xs
xsm
sm
md
lg

“คณิต ณ นคร” เปรียบ “ทักษิณ” บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมไม่ต่าง ‘ฮิตเลอร์’ กระหายสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณิต ณ นคร
ภาพความพยายามของบรรดานักกฎหมายตัวฉกาจที่เลือกยืนอยู่ข้างนักโทษชายทักษิณ เริ่มปรากฏชัดต่อสังคม ผ่านการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ทำคนผิดให้เป็นคนถูก ทั้งกล่าวอ้างหลอกลวงประชาชนว่าการบิดเบือนกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด คือหนทางที่จะนำประเทศชาติไปสู่การปรองดอง

ดังการรับหน้าที่ ‘หัวหมู่ทะลวงฟัน’ ของ ‘บิ๊กบัง’ หรือ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ที่มุ่งล้มล้างคดี คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ล้มคำพิพากษาของศาล เปลี่ยนคนผิดให้กลายเป็นถูก ผ่านการสวมหัวโขนเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีการลงมติโดยเสียงข้างมาก เห็นด้วยกับข้อเสนอตามรายงานวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอ ให้ “ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่นการทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน” และ “ให้เพิกถอนผลตามกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งโดยจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส.ในภายหลัง”

แม้ในเวลาต่อมา ทีมคณะวิจัยสร้างความปรองดอง สถาบันพระปกเกล้า จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สนธิ ว่าคณะวิจัยไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมากเห็นชอบให้ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทั้งการยกเลิกคดี คตส. กระนั้น การ ‘ออกตัว’ ของทีมวิจัย สถาบันพระปกเกล้าฯ ที่พยายามชี้แจงสังคมว่าไม่มีเอี่ยวในการช่วยล้มล้างความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณก็คล้ายจะไม่ได้รับความเชื่อถือนัก เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานการวิจัยนั้น ก็เห็นได้ชัดแจ้งว่ามีความพยายามในการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นผิด โดยเอ่ยอ้างคำว่า ‘ปรองดอง’ นำหน้า และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ารายงานจากสถาบันพระปกเกล้านั่นเอง ที่เป็นตัว ‘ชง’ ให้คณะกรรมาธิการฯ ปรองดองโดยการนำของบิ๊กบัง เด้งรับลูกเพื่อหวังล้มล้างความผิดให้นักโทษ

เมื่อสังคมกำลังง่อนแง่น ประเทศชาติไร้หลัก และกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ กฏหมายไม่ถูกปฏิบัติตาม การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาลยังถูกท้าทายจากอำนาจการเมืองเหมือนเช่นที่เคยเป็นมา

ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. หนึ่งในนักกฎหมายที่ยังเชื่อมั่นในหลักการของกระบวนการยุติธรรมอันเข้มแข็ง ถูกต้อง และชี้ชัดว่าผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก จึงถิอโอกาสเตือนสติสังคมให้หันมาตระหนักร่วมกัน ว่าความปรองดองที่แท้จริงนั้น มิใช่ได้มาด้วยการบิดเบือนกฎหมายหรือล้มล้างความผิดให้คนผิด

ตรงกันข้าม ความปรองดองและความสงบสุขในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักกฎหมายและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างซื่อตรง เคร่งครัด เพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษโดยไม่สยบยอมต่ออำนาจทางการเมือง หาไม่ ความพยายามในการบิดเบือนหลักกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมอ่อนปวกเปียก ไม่สามารถเอาผิดคนผิดได้นั้น ในที่สุดก็ไม่ต่างจากกระบวนการยุติธรรมของเยอรมันในยุคอดอฟ ฮิตเลอร์ ที่กฎหมายถูกบิดเบือน ศาลยอมหลับตาข้างเดียว จนปล่อยให้คนผิดอย่างฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจและนำโลกเข้าสู่สงครามแห่งหายนะในที่สุด

