“ศรีสุวรรณ” เผยผู้เสียหายจากน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท รวมตัวกว่า 600 คน เตรียมยื่นศาลฟ้องกราวรูด 24 หน่วยงานรัฐ ฐานละเว้นหน้าที่ ละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อปชช. พร้อมให้รวมกันชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง และออกมาตรการป้องกันในอนาคตที่เป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่สมาคมฯและชาวบ้านจะดำเนินการยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2554 นี้ ว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วยประชาชนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากปัญหามหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งอาศัยอยู่ในกทม.และปริมณฑล อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม เป็นต้น จะเดินทางไปยื่นฟ้อง หน่วยงานภาครัฐ 24 หน่วยงาน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.เทคโนโลยีและสารสนเทศ รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้อำนวยการสารสนเทศน้ำและการเกษตร ผอ.สถาบันเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และกทม. เป็นต้น ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ปีพ.ศ. 2540 มาตรา 9 (1) (2)และ (3) ประกอบพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปีพ.ศ. 2550 มาตรา 43 เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินกว่าสมควร และปฏิบัติหน้าที่ในทางละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า โดยประเด็นที่จะยื่นฟ้องนั้นมี 2 ประเด็นได้แก่ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดรวมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ประชาชนในแต่ละรายตามความเป็นจริง 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ภาครัฐมีมาตรการชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนี้ก็มีประชาชนที่ยื่นความประสงค์ที่จะร่วมฟ้องศาลแล้วประมาณ 600 ราย และขณะนี้ก็ยังมีประชาชนโทรศัพท์มาสอบถามอยู่ตลอดเวลา หากเรายื่นฟ้องต่อศาลแล้ว แต่ยังมีประชาชนที่ต้องการร่วมฟ้องด้วยนั้น ก็สามารถนำเรื่องมายื่นขอเป็นผู้ร้องสอดได้
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมฟ้องร้องนั้นได้รับความเสียหายในทรัพย์สินและบ้านเรือน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าเช่าที่พักช่วงที่เกิดน้ำท่วม ค่าเสียโอกาส ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันน้ำท่วม โดยแต่ละรายนั้นได้รับค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท และบางรายได้รับความเสียหายหนักถึง 2-3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการที่ศาลปกครองได้เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เพราะต้องการเร่งรัดคดีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เสร็จสิ้นได้โดยเร็ว และคดีดังกล่าวนี้ก็อยู่ในความสนใจของประชาชน ตนจึงเชื่อว่าศาลน่าจะใช้เวลาพิจารณาคดีดังกล่าวไม่เกิน 6 เดือน