ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการบริหารจัดการน้ำท่วมที่ผิดพลาดของรัฐลุกฮือฟ้อง “ยิ่งลักษณ์และพวก” เรียกค่าเสียหายตามความเป็นจริง พร้อมขอศาลสั่งรัฐบาลตั้งกองทุนสวัสดิการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมนำร่อง 2,000 ล้านบาทและให้บริหารจัดการโดยภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย
หลังจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จัดเสวนาวิกฤตน้ำท่วม 2554 : เหตุสุดวิสัยหรือไร้ฝีมือขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนที่เดือดร้อนจากความผิดพลาดล้มเหลวในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนแสดงความจำนงยื่นฟ้องรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายอย่างล้นหลาม ซึ่งทางสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานและมอบอำนาจให้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งรับมอบอำนาจ จากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ รวม 352 คน ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ.), นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย, นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, อธิบดีกรมโยธาและผังเมือง, ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองกลาง เรื่องเป็นหน่วยทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการละเมิด
ตามคำฟ้องระบุว่า ผู้ถูกฟ้อง กระทำการละเมิดที่มีลักษณะความผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการบริหารจัดการน้ำ จนก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องเพิกเฉย ไร้ประสิทธิภาพ และประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
โดยเริ่มตั้งแต่มีมวลน้ำปริมาณมากท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ไล่มายังภาคเหนือตอนล่าง จนถึงภาคกลางหลายจังหวัด กระทั่งมาถึง กทม.และปริมณฑล แต่ผู้ถูกฟ้องก็ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่จะดำเนินการใด ๆ จัดการป้องกันและแก้ปัญหาให้ลุล่วง แต่กลับบริหารจัดการผิดพลาดสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นการกระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2550 อาทิ การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 3-5 ไม่ชะลอน้ำในทุ่งในช่วงแรกโดยอ้างว่าเพื่อต้องการให้น้ำเข้าขังในพื้นที่นาข้าว ใน จ.สุพรรณบุรี ได้เก็บเกี่ยวก่อน
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ปริมาณน้ำที่ผิดพลาดของหน่วยงาน ปล่อยให้มีการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี-สระบุรี ที่มากเกินควรตามคำรับสารภาพของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ต่อรัฐสภา ที่หวังว่าจะเก็บกักน้ำเพื่อสนับสนุน นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล จนเกินศักยภาพของเขื่อนที่จะรับได้
ขณะที่การตั้ง ศปภ.ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ควรที่จะตั้งบุคคลทีมีความรู้ ความสามารถที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการน้ำ มาเป็นผู้อำนวยการ แต่กลับตั้ง รมว.ยุติธรรม ที่มีประสบการณ์แค่เฉพาะงานสืบสวนหรือปราบปรามงานตำรวจ และผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่เลือกใช้ รมว.มหาดไทย ที่น่าจะเป็นบุคคลที่ตรงกับสายงานบังคับบัญชาและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากมีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาและความสามารถในเชิงบริหารจัดการ ขณะที่การแจกจ่ายสิ่งของ อาการ น้ำดื่มและอุปกรณ์ยังชีพก็ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นระบบซึ่งมีการกั๊กไว้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล
นอกจากนี้ การออกคำสั่งก่อตั้งผนังกั้นน้ำ หรือบิ๊กแบ็ก (Big Bag ) เพื่อป้องกันพื้นที่ กทม.ยังเป็นต้นเหตุทำให้น้ำนิ่งไม่ไหลเวียน น้ำเน่าเสียเกิดมลพิษ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความขัดแย้งกันเอง อีกทั้งยังเป็นขัดขวางทางสาธารณะสัญจรของประชาชน ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ประกอบกับยังปล่อยให้นักการเมือง เข้ามาก้าวก่ายอำนาจบริหารจัดการน้ำ โดย อธิบดี ปภ.ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ในฐานะ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หรือ กปภ.ช. ไม่ได้เสนอผู้ถูกฟ้องที่ 1 หรือที่ 4 นำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารรภัยแห่งชาติมาปฏิบัติ จึงถือว่าละเลยต่อหน้าที่
