xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มทุนการเมืองเคมีเกษตรถ่วงเวลาขึ้นทะเบียน ระวังสารพิษไร้มาตรฐานท่วมประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนเคมีเกษตร ผู้บริจาคเงินอุดหนุนให้กับพรรคการเมือง ถ่วงเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรตามกฎหมายวัตถุอันตราย โดยอ้างความไม่พร้อมและค่าใช้จ่ายสูง หวังฉวยโอกาสนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐาน อันตรายร้ายแรง เข้ามาจำหน่าย และกดดันให้แก้ไขกฎระเบียบที่ขัดต่อผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจสารเคมีทางการเกษตรให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชย่อหย่อนมากที่สุด กล่าวคือหน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลยให้ออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสารพิษกำจัดศัตรูพืชมีจำนวนมากถึง 27,126 ฉบับ ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000-2,000 รายการเท่านั้น

ความอ่อนแอในการควบคุมของภาครัฐ ส่งผลทำให้เกิดการใช้สารเคมีมากเกินไปและไม่เหมาะสม เกษตรกรมากกว่า 38.52% ได้รับสารเคมีการเกษตรสะสมในกระแสเลือดที่อยู่ในขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัย สารพิษสะสมในผลผลิตซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง ทำให้คนไทยตายเพราะโรคมะเร็งมากที่สุด แซงหน้าสาเหตุการตายจากเหตุอื่นๆ

ความหมักหมมของปัญหาดังกล่าว ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกผักและผลไม้ไปยุโรป เพราะจากตัวเลขของอียูพบว่า ผักและผลไม้ของประเทศไทยพบปริมาณการตกค้างของสารเคมีการเกษตรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในบรรดา 70 กว่าประเทศที่ส่งออกไปยังยุโรป ทั้งๆที่ปริมาณการส่งออกของไทยน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น น้อยกว่าจีน 29 เท่า และน้อยกว่าตุรกีถึง 46 เท่า เป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวทำให้นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารพิษทางการเกษตร และองค์กรภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนให้เกิดกลไกทางกฎหมายในการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขึ้น โดยผ่านการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่ พ.ศ.2551 จนสามารถประกาศใช้ได้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551

กลไกใหม่ในการควบคุมสารพิษ ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับใหม่

กลไกสำคัญของกฎหมายก็คือ การประกาศให้สารพิษทางการเกษตรต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมดภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 กล่าวคือให้เวลาถึง 3 ปี และ 6 เดือนเต็มเพื่อให้บริษัทสารเคมีดำเนินการเสียให้ถูกต้อง และเมื่อได้ทะเบียนแล้วก็ให้มีอายุทะเบียนเพียง 6 ปี เพื่อว่าในระหว่างนั้นสารเคมีการเกษตรตัวใดมีรายงานว่าทำให้เกิดพิษภัยร้ายแรงทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะได้สามารถพิจารณาไม่ให้ขึ้นทะเบียนต่อไปได้

กฎหมายยังได้กำหนดให้ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนต้องมี 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรกต้องมีหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานระหว่างประเทศ GLP (Good Laboratory Practice) เกี่ยวกับการทดลองเบื้องต้น ข้อมูลประสิทธิภาพ พิษเฉียบพลันและพิษตกค้างของสารเข้มข้นและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และขั้นตอนที่สองคือการทดลองใช้ชั่วคราวในแปลงสาธิต เพื่อทราบถึงข้อมูลความเป็นพิษ และระยะเวลาตกค้างในผลผลิต

ที่จริงแล้วขั้นตอน 2 ประการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการทั่วไปของบรรดาอารยประเทศในการควบคุมสารพิษทางการเกษตร แต่ประเทศไทยได้ปล่อยปละละเลย และย่อหย่อนมานาน ทั้งๆ ที่เป็นการจัดการสารเคมีที่ต้นน้ำ เป็นการให้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และบริษัทที่มีความรับผิดชอบควรเต็มใจให้ความร่วมมือ เนื่องจากนี่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป แต่เป็นสินค้าประเภท “สารพิษ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้บริโภค

การเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มธุรกิจสารเคมีการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารพิษจะสิ้นสุดลง กลุ่มธุรกิจสารเคมีการเกษตร ภายใต้การนำของอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและวุฒิสมาชิก สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรระดับบรรษัทข้ามชาติ บริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรของไทย และบริษัทธุรกิจเคมีเกษตรระดับประเทศ ได้เคลื่อนไหวใหญ่ เพื่อผลักดันให้มีการขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนออกไปอีก 2 ปี

ทั้งนี้โดยอ้างว่า ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทัน เพราะความล่าช้าในการออกกฎระเบียบของกรมวิชาการเกษตร อีกทั้งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนถึง 1-1.5 ล้านบาทต่อรายการ และหากรัฐบาลไม่ยืดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนออกไป สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะขาดตลาด หรือมีราคาแพงและเกษตรกรจะเป็นผู้เดือดร้อน

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกลุ่มธุรกิจสารเคมีเกษตรมีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยมีการประสานงานกับกลไกของฝ่ายราชการ เช่น เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งออกมาตอกย้ำความเสียหายและผลกระทบหากสารเคมีไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทันกาล
 
การเชิญกลุ่มทุนเคมีเกษตรที่เป็นผู้บริจาคเงินอุดหนุนให้กับพรรคการเมือง เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาการเคลื่อนไหว รวมถึงการเชิญนายกสมาคมชาวนาไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองที่ดูแลกระทรวงเกษตร รวมทั้งใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจการเกษตรหลายกลุ่ม ให้ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่กลไกของกฎหมายใหม่นี้เอื้ออำนวยประโยชน์และปกป้องผลประโยชน์ของชาวนาและเกษตรกร

ข้อโต้แย้งต่อเหตุผลการขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารพิษ

กรณีการอ้างว่ากลุ่มธุรกิจสารเคมีมีระยะเวลาการขึ้นทะเบียนน้อยมากเนื่องจากหลังจากมีการออก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น ยังต้องรอประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประกาศกรมวิชาการเกษตร รวม 3 ฉบับ ทำให้เหลือเวลาการขึ้นทะเบียนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น เป็นเหตุผลที่ถูกโต้แย้งจากหลายฝ่ายว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น กฎหมายได้ให้เวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2554 รวมเป็นระยะเวลาถึง 3 ปีกับ 6 เดือนเต็ม

โดยในระหว่างนั้นกลุ่มธุรกิจสารเคมีเกษตรได้ร่วมปรึกษาหารือและเข้าร่วมกระบวนการประชาพิจารณ์กับกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับขั้นตอนและรายละเอียดในการขึ้นทะเบียนมาโดยต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะมีความล่าช้าอยู่บ้างตามประสาระบบราชการไทย แต่บริษัทสารเคมีการเกษตรทั้งหลายสามารถยื่นขอทะเบียนได้ตั้งแต่มีประกาศของกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป หมายความว่าผู้ยื่นขอทะเบียนมีเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 648 วัน หรือ 1 ปี กับอีก 9 เดือนเศษ ในขณะที่ขั้นตอนการทดลองทางพิษวิทยานั้นสามารถดำเนินการภายในระยะเวลา 6-8 เดือน ซึ่งมีเวลาเหลือเฟือสำหรับดำเนินการ

สำหรับคำกล่าวอ้างเรื่องภาระค่าใช้จ่ายนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่อาจรับได้เช่นเดียวกัน เพราะการประเมินว่า มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1-1.5 ล้านบาทต่อรายการนั้น ไม่เป็นความจริง

ตัวอย่างเช่น กรณีการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตรในประเทศเวียดนามซึ่งได้กำหนดมาตรฐานแบบเดียวที่กรมวิชาการเกษตรของไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้น เสียค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 3,000 -5,000 เหรียญ หรือ 100,000-150,0000 บาทต่อรายการเท่านั้น
 
ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ส่งเสริมการขาย หรือให้รางวัลจูงใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมกันนับร้อยล้านบาท ทั้งๆที่การส่งเสริมการขายสารเคมีเกษตรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ผิด “จรรยาบรรณระหว่างประเทศว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” อย่างชัดเจน

