ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลมาร์คหมดปัญญา ปล่อยพ่อค้ากักตุนและทยอยขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำยังไม่เลิกผลาญกองทุนน้ำมันเพื่อปตท. กมธ.สอบทุจริตฯ วุฒิสภา แฉผู้บริโภคถูกบริษัทค้าน้ำมันรีดอย่างเลือดเย็นโดยโก่งราคาสูงเกินจริง แค่ 11 เดือน สูบเข้ากระเป๋าถึง 30,000 ล้าน
สโลแกนหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารบ้านเมืองที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” กำลังจะปิดฉากด้วยคำว่า “ประชาชนต้องตายก่อน” ในช่วงใกล้วันรัฐบาลประกาศยุบสภา เข้าสู่โหมดหาเสียงเลือกตั้งกันใหม่ เพราะเวลานี้ประชาชนล้วนแต่ทุกข์ระทมจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุดหย่อน สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการกักตุนพาให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า
ฝุ่นตลบยังไม่ทันจางจากรายการ “สวาปาล์ม” ที่ทำเอาประชาชนทุกข์ร้อน ทะเลาะเบาะแว้งเพราะแย่งซื้อน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นผลมาจากขบวนการสวาปาล์มที่ว่ากันว่านักการเมืองจากพรรครัฐบาลได้รับส่วนแบ่งกันหลักพันล้าน ส่วนพ่อค้าหัวใสได้กำไรจากการกักตุนไม่น้อย และคอยว่าอีก 3 เดือนนับจากนี้ ราคาน้ำมันปาล์มขวดละ 47 บาทในเวลานี้ จะพุ่งทะยานขึ้นไปอีกเท่าใด
น้ำมันถั่วเหลือง ที่จ่อคิวมารอก็ได้ปรับราคาขึ้นพรวดเดียว 9 บาท จากเดิมขวดลิตร ราคา 46 บาท เพิ่มเป็น 55 บาท พร้อมกับปรับขึ้นราคามหาโหดของผลิตภัณฑ์นม ทั้งนมสดพาสเจอร์ไรส์ ยูเอชที สเตอริไลส์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.28 - 8.50 บาท ตามมาด้วยปุ๋ยเคมีที่จ่อคิวขึ้นไป 10-35% แม้จะมีการชะลอไว้ก่อนแต่สุดท้ายคงปรับขึ้น เช่นเดียวกับเหล็กที่กำลังตามมาเช่นกัน
หลังการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจประชาชนอย่างยิ่งที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น แต่ก็บอกว่า นี่เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เพราะต้นทุนสูงขึ้นจริงๆ ไม่สามารถตรึงราคาได้ต่อไปเพราะจะเกิดปัญหาการบิดเบือนโครงสร้างทางการตลาดและขาดแคลนสินค้า ต้องหาทางแก้ไขด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนแทน พร้อมกับปลอบประโลมว่า หากสถานการณ์คลี่คลายค่อยปรับราคาสินค้าลง
คำพูดของนายกรัฐมนตรี เหมือนคนไม่เคยเดินถนนสัมผัสความจริงที่ว่า ราคาสินค้าเมื่อได้ขึ้นไปแล้ว ไม่มีวันลง ซ้ำยังพลอยเป็นเหตุผลให้แม่ค้าพ่อค้าปรับราคาอาหารสำเร็จเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดอีก อย่างเช่น ข้าวแกง หรืออาหารจานเดียว ที่ปรับเพิ่มครั้งละ 5 - 10 บาท จากเดิมอยู่ที่ 20 - 25 บาท ก็ขึ้นมาเป็นจานละ 30 - 35 บาท หรือบางแห่งขึ้นไปถึง 40 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นราคาไปนั้นอย่างน้อยก็เป็นสินค้าควบคุม มีการตรวจสอบชัดเจนว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ จะอนุมัติให้ปรับขึ้นได้มากน้อยเท่าใดถึงจะทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนมากเกินไป
แต่ยังมีสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ซ้ำยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลอีกด้วย นั่นคือ สินค้ากลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสินค้าทุกประเภทและเป็นต้นทุนในการดำรงชีวิตประจำวันที่สำคัญอีกด้วย
สินค้ากลุ่มนี้หากนายกรัฐมนตรี ห่วงกังวลว่า จะเกิดการบิดเบือนกลไกตลาดนั้น ควรที่จะต้องหันกลับมาดูอย่างจริงจังว่า ที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มพลังงาน มีการหมกเม็ดบิดเบือนราคาไม่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มพลังงาน ยังได้รับการโอบอุ้มอย่างดียิ่ง โดยรัฐบาลล้วงเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนอีกด้วย และไม่เพียงแต่การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้พุ่งสูงเกิน 30 บาทเท่านั้น ยังมีการล้วงเอาเงินกองทุนฯ ไปอุ้มราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี โดยไม่ได้คำนึงว่า ก๊าซแอลพีจีที่นำเข้านั้น เอาไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสำคัญ
ผลการศึกษาและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ซึ่งสรุปว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เลือกพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้แก่ ปตท. ในการนำเข้าแอลพีจี โดยนำเงินกองทุนน้ำมัน ไปชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าก๊าซแอลพีจี ในปี 2552 จำนวน 5,818 ล้านบาท และในปี 2553 กว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับปี 2554 ที่ขออีกประมาณ 2,000 กว่าล้าน รวมๆ แล้วเกือบ 30,000 ล้านบาท นั้น
กบง.ไม่สนใจข้อมูลที่แท้จริงว่า ปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้นประเทศเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์ แต่เหตุที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีจำนวนมหาศาลเป็นเพราะความต้องการของของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ บมจ.ปตท. ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบกับภาระส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นเลย
เรื่องนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างแท้จริงว่า กบง.ไม่ควรให้มีการจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นผู้รับผิดชอบในราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยตรง ซึ่งดูเหมือนนายกรัฐมนตรี จะเห็นพ้องและเห็นควรให้แยกราคาแอลพีจีเป็นสองตลาด คือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนกับขนส่ง แต่การดำเนินการแยกราคาแอลพีจีกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ถึงขณะนี้ การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) รายงานสถานะกองทุนน้ำมัน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 54 ว่า มีหนี้เงินชดเชยก๊าซแอลพีจี กรณีนำเข้าจากต่างประเทศ ปี 2554 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2,050 ล้านบาท
การนำเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนราคาก๊าซฯ และทำโครงการต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของกองทุนน้ำมัน ทำให้เม็ดเงินของกองทุนที่นำมาใช้สำหรับตรึงราคาน้ำมันเหลือน้อยลง และไม่แน่ว่าจะมีเงินตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 นี้หรือไม่
นอกจากนั้น รัฐบาลยังลังเลในการพิจารณาทางเลือกลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมัน ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะลดภาระ ลดค่าครองชีพของประชาชน เพียงแต่รัฐบาลยอมจัดเก็บภาษีจากน้ำมันให้ลดน้อยลง จากปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีน้ำมันดีเซลถึงลิตรละ5.31 บาท และหันไปบริหารการใช้งบประมาณแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ปล่อยปละให้เกิดการคอร์รัปชั่นกันมโหฬารอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ไม่เพียงแค่ กองทุนน้ำมันเท่านั้นที่ถูกสูบไปประเคนให้กับ ปตท. โดยรัฐบาลไม่เข้ามาจัดการให้เกิดความเป็นธรรม ปล่อยให้มีการใช้กองทุนน้ำมันเป็นกองทุนประกันรายได้และผลกำไรของปตท.ในช่วงที่รัฐบาลยังไม่อนุมัติให้มีการลอยตัวราคาแอลพีจีตามราคาตลาดโลก แต่ยังมีกรณีที่รัฐบาลปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ค้าน้ำมันเอาเปรียบประชาชนอย่างแยบยลโดยการอ้างราคาน้ำมันดิบในโลกปรับขึ้นขาเดียว จงใจละเลยปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นควบคู่ไปด้วย
