xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.-ก.พลังงาน ‘พาร์ตเนอร์’ แห่งการเอาเปรียบและผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ยืนยันว่า กรณีกระทรวงการคลังเสนอให้เอากองทุนวายุภักษ์มาซื้อหุ้น ปตท.2% เพื่อลดสัดส่วนการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นเรื่องเร่งด่วน ยังมีเวลาศึกษาข้อดี ข้อเสีย อีกหนึ่งถึงสองปี คำยืนยันนี้จะจริงหรือไม่ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้แผนสงบสยบแรงต้าน พร้อมใช้อำนาจการเมืองผูกขาดเบ็ดเสร็จเร่งรัดแปลงสภาพปตท. ให้กลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบในชั่วพริบตา เช่นเดียวกับการออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ดันทุรังจนสำเร็จ รวมถึงกม.ปรองดองตามแผนนิรโทษกรรม “นายใหญ่” ที่รอยัดเข้าสภามัดมือชก

แม้ความพยายาม ในการแปรรูป ปตท. ให้พ้นจากสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่เปิดประเด็นโดย ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ( กยอ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง จะถูกสังคมต่อต้านอย่างหนัก จนทำให้รัฐบาลแสดงท่าทีไม่กล้าเสี่ยงเดินหน้าท้าทายกระแส แต่มองอีกมุม ก็อาจเป็นไปได้ว่า ‘ทีท่ารับฟังไม่แข็งขืน’ อาจเป็นไปเพื่อลดกระแสโจมตีที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบ พ.ร.ก. กู้เงินฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลยังให้คำตอบหรืออธิบายถึงความจำเป็นเร่งด่วนแก่สาธารณะชนได้ไม่กระจ่างนัก

แต่ไม่ว่าอย่างไร คนไทยทั้งประเทศก็ไม่ควรปล่อยให้มูลเหตุจูงใจและนัยเบื้องหลังในการมุ่งแปรรูป ปตท. ให้กลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มรูปแบบเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วผ่านเลยไปโดยไม่ตั้งคำถามต่อการกระทำอันไม่ชอบมาพากลนี้

เหตุใด จึงมีความพยายามผลักดัน ปตท. ให้กลายเป็นบริษัทมหาชน โดยกระทรวงการคลังจะโอนหุ้น 2 เปอร์เซ็นต์ให้กองทุนวายุภักษ์ถือครองทั้งที่กองทุนดังกล่าวจะหมดอายุในปี พ.ศ. 2556 , การขึ้นราคาก๊าซ NGV ก่อนหน้านี้มีความเกี่ยวพันหรือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแปรรูปด้วยหรือไม่, สิ่งใดคือมูลเหตุจูงใจให้เกิดการพยายามเล่นแร่แปรธาตุตัวเลขหนี้ โดยใช้การลดหนี้ของปตท. มาเป็นข้ออ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริง ตัวเลขหนี้เหล่านั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีความเสี่ยง

จริงหรือไม่ ที่ทรัพยากรทางพลังงานในอ่าวไทย กำลังส่งกลิ่นหอมหวนยั่วน้ำลายบรรดานักธุรกิจการเมืองเป็นอย่างยิ่ง จนต้องพยายามทุกรูปแบบเพื่อให้มีการแปรรูป อันเป็นช่องทางให้ผู้คิดคดนำทรัพยากรชาติไปเป็นสมบัติของตนจะได้มีสิทธิ์ถือครองอย่างเต็มตัว

ก่อนที่สมบัติของแผ่นดินอย่างทองคำสีดำซึ่งก็คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของอันชอบธรรมจะถูกฉ้อโกงและหยิบฉวยไปมากกว่านี้ สังคมต้องร่วมกันสืบสาวถึงความไม่ชอบมาพากลของ ปตท.ที่ล้วนผูกโยงแนบแน่นกับกระทรวงพลังงานอย่างตัดไม่ขาด ไม่ว่าการหมกเม็ด เอาเปรียบผู้บริโภค การดำเนินธุรกิจอย่างไร้ธรรมาภิบาลโดยมีรัฐสนับสนุน ก่อเกิดแนวทาง ‘ทุนครอบงำนโยบายรัฐ’ อย่างเต็มรูปแบบ

