xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ถกยกแรก! ดูข้อ กม.ขออภัยโทษต้องติดคุกก่อนหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวุฒิศักด์ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฎีกา พตท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกประชุม คณะกรรมการทั้ง 10 ท่าน เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายก่อนเสนอความคิดเห็นต่อสำนักราชเลขาฯ ที่กระทรวงยุติธรรม
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเสื้อแดงยื่้นถวายฎีกาฯ ช่วย "ทักษิณ" ประชุมนัดแรกวาง 3 เรื่องหลักต้องพิจารณา "ผู้ลงชื่อมีสิทธิ์ยื่นถวายฎีกาตามกฎหมายหรือไม่-ยื่นเรื่องถูกต้องหรือไม่-การขออภัยโทษต้องรับโทษก่อนหรือไม่" ถกอีกครั้ง 22 ก.ย.นี้ ยันไม่มีใครสั่งการ หรือชี้นำได้


วันนี้ (9 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผศ.วุฒิศักด์ ลาภเจริญทรัพย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ประธานคณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคนเสื้อแดงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก โดยมีกรรมการมาร่วมประชุม 8 คน จากทั้งหมด 10 คน คือ ผศ.วุฒิศักด์ ลาภเจริญทรัพย์, นายจุมพล ณ สงขลา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา(อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม), นายนัทธี จิตสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม, ผู้บังคับการกองคดีอาญาสำนักงานกฎหมายและคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายดุสิต จินทร์สถิต ผอ.กองนิติการ กรมราชทัณฑ์, นายไพฑูรย์ มงคลหัตถี หัวหน้าฝ่ายอภัยโทษ กรมราชทัณฑ์

สำหรับ ผศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด ประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม ม.มหิดล และ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ ไม่ได้เดินทางมาประชุม เนื่องจากติดภารกิจ ทั้งนี้ ใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

ภายหลังประชุมเสร็จสิ้น นายธงทอง จันทรางศุ ในฐานะคณะกรรมการ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้รายงานขั้นตอนตั้งแต่กระทรวงยุติธรรมรับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อกลางปี พ.ศ.2552 และมีการดำเนินการมาตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือลงลึกในรายละเอียดหรือให้ความเห็นไปในทางหนึ่งทางใด แต่ได้กำหนดประเด็นการทำงานของคณะกรรมการ ว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องพิจารณาโดยรอบคอบ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.ผู้ที่ลงชื่อ อยู่ในฐานะที่มีสิทธิ์ยื่นเรื่องถวายฎีกาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องดูให้รอบคอบ ทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ว่า การยื่นเรื่องดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จะต้องรวบรวมและจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ให้คณะกรรมการพิจารณา

2.วิธีการยื่นเรื่องถูกต้องหรือไม่ กระบวนการขั้นตอนจำเป็นต้องใช้แบบฟอร์มของทางราชการหรือไม่ และยื่นกับหน่วยงานที่รับผิดชอบถูกต้องแล้วหรือไม่

3.มีข้อกฎหมายหรือธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง รวมทั้งการขอพระราชทานอภัยโทษ ผู้นั้นต้องอยู่ในฐานะที่ได้รับโทษหรือถูกบังคับคดีแล้วหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้น้ำหนัก ให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นการกำหนดประเด็นที่จะต้องพิจารณา โดยหลังจากนี้คงต้องทำงานด้วยความละเอียดรอบรอบ หากจำเป็นต้องเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือให้ความเห็นก็จะดำเนินการต่อไป ส่วนการประชุมครั้งหน้าถัดไปอีก 2 สัปดาห์ คาดว่า จะเป็นวันพฤหัสที่ 22 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณกี่วัน นายธงทอง กล่าวว่า ไม่สามารถตอบว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าใด และในคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่มอบหมายภารกิจนี้ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำงานให้เสร็จเมื่อใด ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการมอบนโยบายให้ฝ่ายเลาขานุการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ไปรวบรวมเอกสารต่างๆและยังไม่ทราบว่าจะรวบรวมเอกสารได้มากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดบ้างที่ควรจะต้องเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามแนวทางปฏิบัติหรือข้อซักถามเพิ่มเติม อีกทั้งการทำงานครั้งนี้จะต้องใช้ความรอบคอบ ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่สามารถลงชื่อถวายฎีกาได้จะต้องเป็นญาติหรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางฝ่ายไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ นายธงทอง กล่าวว่า ตนคงไม่ให้ใครเชื่อมั่นกับคณะกรรมการฯ เพราะแต่ละท่านเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ มีประสบการณ์และบทบาทต่างๆ ตนไม่อยู่ในฐานะที่จะไปเรียกร้องให้ใคร เชื่อมั่น แต่สำหรับตนเชื่อว่าสามารถทำหน้าที่ในการให้ความเห็นบนพื้นฐานของวิชาชีพได้

เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดนี้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถให้ความเห็นหรือชี้นำได้ ใช่หรือไม่ นายธงทองกล่าวว่า ไม่มีใครมามอบหมาย หรือ สั่งการ ตนมีความมั่นใจในตนเองต่อการทำหน้าที่ ทั้งนี้กรรมการทั้งหมดเป็นเพียงผู้ให้ความเห็นไม่ใช่เป็นผู้ชี้ขาด โดยสุดท้ายแล้วก็จะต้องสรุปความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาต่อไป ส่วน รมว.ยุติธรรม จะตัดสินใจอย่างไร เป็นสิทธิ์ของท่าน

เมื่อถามว่า คณะกรรมการ 2 ท่าน ไม่มาเข้าร่วมประชุม เนื่องจากสาเหตุใด นายธงทอง ชี้แจงว่า นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และอีกท่านติดภารกิจหรือเดินทางไปต่างประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น