“กรณ์” อัดรัฐบาลปิดปากฝ่ายค้านตั้งกระทู้ ปตท. ตอกย้ำเป้าหมายขุมทรัพย์รายใหม่ “แม้ว” อยู่ที่พลังงาน
วันที่ 2 ก.พ.ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง แถลงว่า จากที่ตนไม่สามารถตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ เรื่องการให้กองทุนวายุภักษ์เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท ปตท. ถือเป็นการทำให้ประชาชนเสียโอกาสได้รับคำชี้แจงจากรัฐบาลในการตั้งใจขายหุ้น ปตท.ให้กับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน ทั้งที่ประเด็นสำคัญประชาชนกำลังเดือดร้อนจากค่าครองชีพ สินค้าราคาแพง ซึ่งราคาพลังงงานถือเป็นตัวที่จะทำให้สินค้าราคาแพงถึง 10% จึงอยากถามว่าทำไมรัฐบาลถึงมีนโยบายเช่นนี้ ทำไมจึงไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีได้เหมือนรัฐบาลก่อน
นายกรณ์กล่าวว่า จากข่าวที่รัฐบาลต้องกาแปรรูปบริษัท ปตท.ถือเป็นการทำตามคำขอของ ปตท.ในการปลดล็อกเงื่อนไขให้ ปตท.ทำกำไรได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อผลสำรวจ ประชาชน 80% ไม่เห็นด้วย รัฐบาลจึงเงียบไป จากสภาพปัจจุบันรัฐบาลยังแทรกแซง ปตท.ให้ดูแลประชาชนได้ต่อไปแต่ทำไมรัฐบาลจึงเลี่ยงที่จะตอบกระทู้นี้
แต่เหตุผลหลักที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงตอบกระทู้นี้เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการขายหุ้น ปตท.ซึ่งไม่ใช่การปลดล็อกหนี้สาธารณะตามที่อ้างแต่อย่างไร เพราะ ปตท.สามารถชำระหนี้ด้วยตัวเองไม่เป็นภาระของงบประมาณประเทศ แต่สาเหตุที่แท้จริง คือ ขณะนี้พรรคเพื่อไทย และตระกูลชินวัตรกลับเข้ามามีอำนาจ มีอะไรเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมพลังงงาน อันดับแรก คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายฯ หันมาสนใจลงทุนอุตสาหกรรมเช่น แร่ถ่านหินในแอฟริกาใต้ซึ่งกำลังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ หรือการเจรจากับประเทศต่างๆ โดยใช้สถานประเทศอะไรก็ไม่ทราบ ไม่ว่าจะเป็นเขมร หรือพม่า ล่าสุดที่ออกมาโอ้อวดเองว่ามีการประสานกับประเทศเลบานอนในเรื่องการลงทุนพลังงาน
“เป็นสัญญาณชัดเจนว่าเป้าหมายในการสร้างขุมทรัพย์ขุมใหม่ของทักษิณอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานนี้เอง ซึ่งสอดคล้องกับการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้เข้ามามีอำนาจหน้าที่ในการดูแลด้านพลังงาน ในส่วนที่เป็นของรัฐ เช่นการแต่งตั้งอดีตผู้บริหารสูงสุดในเครือไทยคม เครือกลุ่มชินฯ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือก่อนหน้านั้นในเดือน ต.ค. 2554 มีการแต่งตั้งอดีผู้บริหารของบริษัทเอไอเอส ซึ่งอยู่ในกลุ่มชินฯ เช่นเดียวกัน ที่เป็นลูกน้องเก่าคนสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้มาเป็นกรรมการของบริษัท ปตท. ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีบริษัทของคนในกลุ่มชินฯ เข้ามาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในกระทรวงพลังงาน จึงสามารถสรุปได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในส่วนฝ่ายรัฐและกลไกของรัฐ คือ ปตท.” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวอีกว่า นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเขาจึงปลดล็อกแปรสภาพ ปตท.จากวิสาหกิจเป็น เพราะเมื่อรัฐบาลถือหุ้น ปตท.49% หลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป อันดับแรก ปตท.ในอนาคตจะลงทุนอะไรก็ไม่จำเป็นต้องเสนอแผนลงทุนต่อสภาพัฒน์ และ ครม.เหมือนเช่นปัจจุบัน 2. อนาคต ปตท.จะขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับใครก็ไม่ต้องขอมติจาก ครม. 3. เมื่อหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารและกรรมการบริษัท ปตท. ก็หลุดพ้นจากข่ายการดูแลของศาลปกครอง หลุดพ้นจาก ป.ป.ช. และคดีต่างๆ ก็จะหลุดพ้นจากการเป็นคดีอาญา