วันนี้ จึงถึงเวลาที่ประชาชนคนไทยจะต้องรู้เท่าทันปตท. ,กระทรวงพลังงาน และบรรดานักธุรกิจการเมืองที่กำลังจ้อง ‘ฮุบ’ รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ แม้ยังทำไม่ได้ในเร็ววัน แต่คงอีกไม่นานเกินรอ หากสังคมยังเพิกเฉยต่อการคอรัปชั่นระดับ ‘กลืนกินทรัพยากรของชาติ’ จนหมดไส้หมดพุง 

ขุมทรัพย์อ่าวไทย แหล่งปิโตรเลียมคุณภาพเยี่ยมที่สุดของโลก

เมื่อปตท. เป็นธุรกิจที่มีกำไรมหาศาลและมียอดขายเกินหนึ่งล้านล้านบาทต่อปี จึงไม่แปลกที่จะมีพรรคการเมืองพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผ่านช่องทางสำคัญอย่างกระทรวงพลังงาน ไม่ต่างจากวันนี้ที่ผู้กุมบังเหียนในกระทรวงพลังงาน ก็คืออดีตขุมพลสำคัญแห่งชินคอร์ป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแวดวงการเมืองล้วนมองกระทรวงพลังงานด้วยแววตาหิวกระหาย ไม่ใช่กระทรวงเล็กกระทรวงน้อยที่ไร้ผลประโยชน์ให้สูบกิน

ตรงกันข้าม การนั่งเก้าอี้กระทรวงนี้เปรียบเสมือนหุ้นส่วนคนสำคัญที่มีเอี่ยวกับเจ้าของบ่อทองคำก็ว่าได้ ซึ่งการเปรียบเปรยที่ว่านั้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแม้แต่น้อย ดังข้อมูลที่อดีตวิศวกรวางท่อส่งน้ำมัน ผู้เคยสัมผัสใกล้ชิดและรู้ตื้นลึกหนาบางในการดำเนินธุรกิจของปตท. เป็นอย่างดี วิเคราะห์ถึงปัจจัยอันส่งผลให้ธุรกิจพลังงานของไทยเป็นที่หมายปอง

“ถ้าเราไปดูข้อมูลการวิจัยของต่างประเทศ ณ ตอนนี้ เช่น ข้อมูลใน ciafactbook.com ของอเมริกา หรือ tapismalaysia ซึ่งเป็นข้อมูลพลังงานของไทยที่มาเลเซียกำลังสนใจ ข้อมูลจำนวนมากเหล่านั้นได้ชี้ชัดว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภูมิภาคนี้มีความสำคัญและจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในยุคหลัง เรามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในการหาทรัพยากร ซึ่งพบว่าอัตราการขุดเจาะแล้วเจอนั้น มีสูงมากในอ่าวไทย ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งน้ำมันที่ดีที่สุดในโลกและแพงที่สุดในโลกก็อยู่ในอ่าวไทยนี่เอง ขณะที่มาเลเซียเขามีแหล่งน้ำมันที่อ่าวคาพิส อยู่ในรัฐตรังกานู เลยออกไปประมาณ 200 กิโลเมตรจากอ่าวไทย ซึ่งตรังกานูก็อยู่ใกล้ๆ กับปัตตานี แล้วปัตตานีก็อยู่ในอ่าวไทย น้ำมันดีๆ จึงอยู่ในอ่าวไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นน้ำมันที่เบา กลั่นง่าย ได้เบนซินเยอะ มีกำมะถันต่ำ จึงมีราคาสูงกว่าน้ำมันดูไบถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันคุณภาพดีที่สุดอยู่ที่นี่ทั้งนั้น