เช่นเดียวกับอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ที่ไม่ได้ใส่ใจนำแผนปฏิบัติการบริหารทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. มาปฏิบัติ รวมทั้งการทำและรักษาพื้นที่ที่เป็น ฟลัดเวย์ หรือทางด่วนระบายน้ำ แล้วเมื่อน้ำท่วมทำให้เกิดมลพิษน้ำเน่าเสียในชุมชนต่างๆ หน่วยงานของกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 8 ไม่มีมาตรการ การบำบัดฟื้นฟู
ขณะที่อธิบดีกรมโยธาและผังเมือง ผู้ถูกฟ้องที่ 9 ไม่ใส่ใจบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้มีการถมถนนสูง ทำให้พื้นที่ปกติทั่วไปกลายเป็นแอ่งน้ำ น้ำท่วมขังไม่สามารถระบายออกได้ง่าย และในการแจ้งเตือนเกี่ยวกับมวลน้ำที่จะเคลื่อนไปท่วมในพื้นที่ใดบ้าง ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผย จากหน่วยงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 10
ส่วนผู้ว่า ฯ กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 11 ในการบริหารปัญหาน้ำท่วมทำแต่การปกป้องพื้นที่ขอ งกทม. เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้มองภาพรวมของพื้นที่ใกล้เคียง ใน จ.ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา
ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาล มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้อง ร่วมกันรับผิดชอบ โดยจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ฟ้องตามความเป็นจริงทุกคน ตมบัญชีเสียหายที่แนบมาท้ายฟ้อง และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้อง กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ - ไกล ภายใต้กรอบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และประชาสังคมโดยให้ดำเนินเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง รวมทั้ง ให้นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 สั่งการให้คณะรัฐมนตรี ( ครม.) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณปีละ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 % ของอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ซึ่งให้บริหารจัดการโดยภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ศาลรับคำฟ้อง คดีหมายเลข ส.401/2554 เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปว่าจะประทับรับฟ้องเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่
ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า มีชาวบ้านได้ทยอยส่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจให้สมาคมฯเป็นผู้แทนคดีในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านแต่ละรายเรียกค่าเสียหายตั้งแต่หลักแสน ไปจนถึงหลักล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้ประชาชนครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเพียงแค่เศษเงินที่รัฐบาลแสร้งเอามาช่วยเหลือชาวบ้านแบบสงเคราะห์เท่านั้น เพราะเงินดังกล่าวแค่ซื้อประตูบ้านบานเดียวก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว ถือว่าเป็นการดูถูกดูแคลนประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า การฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถือว่าเป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยตรง ที่มีบุคลากร ข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน หากประชาชนไปฟ้องร้องรัฐต่อศาลเพียงลำพังก็ยากที่จะต่อสู้ทางคดีกับเหล่าผู้ถืออำนาจรัฐดังกล่าวได้
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้เตรียมคณะทำงานที่เป็นทนายความที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำคดีปกครองและสิ่งแวดล้อมที่ช่ำชองมาร่วมกันต่อสู้ทางคดีให้กับประชาชน ซึ่งประกอบด้วย นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตวุฒิสมาชิก, นายกมล ศรีสวัสดิ์, นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์, นายจักรกฤษณ์ วิไลสมสกุล, นายชัยย์วัณฎ์รัฏฐ์ ไพศาล, นายธนวัฒน์ ตาสัก, นายอนันต์ อมรธรรมวุฒิ, นายโชคชัย แสงอรุณ, นายเทวฤทธิ์ โชติเจริญพร, นายปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร และนายสนิท นรฮีม เป็นต้น
“คดีนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโลก ที่ประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐในคดีที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยให้มีน้ำท่วมที่ผิดพลาด และหลังจากนี้สมาคมจะเดินสายไปให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนและต่างจังหวัดพร้อมตั้งโต๊ะรับฟ้องคดีแทนประชาชนในเรื่องน้ำท่วมต่อไปไม่หยุด” นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด