xs
xsm
sm
md
lg

การใช้สิทธิทูลเกล้าฯถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะปลดชนวนระเบิดเวลาเรื่องการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพี่ชายตนเอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่นใด เป็นประเด็นที่สังคมกำลังตั้งข้อกังขา
โดย..ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต จากสถาบันพระปกเกล้า

“เป้าหมายของฎีกานี้มีขึ้นเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ หากมีพระบรมราชวินิจฉัยยกฎีกา หรือไม่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประการใด ผู้เป็นแกนนำก็คงทราบดีว่า จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากที่เข้าชื่อ อันเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนพรรค หากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับคณะก็จะได้ประโยชน์ทางกฎหมายและทางการเมืองอีก”

หมายเหตุ - คณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคนเสื้อแดงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ที่มีนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธาน ประชุมวางกรอบการตรวจสอบ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2554 ใน 3 ประเด็น คือ 1.ผู้ที่ยื่นรายชื่อถวายฎีกาฯ (กลุ่มคนเสื้อแดง) อยู่ในฐานะยื่นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2.วิธีการยื่นและสถานที่ขอพระราชทานอภัยโทษถูกต้องหรือไม่ และ 3.พิจารณาในข้อกฎหมายว่าผู้ขออภัยโทษ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จะต้องรับโทษก่อนหรือยังไม่ได้รับโทษได้หรือไม่ ขณะที่การเคลื่อนไหวยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว เป็นประเด็นข้อถกเถียงอย่างร้อนแรงมาก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงระดมพลมีผู้ลงชื่อยื่นฎีกาทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ซึ่งช่วงนั้น ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต จากสถาบันพระปกเกล้า ได้เขียนบทความทางวิชาการเรื่อง “การใช้สิทธิทูลเกล้าฯถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณี” อธิบายหลักกฎหมาย นิติประเพณี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยมีข้อแนะนำให้นายกรัฐมนตรีระงับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ที่ขัดต่อกฎหมาย นิติประเพณีและระเบียบปฏิบัติเสียเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ

ความนำ

การโฆษณาชักชวนประชาชนให้ร่วมกันเข้าชื่อทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านนั้น มีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์และเชิญผู้เขียนบทความนี้ไปออกรายการโทรทัศน์ วิทยุหลายรายการ แต่ผู้เขียนตอบปฏิเสธ เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงกาละอันสมควร

บัดนี้ อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้สนับสนุนฎีกาดังกล่าว อ้างความเห็นผู้เขียนซึ่งเขียนไว้ในสารานุกรมไทยฉบับกาญจนาภิเษก เรื่อง "พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" (หน้า ๒๖๐-๒๖๕) ซึ่งว่าด้วยพระราชอำนาจตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้อ้างหยิบข้อความเพียงบางตอน (ดูหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๔ , หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันเดียวกัน หน้า ๑๓) ที่ตนเห็นว่าจะให้ประโยชน์แก่ตนมาอ้าง ไม่ได้อ้างข้อความทั้งหมด ซึ่งถ้าอ่านทั้งหมดแล้ว ก็จะเข้าใจว่าฎีกาที่กำลัง "ล่ารายชื่อ" นี้ ถูกหรือผิดกฎหมาย ดังนั้น ถึงกาละอันควรที่ผู้เขียนจะได้อธิบายหลักกฎหมาย นิติประเพณี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนเสียที โดยมุ่งหวังให้เป็นบทความวิชาการที่แสดง "สัจจะ"ของหลักวิชา

สิทธิของประชาชนในการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาตามนิติราชประเพณี

เมื่อพูดถึง "สิทธิ" (right) ตามหลักนิติศาสตร์ถือว่า คือ "ผลประโยชน์ (interest) ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง" จุดสำคัญก็คือ จะเป็น "สิทธิ" ได้ ต้องมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองกฎหมายนั้น จะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายรับรองก็ไม่เรียกว่าสิทธิ และสิทธิจะต้องก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่น เช่น ราษฎรมีสิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา รัฐบาลและราชเลขาธิการก็ต้องมีหน้าที่นำฎีกาขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่ถ้าไม่ใช่สิทธิ ก็ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องทำให้ สมดังสิทธิ

