เครือข่ายวิชาการเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท.) ชี้ปัญหาสารเคมีการเกษตรตกค้างในพืชผักผลไม้ของไทยอยู่ในขั้นวิกฤต เผยการขาดมาตรการกำกับการใช้สารเคมีของภาครัฐเป็นเหตุให้ไทยต้องแบนตัวเองไม่ส่งสินค้าเกษตรไปอียู แนะรัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในประเทศเพราะยอดคนตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าโรคเอดส์ และอุบัติเหตุหลายปีติดต่อกันแล้ว จี้รัฐแบนสารเคมีการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ carbofuran, dicrotophos, EPN และ methomyl พร้อมใช้โอกาสขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรใหม่ทั้งหมดกวดขันการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่ไร้การควบคุมมานาน
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ เครือข่ายวิชาการเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท) ซึ่งมีสมาชิกที่ประกอบด้วยนักวิชาการด้านสารเคมีการเกษตร นักการแพทย์ และองค์กรด้านสาธารณประโยชน์ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการระงับการส่งออกสินค้าเกษตร 16 ชนิดไปยังตลาดสหภาพยุโรปว่า เกิดขึ้นจากความปล่อยปละละเลยของหน่วยงานภาครัฐ และควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคด้วยเพราะสถานการณ์การปนเปื้อนของสารเคมีการเกษตรในผลผลิตอาหารปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว
นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท.) กล่าวว่านอกเหนือจากการเร่งรีบแก้ปัญหาการส่งออกไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ต้องปฏิรูปการควบคุมสารเคมีการเกษตรอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพประชาชนในประเทศ ด้วยขณะนี้ปัญหาสารเคมีเกษตรเข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้ว โดยระบุว่า ผลการตรวจเลือดของเกษตรกรใน จ.เชียงใหม่จำนวน 924 คน เมื่อปี 2551 พบว่าอยู่ในขั้นไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 38 และผลการตรวจเลือดของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,412 คน พบว่ามีระดับไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 60.9 รวมถึงจำนวนผู้ป่วยจากสารเคมีเกษตรอาจสูงถึง 200,000 - 400,000 คน จากการการประเมินของแผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในปี 2548
“เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความตื่นตัวของนานาชาติต่อปัญหาด้านสารเคมีเกษตร เพราะจากการศึกษาในประเทศต่างๆ พบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งและอีกหลายๆ โรค โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของหลายประเทศ เช่น แคนาดาที่ประชาชนจำนวนถึงร้อยละ 44 จะป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่วงชีวิต สำหรับประเทศไทยสถิติการป่วยด้วยโรคมะเร็งก็พุ่งสูงมาก จนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งแซงหน้าโรคเอดส์และอุบัติเหตุหลายปีติดต่อกัน จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 55,000 คน สังคมไทยไม่ควรเพิกเฉยกับปัญหานี้”
นพ.ปัตพงษ์ยังกล่าวต่อว่า ปัญหาวิกฤตพิษภัยจากสารเคมีการเกษตรทำให้นักวิชาการ นักการแพทย์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ตระหนักในเรื่องนี้ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายวิชาการเตือนภัยสารเคมีเกษตร ประเทศไทย (คสท) หรือ Thailand Pesticide Alert Network - ThaiPAN ขึ้น โดยภารกิจแรกคือการตรวจสอบติดตามการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตรของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และผลักดันให้มีการแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย 4 รายชื่อที่หลายประเทศเลิกใช้แล้ว พร้อมทั้งเตรียมจัดประชุมวิชาการเรื่องสารเคมีเกษตรในประเทศไทยภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ด้าน น.ส.รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักวิจัยมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) แถลงเพิ่มเติมว่าประเทศสมาชิกอียูได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้มาแล้วหลายครั้ง แม้ว่าจำนวนการแจ้งเตือนเรื่องสารเคมีเกษตรจะน้อยกว่าการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืชและเชื้อแซลโมเนลลา (samonella) แต่ทางอียูก็ให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างยิ่ง เพราะระบบเตือนภัย RASFF (rapid alert system for food and feed) ของทางอียูระบุว่ามีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักส่งออกจากไทยถึง 55 รายการในปี 2553 ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดจากการตรวจพบในปี 2552 และ 2551 ที่อยู่ที่ 26 และ 25 ครั้งตามลำดับ
“ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2553 อียูได้ส่งหน่วยงานมายังประเทศไทยเพื่อประเมินมาตรการการควบคุมและป้องกันปัญหาจากสารเคมีเกษตรตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน และมีรายงานสรุปใน DG (SANCO) 2010-8575 - MR Final ว่ากรมวิชาการเกษตรและโรงงานบรรจุสินค้าส่งออกให้ข้อมูลต่อเกษตรกรไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตกค้างของสารเคมีเกษตรที่เกินค่ามาตรฐาน EU MRLs ในผักผลไม้ พร้อมกับประกาศแก้ไขข้อกำหนดเรื่องการตรวจหาสารเคมีเกษตร 22 ชนิด ซึ่งมี monocrotophos สารเคมีที่ประเทศไทยแบนแล้วตั้งแต่ปี 2543 รวมอยู่ด้วย ในผักส่งออกจากไทย 3 ชนิด คือ มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว และผักประเภทกะหล่ำ ซึ่งมีอัตราการตรวจแล้วที่ร้อยละ 50 และขณะนี้ทางอียูกำลังเตรียมการที่จะแบนการนำเข้าพืชผักจากประเทศไทย”
นักวิจัยมูลนิธิชีววิถีกล่าวต่อว่าทั้งนี้ระเทศไทยยังมีระบบการขึ้นทะเบียนสารและชื่อการค้าของสารเคมีการเกษตรที่ย่อหย่อนมาก โดยอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนการค้าและสารออกฤทธิ์กว่า 27,000 รายการ ซึ่งอาจจะมากที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศมาเลเซียและเวียดนามมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพียง 917 และ 1,743 รายชื่อตามลำดับเท่านั้น ขณะนี้จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานรัฐจะกวดขันระบบการขึ้นทะเบียนเพราะประกาศการทรวงเกษตรฯ เรื่องการขึ้นทะเบียนฯ ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 กำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรใหม่ทั้งหมด โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ที่จะถึงนี้ พร้อมกันนั้นควรปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรบางชนิดที่มีความเป็นพิษสูง เช่น carbofuran, dicrotophos, EPN และ methomyl ด้วย”