xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิชีววิถีเปิดเวทีถกร่วมเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน ปลุกกระแสต้านขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิชีววิถีจัดเวทีสัมมนาการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิด เผยแพร่ความรู้ผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการขึ้นทะเบียนสารเคมี 4ชนิด คือ คาร์ใบฟูราน ไดรโครโตฟอส เมโทมิลและอีพีเอ็น โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายวิจัยเกษตรกรรมแบบยั่งยืนภาคอีสาน เครือข่ายอาหารปลอดภัย เครือข่ายโครงการฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคามเข้าร่วมสัมมนา
มหาสารคาม- มูลนิธิชีววิถี เปิดเวทีถกผลกระทบการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย 4 ชนิด คาร์ใบฟูราน ไดรโครโตฟอส เมโทมิลและอีพีเอ็น มุ่งให้ความรู้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ร่วมค้านการขึ้นทะเบียนหวั่นสร้างปัญหาสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมระยะยาว จวกเละ จ.มหาสารคาม ประกาศส่งเสริมปลูกข้าวอินทรีย์เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่แต่ในห้วงปี 52-53 กลับสั่งซื้อสารเคมีกว่า 100 ล้านบ.จี้ผู้ว่าฯทบทวนโครงการพร้อมหยุดแจกจ่ายเกษตรกรใช้สารเคมีอันตราย

วันนี้ (22 ก.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มูลนิธิชีววิถีจัดเวทีสัมมนาการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิด เผยแพร่ความรู้ผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการขึ้นทะเบียนสารเคมี 4 ชนิด คือ คาร์ใบฟูราน ไดรโครโตฟอส เมโทมิล และ อีพีเอ็น โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายวิจัยเกษตรกรรมแบบยั่งยืนภาคอีสาน เครือข่ายอาหารปลอดภัย เครือข่ายโครงการฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคามเข้าร่วมสัมมนา

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกำลังได้รับความสนใจของสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีออกไปอีก 2 ปี และกำลังจะอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตรายร้ายแรงอย่างน้อย 4 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน ไดโคโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น ยังไม่พบรายงานการขึ้นทะเบียน

ขณะนี้เหลือเพียงการพิจารณาขั้นสุดท้าย คือ ขั้นตอนการประเมินผลเพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ในเร็วๆ นี้ ทั้งที่สารเคมีเกษตรทั้ง 4 ชนิดมีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เวียดนามและพม่า

ตลอดเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา นักวิชาการ เกษตรกร และผู้บริโภคเป็นจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการขึ้นทะเบียนสารเคมีทั้ง 4 ชนิด รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรรักษ์สุขภาพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยุติการนำเข้าและการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 4 ชนิด

ประกอบด้วย คาร์ใบฟูราน ไดรโครโตฟอส เมโทมิล และ อีพีเอ็น ให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนและเรียกร้องให้มีการควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขยายของบริษัทสารเคมีการเกษตรอย่างเข้มงวด แต่ยังไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแต่ประการใด

ผศ.ดร.นายแพทย์ ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หากอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรร้ายแรง 4 ชนิดต่อไปได้ จะก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคทั่วไป อีกทั้งกระทบระบบการเกษตรผู้บริโภค ซึ่งจากหลายผลงานวิจัย ระบุว่า สารเคมีทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย คาร์โบฟูราน ไดโคโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น เป็นวัตถุมีพิษที่อันตรายมาก

ช่วงนี้ ที่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการขึ้นทะเบียน เนื่องจากงานวิจัยพิสูจนได้ว่ามีอันตรายสูงมากทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งระบบประสาท กล้ามเนื้อ ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ที่สำคัญ พิษเรื้อรัง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งมะเร็งก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็ง การที่ประชาชนต้องรับสิ่งเหล่านี้เข้าไปก่อให้เกิดความสูญเสีย รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปก็สามารถเจ็บป่วยจากการรับสารตกค้างเหล่านี้เข้าไป ทุกฝ่ายต้องจริงจัง ทั่วโลกล้วนแล้วแต่ห้ามไม่ให้ใช้สารเหล่านี้กันแล้ว โดยเฉพาะยุโรป อเมริกา ส่วนเพื่อนบ้านอย่าง พม่า มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ก็ไม่ให้ใช้สารเหล่านี้เช่นกัน

รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรง การดูแลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนอยู่ดีมีสุข หากรัฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้ มีผลดีอย่างมาก ประชาชนลดการเจ็บป่วย ลดค่าใช้จ่าย หากเป็นมะเร็งก็ไม่หาย เกิดความทุกข์ทรมาน คาดหวังว่า รัฐบาลจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ด้าน นายอุบล อยู่หว้า ผู้ปะสานงานข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรกรอันตรายอย่างร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จัดเป็นสารพิษที่หน้าแรงระดับ 1เอ และระดับ 1บี จากการจัดชั้นขององค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ และอยู่ในรายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง

จากการศึกษาทางวิชาการ พบว่า สารเคมีเกษตร 4 ชนิด มีพิษร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น เป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เป็นพิษต่อหัวใจ เป็นพิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โคโมโซมผิดปกติ กระบวนการในขณะนี้เหลือแต่เพียงพิจารณาขั้นสุดท้าย คือขั้นการประเมินผลเพื่อรับขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ในเร็วๆ นี้

นายสุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศูนย์ประสานงานเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดมหาสารคาม ระบุว่า สถานการณ์สารเคมีของจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดได้มีการสั่งซื้อสารเคมี เราได้ศึกษาติดตามการสั่งซื้อของหน่วยงานราชการ พบว่า ข้อมูลการช่วยเหลือที่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ปี 2552 มีการสั่งซื้อมูลค่า 46 ล้าน ปี 2553 ใช้งบถึง 88 ล้านบาท ในคณะกรรมการชุดเดียวกัน ทางจังหวัดมีหนังสือถึงเกษตรกร โดยให้เกษตรกรทำหนังสือขอความต้องการขึ้นมา จัดซื้อเป็นการแก้ไขปัญหาโรคใบไหม้ข้าว ซึ่งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากล ด้วยความห่วงใย งบประมาณกับข้อมูลความเสียหายไม่สัมพันธ์กัน

จึงอยากให้ทางจังหวัดลงมาดูแล โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งต้องติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งตามที่จังหวัดประกาศยุทธศาสตร์ ให้การพัฒนาส่งเสริมปลูกข้าวอินทรีย์ เป็นยุทธศาสตรใหญ่จังหวัด แต่จังหวัดได้ใช้งบประมาณมหาศาลในการสั่งซื้อสารเคมีเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งต้องตั้งคำถามและช่วยการตรวจสอบ เรียกร้องให้จังหวัดหยุดการจัดทำโครงการดังกล่าว หยุดแจกจ่าย พร้อมเสนอแนะให้นำงบประมาณไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรดีกว่า

ในส่วนของร้านค้าที่จำหน่าย ซึ่งเป็นบทบาทของคณะกรรมการควบคุมวัตถุมีพิษของจังหวัด ตอนนี้มีร้านจำหน่ายสารเคมีที่เป็นอันตราย กระจายอยู่เยอะมาก จังหวัดควรเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนและมีการจัดการวิธีการจำหน่ายที่ปลอดภัยให้กับประชาชน อีกประการหนึ่งคือตอนนี้สถานีวิทยุท้องถิ่นมีการโฆษณาชวนเชื่อจำหน่ายสารเคมี ที่เป็นอันตรายเหล่านี้แทบทุกชั่วโมง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเลือกซื้อสารเคมี และเข้าใจผิดในการใช้สารเคมี หากจังหวัดมีมาตรการการโฆษณาที่ควรจะเป็นกำกับดูแล ช่วยให้ความสนใจ จะทำให้อาหารปลอดภัยและลดการใช้สารเคมี

หลังจากการเสวนาแล้วเสร็จ ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายวิจัยเกษตรกรรมแบบยั่งยืนภาคอีสาน เครือข่ายอาหารปลอดภัย เครือข่ายโครงการฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคาม ได้เดินรณรงค์ต่อต้านสารเคมีอันตราย 4 ชนิด ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไปตามถนนศรีสวัสดิ์ดำเนิน โดยไปสิ้นสุดที่ที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร
สารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดหากเกษตรกรนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น