หลักการของการ "มี" สิทธิ และ "ใช้" สิทธิที่สำคัญอีก ๓ ประการ ก็คือ

๑.การใช้สิทธิต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายวางไว้ เช่น ใครใช้สิทธิได้ ใช้สิทธิเมื่อใดจึงจะอยู่ในเวลากำหนดไม่ขาดอายุความ ฯลฯ

๒.การใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริต การใช้สิทธิโดยมุ่งแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กฎหมายถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (มาตรา ๔๒๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

๓.หากมีผู้มาขัดขวาง หรือทำให้ผู้มีสิทธิเสียหาย ต้องสามารถฟ้องร้องต่อศาลที่อิสระ เพื่อให้คุ้มครองและเยียวยาให้ความเสียหายยุติลง

ดังนั้น การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่องใด ๆ จะเป็น "สิทธิ" ของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องยึดหลักข้างต้นนี้เช่นกัน

สิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สิทธิราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา เป็นสิ่งที่ควบคู่กับการปกครองของไทยนับตั้งแต่สมัยที่สุโขทัยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองที่เรียกว่า "พ่อปกครองลูก" สมัยนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองแผ่นดิน เพื่อร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม โดยมีสิทธิที่จะไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าพระราชวังได้ และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงได้ยินก็จะเสด็จออกมาตรัสถามถึง ความเดือดร้อนนั้นโดยตรง ดังความในศิลาจารึกว่า "...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้นไพร่ฟ้าหน้าปกกลางเมืองมันจักกล่าวถึงเจ้าขุนบ่ไร้ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้ายซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม..." สิทธิในการร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมนี้เป็นที่มาขอประเพณีถวายฎีการ้องทุกข์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในสมัยต่อมา

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ประเพณีตีกลองร้องฎีกา คือราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา สามารถไปตีกลอง "วินิจฉัยเภรี" เพื่อถวายเรื่องต่อพระองค์ หรือผู้ที่ได้ทรงมอบหมายได้ โดยถ้าฎีกาเป็นความจริงก็พระราชทานเงินให้ ๑ สลึงก่อน ถ้าชำระความเสร็จก็พระราชทานให้อีก ๑ สลึง ทรงเอาพระทัยใส่ฎีกา จนแม้ใกล้เสด็จสวรรคตก็รับสั่งให้พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อไปถือเป็นพระราช ธุระสำคัญ

นอกจากนั้นทรงออกประกาศกำหนดรูปแบบและวิธีการถวายฎีกาหลายประการเป็นรากฐานสำคัญมาในปัจจุบัน อาทิ ประกาศฉบับที่ ๒๔ เรื่องถวายฎีกา ซึ่งทรงกำชับให้ข้าราชการอำนวยความสะดวกให้ราษฎร รวมทั้งวางระเบียบการถวายฎีกา เรื่องต่าง ๆ และทรงเอาผิดต่อผู้ร้องฎีกาเท็จ ประกาศฉบับที่ ๔๑ , ๔๓ , ๘๑ , ๑๒๘ , ๑๕๓ และอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับที่ ๑๕๓ มีความว่า "...ผู้ใดจะทำเรื่องถวายฎีกาว่าด้วยเหตุใดก็ดี ก็ให้ลงชื่อเป็นลายมือของตัว..." หรือฉบับที่ ๑๒๘ มีความตอนหนึ่งว่า "... แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโสแลถ้าฟ้องว่าด่าคำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง..." หากเขียนลงไป "...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการจะฟังไม่เปนอันยกความ..." (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาวิชิตชลธี จากหนังสือพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,หน้า ๓๒๖)