“ตอนนี้ผู้รู้ทางพลังงานเขารู้กันหมดแล้วว่าดินแดนแถวนี้มันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางพลังงาน ซึ่งถ้าถามว่าพรรคการเมืองต่างๆ เขามองเห็นไหม? ผมว่าเขาเห็นแล้วล่ะ แล้วทุกคนก็พยายามที่จะเข้ามาเล่นเกมนี้ ดังนั้น คนไทยต้องรับรู้ข้อมูลให้มากขึ้นว่าตรงนี้คือแผ่นดินทองจริงๆ แต่ทรัพย์สินเหล่านี้มันไม่ได้ไหลมาสู่ประชาชนคนไทยเท่านั้นเอง เพราะมีอำนาจทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ”
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความพร้อมร่วมงานและพร้อมดำเนินการตามนโยบายนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน คนใหม่
ปตท. กับ กระทรวงพลังงาน ‘พาร์ตเนอร์’ แห่งการเอาเปรียบและผูกขาด

เดิมที ปตท. เป็นองค์กรของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ปตท. จึงมีสิทธิพิเศษเหนือองค์กรทั่วไป เช่น สิทธิที่ถือหุ้นมีโรงกลั่นหลายๆ โรงได้พร้อมกัน ซึ่งโรงกลั่นแต่ละโรงนั้น มีกำลังการผลิตเกิน 100,000 บาเรลต่อวัน โดยโรงกลั่นที่มีกำลังการผลิตในปริมาณดังกล่าวนั้น ในไทยมีอยู่ 6 โรงด้วยกัน โดยมี 1โรงเป็นของเอสโซ่ และอีก 5 โรง เป็นของ ปตท.

ในการควบคุมบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ แค่เพียงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด ก็สามารถแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ แต่งตั้งประธานกรรมการบริหารได้ เพราะฉะนั้น ปตท. ที่ถือหุ้นใน 5 โรงกลั่น จึงควบคุมโรงกลั่นได้ทั้งหมด และจะตั้งราคาอย่างไรก็ได้ สามารถกำหนดหรือชี้วัดความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปในเมืองไทย ปรับราคาขึ้นได้ตามใจชอบ นั่นคือสิทธิพิเศษซึ่งคนอื่นทำไม่ได้ เพราะผิดกฏหมายเรื่องการแข่งขันทางการค้า แต่ ปตท. ทำได้ เนื่องจากยังมีความเป็น ‘รัฐ’ อุ้มอยู่

นอกจากนั้น ปตท. ค่อนข้างจะได้เปรียบเรื่องการขนส่งก๊าซและผูกขาดท่อส่งก๊าซต่างๆ นับตั้งแต่ปากหลุมขุดเจาะไปจนถึงโรงแยกก๊าซ กระทั่งถึงโรงงานต่างๆ ที่ใช้ก๊าซ และด้วยความเป็นรัฐ ปตท. ก็ผูกขาดการขนส่งได้อีกเช่นกัน ซึ่งนับเป็นข้อเสียอย่างยิ่ง เพราะเมื่อ ปตท. ผูกขาดท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซก็ไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะวัตถุดิบไม่พอแต่เพราะไม่มีใครคิดจะสร้างโรงแยกก๊าซ เนื่องจากไม่มีใครอื่นที่มีท่อส่งก๊าซมาจากทะเล เพราะปตท.ผูกขาดมาตั้งแต่ต้น

การผูกขาดและเอาเปรียบประชาชนที่อดีตวิศวกรด้านธุรกิจพลังงานวิเคราะห์นั้น สอดคล้องกับข้อมูลบางส่วนในสำนวนคำฟ้องที่มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินและพวกรวม 6 คน ยื่นต่อศาลปกครอง ให้ดำเนินคดีต่อ บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน) และ กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ศาลทวงคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาจากอำนาจมหาชนของรัฐ และขอให้เพิกถอนใบหุ้นและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้มาโดยวิธีฉ้อฉล

ซึ่งในสำนวนที่มีความยาวราว 30 หน้านั้น มีตอนหนึ่งระบุว่า

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ( บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยควบคุมตั้งแต่ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โรงแยกก๊าซธรรมชาติ จนถึงการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( แอลพีจี) และก๊าซเอ็นจีวี โดยก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชนทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการในเครือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี…

การกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีปีละกว่า 400,000 ตัน ก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาสูงกว่าที่ผลิตภายในประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ขอให้รัฐชดเชยค่าก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากเงินกองทุนน้ำมันที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้รับภาระ แต่ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการในเครือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีจากเงินกองทุนน้ำมัน ที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้จ่าย คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่มีหน้าที่ในการดูแลกองทุนน้ำมัน เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยินยอมให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเครือของผู้ถูกฟ้องดีที่ 1 ได้ประโยชน์จากก๊าซแอลพีจี ในราคาอิงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งต่ำกว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลก โดยไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งที่ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จึงเท่ากับว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเครื่อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนเสียประโยชน์ โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเครือของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 สามารถซื้อก๊าซแอลพีจีได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก และนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์อื่นขายให้ประชาชนและส่งออกในราคาตลาดโลก ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำนี้ และผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้รับภาระ…

นอกจากนั้น การผูกขาดธุรกิจพลังงานโดย ปตท. ยังลุกลามบานปลายมาถึงการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีอย่างไม่เป็นธรรมด้วย เนื่องจากในความเป็นจริง ราคาของก๊าซเอ็นจีวีหรือก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ตามข้อมูลที่ปรากฏใน Nymex naturalgas price graph นั้น ก๊าซเอ็นจีวีมีราคาอยู่ที่สองบาทกว่าต่อกิโลกรัม ข้อมูลของไนเม็กซ์แสดงให้เห็นว่าปริมาณก๊าซหนึ่งล้านบีทียู ราคา สองเหรียญหรือสองดอลล่าร์กว่า ซึ่งหนึ่งล้านบีทียูก็คือยี่สิบแปดกิโลกรัม เมื่อนำยี่สิบแปดกิโลกรัมหารสองเหรียญกว่า ก็มีค่าเท่ากับสองบาทกว่าเท่านั้น

“แต่ทุกวันนี้ ปตท. ใช้ราคา 14-15 บาทขายประชาชนแล้วบอกว่านี่เป็นต้นทุนที่แท้จริง ไม่มีบริษัทเอกชนที่ไหนเขาทำได้ อยู่ดีๆ เอกชนผลิตอะไรที่ไม่มีประสิทธิภาพแต่ใช้ต้นทุนสูง แล้วไปขายประชาชน ไปผลักภาระให้ประชาชนนี่ไม่มีทางทำได้ แต่ที่ปตท. ทำได้นี่เพราะรัฐออกหน้าแทนตลอด กระทรวงพลังงานออกหน้าแทนตลอด รัฐมนตรีกกระทรวงพลังงานออกหน้าแทนตลอด เพราะเขาเป็นของรัฐ

“วันนี้ เมื่อได้ขึ้นราคาเสร็จสมอารมณ์หมายแล้วจะเปลี่ยนเป็นเอกชน ก็หมายความว่าเขาได้ใช้สิทธิของรัฐไปเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ผูกขาดท่อส่ง ตั้งแต่ขึ้นราคากาซเอ็นจีวีโดยอ้างว่าต้นทุนสูง ซึ่งในความเป็นจริงบอกได้เลยในตลาดโลก ใครผลิตด้วยต้นทุนสูงเจ๊งหมด เพราะเมื่อไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ เขาก็จะหันไปหาคนที่ผลิตได้ถูกกว่า ขณะที่ในเมืองไทย เมื่อปตท. เป็นเพียงผู้ผลิตรายเดียว จะขายในราคาต้นทุนซึ่งเป็นต้นทุนไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ รัฐก็ยอม ทั้งที่ในอเมริกา ราคาก๊าซยี่สิบแปดกิโลกรัมต่อสองเหรียญ เขาบอกกำไร แต่ในไทยบอกว่าต้องขึ้นราคาเป็น 14-15 บาทจึงจะคุ้มทุน”

