คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
และแล้วก็เป็นไปตามคาดหมาย นั่นคือ มีการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอีก 3 เดือน ด้วยข้ออ้างแบบเดิมๆ ว่า สถานการณ์ยังรุนแรง ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบพื้นที่ให้ตำรวจและปกครองเข้ารับผิดชอบ กองทัพ เชื่อว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน จะ “เอาไม่อยู่” เพราะแม้แต่กองทัพซึ่งขนกำลังพลมาจากกองทัพ ภาค 1-2 และ 3 ยัง “เอาไม่อยู่” กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
และการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในครั้งนี้มาพร้อมกับความ “เกรี้ยวกราด” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรสิทธิมนุษย์ชน และอื่นๆ ที่เรียกร้องให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีเหตุรุนแรง หรือยกเลิกทั้งหมด เพราะเห็นว่า 8 ปี ที่ กองทัพให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ แนวทางในการยุติปัญหาความรุนแรง แต่เป็นการสร้างปัญหาแทรกซ้อนมากมายให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกินเลยของเจ้าหน้าที่หลายต่อหลายเหตุการณ์
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทหารที่ทำผิดก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่มีการปกป้อง แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิกไม่ได้ เพราะฝ่ายตรงข้ามยังปฏิบัติการด้วยความรุนแรง เพราะที่จะนำปัญหาไปสู่ “โอไอซี” องค์การการประชุมอิสลาม หรือ Organization of Islamic Conference ไปสู่สหประชาชาติ ซึ่งนั่นเป็นมุมมองของผู้นำกองทัพที่มีต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
และท่าที่ดังกล่าวของกองทัพย่อมหมายถึงการสร้างกำลังทหารพราน เพื่อเข้ามาแทนที่กำลังทหารหลัก โดยจะมีการบรรจุกำลังทหารพรานจำนวน 7 กรม เข้ามารับผิดชอบกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
วันนี้ความคิดความเห็นของกองทัพในเรื่องของทหารพราน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทหารดำ” ระหว่างกองทัพกับประชาชนในพื้นที่มองกันคนละ “มิติ” และเรื่องของทหารพรานกำลังกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่งระหว่างกองทัพกับประชาชน หรือ “ชาวบ้าน” ในพื้นที่
กองทัพเห็นว่าการถอน “ทหารเขียว” หรือทหารประจำการ ซึ่งมาจากต่างถิ่น เช่น ทหารจากกองทัพภาค 1-2 และ 3 ซึ่งถูกต่อต้านจากชาวบ้านและองค์กรต่างๆ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่รู้ไม่เข้าใจในทุกเรื่องราวของ 3 จังหวัด เป็นเรื่องที่ถูกต้อง โดยจะส่งทหารพรานเข้ามาแทนที่
ซึ่งกองทัพ มีความเห็นว่า ทหารพรานเป็นคนในพื้นที่ คือ รับสมัครผู้ที่ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานในพื้นที่ เป็นลูกเป็นหลานของคนในพื้นที่ รู้จักพื้นที่ รู้ภาษา รู้ประเพณี วัฒนธรรม และที่สำคัญย่อมรู้ปัญหาและรู้จักคนในพื้นที่ได้มีว่าใครเป็นใคร
ดังนั้น ในการปฏิบัติการ ทั้งด้าน “การเมือง” และ “การทหาร” จะไม่อยู่ในสภาพ “ตาบอดคลำช้าง” เหมือนกับที่ผ่านมา ดังนั้น ในที่ออกมาพูดถึงการให้ถอนทหารพรานออกจากพื้นที่หรือไม่ เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารพรานในการ “ดับไฟใต้” ถูกถูกมองจากกองทัพด้วยสายตาที่เคลือบแคลง ซึ่งอาจจะอยู่ในข่ายผู้ไม่หวังดี หรือเป็น “แนวร่วม” ไปก็ได้