4. บัญชีและงบการเงินของ ปตท.ก็จะหลุดพ้นจากการตรวจสอบของ ปตท.ทั้งหมดจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลด้ขายหุ้น ปตท.ไให้กับกองทุนวายุภักษ์ และแปรสภาพ ปตท.จากรัฐวิสาหกิจมาเป็นเอกชน ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มเกิดขึ้นแล้ว อำนาจก็จะอยู่ในมือของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่แล้วผ่านกระทรวงพลังงาน ปตท. และ พ.ต.ท.ทักษิณก็สามารถซื้อรวบรวมหุ้นที่มีอยู่ในตลาดมาเป็นของตัวเองได้ โดยจะไม่มีกลไกของรัฐใดๆ จะฉุดรั้ง นโยบายในการตัดสินใจใดๆ ของ ปตท.ในเรื่องต่างๆ ในอนาคตก็จะส่งผลให้ผู้ที่มาครอบงำ ปตท.สามารถใช้อำนาจผูกขาดที่ ปตท.มีอยู่ โดยอำนาจผูกขาดนั้นก็จะตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของบริษัท โดยรัฐบาลไม่สามารถ หรือไม่มีสิทธิเข้าไปแทรกแซงใดๆ อย่างที่ทำได้ในปัจจุบันได้ ในที่สุดคนที่รับเคราะห์จากการแปรรูปครั้งนี้คือประชาชนคนทั้งประเทศ
นายกรณ์กล่าวว่า ทั้งนี้ เริ่มสัมผัสได้แล้วจากการเริ่มลอยตัวราคาแก๊ส การจัดเก็บค่าธรรมเนียมกองทุนน้ำมัน สัญญาว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน หรือจากนโยบายช่วย ปตท.โดยการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ซึ่ง ปตท.เป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด จากนโยบายนี้ สามารถประหยัดเงินภาษีที่รัฐควรจะได้กว่า 6 พันล้านบาทต่อปี หรือจากนโยบายการยกเลิกการใช้ไฟฟ้าฟรี ที่ช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อย 4 ล้านครัวเรือน ก็เอื้อประโยชน์ต่อ ปตท. ทุกๆ อย่างที่รัฐบาลทำจึงมองได้ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อรองรับการแปรรูป ปตท. และการครอบงำ ปตท.อย่างสมบูรณ์แบบ ตนจึงจำเป็นต้องมาแถลงข่าวเตือนต่อสังคม เพราะถูกปิดปากจากสภา โดยประธานสภา ทั้งที่ควรจะปกป้องผลประโยชน์สิทธิของประชาชน แต่ประธานและ ส.ส.เพื่อไทยกลับเลือกที่จะปกป้องการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยการปิดปากฝ่ายค้านที่จะตั้งคำถามในกระทู้ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องให้คำตอบที่ชัดเจนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยื่นถามกระทู้ถามนี้ในสัปดาห์หน้าต่อไปหรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า สาเหตุที่ตนเลือกลงมาแถลงข่าวผ่านพี่น้องประชาชน เพราะคิดว่าเรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าครองชีพ ซึ่งตนจะพิจารณาอีกครั้ง แต่ถ้ารัฐบาลติดตามข่าวสารผ่านสื่อและเห็นว่าคำถามของตนสมควรที่รัฐต้องการจะให้คำตอบ รัฐบาลก็สามารถแถลงข่าวชี้แจงคำตอบ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงสัปดาห์หน้า ไม่จำเป็นต้องตั้งกระทู้ถาม มาเล่นลีลา ในสภา คำถามตรงไปตรงมา คือ 1. รัฐบาลยังมีความคิดที่จะแปรรูป ปตท.มาเป็นบริษัทเอกชนหรือไม่ 2. รัฐบาลมีนโยบายที่จะกำกับดูแลควบคุมไม่ให้มีการครอบงำ ปตท. ให้ประชาชนเสียประโยชน์เรื่องค่าใช้จ่ายในพลังงานอย่างไร 3. รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการผูกขาดทางตลาดในสินค้าจำเป็นอย่างไรหรือไม่