 8-17 บาท แต่ครั้งนี้ถือเป็นการปรับค่าแรงในอัตราที่ก้าวกระโดดมาก เมื่อนายจ้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อกำหนดจากภาครัฐได้จึงต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อประคองให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ การลดสวัสดิการต่างๆ ทั้งค่าอาหาร ค่าทำงานล่วงเวลาหรือโบนัสก็ถูกปรับลง หรือเปลี่ยนวิธีจ้างเป็นชิ้นงานแทน

เท่ากับว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ตัวพนักงานหรือแรงงานเองต้องเผชิญกับการเปลี่ยนวิธีการจ้างงานของนายจ้าง และอยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หากนายจ้างไม่สามารถแบกรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดได้

“ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า ไม่เห็นใจผู้ใช้แรงงาน แต่เราต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นบนความเป็นจริง หากนายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ถามว่าหากเกิดสภาพนั้นแล้วใครจะเป็นฝ่ายเดือดร้อน”

ที่สำคัญคือราคาสินค้าเกือบทุกชนิดดาหน้ากันขึ้นราคา แม้สินค้าบางอย่างมีราคาลดลงแต่ก็จะมาเจอกับต้นทุนค่าขนส่งที่บวกด้วยราคาน้ำมันและก๊าซที่รัฐบาลปล่อยราคาให้ขึ้นไป รวมถึงค่าแรงตามกฎหมาย ทุกอย่างต้องบวกเข้าไปในราคาสินค้าทั้งสิ้น หลายคนที่ดีใจกับค่าแรง 300 บาทว่ารัฐบาลทำตามสัญญานั้น วันนี้หลายคนเริ่มโอดครวญว่าค่าแรงที่ได้มากขึ้นกว่าเดิม แต่กลับไม่เพียงพอต่อราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น บางคนอยากจะกลับไปใช้ค่าแรงของปี 2554 แต่สายเกินไปสำหรับเหตุการณ์นี้แล้ว เพราะแม้จะกลับไปใช้ค่าแรงเดิมแต่ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วไม่มีทางที่จะลดลง

เพื่อไทยชนะ-นายจ้างรอด

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วนายจ้างทุกคนเก่งและเอาตัวรอดได้จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขึ้นอยู่กับจะเลือกวิธีการใดเข้ามาแก้ปัญหานี้เท่านั้น

ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีช่องทางและกำลังทุนที่หนาพอ ใช้โอกาสนี้ย้ายฐานการลงทุน ตอนนี้หลายรายหนีไปตั้งหลักที่พม่ากันเป็นส่วนใหญ่ อาศัยจังหวะทั้งวิกฤตน้ำท่วม ค่าเบี้ยประกันในประเทศที่สูง ราคาพลังงานในประเทศที่สูงรวมถึงค่าแรง ซึ่งเป็นผลจากฝีมือในการบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มนี้จะได้ทั้งค่าแรงที่ถูกลง สร้างตลาดใหม่ในพม่าได้ ได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกตามที่รัฐบาลพม่ามอบให้จากนโยบายการเปิดประเทศ

ถามว่าแรงงานเดิมที่เป็นคนไทยจะย้ายไปทำงานที่พม่าด้วยหรือไม่ หากจะมีก็เป็นเพียงแค่งานในระดับหัวหน้าเท่านั้น ที่เหลือแรงงานไทยคงไม่ย้ายตาม นั่นเท่ากับแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยต้องเสี่ยงกับภาวะตกงาน

ส่วนธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หากสู้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว พวกเขาก็มีทางออกทั้งเรื่องการปรับรูปแบบการจ้างงานใหม่ หรืออาจเลิกกิจการไปเลย ซึ่งนโยบายค่าแรง 300 บาทถือเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่ผู้ประกอบการเหล่านี้คิดจะเลิกจ้างแรงงานไทย

นโยบาย 300 บาทนี้คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ มีแค่ 2 กลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือรัฐบาลที่สามารถหลอกเอาแรงงานในระดับรากหญ้าให้มาเลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ ที่เหลือถือเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องไปหาทางแก้ปัญหากันเอง อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเจ้าของกิจการ ที่มีทางเลือกหลายทางว่าจะตัดสินใจกับสถานการณ์นี้อย่างไร เมื่อธุรกิจไม่มีกำไรเป็นใครก็คงไม่ทำต่อ การปิดกิจการแล้วเลิกจ้างก็เป็นหนทางหนึ่ง

คนที่เสียประโยชน์จริงๆ ก็คือคนที่อยู่ในกลุ่มได้รับค่าแรง 300 บาท ที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นจากนโยบายรัฐบาล และต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะถูกเลิกจ้าง วันนี้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อหวังได้ค่าจ้าง 300 บาทคงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้ กับผลลัพธ์ที่ตามมานั้นคุ้มค่ากันหรือไม่

