xs
xsm
sm
md
lg

บารมีบ้านเลขที่ 111 ใครแรง? (ตอนที่ 2) : “ทักษิณ” เชื่ออำนาจในตน-111 แค่ตัวช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำไมวันนี้ในสายตาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงให้ค่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 แค่ตัวช่วยสร้างผลงานเพื่อลดกระแสโจมตีรัฐบาลปูแดง บ่มิไก๊ เท่านั้น และสมาชิกเหล่านี้ไม่ใช่เหตุ-ปัจจัยที่ทำให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นับจากนี้ไป “ทักษิณ-เพื่อไทย” ก็ยังคงกวาดที่นั่ง ส.ส.ได้อย่างถล่มทลาย ส่วนประชาธิปัตย์ก็ยังคงทำหน้าที่ได้แค่ผู้นำฝ่ายค้านต่อไป

ยิ่งใกล้วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 หรือวันครบรอบ 5 ปีที่คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนจะสามารถกลับเข้าสู่ภาคการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากต้องใช้นอมินีเดินหน้าทำงานการเมืองแทนตัวเองมานานถึง 5 ปี ทำให้เรื่องราวของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลายเป็นที่สนใจและใคร่รู้ของแวดวงผู้สนใจข่าวสารการเมือง และบรรดานักการเมืองทั้งขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งสมาชิกพรรคเพื่อไทย ว่าคนกลุ่มนี้มีบทบาทจริงในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือเป็นเพียงการปั่นกระแสเพื่อสร้างราคาให้ตัวเองกันแน่

“ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้ติดตามข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบจากแหล่งข่าวที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ถือเป็นสายตรง “ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน” ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุและผลของการชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544, 2549 และ 2554 โดยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ส่วนบทสรุปสุดท้ายที่ชี้ให้เห็นชัดเจนที่สุดของชัยชนะในแต่ละยุคสมัยของการเลือกตั้ง ก็คือ ยุคแรกในนามพรรคไทยรักไทย เป็นชัยชนะแบบทิ้งขาดด้วยยุทธศาสตร์เชิงนโยบายที่โดนใจประชาชน เข้าสู่ยุค 2 ที่เป็นพรรคพลังประชาชน ก็ชนะด้วยนโยบายผสมผสานกับตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่มาของการเปรียบเปรยว่า ทักษิณ ชินวัตร คือแบรนด์สินค้าไปแล้ว

ท้ายสุดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา แม้ไม่มีนโยบายประชานิยมแบบครั้งแรก กลับพบว่าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ตัวทักษิณ ผสมผสานกับกลยุทธ์เสื้อแดง ดังนั้น สมาชิกบ้านเลขที่ 111 แม้หลายคนจะเป็นคนที่เคยมีบารมีมาก่อน แต่วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

5 ปีที่ผ่านมา บารมีของหลายๆ คนใช่ว่าจะคงเดิม!

ขณะที่บารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ยังคงมีมนต์ขลังและดูจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากข้อมูลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานถืออยู่ในมือ จึงมั่นใจว่าหากมีการเลือกตั้งรอบใหม่เกิดขึ้นก็ยังคงได้รับชัยชนะเช่นเดิม และอำนาจ บารมีนี้เองที่ทำให้ “ชินวัตร” อยู่เหนือสมาชิกบ้านเลขที่ 111

ทักษิณกุมอำนาจเรียบ! 111 อยู่ใต้บารมี

การเลือกตั้งปี 2544 และการเลือกตั้งปี 2554 ที่ผ่านมา จะเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีว่า “บารมี” และ “อำนาจ” ทางการเมืองของคนพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทยวันนี้ ชี้ชัดว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน” ค่อยๆ แผ่กระจายบารมี และวันนี้กุมอำนาจทั้งหมดเบ็ดเสร็จไว้ในมือเรียบร้อย แถมในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มองบ้านเลขที่ 111 ยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้ให้ราคามากนัก

“ถามว่าบ้านเลขที่ 111 วันนี้เป็นอย่างไร ต้องมองไปที่พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ว่าที่ผ่านมามองการเมืองอย่างไร และมีวิธีการจัดการอย่างไร”