ครั้นมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการปรับธรรมเนียมการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาอีก คือ ฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลภายหลังการปฏิรูปการศาลแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ร้องทุกข์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหลวงได้ โดยทรงแต่งตั้งคณะกรรมการองคมนตรีฎีกาขึ้นพิจารณา แต่ธรรมเนียมการคัดค้านคำพิพากษาของศาลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ , เล่ม ๓๑ , หน้า ๔๘๖) ทรงห้ามมิให้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอีกต่อไป อนึ่ง พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และต้องหยิบยกมาวินิจฉัยกรณีฎีกาล้านชื่อที่กำลังทำอยู่ด้วย

ใครที่อยากศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาโดยละเอียดโปรดศึกษาใน วรรธนวรรณ ประพัฒน์ทอง , พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ , วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๔๐ , ๒๙๗ หน้า ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

สิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ แล้ว ก็มีการออกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี ๒๔๗๘ กำหนดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษไว้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในภาค ๗ ว่าด้วยอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษโดยอยู่ในมาตรา ๒๕๙ ถึงมาตรา ๒๖๗ โดยเฉพาะมาตราสำคัญ ๓ มาตรา ดังนี้

“มาตรา ๒๕๙ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุด ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา ๒๖๐ ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือ ผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา ๒๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้”

พึงสังเกตว่ากฎหมายกำหนดตัวผู้มีสิทธิยื่นฎีกา คือผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องอันได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ญาติพี่น้อง (มาตรา ๒๕๙) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจถวายคำแนะนำให้พระราชทานอภัยโทษก็ได้ (มาตรา ๒๖๑ วรรคสอง)

สถานที่ที่จะยื่นฎีกา ต้องยื่นที่เรือนจำ หรือ กระทรวงยุติธรรม (มาตรา ๒๖๐และประกาศว่าด้วยผู้ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ร.ศ. ๑๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา , ๑๒ กันยายน ร.ศ.๑๑๒ หน้า ๓๑๔-๓๑๕ )

ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (มาตรา ๒๖๐ วรรคแรก)

ที่สำคัญที่สุดก็คือฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอื่นทำไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรค ๒ที่ว่า “คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้วคู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่” ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ข้อ ๑ (๑) ที่ว่า “ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใด ๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไปได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้น)”

สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาย่อมเป็นไปนิติราชประเพณีเดิมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และตามกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ

๑.ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา ๒๕๙-๒๖๗

๒.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรคสอง

๓.พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าแยกเป็นประเภทฎีกาที่จะทูลเกล้า ฯ ถวาย ก็มี ๒ ประเภทคือ

๑.ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

๒.ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมหรือที่เรียกว่าฎีการ้องทุกข์

ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย ๓ ฉบับ และนิติประเพณีดังกล่าวข้างต้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีผู้ใช้สิทธิผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็ไม่มีสิทธิแต่ประการใด

ถ้าดูฎีกาล้านชื่อที่แกนนำกำลังดำเนินการโฆษณาให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าร่วมลงชื่อ โดยอ้างว่าได้จำนวนหลายล้านคนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าฎีกานี้มีปัญหาว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

๑. ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต้องยื่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติพี่น้อง แต่กลุ่มแกนนำดังกล่าวของขบวนการนี้ ไม่ได้มีฐานะใดฐานะหนึ่งดังกล่าวเลย

๒. นอกจากนั้น การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๒๓ วรรคสอง และพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑ (๑) แต่เนื้อความในฎีกาฉบับนี้ในข้อ ๒ ที่ว่า“....ใช้กฎหมายที่ไม่ต้องด้วยหลักนิติธรรมดำเนินคดี...”