300 เกมการเมือง

ค่าแรง 300 บาท ถือว่าเป็นนโยบายทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยนำออกมาใช้เพื่อเรียกคะแนนเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้พรรคคู่แข่งสำคัญอย่างประชาธิปัตย์ ได้ออกนโยบายด้านค่าแรงมาก่อน โดยชูการขึ้นค่าแรง 25% ภายใน 2 ปี แบ่งตามภาคของประเทศ จากนั้นทางเพื่อไทยจึงออกนโยบาย 300 บาทเพื่อมาสกัดคู่แข่ง

ถามว่าเมื่อเห็นอย่างนี้แล้วแรงงานจะเลือกใคร หากคิดเฉพาะในฝั่งที่จะได้ประโยชน์ แน่นอนว่าฐานของแรงงานต้องเทไปทางพรรคเพื่อไทย เพราะถือว่าให้มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะในพื้นที่ อย่างกรุงเทพมหานครทางประชาธิปัตย์จะเพิ่มค่าแรงจาก 215 บาทต่อวัน เป็น 267 บาท หรือเพิ่ม 52 บาทใน 2 ปี ส่วนในภาคเหนือและอีสานจาก 166-167 บาท เป็น 205-206 บาทเพิ่มขึ้น 39 บาท

แต่ของเพื่อไทยใช้ 300 บาทเหมือนกันทั้งประเทศ ย่อมได้ใจคนทั้งประเทศมากกว่า โดยเฉพาะฐานเสียงสำคัญของเพื่อไทยอยู่ที่ภาคเหนือและอีสาน เพราะค่าแรงดังกล่าวทำให้เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 70-80% ขณะที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นแค่ 39.53% เท่านั้น ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

เมื่อนโยบายดังกล่าวเร่งออกมาเพื่อชิงฐานเสียง แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยผิดพลาดคือไม่มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวให้รอบด้าน เพียงเพื่อให้ชนะพรรคคู่แข่งเท่านั้น เพราะการขยับค่าแรงมากกว่า 40% ในครั้งเดียว ย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการในฐานะนายจ้างที่เป็นผู้จ่ายเงินให้กับแรงงาน

แม้รัฐบาลจะมีนโยบายการลดภาษีจาก 30% ลงเหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 แต่กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จริงๆ คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่สำคัญกว่าผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากภาษีอย่างปี 2555 ก็ต้องเลยปี 2556 ไปก่อน ภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นก่อนที่จะได้ประโยชน์ทางภาษีจึงถูกผลักไปที่ตัวสินค้า และการลดภาษีดังกล่าว เป้าหมายหลักคือการเตรียมการเพื่อรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย

คนทั้งประเทศแบก 300 แทน

หากเรามองปัญหาด้วยความเป็นธรรมแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทย่อมเป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงาน แต่ภาครัฐก็ต้องประเมินถึงความพร้อมในการรับมือกับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลไว้ด้วย รัฐต้องเตรียมการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงที่ยังไม่ได้ประโยชน์จากภาษี เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็ต้องเสี่ยงกับภาวะตกงาน

ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ออกนโยบายมาเพื่อเน้นชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นหลัก โดยไม่มีการคิดแผนรับมืออย่างเป็นระบบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่ร่วมกันได้ ถึงวันนี้เมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว ทำตามสัญญาแล้ว ปัญหาเกิดขึ้นรัฐบาลโยนภาระทั้งหมดไว้ให้กับนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องมาทำข้อตกลงกันเอง

ทางที่ดีรัฐบาลต้องหาทางประคับประคองภาคธุรกิจให้สามารถรับมือกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้อย่างน้อยอีก 2-3 ปี เพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งเดียวมากถึง 40% ซึ่งในต่างจังหวัดนั้นค่าแรง 300 บาทเมื่อคิดจากค่าแรงขึ้นต่ำเดิม บางจังหวัดปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 80%

“เรามองว่ารัฐบาลยุคนี้ไม่แคร์กับธุรกิจขนาดเล็กสักเท่าไหร่ ทุกคนก็รู้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นธุรกิจ SME แทบจะไม่ได้ประโยชน์จากส่วนนี้ แถมต้องมาแบกรับกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด โอกาสที่พวกเขาจะอยู่รอดคงเป็นไปได้ยาก และน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาฮุบกิจการหรือผลิตสินค้าเข้ามาทดแทนเพื่อชิงตลาดในส่วนนี้”นักวิชาการด้านแรงงานกล่าว

ตามหลักแล้วการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่อัตรา 300 บาทนั้นจะต้องมีการพัฒนาทักษะและฝีมือของแรงงานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้นายจ้างเต็มใจที่จะจ่ายค่าแรงในอัตราดังกล่าว แต่นโยบายนี้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ เพราะแรงงานขั้นต่ำที่ไม่มีฝีมือ นายจ้างต้องมาฝึกกันใหม่ ต้นทุนย่อมเพิ่มสูงขึ้น คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่จะแบกรับต้นทุนทั้งหมดไว้เอง สุดท้ายก็ต้องผลักไปในราคาขายของสินค้าและบริการ คนไทยที่เป็นผู้บริโภคก็ต้องร่วมแบกรับภาระข้าวของแพงทั้งหมดแทนรัฐบาล



กำลังโหลดความคิดเห็น