จริงอยู่ ที่ความเป็นรัฐทำให้ผู้บริโภครับภาระค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจะเปลี่ยนเป็นเอกชน สิทธิพิเศษนานัปการที่ ปตท. ได้รับ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘อ้อยเข้าปากช้าง’ นั้น ปตท. ย่อมไม่ยอมคายออกมาง่ายๆ

“เมื่อนำเอาสิทธิพิเศษของรัฐไปมอบให้บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจและกำลังจะเป็นเอกชน สิทธิพิเศษหรือสิ่งที่เขากินเข้าไปแล้วนั้น ไม่เชื่อว่าเขาจะคืน เพราะราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ปรับตัวสูง เขาก็ได้ไปแล้ว ผูกขาดท่อ ผูกขาดโรงกลั่นก็ทำได้แล้ว เป็นการผูกขาดเบ็ดเสร็จ หรือแม้แต่การซื้อแก๊ส ไม่มีวันที่จะซื้อแก๊สจากปากหลุมของผู้ที่ผลิตถูกที่สุดได้ เพราะท่อแก๊สก็เป็นของปตท. ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีหลุมแก๊สหนึ่ง ‘บริษัทเอ’ ผลิตได้ในราคาต่ำกว่าปตท. อยากขายให้ “บริษัทบี” ในราคาถูก แต่ไม่มีทางทำได้เลย เพราะ ‘บริษัทเอ’ ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะนี้เขาต้องขายให้กับปตท.ก่อน เพราะปตท.ผูกขาดท่อแก๊ส เขาต้องขายให้ปตท. แล้วปตท.ก็ต้องกินค่าหัวคิวให้เสร็จสรรพก่อน จึงไปขายต่อให้ “บริษัทบี” ในราคาสูง

“ถามว่า เราจะยกบริษัทที่ผูกขาดขนาดนี้ให้กลายเป็นเอกชนไปเลยงั้นหรือ? มันเป็นเรื่องอันตรายมากๆ ดังนั้น จริงๆ แล้วเราต้องถอยหลังกลับ ต้องกลับมาอีกด้านหนึ่งเลย นั่นคือ ปตท. ควรต้องกลับมาเป็นของรัฐด้วยซ้ำไป เพราะตราบใดที่ปตท.ยังสนุกสนานกับการมีอำนาจผูกขาดทั้งโรงกลั่น ทั้งการกำหนดราคาต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้นทุนในตลาดโลกราคาอยู่ที่สองบาท แต่คุณกลับบอกว่าราคา 14 บาท โดยที่รัฐออกหน้า กระทรวงพลังงานออกหน้าแทน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานออกหน้าแทน ถ้าเป็นบริษัทเอกชนบอกแบบนี้ คิดว่ารัฐจะออกหน้าแทนหรือ ตรงกันข้าม คงไปตรวจสอบกันใหญ่เลย ว่าทำไมมันแพงขนาดนี้”

เพราะฉะนั้น ในความเห็นของอดีตวิศวกรผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจพลังงานผู้นี้ จึงมองว่าการแปรรูปหรือการขายหุ้น ปตท. ออกไป 2 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้การผูกขาดเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น ดังนั้น สิ่งที่เหมาะสมก็คือ เราควรจะทำให้ปตท. คืนกลับมาเป็นของรัฐ หรือหากยังต้องการแปรรูปให้เป็นเอกชนอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล ปตท. ก็ควรจะคืนสิทธิคืนอำนาจทั้งหมดแก่รัฐ เช่นไม่ควรผูกขาดโรงกลั่นถึง 5 โรง ควรมีสิทธิ์ถือครองได้เพียงแค่โรงเดียว เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี หรือแม้แต่เรื่องท่อแก๊สก็ควรต้องเป็นของหลวง ท่อแก๊สต้องเปรียบเสมือซุปเปอร์ไฮเวย์ ที่ไม่ว่ารถยี่ห้อไหน คันไหนๆ ก็วิ่งได้ ประชาชนคนไหนก็ใช้บริการได้ แต่ทุกวันนี้ ปตท. ผูกขาดทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ไม่มีใครตั้งโรงแยกแก๊ส เพราะไม่มีท่อส่งแก๊ส ทั้งที่ทุกวันนี้ แก๊สในอ่าวไทยมีการผลิตติดอันดับต้นๆ ของโลก”