เมื่อย้อนดูพฤติกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องมองที่การเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 2544 ขณะนั้นถือว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาทางการเมือง ไม่มีปัญหาความแตกแยกเหมือนทุกวันนี้ และเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะแสดงฝีมือทางการเมือง ดังนั้น พรรคไทยรักไทยในช่วงแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานปั้นขึ้นมา จึงมีทั้งฝ่ายวิชาการ เรียกได้ว่ามีนักวิชาการจากหลากหลายสาขามาช่วยกันระดมสมองเพื่อคิดนโยบายด้านต่างๆ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

สำหรับคณะทำงานมีอย่างน้อย 11 คณะ เช่น คณะทำงานด้านพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้, คณะทำงานด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างหนี้, คณะทำงานด้านการสร้างรายได้และแก้ปัญหาคนตกงาน, คณะทำงานด้านการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรไทย, คณะทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, คณะทำงานด้านการประกาศสงครามกับยาเสพติด, คณะทำงานด้านการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ

คณะทำงานทั้งหมดด้านวิชาการมีการทำงานและประชุมตลอดเวลา จนออกมาเป็นนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค, พักหนี้เกษตรกร 3 ปี, นโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์, กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท ฯลฯ

ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ได้ เสนาะ เทียนทอง ผู้เก๋าเกมทางการเมืองมาช่วยจัดสรร จัดการทางการเมืองให้ พรรคไทยรักไทยก่อนเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยวันนั้นจึงเข้มแข็งที่สุด

นโยบายดัน ทรท.เข้าวินปี 44

ท่ามกลางกระแสไทยรักไทยขณะนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและข้อสงสัยต่างๆ นานาว่า ไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งจริงเหรอ?

เพราะเวลานั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการทำโพลสำรวจการเลือกตั้ง และประกาศว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้ง แต่ พล.ต.สนั่นเวลานั้นกลับหน้าแตกยับเยิน เพราะพรรคไทยรักไทยสามารถชนะการเลือกตั้งได้

หลังการเลือกตั้งครั้งนั้นบรรดานักวิชาการจากสำนักต่างๆ ได้มีการวิเคราะห์ว่า การที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 เป็นเพราะเป็นพรรคการเมืองแรกที่ “คิดใหม่ ทำใหม่” ชูนโยบายเป็นจุดขาย แน่นอนว่าความใหม่ที่เป็นความหวังให้แก่สังคมไทย เพราะก่อนหน้านั้น ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยมีปัญหามาก โดยเฉพาะความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ที่ไม่เคยมีพรรคไหนเลยที่เป็นรัฐบาลแล้วอยู่ได้ครบสมัย รวมกับนโยบายที่ออกมาในทำนองประชานิยมสู่รากหญ้าด้วย ทำให้ในการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยที่แม้จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกได้ใจทั้งรากหญ้า และคนชั้นกลางในเมืองไปพร้อมๆ กัน

ประกอบกับกฎเกณฑ์การเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้มีการเลือกตั้งแบบระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นครั้งแรก ทำให้คนที่ชื่นชอบนโยบาย หรือแม้แต่กลุ่มคนชั้นกลางและนักธุรกิจที่มองว่าพรรคการเมืองควรจะขายนโยบายเป็นหลัก หันมาเทคะแนนเลือกตั้งให้พรรคไทยรักไทยในเวลานั้น จึงทำให้ในการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 มี ส.ส.ได้ 500 คน จากแบ่งเขต 400 คน (แบ่งเขตรวมเบอร์) บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคเพื่อไทย (พ.ต.ท.ทักษิณ) ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ ส.ส. 250 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ชวน หลีกภัย) ได้ ส.ส.เพียง 128 คน

ขณะที่พรรคอื่นๆ มีพรรคชาติไทย ได้ ส.ส. 39 คน, ความหวังใหม่ ได้ 35 คน, ชาติพัฒนา ได้ 30 คน, เสรีธรรมได้ 14 คน, ราษฎร ได้ 2 คน, กิจสังคม 1 คน, ถิ่นไทย 1 คน

2548 ‘ดูด-ดึง-บีบ’ รวบพรรคเล็กควบ

แต่การเรียนรู้ด้านการเมืองจากการเป็นรัฐบาลครั้งแรก และปัญหาของการเมืองไทยที่ผ่านมาซึ่งมีพรรคต่างๆ มากมายคอยขัดกันเอง จนไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่มีเสถียรภาพพอที่จะอยู่ได้ครบอายุ 4 ปี จึงทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มมีแนวคิดที่จะดึง ดูด และบีบ พรรคอื่นๆ ตั้งแต่พรรคขนาดกลาง พรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งกลุ่มก๊วนต่างๆ มารวมเสริมพลังให้พรรคไทยรักไทย

โดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งในปี 2548 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มมีการรวมพรรคต่างๆ เข้ามาอยู่ในพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่พรรคความหวังใหม่ นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคชาติพัฒนา นำโดย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคกิจสังคม ของสุวิทย์ คุณกิตติ รวมถึงกลุ่มชลบุรี ที่ มั่น พัธโนทัย คนใกล้ชิด วัฒนา อัศวเหม ถึงกับออกมาตอบคำถามทนายจำเลยคดีคลองด่านว่า ทั้ง วัฒนา อัศวเหม ประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซียะ) และสมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) กำลังถูก พ.ต.ท.ทักษิณใช้เรื่องคดีความนี้เพื่อบีบกลุ่มคนเหล่านี้เข้าพรรคไทยรักไทยจนเป็นที่ฮือฮาในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น ภาพการรวมนักการเมืองระดับเก๋าเกมอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, เนวิน ชิดชอบ, สนธยา คุณปลื้ม ฯลฯ มาอยู่ในพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นยุคที่พรรคไทยรักไทยประกอบด้วยกลุ่มก๊วนการเมือง มุ้ง และความวุ่นวายจากการต่อรองมากที่สุด

อีกทั้งสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทย (พ.ต.ท.ทักษิณ) ได้ ส.ส.สูงถึง 377 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (บัญญัติ บรรทัดฐาน) ได้ ส.ส.เพียง 96 ที่นั่งเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเกิดเหตุสะดุดขาตัวเอง โดยเฉพาะสังคมเริ่มจับตาเรื่องของการเป็นเผด็จการรัฐสภา การควบคุมและแทรกแซงองค์กรอิสระ การแทรกแซงวุฒิสภา การทุจริตคอร์รัปชัน และความเหิมเกริมต่อสถาบันเบื้องสูง ทำให้ฝ่ายทหารทนไม่ไหวกับระบอบทักษิณที่กำลังกลายเป็นเผด็จการกัดกินสังคมไทย กระทั่งเกิดการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ในที่สุด

ที่น่าสนใจคือ สังคมไทยเวลานั้น โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงยังให้การตอบรับการปฏิวัติครั้งนั้น ถึงกับมีการมอบดอกกุหลาบให้เหล่าทหาร

เมื่อสังคมไม่เอาด้วย ประกอบกับพรรคไทยรักไทยเจอปัญหาทางการเมืองถึงขั้นยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหาร 111 คนถึง 5 ปี เวลานั้นเองที่กลุ่มก๊วนมุ้งต่างๆ เริ่มทยอยออกจากพรรคไทยรักไทย ไปตั้งพรรคใหม่บ้าง ไปอยู่รวมกับพรรคขนาดกลางและเล็กอื่นๆ บ้าง

สายตาของทักษิณวันนั้นจึงบอกได้คำเดียวว่า ต่อไปนี้ใครที่ออกจากพรรคไป ถือเป็นคนที่ไม่มี “ใจ” ให้เขาอีกแล้ว และยามที่ลำบากที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณต้องต่อสู้ทางการเมืองด้วยตัวเอง ด้วยการเลี้ยงดูส่งท่อน้ำเลี้ยงให้คนเสื้อแดง และโฟนอินเข้ามาเรียกคะแนนสงสารจากคนเสื้อแดง

และเขาก็ทำสำเร็จ!

เพราะการเลือกตั้งหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 พรรคพลังประชาชนก็ยังชนะการเลือกตั้ง

“การปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองครั้งสำคัญ เนื่องจากกระแสสังคมส่วนใหญ่ไม่เอาพรรคไทยรักไทย นักการเมืองกลุ่มก๊วนต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่ากระจัดกระจายไปกันคนละทิศละทาง น้อยคนนักที่ยังจะกล้าทำงานกับพรรคพลังประชาชนต่อ โดยเฉพาะจะเอาชื่อเข้ามาใส่เป็นกรรมการบริหารพรรค”

นักการเมืองเก๋าเกมต่างๆ เวลานั้นจึงเรียกได้ว่าเริ่มกระจัดกระจาย ส่วนหนึ่งยังไปอยู่กับพรรคพลังประชาชน ซึ่งหลายคนก็ยังทำงานอยู่ในพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งออกไปอยู่พรรคอื่น และส่วนหนึ่งออกไปตั้งพรรคใหม่ แต่นับๆ ดูแล้วส่วนใหญ่อยู่นอกพรรค และยังไม่ได้กลับมาอยู่พรรคเพื่อไทย มีแค่บางคนที่เริ่มกลับมา แต่ก็ยังไม่ได้แสดงตัวชัดเจนอย่าง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นศึกที่น่าจับตามากที่สุด เนื่องจากในเวลานั้นแม้กระแสรากหญ้าจะหนุนพรรคเพื่อไทยอย่างมาก แต่กระแสสังคมจากคนชั้นกลางในเมืองนั้นกลับยังมีการต่อต้านระบอบทักษิณขั้นรุนแรง กระนั้น พรรคพลังประชาชนกลับชนะการเลือกตั้ง โดยคะแนนสงสารของ พ.ต.ท.ทักษิณกลับพุ่งและเอาชนะการเลือกตั้งได้ท่ามกลางความแปลกใจของทุกฝ่าย

โดยการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แม้ทหารจะกุมการเมืองไทยอย่างเบ็ดเสร็จ แต่พรรคพลังประชาชน (ยงยุทธ วิชัยดิษฐ) กลับชนะการเลือกตั้งไปด้วย ส.ส.จำนวน 189 ที่นั่ง ขณะที่ประชาธิปัตย์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แม้จะขึ้นหม้อแต่ได้คะแนนเป็นรองอยู่ที่ 172 ที่นั่งเท่านั้น

ศึกครั้งนี้บอกได้อย่างเดียวว่า ยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณมั่นใจว่า ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งคือ ตัวเขาเอง และคนเสื้อแดงเท่านั้น!

“ถ้าถามวันนี้หากพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายจะชนะเลือกตั้งไหม คำตอบคือ ไม่มีนโยบายก็ชนะอยู่ดี เพราะคนรากหญ้ากลายเป็นลูกค้าประจำไปแล้ว เวลามีการเลือกตั้ง จะมีกลุ่มเสื้อสีแดงเดินสายหาเสียงให้ แล้วยังเป็นกลุ่มที่ลงคะแนนให้เองด้วย และคนในระดับนี้ไม่ต้องใช้เงินจ้าง เพราะรู้สึกว่าต้องช่วยพวกเดียวกัน แถมที่สำคัญเวลาใครทำอะไรไม่ถูกใจ มีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนให้อีก เป็นแฟนที่เหนียวแน่นมาก”

ทั้งนี้ การที่พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งในปี 2550 เป็นตัวบ่งชี้อย่างดีว่า แพตเทิร์น (PATTERN) ทางการเมืองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะคนบ้านเลขที่ 111 มีแค่บางคนที่มีบทบาทช่วยให้พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง แต่ปัจจัยที่สำคัญจริงๆ ที่ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งคือการเรียกคะแนนสงสารของ พ.ต.ท.ทักษิณ จากรากหญ้าที่ต้องออกนอกประเทศไป

ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจึงเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องฟังบ้านเลขที่ 111 อีกต่อไป เพราะตัวเขาเองเท่านั้นที่เดินหน้ากลไกทางการเมืองทุกอย่างจนชนะเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นบารมี คะแนนสงสาร หรือท่อน้ำเลี้ยง!

ถามว่าบ้านเลขที่ 111 เทียบชั้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้คงเทียบได้ไม่ติดฝุ่น

สาเหตุคือ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นแบรนด์ลอยัลตีให้แก่พรรคเพื่อไทยเรียบร้อย ดังนั้น แม้กระทั่งว่ายังอยู่ในสถานะ “นักโทษหนีคดี” แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับดำรงตนอย่างพยัคฆ์ติดปีก จะเดินทางไปไหนก็ได้ ไปพบผู้นำประเทศไหนก็ได้ โดยเฉพาะประเทศที่เขาเคยถูกแบล็กลิสต์ทั้งหลาย

ไม่ต้องพูดถึงกลเกมทางการเมืองในเมืองไทยที่เขากุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ แค่ชี้นิ้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่เขาต้องการ แม้กระทั่งให้น้องสาวคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ตำแหน่งนี้มีคนวิ่งเต้นกันอย่างอุตลุดก่อนหน้าการเลือกตั้ง แถม พ.ต.ท.ทักษิณยังให้ความหวังกับ “ตัวปลอม” ที่ต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่อหวังตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ไม่เลือกเขา อย่าง “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ต้องหมดตัวไปเท่าไร ต้องอายคนในสังคมไปเท่าไร แต่สุดท้ายตอนนี้ก็ต้องนั่งกินน้ำใบบัวบกอยู่บ้าน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณมีแค่ “คนในตระกูล” เท่านั้นที่เป็น “ตัวจริง” ที่ไว้ใจได้ และใครจะกล้าไปขวาง?

สิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณยิ่งใหญ่ได้ขณะนี้ แหล่งข่าวนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะนโยบายที่ลงสู่รากหญ้าแบบประชานิยม อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าทำในยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล รวมกับคะแนนสงสารที่ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามทำให้รากหญ้าเห็นนั้น คือสิ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณก้าวข้ามความเป็นนักธุรกิจการเมืองมาเป็นแบรนด์ลอยัลตีของพรรคเพื่อไทยทุกวันนี้ แบบที่เรียกได้ว่า นโยบายไม่มี หรือนโยบายสุดห่วย พรรคเพื่อไทยยังจะชนะการเลือกตั้ง

ดังนั้น อิทธิพลของคนบ้านเลขที่ 111 วันนี้ในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณ ในแง่อิทธิพลท้องถิ่น และอิทธิพลในการเลือกตั้ง ในสายตาของ พ.ต.ท.ทักษิณถือว่าบ้านเลขที่ 111 ไม่ใช่แกนหลักแล้ว แต่เป็นเพราะตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง โดยเอาการเลือกตั้งปี 2549 เป็นเครื่องมือสำคัญในการก้าวเดินทางการเมืองจากนั้นเป็นต้นไป

POLL เพื่อไทยชี้ ‘ทักษิณ’ ปัจจัยนำ

นอกจากนี้ ต้องบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นมีความเชื่อมั่นในระบบการทำโพลหรือทำประชามติเกี่ยวกับความนิยมในพรรค และผลแนวโน้มการเลือกตั้งในทุกพื้นที่ ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งปี 2544 ดังนั้น ผลโพลของพรรคพลังประชาชนตลอดมาจนพรรคเพื่อไทย ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลัง คือ ปี พ.ศ. 2550 และปี พ.ศ. 2554 นั้น เป็นผลจากคะแนนนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดงเป็นหลัก หาใช่บ้านเลขที่ 111 แต่อย่างใด

“ปี 2550 เกิดปัญหาบ้านเมือง เกิดความแตกแยกมีการเผาบ้านเผาเมือง จนทำให้เกิดการรวมกลุ่มก้อนของคนเสื้อแดงที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่นหมด เวลานั้นแม้แต่คนในพรรคเอง แม้ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดงก็ต้องไปขอแจมกับคนเสื้อแดง เพราะกระแสคนเสื้อแดงในพื้นที่มาแรงมาก”

ขณะที่ทักษิณคือแบรนด์ที่ครองใจคน ในสายตา พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว บ้านเลขที่ 111 ไม่ได้มีค่าพอที่จะมีพลังต่อรองทางการเมือง แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร ทั้งสิ้น

“ผลโพลของพรรคเพื่อไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณสั่งทำเป็นการภายในช่วงที่ผ่านมาน่าสนใจมาก เพราะเกือบทุกครั้งชี้ว่า เลือกตั้งใหญ่ 2 ครั้งที่ผ่านมาคือปี 2550 และ 2554 นั้น ชี้ตลอดว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะ แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็เห็นเองว่า ปัจจัยที่ทำให้ชนะคือตัวเขาเอง ไม่ใช่บ้านเลขที่ 111” แหล่งข่าวสายตรง “ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน” ในพรรคเพื่อไทยระบุ

ไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้งปี 2554 ที่ประชาธิปัตย์สะดุดขาตัวเองจากการบริหารราคาสินค้าแพงผิดพลาด และคนเสื้อแดงได้รับการอัดฉีดน้ำเลี้ยงเต็มที่ ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนน 265 ที่นั่ง ขณะที่ประชาธิปัตย์ (อภิสิทธิ์) ได้คะแนนเพียง 159 ที่นั่ง ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งน้องสาว “ปู” ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทยได้สำเร็จในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา

เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณมั่นใจ ว่าส่งใครลงเลือกตั้งก็ยังชนะ!