ทักษิณ-ฮิตเลอร์ ไม่ต่างกัน

“รากเหง้าของความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราในระยะหลังๆ หมายถึงช่วงหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว โดยส่วนใหญ่ก็เป็นคดีที่เกี่ยวกับคุณทักษิณนี่แหละ อย่างคดีเกี่ยวกับการซุกหุ้นนี่ผมถือว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ไม่ได้ยึดหลักกฏหมายในการตัดสินคดีนี้ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนคดี และเป็นที่มาของการใช้อำนาจเกินของเขต ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เราต้องนำเรื่องนี้ไปพูดให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อจะได้ร่วมกันผลักดันกระบวนการยุติธรรมให้เข้มแข็ง ซึ่งจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้

“ผมเปรียบเทียบ เหมือนคดีฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์เป็นคนออสเตรีย แล้วเขาก็เข้ามาอยู่ในบาวาเรีย ในเยอรมัน แล้วมาเป็นทหารรับจ้างของกองทัพบาวาเรีย ได้ไปรบจนได้เหรียญตรา จากนั้นฮิตเลอร์ก็ก่อกบฏ ก่อกบฏแล้วก็ถูกจับขึ้นศาล ซึ่งกฎหมายเยอรมัน ณ ตอนนั้น คนที่เป็นคนต่างด้าวที่ถูกลงโทษจะต้องถูกเนรเทศด้วย แต่ศาลเยอรมันขณะนั้นบอกว่าฮิตเลอร์ซึ่งมีความรู้สึกเป็นเยอรมันอย่างมาก ทั้งได้ประกอบคุณงามความดีจนได้เหรียญตรา จึงไม่ใช่คนต่างด้าว

เห็นไหมครับ บิดเบือนกฎหมายชัดเจน ผมเองก็เคยเขียนบทความว่า ถ้าศาลใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา ฮิตเลอร์ก็จะไม่ขึ้นสู่อำนาจ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะไม่เกิด มันก็เหมือนคดีเรานี่แหละ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจถูกต้องตามกฎหมาย คุณทักษิณก็จะถูกอัปเปหิออกไปจากอำนาจ ไม่ขึ้นสู่อำนาจ ไม่สร้างความเสียหาย มันอันเดียวกันเลยนะครับ ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย”

‘จุดอ่อน’ กระบวนการยุติธรรมไทย นักการเมืองชั่วยังลอยนวล!

“ในมุมมองของผม เรื่องกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมเป็นรื่องใหญ่ กระบวนการยุติธรรมของเรายังมีอะไรที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ เรามีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมครั้งแรกคือปี พ.ศ. 2540 จนกระทั่งวันนี้ เราก็ยังคิดว่าการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้นี่เป็นเรื่องใหญ่ ประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาทั้งด้านประชาธิปไตย รวมถึงเศรษฐกิจและการเมืองนั้น ประเทศเขาล้วนมีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็งทั้งสิ้น

“เช่น ในเอเชียก็มีตัวอย่างคือเกาหลีและญี่ปุ่น ดังนั้น เราเองก็จะต้องให้ความสนใจเรื่องนี้ให้มากหน่อย ผมคิดว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งมันจะสามารถป้องกันการยึดอำนาจได้ เพราะว่าทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจก็มักจะมีการอ้างเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน อย่างบ้านเรา เมื่ออ้างเรื่องนี้แล้ว มันก็ไม่ค่อยเกิดมรรคเกิดผล อย่างครั้งสุดท้ายที่มีการยึดอำนาจกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

“หรือที่มีการทุจริตกันเยอะที่สนามบินสุวรรรภูมิ ผมฟังๆ ข่าวดู ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือการทุจริตที่มีคนไทยเราไปเกี่ยวข้องกับอเมริกา ประเทศของเขา เขาลงโทษไปแล้ว แต่ของเราก็ยังเห็นเฉยๆ อยู่ นี่แหละที่ทำให้ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยเรา จะต้องมีการปรับแต่งกันให้ดีที่สุด เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งได้ รักษาความสงบเรียบร้อยได้ มีการบังคับใช้กฏหมายที่ดี การจะได้เห็นประชาธิปไตย ในบ้านเรา ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินควร”