ส่วนทหารพรานที่มาจาก “มิติ” ของประชาชน หรือ ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งไม่มีต้องการให้ทหารพรานอยู่ในพื้นที่มาจากหลายกรณีด้วยกัน
1.ที่ผ่านมา หลายยุคหลายสมัยทหารพรานสร้างวีรกรรมที่เลวร้ายเอาไว้ในพื้นที่มากกว่าการสร้างวีรกรรมดี จนชาวบ้านส่วนใหญ่มีอคติกับทหารพราน และเห็นว่าเป็นทหารรับจ้างที่ไม่มีระเบียบวินัย ซึ่งไม่เหมาะที่จะเป็นกองกำลังที่เข้ามารับผิดชอบในพื้นที่
2.ทหารพรานที่สมัครเข้ามาและเดินแบกปืนอยู่ในพื้นที่ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ เป็นลูกเป็น หลานของคนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านรู้จักดี จึงรู้ว่าส่วนใหญ่ของทหารพรานเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่ดี เป็นผู้ติดยา ค้ายา เป็น นักเลงหัวไม้ เป็นโจรเป็นผู้มีอิทธิพล อยู่ในพื้นที่ไม่ได้มีโจทย์แยะ การเป็นทหารพรานจึงเป็นอีกหนึ่งทางรอด เพราะนอกจากมีเครื่องแบบ มีปืนไว้คุ้มครองตนเอง ยังมีเงินเดือนในการเลี้ยงชีพอีกด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นทหารพรานที่เป็นผู้รักชาติ เป็นผู้มีอุดมการณ์จะไม่มี เพราะส่วนหนึ่งที่เข้ามาเป็นทหารพราน เพราะต้องการรับใช้ชาติก็มีอยู่ แต่มีไม่มาก
วันนี้ ทหารพรานมีคดีที่ฉาวโฉ่เกิดขึ้นติดๆ กันหลายคดี เช่น คดียิงชาวบ้าน 4 ศพที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และมีการสร้างสถานการณ์ เพื่อให้ผู้บริสุทธิ์เป็นโจร, ทหารพรานยิงนักศึกษาเสียชีวิตที่ ต.ลำใหม่ จ.ยะลา ทหารพรานปล้นทรัพย์ชาวบ้านที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และล่าสุด ทหารพรานเป็นมือปืนรับจ้างยิงคนที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี หรือเรื่องอดีตทหารพรานเป็นผู้ยิงถล่มคนในมัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อดีตทหารพรานกราดยิงคนในร้ายน้ำชาที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา
สิ่งเหล่านี้ ได้กลายเป็นชนวนที่ทำให้ชาวบ้าน เชื่อว่า ทหารพรานไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้จะมาแก้ปัญหา แต่เป็นผู้ที่จะเข้ามาสร้างปัญหาให้กับพวกเขา และเรื่องราวความผิดพลาดที่ทหารพรานก่อขึ้น มากมาย เป็นเหมือนสิ่งที่ “ตอกย้ำ” ให้เห็นภาพของความเลวร้ายที่เกิดจากทหารพรานตลอดเวลา
ดังนั้น การที่กองทัพมองทหารพรานเพียงมิติเดียวของกองทัพ โดยไม่เคยรับฟังและรับรู้เรื่องราวของทหารพรานอีกมิติหนึ่งของคนในพื้นที่ จะกลายเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งของความรุนแรงครั้งใหม่ในพื้นที่ ซึ่งจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้ หากกองทัพยังดื้อดึงและไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทีของการแก้ปัญหาความไม่สงบ โดยไม่ฟังเสียงของชาวบ้าน
ซึ่งสุดท้าย สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต คือ การขับไล่ทหารพรานออกจากพื้นที่ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งบทเรียนเหล่านั้นกองทัพควรจะย้อนกลับไปทบทวนและเร่งแก้ไข ก่อนที่จะประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย และคนที่ได้ประโยชน์ ก็คือ ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นั่นเอง