‘อำนาจ’ ชี้เป็นชี้ตาย ‘ทักษิณ’ คนเดียว!

ถึงวันนี้และขณะนี้เรียกได้ว่า อะไรก็ฉุดไม่อยู่ เพราะความรู้สึกของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าทำนอง “กูอยากได้อะไรกูได้หมด” เพราะฉะนั้น เพลง Let it be จึงกลายเป็น “ช่างแม่มัน” ตามที่ปรากฏตามสื่อในช่วงที่ผ่านมา

ด้วยความ “เชื่ออำนาจในตน” ของ พ.ต.ท.ทักษิณในทุกวันนี้ หากอยากชี้เป็นชี้ตายใครเวลานี้ก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง และเขาก็ทำให้เห็นแล้วจากการสลายกลุ่มก๊วน หรือสารพัดมุ้งต่างๆ ในพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยเป็นปัญหาอย่างมากในสมัยพรรคไทยรักไทย

โดย พ.ต.ท.ทักษิณใช้วิธีตั้งคีย์แมนในพรรค 4-5 คนที่ไว้ใจ ทั้ง ภูมิธรรม เวชชยชัย, พงศ์เทพ เทพกาญจนา, จาตุรนต์ ฉายแสง, นพดล ปัทมะ, วราเทพ รัตนากร เข้ามาเป็นมันสมอง คิด และสั่งการ ส.ส.ทุกคนในพรรคว่ากำลังจะเดินเกมการเมืองไปทางไหน

ขณะเดียวกัน เขาใช้วิธีให้หัวหน้าพรรค ซึ่งขณะนี้คือ ปลอดประสพ สุรัสวดี ตั้งโต๊ะกลางที่รัฐมนตรีทุกคนของพรรคจะต้องเอาโครงการมากองวางรวมกันในที่นี้ และมีการจัดสรรโครงการต่างๆ ลงพื้นที่ให้ ส.ส.อย่างเท่าเทียม ทำให้ระบบการเลี้ยงดูแบบกลุ่มก๊วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยปวดหัวเพราะคุมได้ยาก และมีข้อต่อรองอยู่ตลอดเวลา ได้หมดไป กลายเป็นมีเพียงกลุ่มก๊วนเดียวในพรรคเพื่อไทย คือ กลุ่มก๊วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ที่ควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต่างอะไรกับบริษัทชินวัตร! และเขาทำได้จริง เพราะกระแสสังคมโดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่เหนียวแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง ยิ่งเป็นตัวหนุนที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจและบารมีมากขึ้นไปอีก

111 มีค่าแค่สร้างผลงานดันน้องถึงฝั่ง

ดังนั้น แม้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะสามารถกลับเข้าสู่สนามการเมืองได้แล้วก็ตาม แต่ในสายตาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่ส่วนสำคัญนักที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง สิ่งเดียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณหวังจะใช้งานบ้านเลขที่ 111 ณ เวลานี้ จึงโฟกัสไปที่การสร้างผลงานให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นสำคัญ

“สิ่งเดียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะต้องรีบดำเนินการ ก็คือ ปรับเอามืออาชีพเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เร่งสร้างผลงานช่วยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก่อนครบ 1 ปีการบริหารงานของรัฐบาลในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้”

เพราะหากไม่รีบเร่งผลิตผลงาน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ก็มีแต่สั่นคลอนใกล้เพลี่ยงพล้ำ!

แต่การจะจัดการเรื่องพวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกลับประเทศไทยไม่ได้ และคุณหญิงพจมานเองนั้นต้องนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ ทุน คน และการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จในพรรคเพื่อไทยจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจในฐานะเบอร์ 3 ของพรรค รองมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเท่านั้น

และใครคือ “เบอร์ 3”? ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความไว้เนื้อเชื่อใจถึงขนาดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานไว้ใจสุดๆ

ส่วนผู้ที่ใกล้ชิดเท่านั้นจึงรู้ว่าเขาคนนี้คือผู้ที่มีอำนาจยิ่งกว่า ‘พี่น้องชินวัตร’ ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย!

แม้ว่าเขาจะทำตัว “โลว์โปรไฟล์” จนสมาชิกในพรรคเพื่อไทยหลายคนอาจมองข้ามเขาก็ตาม!
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น