ในข้อ ๓ ที่ว่า “การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙..... ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จนนักกฎหมายผู้เคารพต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจาก ปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบันนี้ ประเทศเรามีปัญหาด้านนิติรัฐและนิติธรรม เป็นที่น่าอับอายแก่นานาอารยประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าและชาวบ้านทั่วไปต่างรู้ซาบซึ้งดีว่าการใช้กฎหมายสองมาตรฐานกับคนสองพวก การไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาคเป็นวิธีการที่อนารยะ เป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้........” (เนื้อความฎีกาอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ จะผิดถูก จึงขึ้นอยู่กับแหล่งที่ผู้เขียนอ้างอิง) ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตลอดเวลาว่า ไม่ได้รับความยุติธรรม และตนเองไม่มีความผิดใดๆ

รวมทั้งแกนนำก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะ “เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกกลไกที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายปฏิปักษ์กลั่นแกล้ง” (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๕) ซึ่งเป็นคำสัมภาษณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาลฎีกา เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ พิพากษาถึงที่สุดว่า ท่านผู้นั้นกระทำความผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ก็พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การโต้แย้งดังกล่าวนี้ วิญญูชนผู้มีจิตใจเที่ยงธรรมย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ โดยตรงซึ่งขัดต่อกฎหมาย ๒ ฉบับ ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง

๓. สถานที่ที่จะยื่นฎีกาก็มีปัญหาอีก เพราะกฎหมายกำหนดสถานที่ที่จะยื่นฎีกาคือ เรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการ ตามที่แกนนำให้สัมภาษณ์นั้น “ถือเป็นการยื่นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย” (ดู เพ็ญจันทร์ โชติบาล , พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย , วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๓๓ หน้า ๒๓๐) หากไปยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำความเห็นกราบบังคมทูลขึ้นไปก่อน

๔. แกนนำผู้ทำฎีกานี้ อาจอ้างว่าฎีกาของตนไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ดังที่แกนนำบางคนที่เป็นนักกฎหมายอาวุโสอธิบาย แต่เมื่ออ่านคำขอรับพระมหากรุณาตอนท้ายฎีกาที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจึงกราบบังคมทูลถวายฎีกามาเพื่อทรงพระกรุณาอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ๒ ปี นั้นเสีย เพื่อจักได้อิสรภาพกลับมาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทำประโยชน์ต่อแผ่นดิน อย่างน้อยก็เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของปวงข้าพระพุทธเจ้า ผู้ยังเชื่อมั่นและศรัทธาในความสามารถของเขา” วิญญูชนก็ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นฎีกาที่มุ่งหวังการขอพระราชทานอภัยโทษอย่างแท้จริง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าฎีกาดังกล่าวหากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายถึง ๓ ฉบับ การใช้สิทธิที่มิได้เป็นไปตามกฎหมายไม่มีประเทศใดในโลก ถือว่าถูกต้อง ถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องดำเนินการ ดังนี้ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตรธิดา หรือญาติพี่น้องต้องยื่นเอง และต้องยื่นที่กระทรวงยุติธรรม โดยขอพระราชทานอภัยโทษตรง ๆ ไม่ต้องพรรณนาความโต้แย้งให้เข้าใจว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ที่พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม หรือ “เป็นการไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาค เป็นวิธีการอนารยะ” ข้อความทำนองนี้ต้องเอาออกให้หมด ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำเช่นนี้ก็จะเป็นการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี ที่ไม่มีใครมาขวางได้ !

ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม (ฎีการ้องทุกข์) ที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมาย

ฎีกาประเภทนี้ ประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถทูลเกล้า ฯ ถวายได้ไม่ว่าเป็นทุกข์ร้อน ขอพระมหากรุณาให้ทรงช่วยเหลือหรือทรงแก้ทุกข์ให้ เช่น ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ขอพระราชทานแหล่งน้ำ หรือส่วนราชการอาจกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น ฎีกาประเภทนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑ (๒) กำหนดว่า "บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

..........................