กฎหมายต้องเข้มแข็ง ตราบใดที่คนยังไร้จิตสำนึก

เมื่อเป็นนักกฎหมายผู้เชื่อมั่นในหลักกฏหมายที่ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจนอกระบบ จึงไม่แปลกที่คณิตจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์เมื่อพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ หรือตรวจสอบการทำงานของศาล เขาก็ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพียงแต่ต้องทำตามหลักวิชาการ ตามหลักของเหตุและผล วิพากษ์กระบวนการ มิใช่มุ่งโจมตีตัวบุคคล

“โดยปกติศาลก็โดนตรวจสอบอยู่แล้ว คำพิพากษาของศาลเราก็สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วิจารณ์ตามหลักวิชาการ ไม่ใช่วิจารณ์ที่ตัวบุคคล ทำได้อยู่แล้วครับ ผมเองก็เคยเขียนบทความเรื่อง ‘หักดิบกฎหมาย’ ก็วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญตามหลักวิชาการ”

ครั้นถามว่าหากสังคมเราจะพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้แข็งแกร่ง ต้องเริ่มจากอะไรบ้างนั้น คณิตก็อธิบายว่า กระบวนการยุติธรรม ในสาขาทางอาญานั้น มีกฎการตรวจสอบความจริงสองชั้น คือชั้นเจ้าพนักงงาน และชั้นศาล

“ในชั้นศาลนั้น ประเด็นปัญหายังน้อยอยู่ แต่ในชั้นเจ้าพนักงานนี่ เรามีเจ้าพนักงานเยอะ เดิมที เราก็มีตำรวจ อัยการ ต่อมาเราก็มีดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) มีป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แล้วเรามีอะไรต่ออะไรอีกเยอะ ในชั้นเจ้าพนักงานเหล่านี้ ไม่ร่วมมือกันทำงาน ไม่มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีเอกภาพ มันก็ใช้อำนาจกันเกินขอบเขต เกินเลย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ถ้าเราสามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ดี ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็จะเบาบางลง”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยากจะปฏิเสธว่าต่อให้กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งสักแค่ไหน แต่ถ้าคนในสังคมเราไร้จริยธรรม สุดท้ายแล้ว กระบวนการยุตธรรมก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้? คณิต ตอบคำถามดังกล่าวด้วยมุมมองที่ว่า

“ผมเชื่อมั่นว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมมันดีแล้ว เราก็สามารถที่จะควบคุมคนได้ เพราะมันเป็นเรื่องยากถ้าเราจะไปหวังให้คนทุกคนเป็นคนดี ในหลวงท่านยังเคยพระราชทานพระราชดำรัสว่าไม่อาจจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่ต้องทำให้คนดีปกครองบ้านเมือง เราก็รับใส่เกล้าฯ แต่เราไม่ปฏิบัติตาม”

สังคมต้องร่วมตรวจสอบ ไม่เปิดช่องให้นักการเมืองโกงกินชาติ

แล้วต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน? สังคมเราจึงจะมีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง ที่ไม่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น คำตอบจากคณิตก็คือ “ผมคิดว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง สังคมเริ่มเรียนรู้อะไรมากขึ้น ผมว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากแล้ว ผมมองโลกในแง่ดีนะ ผมว่าคงไม่นานเกินรอหรอก ถ้าไม่ตายเสียก่อนคงได้เห็น”

ครั้นถามว่าตัวเขาเองมีความคิดเห็นอย่างไร? ต่อกรณีที่ทักษิณใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ หรือการที่ไม่ยอมมารับผิดจากคำตัดสินของศาล คณิตแสดงความเห็นว่า

“ก็นี่ไง ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมมันไม่เวิร์ค ถ้ากระบวนการยุติธรรมเวิร์ค มันก็ไม่มีปัญหา เหมือนอย่างประเทศอื่น อย่างนายทานากะที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลมากของประเทศญี่ปุ่น เขาก็ยังต้องจำคุกเมื่อศาลตัดสินว่าทุจริต หรือในเกาหลีก็มีอดีตนายกรัฐมนตรีกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเพราะเขาทุจริตคอร์รัปชั่น คือถ้ากระบวนการยุติธรรมของเราเข้มแข็ง ปัญหามันก็หมด”

เมื่อคณิตมุ่งให้ความสำคัญที่หลักกฏหมายและการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งเชื่อมั่นว่านั่นเป็นทางออกที่จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากความขัดแย้ง จึงอดถามไม่ได้ว่า แล้วความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดนี้ จะนับเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่หรือไม่?