ขยะเน่าเหม็น เรื่องหมกเม็ดในปตท

ในความเห็นของอดีตวิศวกรที่ ‘คลุกวงใน’ ธุรกิจพลังงานมาช้านานผู้นี้ สิ่งซึ่งน่าเป็นห่วงของประเทศไทยก็คือการเมืองเรายังไม่ก้าวไปสู่จุดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจการเมือง และเมื่อเป็นธุรกิจนั่นหมายความว่ามันย่อมเกี่ยวพันกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพรรค มิใช่ต่อประชาชน ดังนั้น ตราบใดที่การเมืองของเรายังเป็นอยู่เช่นนี้ เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวพันกับนโยบาย จึงมักหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ ที่เกี่ยวพันกับคำว่า ‘ผลประโยชน์’ ซึ่งในปตท. ก็มีสิ่งที่หมกเม็ดไว้หลายเรื่อง และตราบใดที่ยังไม่ก้าวสู่การเป็นเอกชนเต็มตัว ตราบนั้นสถานะของความเป็นรัฐ ก็จะยังคงปกป้อง ‘ขยะหมกเม็ด’ เหล่านั้นได้ดีอยู่

“สิ่งที่หมกเม็ดนั้นก็อย่างเช่นเรื่องก๊าซเอ็นจีวี ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนครอบงำนโยบายแห่งรัฐ’ เพราะในความเป็นจริง ก๊าซเอ็นจีวีที่ผลิตจากหลุมก๊าซในอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยนั้น มีความบริสุทธิ์มาก คือมี ‘มีเทน’ สูงถึง 90 กว่าเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ก๊าซซึ่งได้จากทะเลมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ถ้าคุณไปเติมก๊าซที่ภาคอีสานนะ รถวิ่งได้เร็วฉิวเลย ซึ่งในมาตรฐานโลก เขาระบุไว้เลยว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในก๊าซเอ็นจีวีนั้น ต้องมีได้แค่ 0-3 เปอร์เซ็นต์

“แต่ในประเทศไทย กระทรวงพลังงานได้ออกกฏระเบียบมาว่า ให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 18 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ก๊าซทางอิสานซึ่งเป็นก๊าซคุณภาพดีเกือบจะเป็นมีเทนร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใส่ได้ 18 เปอร์เซ็นต์ เขาปรับมาตรฐานให้ต่ำลงมาเท่ากัน ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งที่ถูกต้องและควรทำคือ ควรจะปรับมาตรฐานที่ต่ำให้สูงขึ้น พยายามทำให้มีมีเทนเพิ่มมากขึ้น แทนคาร์บอนไดออกไซด์ แต่กระทรวงพลังงานกลับออกกฏให้นำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใส่ ดังนั้น ถ้าคุณเติมก๊าซเอ็นจีวีในถังไปร้อยกิโล คุณจะได้ก๊าซจริงๆ ไปแค่ 82 เปอร์เซ็นต์ อีก 18 เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่คุณกลับต้องจ่ายเงินในราคาเอ็นจีวี และคนที่ต้องจ่ายคือประชาชน ที่ต้องจ่ายถึงกิโลกรัมละ 14-15 เสมือนว่ามันเป็นก๊าซที่มีพลังงานอยู่เต็ม ทั้งที่จริงๆ แล้ว คาร์บอนไดออกไซด์มันเป็นก๊าซเสีย