๒.ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจการส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง กล่าวอีกนัย ก็คือการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ประเภทนี้ ต้องขอโดยผู้มีทุกข์และขอในกิจการส่วนตัวของผู้นั้นเอง ฎีการ้องทุกข์ประเภทนี้จะทูลเกล้า ฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการ หรือทูลเกล้า ฯ ต่อพระองค์เอง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้แต่ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพราะก่อนนำความกราบบังคมทูล เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องติดต่อ เจ้าตัวผู้มีทุกข์เพื่อขอทราบข้อมูลรายละเอียด อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เข้าทำนองมีคนป่วยไม่สบาย จะฝากให้คนอื่นมาหาหมอแล้วเล่าอาการให้หมอฟัง คงไม่มีหมอคนไหนรับรักษา เพราะถ้าจะรักษาก็ต้องตรวจคนไข้ แต่กลับไม่มีคนไข้ มีแต่คนกลาง!

แต่ฎีกานี้ คนมีทุกข์ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ยื่นเอง แต่มีผู้หวังดีเป็นแกนนำประชาชนชักชวนให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาร่วมเข้าชื่อกับตนเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายแทนผู้มีทุกข์ ก็ดูจะแปลก ที่ผู้มีทุกข์กลับเฉย ๆ แต่คนอื่นทุกข์แทน

ครั้นจะอ้างว่าคราวนี้ทุกข์เป็นทุกข์ของผู้ยื่น ก็แปลกอีก เพราะทุกข์แทนกันได้ และที่สำคัญเมื่อไปสอบถามผู้ยื่น ผู้ยื่นแต่ละคนก็คงจะอธิบายทุกข์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจไม่เหมือนกับทุกข์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นได้ ที่สำคัญก็คือท้ายที่สุดก็จะพบว่าผู้ยื่นไม่ใช่ผู้มีทุกข์จริงแต่เข้าทำนองทุกข์แทน เหมือนคนกลางไปหาหมอเล่าอาการของผู้ป่วยให้ฟัง แต่คนกลางก็ไม่ใช่ผู้ป่วยอยู่วันยังค่ำ !

ฎีกานี้จึงไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาแม้แต่น้อย !

ยิ่งกว่านั้น ฎีกานี้ก็ยังมีข้อความไม่เหมาะสมหลายประการ อาทิ “ระบอบเผด็จการทหารที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือกล่าวตู่พระบรมราชวินิจฉัยว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีสายพระเนตรยาวไกล คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป” อันแสดงในตัวว่า หากทรงยกฎีกาหรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยก็เป็นการปล่อยให้ประชาชนระทมทุกข์ เมื่อจะให้ประชาชนพ้นทุกข์ก็ต้องทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นการตู่พระบรมราชวินิจฉัย ไม่ปล่อยให้การเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอันกอปรด้วยทศพิธราชธรรม

ถ้อยคำสองแง่สองง่ามนี้รวมทั้งถ้อยคำประณามระบบยุติธรรมไทยข้างต้น หากดูตามนิติประเพณีในประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒๘ ก็ต้องห้ามตามประกาศดังกล่าวที่ว่า “...แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโส และถ้าฟ้องว่าด่า คำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง...”

หากมีความดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า “...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการฟังไม่ ก็เป็นอันยกความ...” (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า ๓๒๖)

ดังนั้น ไม่ว่าพิจารณาในแง่ใดฎีกานี้ก็ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี

การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อฎีกาล้านชื่อที่ทำอยู่มิได้เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น แม้จะมีคนลงชื่อ ๒๐ ล้านคน ก็ไม่ทำให้ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการมีสิทธิและการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณคน

แม้ลงชื่อในฎีกาคนเดียวถ้าถูกกฎหมาย ก็ไม่มีใครบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ถูกต้องเพียงคนเดียวก็พอ แล้วมีคนมาขัดขวาง ผู้เขียนพร้อมจะอธิบายให้สังคมฟังว่า เป็นสิทธิของเขา ขัดขวางไม่ได้

มีปัญหาว่า แล้วเหตุใดแกนนำจึงเน้นจำนวนคนทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะมีนักกฎหมายอยู่หลายคน จะอ้างว่าไม่รู้คงลำบาก !

