xs
xsm
sm
md
lg

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “รัฐบาลปู” ทุ่ม 9 แสนล้านฟื้นฟู“นิวไทยแลนด์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หลังเสียรังวัดจากการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบลิงแก้แหจนประชาชนขาดความเชื่อถือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเตรียมพร้อมแผนฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดเพื่อเรียกคะแนนกลับคืน โดยทุ่มเม็ดเงินมหาศาลกว่า 9 แสนล้าน ลงทุนฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในทุกด้าน จับตา “นิวไทยแลนด์” จะเป็นจริงหรือเพียงคำโฆษณาหลอกถลุงเงินก่อหนี้สร้างวิกฤตซ้ำ

วิกฤตน้ำท่วมยังไม่ผ่านพ้น ถึงแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) จะออกมาปลุกปลอบใจประชาชนที่จมบาดาลแล้วและที่ยังลุ้นระทึกว่าจะท่วมด้วยหรือไม่ว่า “เอาอยู่” หรือ “วิกฤตคลี่คลาย” และเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นก็ตาม แต่ความเป็นจริงสภาพน้ำท่วมสูงยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่โดยเฉพาะเขตปริมณฑลและกรุงเทพฯชั้นนอก ขณะที่หลายจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางที่มีปัญหาน้ำท่วมก่อนหน้าแม้น้ำจะลดลงบ้างแต่ยังท่วมขังอยู่เป็นส่วนใหญ่ หนำซ้ำยังเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งประเมินกันว่าจะต้องจมอยู่ใต้น้ำนานเป็นเดือนสองเดือน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังเป็นไปอย่างโกลาหล เสียงก่นของชาวบ้านที่เดือดร้อนยังดังระงม ความขัดแย้งของประชาชนคนนอกและในคันกั้นน้ำยังคุกรุ่น ศปภ.ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการช่วยเหลือประชาชนยังมีการบริหารจัดการที่มั่ว สิ่งของที่ประชาชนบริจาคผ่านศปภ.เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังกองพะเนินอยู่ที่ ศปภ. สนามบินดอนเมือง ในวันที่น้ำท่วมศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่งนี้ จนกลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ แถมสิ่งของบริจาคบางชิ้นมีการติดชื่อขอจองอีกต่างหาก

ยังไม่นับถึงการทำตัวเป็นตัวถ่วงของหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน ทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้ทางกองทัพซึ่งระดมกำลังเข้ากู้วิกฤตเตรียมจะรวบรวมและสรุปการปฏิบัติหน้าที่ว่ามีจุดบกพร่องตรงจุดไหน หน่วยงานไหนที่ประสานขอความร่วมมือไปแล้วไม่ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร เพื่อแถลงต่อประชาชน

การเสียรังวัดจากการจัดการน้ำกระทั่งท่วมท้นทุกทิศทุกทางจนเสียคะแนนนิยม ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เดินหน้ารุกข้ามช็อตไปถึงการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด โดยเตรียมแผนความพร้อมไว้ล่วงหน้าทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว โดยแผนระยะสั้น คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนแผนระยะยาวคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 6 - 7 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนพัฒนาประเทศในทุกด้านภายใต้แนวคิดสร้างประเทศไทยใหม่ หรือ นิวไทยแลนด์ ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนยังไม่ชัดเจนว่าจะมาจากไหน ระหว่างแนวคิดออก “บอนด์” ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาซื้อ ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายก่อน กับอีกทางหนึ่งคือ การออก พ.ร.ก.กู้เงิน

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของ นิว ไทยแลนด์ ยังไม่มีความชัดเจน มีแต่เพียงการปล่อยตัวเลขเม็ดเงินมหาศาลให้นักลงทุนตื่นตาตื่นใจ ขณะที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ ยังไม่รู้ชะตาอนาคตและไม่มีความชัดเจนใดๆ ในแผนการเยียวยา ฟื้นฟูให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขหลังน้ำลด มาตรการปล่อยกู้ซ่อมแซมบ้าน ตรวจสอบสภาพรถยนต์ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ การจ้างงาน ที่รัฐบาลประกาศออกมายังต้องรอพิสูจน์ว่าเมื่อถึงเวลาจะมีธนาคารปล่อยกู้สักกี่มากน้อย

ที่สำคัญ แนวคิด นิว ไทยแลนด์ ของรัฐบาล ดูเหมือนจะยึดถือเอาเงินเป็นตัวตั้ง ขณะที่การฟื้นฟูและพัฒนาประเทศโดยเฉพาะเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นต้นตอวิกฤตครั้งนี้ ไม่อาจแก้ไขได้โดยใช้เงินเป็นหลัก แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และการบริหารจัดการไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะการจัดการน้ำที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการขาดความเป็นเอกภาพ กระจัดกระจายไปอยู่ในความรับผิดชอบของหลายองค์กร หลายหน่วยงาน และขาดการประสานการทำงานร่วมกัน

การดึงเอาหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำมารวมศูนย์และบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ ระดมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แท้จริงที่มีความรู้ความเข้าใจในทุกมิติ ทั้งธรรมชาติของน้ำ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ชุมชน มาแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแต่ขาดการศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง นับเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทยใหม่

ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงแนวทางการจัดการน้ำท่วมเอาไว้ว่า ที่ไหนอยู่ในวิสัยจัดการสู้ได้ก็สู้ ส่วนพื้นที่ไหนที่ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม เช่น บางระกำ สู้อย่างไรก็ไม่ไหวเพราะเป็นที่ราบลุ่มท้องกระทะ ถือเป็นแก้ลิงโดยธรรมชาติ ไม่ควรสู้เพราะทุกปีก็ท่วม

อดีตอธิบกรมชลประทาน ย้ำถึงเรื่องของการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่คิดจะเอามาปัดฝุ่นโดยการอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ขอยืนยันว่าแก้ไม่ได้ คนที่คิดจะให้มีเพราะเขาขาดการศึกษาข้อมูล การก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง ในเขตลุ่มแม่น้ำยมได้ ทำได้เพียงบรรเทา หรือชะลอความเสียหาย ซึ่งน่าจะอยู่ที่ 10% เท่านั้นเอง มันไม่คุ้มค่า

ปัจจัยสำคัญในหลักบริหารจัดการน้ำอีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ การฟังความคิดของประชาชนหรือทำจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากบนลงล่างเหมือนที่ผ่านมา การคิดและสั่งการจากกระทรวงลงไปยังพื้นที่นอกจากจะไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกทางอย่างแท้จริงแล้ว วิกฤตครั้งนี้จะกลายเป็นโอกาสให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงจากโครงการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศหลังน้ำลด โดยมีเม็ดเงินมหาศาล 9 แสนล้านบาท ให้ถลุงกันอย่างเพลิดเพลิน ทิ้งหนี้สินให้คนรุ่นหลังชดใช้กันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น