ส่วนกรณีคำขู่ที่ว่า หากไม่ยืดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนออกไป จะทำให้สารเคมีการเกษตรขาดตลาดนั้น น่าจะเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากช่องโหว่ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 24 (ฉบับ พ.ศ.2535) ได้อนุญาตให้บริษัทต่างๆสามารถ “ประกอบกิจการไปพลางก่อน” ระหว่างการยื่นคำขอรับใบอนุญาตและขั้นตอนการอนุมัติ ทำให้ปัจจุบัน สถิติการนำเข้าสารเคมีการเกษตร ตลอดจนสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย (solvent)สูงขึ้นอย่างพรวดพราด โอกาสสารเคมีขาดตลาดจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

จับตาการผ่อนคลายระเบียบและยืดอายุการขึ้นทะเบียนทำสารเคมีอันตรายมาตรฐานท่วมประเทศ

จากการวิเคราะห์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจสารเคมีการเกษตรครั้งนี้ เท่ากับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งเดียวแต่ได้ประโยชน์ 3 ประการพร้อมกัน คือ

ประการแรก กดดันให้กรมวิชาการเกษตร และนักการเมืองที่ควบคุมดูแลกระทรวงเกษตรให้มีประกาศกรมวิชาการเกษตร เพื่ออนุญาตให้บริษัทสารเคมีการเกษตรสามารถนำเข้าสารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีคุณภาพที่ได้เคยอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 27,126 รายการให้สามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ตามช่องโหว่ที่ปรากฏในมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

การผ่อนปรนนี้ จะทำให้สารพิษที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีนไหลทะลักเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายที่ประสงค์จะให้มีการปรับปรุงกลไกการขึ้นทะเบียนภายในปี 2554 นี้ จะไม่สามรถทำได้และต้องยืดระยะเวลาไปอีกอย่างน้อยอีก 2 ปี

ประการที่สอง การเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรฯเอื้ออำนวยให้กลุ่มธุรกิจสารเคมีสามารถนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารเคมีอันตรายร้ายแรงซึ่งอยู่ในรายการเฝ้าระวัง ตลอดจนสารเคมีที่หลายประเทศห้ามใช้แล้วมาขอขึ้นทะเบียนได้โดยง่าย ตัวอย่างสารเคมีอันตรายดังกล่าว เช่น คาร์โบฟูแรน (หรือชื่อการค้าฟูราดาน) เมโธมิน อีพีเอ็น และอัลดิคาร์บ เป็นต้น

ประการที่สาม น่าเชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจสารเคมีทางการเกษตร โดยการดำเนินการบางอย่างอาจดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนระดับประกาศกระทรวงฯ หรือประกาศกรม เพราะไม่ต้องแก้ไขกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องรอหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สร้างจุดเปลี่ยนจากวิกฤตสารเคมี

การสร้างความหวาดกลัว โดยขู่ว่าสารเคมีอาจจะขาดตลาดและเกษตรกรจะต้องซื้อสารเคมีในราคาแพง และบางทีอาจรวมไปถึงการไม่ได้รับการสนับสนุนปัจจัยสำหรับการเลือกตั้ง ทำให้เชื่อว่าวิกฤตเกี่ยวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะดำรงอยู่ต่อไปอีก เว้นแต่ว่าสาธารณชน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายตระหนักร่วมกันว่า ปัญหาเรื่องสารเคมีการเกษตร ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจเคมีเกษตร และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดีของพวกเราทุกคน

การแก้ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีเป็นหลักนั้น รังแต่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวขยายออกไป เช่น ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “พายุแมลง” ซึ่งหมายการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั่วเอเชียนั้น มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากการใช้สารพิษฆ่าแมลงมากเสียจนทำลายแมลงที่มีประโยชน์หายไปหมด ทางออกในการแก้ปัญหาซึ่งแนะนำโดยสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศ และองค์กรด้านการเกษตรระดับประเทศคือ การปรับเปลี่ยนแปลงวิธีการเกษตร ไปสู่การปลูกพืชอย่างหลากหลาย การใช้วิธีชีวภาพในการเกษตร เป็นต้น

ประเทศไทยควรใช้โอกาสที่เกิดวิกฤตเกี่ยวกับสารเคมีการเกษตรนี้ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เกษตรกรรมอินทรีย์ และกำหนดเป้าหมายการลดการใช้สารเคมีการเกษตรให้ได้สักครึ่งหนึ่ง ดังที่นโยบายของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น