คำตอบก็คือ ฎีกานี้ไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาการเมือง ดังที่คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สรุปไว้อย่างดี และผู้เขียนเห็นด้วย จึงขอนำข้อความมาอ้างไว้ ดังนี้

ฎีกานี้จึงเป็นฎีกาการเมือง โดยกระบวนการทำ โดยเป้าหมาย เนื้อหาและผลกระทบ ดังนี้

ก. การโฆษณารวบรวมรายชื่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ลงชื่อในฎีกาได้นับล้านคน เป็นกระบวนการสร้างกระแสกดดันพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งยังหวังผลในการวัดความนิยมทางการเมืองต่อตัวอดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่สนับสนุน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดุจนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องต่อรอง

อนึ่ง การรวบรวมรายชื่อคนจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาอาจมีแล้วในอดีต แต่ก็นับว่าเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรอ้างการกระทำดังกล่าวเป็นแบบอย่างการกระทำในครั้งนี้

ข. เป้าหมายของฎีกานี้มีขึ้นเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ หากมีพระบรมราชวินิจฉัยยกฎีกา หรือไม่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประการใด ผู้เป็นแกนนำก็คงทราบดีว่า จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากที่เข้าชื่อ อันเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนพรรค หากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับคณะก็จะได้ประโยชน์ทางกฎหมายและทางการเมืองอีก

ค. เนื้อความในฎีกามีความไม่เหมาะสมหลายประการ ............

ง. เคยปรากฏข้อความวีดีโอลิงค์ในหลายเวทีรวมทั้งในวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 มาแล้วว่า “หากได้รับพระเมตตา ก็จะกลับมารับใช้ประเทศชาติ” การกระทำดังกล่าวของแกนนำหลายจึงน่าวิตกว่าจะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา ดังนี้

(๑) ฎีกานี้สร้างแบบอย่างผิด ๆ ทางการเมืองว่า ถ้าหวังผลสำเร็จ ต้องรวบรวมรายชื่อจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาให้ได้ยิ่งมากยิ่งดี

(๒) ฎีกานี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง และไม่อาจมีพระบรมราชวินิจฉัยทางการเมืองได้ ให้ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งยังนำประชาชนจำนวนมากให้เข้ามาสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่าย

ที่สำคัญคือการใช้จำนวนคนมาเป็นปัจจัยประกอบพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่บังควร เพราะหากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะ ก็อาจทำให้ผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะไม่พอใจ หากวินิจฉัยให้เป็นโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาและผู้สนับสนุนไม่พอใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยทางใด ผลกระทบทางการเมืองจะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกทาง ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้"

นอกจากนั้น รูปแบบการยื่นฎีกาที่แกนนำจะแห่แหนกันไปจำนวนมากตามที่ประกาศก็ไม่เคยมีการทำกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ! แสดงความพยายามเอาจำนวนคนเข้าข่ม โดยไม่แคร์ความเหมาะสมหรือไม่ ตามนิติประเพณี

รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรทำอย่างไรเมื่อฎีกาดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย

ในเรื่องนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ กำหนดไว้ชัดเจนว่า

ข้อ ๕ ถ้าผู้ใดจะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาโดยวิธีอันผิดระเบียบซึ่งกล่าวมาแล้วในข้อ ๓ นั้น ถ้าเปนที่ภายในเขตรพระราชฐานให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกระทรวงวัง และกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติให้ถูกระเบียบ และถ้าจำเปนก็ให้ห้ามปรามเสีย อย่าให้เปนที่ขุ่นเคืองหรือรำคาญใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้

ถ้าเปนที่ภายนอกพระราชฐาน ให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกองอารักษา คือ กรมกองตระเวร (ในกรุง) และกรมตำรวจภูธร (ในหัวเมือง) ว่ากล่าวแลห้ามปรามดังกล่าวมาแล้ว

