ไบโอไทย จับมือเครือข่ายเกษตรกร-ผู้บริโภคหนุนกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชภายในระยะเวลาที่กำหนด ชี้ ธุรกิจเคมีเกษตรหวังผลประโยชน์ เพื่อตนเองโดยไม่รับผิดชอบผลกระทบต่อเกษตรกร
จากกรณีกลุ่มธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เคลื่อนไหวให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายวัตถุอันตราย โดยให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปอีก 2 ปี และกดดันให้กรมวิชาการเกษตรผ่อนผันการจัดจำหน่ายสารเคมีการเกษตร โดยอ้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่อาจจะไม่สามารถซื้อสารเคมีเกษตรมาใช้ และส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรนั้น
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ (ผอ.) มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ได้แจ้งว่า ไบโอไทยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร และองค์กรผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะทางราชการได้ให้เวลาแก่บริษัทสารเคมีการเกษตรดังกล่าวมาแล้วถึง 3 ปี โดยในระหว่างระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับธุรกิจสารเคมีมาตลอด “หากนับเวลาตั้งแต่มีประกาศของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 บริษัทสารเคมีการเกษตร มีเวลาถึง 1 ปี กับ 9 เดือนครึ่ง ที่จะขึ้นทะเบียน ในขณะที่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ก็ละเลยที่จะดำเนินการ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเคลื่อนไหวกดดันให้มีการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนออกไปได้” นายวิฑูรย์ กล่าว
ผอ.ไบโอไทย ยังระบุด้วยว่า ประเทศเวียดนามได้ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย โดยได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ โดยค่าใช้จ่ายต่อการขึ้นทะเบียนต่อสารเคมีอยู่ที่ 3,000-5,000 เหรียญ หรือ 100,000-150,0000 บาทต่อทะเบียนเท่านั้น มิได้สูงถึง 1-1.5 ล้านบาท ตามที่สมาคมธุรกิจสารเคมีกล่าวอ้าง ธุรกิจสารเคมีการเกษตรควรนำค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมี เช่น ให้การสนับสนุนเอเยนต์ ร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือให้รางวัลจูงใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท มาใช้สำหรับการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้ถูกต้องจะดีกว่า เพราะการส่งเสริมการขายในรูปแบบดังกล่าวขัดกับ “จรรยาบรรณระหว่างประเทศว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” อย่างชัดเจน
“ปัญหาหลักของการใช้สารเคมี คือ การใช้สารเคมีการเกษตรมากเกินไป คุณภาพต่ำ และไม่มีการคุ้มครองผลกระทบต่อเกษตรกร และผู้บริโภคที่ได้รับสารพิษ ซึ่งบริษัทสารเคมีการเกษตรในประเทศไทยต้องมีจิตสำนึกในการร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าว
อนึ่ง การจัดประชุมและแถลงข่าวของเครือข่ายเกษตรกร องค์กรสิ่งแวดล้อม และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจะมีขึ้นในวันที่ 27 เมษายนนี้ ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ เวลา 13.30 น