ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จับตา “ทักษิณ” เปิดเกมรุกธุรกิจพลังงานเต็มสูบ อาศัยจังหวะปรับครม.ยิ่งลักษณ์ 2 ส่ง “อารักษ์” อดีตขุนพลชินคอร์ปคุมกระทรวงพลังงาน ประสานมือ “ดร.โกร่ง” ประธานกยอ.และ “กิตติรัตน์” ผลักดันแปลงร่างปตท.จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน ในห้วงเวลาที่ไทยกำลังเร่งรัดเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน
การปรับคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 2 เพื่อเข้ามาบริหารประเทศไทย โดยการตัดสินใจของคนในครอบครัวชินวัตร - ดามาพงศ์ - วงศ์สวัสดิ์ จำนวน 16 เก้าอี้ ส่วนหนึ่งเพื่อตอบแทนทุกมุ้ง ทุกคำสัญญาที่เคยให้ไว้ รวมถึงปูนบำเหน็จแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) และล้างภาพเกาเหลาที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว
ในจำนวน 16 เก้าอี้ที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปนั้น ตำแหน่งสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งแสดงบทบาทนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทย เลือกเฟ้นอย่างยิ่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น เขาได้ส่ง “อารักษ์ ชลธาร์นนท์” หนึ่งในห้าขุนพลชินคอร์ปที่ร่วมปลุกปั้นอาณาจักรชินคอร์ปมาด้วยกัน เข้ามาคุม
ตามประวัติแล้ว อารักษ์ จบการศึกษา Electronic Engineering จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาเขาเข้าทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์และไอทีก่อนที่จะถูกดึงเข้ามาร่วมงานกับชินคอร์ป เมื่อปี 2534 กระทั่งเกษียณอายุไปเมื่อเดือนก.ย. 2554 ที่ผ่านมา
อารักษ์ มีผลงานโดดเด่นในการร่วมปลุกปั้นธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มชินคอร์ป กระทั่งถือเป็นหนึ่งในขุนพลคนสำคัญของชินฯ ทั้งยังเพื่อนร่วมรุ่นคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับ "บุญคลี ปลั่งศิริ" อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีกด้วย
เส้นทางของ อารักษ์ ที่ชินคอร์ปนั้น เขาผ่านงานกรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์, กรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), กรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.ไทยคม และประธานที่ปรึกษา บมจ.ไทยคม หลังเกษียณอายุเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อนจะลาออกเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2555 เพื่อมารับตำแหน่งรมว.กระทรวงพลังงาน
หากมองย้อนกลับไปไม่นาน จะพบว่า “ทักษิณ” มักเลือกคนที่ไว้ใจได้เต็มร้อยมานั่งกระทรวงพลังงาน ในช่วงที่กำลังวางแผนสู่เป้าหมายสำคัญ เหมือนดังเช่นอดีตที่เขาเลือกส่ง นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช มือขวาคนสำคัญที่ไว้ใจได้มากที่สุดเข้ามานั่งคุมกระทรวงพลังงาน ในจังหวะที่รัฐบาลทักษิณ เร่งเดินหน้าแปรรูป ปตท. เมื่อปี 2544 กระทั่งเป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ
การส่ง “อารักษ์” มานั่งเป็นเสนาบดีคุมกระทรวงพลังงานครั้งนี้ ย่อมไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะ ทักษิณ นั้นมุ่งมั่นที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรมหาศาล ทั้งยังเป็นธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติเนื่องจากต้องลงทุนสูงและที่สำคัญต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเกื้อหนุน
การเดิมเกมของ “ทักษิณ” ในการปรับครม.ครั้งนี้ ประจวบเหมาะอย่างยิ่งกับการออกมาเปิดเผยของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) กลางงานสัมมนาซีอีโอฟอรั่ม จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าเตรียมหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ(ว่าที่) รมว.กระทรวงการคลัง จะให้กองทุนวายุภักษ์ ระดมทุนจากประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำไปซื้อหุ้นของ บมจ. ปตท. 2% ในส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นในขณะนี้ 51% เพื่อให้ บมจ.ปตท.พ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดหนี้สาธารณะลง และนายกิตติรัตน์ ก็ยอมรับว่า เรื่องการขายหุ้น ปตท. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด โดยกองทุนวายุภักษ์ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลอยู่แล้ว
น่าติดตามอย่างยิ่งว่า การ ทักษิณ ส่งอดีตขุนพลชินคอร์ปมาคุมกระทรวงพลังงาน ในขณะที่ประธาน กยอ. และรองนายกฯควบรมว.กระทรวงการคลัง กำลังจัดแจงแปลงร่างปตท.จากรัฐวิสหกิจพลังงานของชาติ เพื่อให้กลายเป็นบริษัทเอกชน ดำเนินไปเพื่อผลประโยชน์ของใคร ใช่เพื่อลดหนี้สาธารณะลงดังกว่าจริงหรือไม่ หรือว่ามีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง
ทั้งนี้เพราะการแปลงร่างปตท.ให้กลายเป็นเอกชนนั้น ทำให้ ปตท.สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจาก สตง. หรือ ป.ป.ช. และรัฐสภา ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ปตท. ยังคงอาศัยอำนาจมหาชนและครอบครองสาธารณสมบัติของชาติที่ยังส่งกระทรวงการคลังไม่ครบต่อไป อีกทั้งยังแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้เพิ่มขึ้น
ที่สำคัญเรื่องราวเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเจรจาผลประโยชน์ด้านพลังงานบนเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมในพม่า ที่ ผู้บริหารเครือปตท. กับ ทักษิณ ร่วมแรงร่วมใจกันเจรจากับรัฐบาลพม่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจนสำเร็จ พร้อมกับวางแผนลงทุนเพิ่มในอนาคตอีกมหาศาล (อ่าน “ทักษิณ” บนเส้นทางพัวพันผลประโยชน์พลังงาน ในข่าวประกอบ)