อนึ่ง ถ้าพะเอินเปนเวลาเจ้าน่าที่ มิทันที่จะว่ากล่าวห้ามปราบ ผู้ถวายฎีกาได้เข้าไปยื่นฎีกาเสียแล้วนั้นไซร์ ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนั้น ต้องให้ถวายใหม่ให้ถูกต้องระเบียบจึงค่อยรับ

ให้เปนน่าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้ทุกประการ และให้เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ซึ่งได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติกิจการตาม น่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันสืบไป"

ใครอ่านพระราชกฤษฎีกานี้แล้วเห็นชัดว่า การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่ผิดระเบียบ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น "ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนี้" ต้องทำให้ "ถูกต้องตามระเบียบจึงค่อยรับ"

คำถามก็คือ ใครบ้างที่เกี่ยวข้องในการรับฎีกาและถวายความเห็นตามขั้นตอน

คำตอบก็คือ หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เจ้าหน้าที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงนำเสนอตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วรัฐมนตรีก็จะทำความเห็นส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะสรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายลงนามทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็น แล้วส่งเรื่องไปสำนักราชเลขาธิการเพื่อเสนอคณะองคมนตรีกลั่นกรองและทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นต่อไป ขั้นตอนต่อจากนี้ก็สุดแท้แต่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พระราชทานอภัยโทษ หรือ ลดโทษ หรือยกฎีกา

อนึ่ง หากมีการยื่นผิดขั้นตอนไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการก็ไม่อาจพิจารณาเรื่องได้ ต้องส่งเรื่องกลับไปที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง

สำหรับฎีการ้องทุกข์นั้น ไม่ว่าจะทูลเกล้า ฯ ถวายโดยทางใด นอกจากติดต่อเจ้าตัวขอรับข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว สำนักราชเลขาธิการก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามไปยังเจ้าตัวผู้มีทุกข์ หน่วยงานที่ถูกร้องฎีกานั้นเพื่อให้ชี้แจง รวมทั้งสอบถามไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำสรุปข้อเท็จจริงเสนอสำนักราชเลขาธิการ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องถามความเห็นให้ครบถ้วนแล้วสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ และทำความเห็นเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย

ฎีการ้องทุกข์นี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามประเพณีและคำพิพากษาศาลฎีกา เคยวินิจฉัยว่า ...ราชเลขาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมมีหน้าที่ต้องคอยกลั่นกรองเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบตามที่เห็นสมควรให้เหมาะสมกับกาลเทศะและราชประเพณี ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ มิใช่ว่าเมื่อมีการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาในเรื่องใดก็จะต้องรีบนำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบทันที โดยไม่ต้องสอบสวนเรื่องราวให้ได้ความถ่องแท้เสียก่อน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๘/๒๕๒๘) อำนาจนี้รวมถึงการที่ราชเลขาธิการอาจงดไม่นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายได้ โดยเฉพาะฎีกาขอ พระมหากรุณาบางเรื่อง (เช่น ของานทำ) หรือฎีกาที่มีใจความหรือสาเหตุที่อ้างคลุมเครือไม่มีมูล ฯลฯ

รัฐบาลเองก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงเพราะมีหน้าที่ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ กล่าวคือแม้การพระราชทานอภัยโทษในมาตรา ๑๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" ก็ตาม แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ โดยคำแนะนำของรัฐบาล เพราะในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทุกชนิดที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น พระราชทานอภัยโทษก็ดี หรือแก้ไขทุกข์ของราษฎรที่ต้องให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติก็ดี พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมือง (มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ฯ ) และดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๕ กำหนดว่า "บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น ต้องมีรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจึงต้องเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องฎีกาทุกชนิดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือฎีการ้องทุกข์ รวมทั้งกราบบังคมทูล ถวายคำแนะนำและนำพระบรมราชวินิจฉัยมาปฏิบัติ และรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกเว้นฎีกาที่ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินเลย เช่นขอพระราชทานยืมเงิน หากมีพระมหากรุณาพระราชทานเป็นการส่วนพระองคก็ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน จึงเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองคโดยเฉพาะที่นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง

เมี่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็ต้องยึดหลักในพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา คือ นายกรัฐมนตรีในฐานะบังคับบัญชาสำนักราชเลขาธิการ ต้องสั่งการให้ยุติเรื่องตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกา

อันที่จริงราชเลขาธิการและคณะองคมนตรีซึ่งมีหน้าทีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเองก็ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาข้อ ๕ นี้ แต่ถ้าให้ทำเอง ก็คงถูกผู้เป็นแกนนำกล่าวหาเอาอีก และอาจละลาบละล้วงไปถึงสถาบันสูงสุดได้ จึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายการเมืองที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแทนพระมหากษัตริย์ ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ระงับฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายนี้ ไม่ให้ทูลเกล้า ฯ ถวายขึ้นไปถึงองค์พระประมุข เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งการเมืองลุกลามไปเป็นภยันตรายต่อสถาบันหลักของชาติได้

เขาทำนอง “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง”

ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ขัดขวางการถวายฎีกา จึงเป็นความสำคัญผิดในหน้าที่ตามกฎหมาย

อนึ่ง การที่กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดออกชี้แจงและตั้งโต๊ะรับการถอนชื่อฎีกาก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาข้อ ๕ วรรค ๔ ที่ว่า “ให้เป็นหน้าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้ทุกประการ คงเหลือแต่ ตำรวจ (กรมกองตระเวรและกรมตารวจภูธร) และทหาร (เจ้าพนักงานกองอารักขา) คงต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่ว่า “ให้เจ้าน่าที่ต่างๆที่กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติน่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันต่อไป”

สรุป

ภาวะ “ฎีกาโกลาหล” ครั้งนี้ระงับดับลงได้ด้วยวิธีการทางการเมือง ๒ ทาง คือ

๑. อดีตนายกรัฐมนตรีขอร้องให้แกนนำในการชักจูงประชาชน ยุติการกระทำที่มิได้เป็นไปตามกฎหมาย นิติประเพณีและระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องเสีย เหมือนเมื่อคราวระงับการขอจัดงานแซยิดให้ตนที่สนามหลวง และอาจทำเรี่องทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ถูกกฎหมายเพียงคนเดียว เรื่องนี้ก็จะระงับลง และเป็นบทพิสูจน์หักล้างคำกล่าวหาที่ว่าไม่จงรักภักดีเสียได้ด้วยการกระทำ ซึ่งสำคัญกวาคำพูด ถ้าเป็นเช่นนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีก็จะได้รับความชื่นชมจากผู้เขียน และคนจำนวนมากกว่า “แฟร์” และ “เล่นในเกมส์” สมกับที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาถึง ๕ ปี

๒. นายกรัฐมนตรีปัจจุบันต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรค ๒ กำหนดไว้ และตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยคณะรัฐมนตรีต้องมีมติร่วมกัน ให้นายกรัฐมนตรีระงับการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่ขัดต่อกฎหมาย นิติประเพณีและระเบียบปฏิบัติเสียเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ และมาตรา ๗๗ ที่ว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์....... และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข....”

อนึ่ง ต้องขอจบตบท้ายว่า ผู้เขียนบทความนี้ เพราะการอ้างอิงของอดีตทนายความของอดีตนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีใครขอร้อง หรือ สั่งการอย่างที่เคยกล่าวหาด่าทอผู้เขียนและผู้ใหญ่ที่คนเคารพนับถือผิด ๆ มาในโทรทัศน์ วิทยุหลายรายการ แต่ผู้เขียนไม่เคยตอบโต้ เพราะถือหลักว่าสัจจะก็คือสัจจะ ต่อไปหากจะอ้างอิงก็ขอความกรุณาอ้างอิงเรื่องที่ถูกต้องตามหลักวิชา

กรุณาอย่าอ้างโดยตัดตอนข้อความที่เป็นประโยชน์เฉพาะกับตน !

///////////////////

บทความนี้ ตีพิมพ์และเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนหลายฉบับทั้งสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น