“ผมว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรองนะ ในความรู้สึกผม มันจะแก้กันยังไง ถ้ากระบวนการยุติธรรมมันยังเป็นอย่างนี้ และผมบอกได้เลยว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมเรายังเป็นแบบนี้อยู่ เราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังที่สุดในเอเชีย ในขณะนี้ถ้าเราไปดูที่ฟิลิปปินส์ อดีตนายกรัฐมนตรีของเขาก็กำลังจะถูกจับเข้าคุก ส่วน ไต้หวันหรือสิงคโปร์นี่ไม่ต้องพูดถึง กฏหมายเข้มแข็งมาก ถ้าเรายังอยู่แบบนี้ อีกหน่อยเราจะแย่ที่สุดในโลกเลย แย่ที่สุดแน่นอน ต่างจากญี่ปุ่นที่เขาพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง ประชาธิปไตยมาได้ก็เพราะกระบวนการยุติธรรมเขาเข้มแข็งมาก และข้อดีของกระบวนการยุติธรรมนะครับ จริงๆ แล้ว ใช้งบประมาณน้อย แต่ใช้ความร่วมมือสูง เพราะฉะนั้น ในภาคของเจ้าพนักงานที่มีหลายหน่วยงานนะ ถ้าร่วมมือกัน ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ มันจะช่วยลดการใช้งบประมาณได้มาก และประสิทธิภาพก็จะตามมา”

นั่นอาจหมายความว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมในบ้านเราอ่อนแอ ไม่ก้าวหน้าไปไหน ก็เนื่องมาจากการทุจริตคอร์รัปชันนั่นเอง ในทางกลับกัน ก็อาจมองได้ว่าเพราะในสังคมของประเทศพัฒนาที่คณิตเอ่ยถึงนั้น คนของเขามีจิตสำนึกมากกว่านักการเมืองบ้านเราใช่หรือไม่?

คำตอบจากประธานคณะปฏิรูปกฎหมายผู้นี้ก็คือ “จิตสำนึกมันเป็นเรื่องที่จะไปเรียกร้องไม่ได้ แต่ถ้ากระบวนการตรวจสอบมันดี มันก็จะควบคุมคนได้ ส่วนเรื่องจิตสำนึกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องสร้างกันขึ้นมา แต่ในสังคมบ้านเรา มักจะบูชาคนยิ่งกว่าหลัก เพราะเหตุนั้น เราจึงต้องตื่นตัวกันไงครับ คนในสังคมทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนก็มีส่วนสำคัญ”

ท้ายที่สุด คณิตก็ยังคงย้ำอย่างหนักแน่นว่ากระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง ย่อมเป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยให้ต้านการทุจริตได้แน่นอน ทั้งไม่ลืมหยิบยกตัวอย่างสำคัญมาเอ่ยถึงอีกครั้ง

“คุณทานากะอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เขายังต้องติดคุกเพราะคดีทุจริต แต่บ้านเรามันไม่มีไง”


สิ่งที่บ้านเมืองเรา ‘ไม่มี’ ก็คือกระบวนการยุติธรรมที่ไร้ช่องโหว่ ทั้งเข้มแข็งและเอาจริงเอาจังมากพอที่จะกล้านำตัวคนผิดมารับผิด มิใช่ปล่อยให้ลอยนวลและกุมอำนาจจนเหิมเกริมกระทั่งคิดล้มล้างคดีทั้งหมดที่เป็นมลทินติดตัว!

กำลังโหลดความคิดเห็น