กรณีนี้ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เข้ามาตรวจสอบและรายงานผลศึกษาต่อประชาชน โดยสรุปว่า กรณีค่าเงินบาทแข็งกับราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่เป็นธรรม
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เก็บข้อมูลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวมกับราคาน้ำมันดิบในรูปเงินดอลล่าร์ ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2553 โดยเทียบกับฐานราคาในเดือนธันวาคม 2552 พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.84 ส่วนน้ำมันในรูปดอลล่าร์แพงขึ้นโดยเฉลี่ยในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.73
ผลคือ การคำนวณร่วมกันกับค่าเงินบาททำให้น้ำมันดิบแหล่งดูไบ มีราคาลดลงร้อยละ 0.49 แต่ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป เบนซิน 91 เบนซิน 95 และน้ำมันดีเซล ราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น หากนำมาคำนวณเป็นเม็ดเงิน ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมัน 3 ชนิดนี้ในช่วง 11 เดือน สูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนี้
น้ำมันเบนซิน สูงเกินไป 4,014.57 ล้านบาท น้ำมันเบนซิน 95 สูงเกินไป 102.10 ล้านบาท และน้ำมันดีเซลสูงเกินไปถึง 28,207.75 ล้านบาท ทั้งนี้ หากนับรวมกับการนำเงินมาชดเชยน้ำมันดีเซลด้วย จะทำให้น้ำมันดีเซล ถูกลงไปอีก 1.20 บาทต่อลิตร
การที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ มิได้รับผลประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นซึ่งทำให้ต้นทุนน้ำดิบลดลง แต่กลับต้องซื้อน้ำมันสำเร็จรูปในราคาสูงเกินจริงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยโดยรวมในเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นของผู้ประกอบการไทยลดลงเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงเกินจริง
ความวิบัติในธุรกิจพลังงานที่เอาเปรียบประชาชน ยังคงเกิดขึ้นไม่เปลี่ยนแปลงตราบใดที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดต่างๆ มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะร่วมเป็นกรรมการในเครือปตท. อยู่ด้วยนั้น ยังอุ้มชูให้ยักษ์ใหญ่ ปตท. มีอำนาจเหนือคู่แข่งขันรายอื่น
เช่น การถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่ง จากโรงกลั่นทั้งหมด 7 แห่ง ที่กลั่นน้ำมันได้ร้อยละ 85 ของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ทั้งหมดในประเทศ ทำให้ไม่เกิดกลไกตลาดที่แข่งขันกันอย่างแท้จริง จนกระทั่ง ปตท. กลายเป็นบริษัทผูกขาดกิจการน้ำมันสำเร็จรูปและมีอำนาจเหนือตลาดแทบจะเบ็ดเสร็จ
รวมถึงการกำหนดราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นเหมือนช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนกิจการโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ โดยจูงใจให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถขายน้ำมันที่กลั่นในประเทศในราคานำเข้า โดยใช้ “ราคาเทียบเท่าการนำเข้าอิงตลาดสิงคโปร์” หรือที่เรียกว่า “ราคาอิงตลาดสิงคโปร์”
“ราคาอิงตลาดสิงคโปร์” เป็นการยอมให้ ปตท. บวกค่าโสหุ้ยต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาไทย ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพจากมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย และค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทยรวมอยู่ในราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ แล้วโยนภาระทั้งหมดลงมาบวกรวมในราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชน
ถึงวันนี้ เป็นข้อพิสูจน์ชัดว่า ประชาชนตาดำๆ ยังต้องรับเคราะห์กรรม เพราะความไร้ฝีมือในการบริหารของรัฐบาล และความไม่มีธรรมาภิบาลในระบบกิจการพลังงานที่มีการแสวงหาประโยชน์ในธุรกิจพลังงานมากเกินควร