“การที่กระทรวงพลังงานออกกฏแบบนี้ ก็คือการเอาเปรียบผู้บริโภค คือการขายขยะในราคาเอ็นจีวี ควรจะถูกฟ้องด้วยซ้ำไป และที่สำคัญก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เป็นก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก แต่บริษัทกลับประกาศตัวว่าตัวเองมีธรรมาภิบาล ปลูกป่าเยอะๆ ทั้งที่การปลูกป่าของเขาทั้งหมด ยังไม่อาจทดแทนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เขาใส่ลงไปในก๊าซเอ็นจีวี รวมถึงการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ปรับขึ้นสวนทางกับตลาดโลก ต้องมีคำถามกลับไปว่า กระทรวงพลังงานมีอะไรกับปตท. หรือเปล่า ทำไมเห็นกราฟราคาก๊าซในตลาดโลกดิ่งลงเหวแล้วยังยอมให้ปตท. ขึ้นราคา การขึ้นราคาก๊าซสวนทางตลาดโลกนั้น เรื่องนี้มีเงื่อนงำ มันไม่โปร่งใส เมื่อ ปตท. อ้างข้อมูลลอยๆ แล้วปลัดกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็เชื่อ โดยไม่เปิดกราฟตลาดโลกดูเลยงั้นหรือ นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เชื่อว่า ปตท. หรือรัฐ โดยข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองเองนั้น ไม่โปร่งใส
 
"แล้วก็คงตอบคำถามไม่ได้หรอกว่าทำไมจึงขึ้นราคาสูงถึง 14 บาท การที่เขาให้เหตุผลว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงนั้น ลองเปรียบเทียบกัน ถ้ามีแม่บ้าน 2 คน คนหนึ่งขี่จักรยานไปซื้อหมู อีกคนนั่งโรสลอยด์ไปซื้อหมู ถามว่าเป็นต้นทุนจริงไหม? คำตอบคือ เป็นต้นทุนจริงทั้ง 2 กรณี แต่เป็นต้นทุนที่มีประสิทธิภาพงั้นหรือ คำถามก็คือ ขณะที่อเมริกาขายก๊าซเอ็นจีวีได้ในราคาสองบาทต่อกิโลกรัม แต่ทำไมประเทศไทยกลับต้องขายต้องในราคาสูงถึง 15 บาท ทั้งที่ขุดในอ่าวไทย หากเป็นเช่นนี้กระทรวงพลังงานมีปัญหาแล้ว

“นี่เป็นผลของการที่เราปล่อยให้บริษัทหนึ่งมีขนาดใหญ่มากจนสามารถครอบงำนโยบายรัฐได้ การที่ก๊าซเอ็นจีวีมีขายอยู่เจ้าเดียว แล้วรัฐก็รับประกัน ทั้งยังปล่อยให้มีการผูกขาดด้วย เหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าต้องเป็นการแข่งขันเสรี แต่นี่เป็นการผูกขาด ผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน”

เงื่อนงำมากมายเกี่ยวกับปตท. ที่ประชาชนต้องคอยติดตามและตรวจสอบ อาจส่งผลให้ ‘ระหว่างทาง’ ของการแปรรูปเป็นเอกชน ต้องเสี่ยงต่อการถูกขุดคุ้ยถึงเรื่องหมกเม็ดต่างๆ ดังนั้น หากมองในอีกแง่หนึ่งแล้ว คนปตท. ก็อาจไม่ปรารถนาที่จะก้าวสู้การเป็นเอกชนนัก ต่างจากความต้องการของกลุ่มทุนทางการเมืองที่มีความพยายามผลักดันให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก้าวสู่ความเป็นบริษัทเอกชนที่ผูกขาดธุรกิจพลังงานอย่างเบ็ดเสร็จในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า
 
*หมายเหตุ  ผู้สนใจข้อมูลกราฟราคาก๊าซเอ็นจีวีในตลาดโลก ( Nymex naturalgas price)  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://www.wtrg.com/daily/gasprice.html
สำหรับข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/th.html
ส่วนผู้สนใจรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ที่ระบุถึงคุณภาพน้ำมันในอ่าวทาพิสของมาเลเซีย ซึ่งเป็นน่านน้ำที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย คลิกอ่านข้อมูลได้ที่
http://translate.google.co.th/translate?hl=th&sl=th&tl=en&u=http%3A%2F%2Fwww.bloomberg.com%2Fapps%2Fnews%3Fpid%3Dnewsarchive%26sid%3DaQ6JH.w5UlNY%26refer%3Denergy
 
กำลังโหลดความคิดเห็น