xs
xsm
sm
md
lg

เลิกถาวรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไนไทย ไม่ต้องเสี่ยง-ลงทุนเกินจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพความเสียหายอาคารปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ
การวางแผนและจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่เข้าขั้นอาการป่วยเรื้อรังด้วยโรค “ลงทุนเกินจำเป็น” จนต้องยัดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่ง 5,000 เมกะวัตต์ เข้ามาเป็นทางเลือกในการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี 2010 เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงใดก็ตามต่างถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีนิวเคลียร์ เสียงของชุมชนในจุดก่อสร้างย้ำชัดว่าต้องเลิกถาวรไม่ใช่เล่นลิ้นแค่เลื่อนไปก่อนเท่านั้น

เหตุผลของนักวางแผนและจัดหาพลังงานไฟฟ้ามักสวนทางหรือคู่ขนานกันเสมอกับเหตุผลของชุมชนในพื้นที่จุดก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังน้ำ กระทั่งล่าสุดนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงที่นักวางแผนและจัดหาพลังงานไฟฟ้า บอกว่า เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ช่วยลดโลกร้อน ต้นทุนเฉลี่ยต่ำ ทำให้ค่าไฟถูกลง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจให้แก่ประเทศโดยรวม

นิวเคลียร์ จึงเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่สำคัญในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า เพราะการพึ่งเชื้อเพลิงก๊าซฯของโรงไฟฟ้าปัจจุบันสูงถึง 70% ถือเป็นความเสี่ยงของระบบการผลิตไฟฟ้า หากระบบการส่งก๊าซฯ มีปัญหา ก็จะเกิดไฟตก ไฟดับ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง เพียงแต่นั่นเป็นเหตุผลเพียงครึ่งเดียวหรือไม่

ความจำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นไม่สิ้นสุด นั้นใช่จริงๆ หรือไม่ หรือว่าสร้างเรื่องให้ดูเสมือนว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมาก เพราะแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังที่ว่า ยิ่งลงทุนมาก ยิ่งทำกำไรให้กับนักลงทุนโรงไฟฟ้า นักค้าเชื้อเพลิง รวมไปถึงนักวางแผนและนักจัดหาก็มักมี “ส่วนได้” อยู่ด้วย กันแน่

การสะสมข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้ที่มากขึ้นของชุมชน ทำให้การจัดทำแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของนักวางแผนและนักจัดหาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบรรดานักวิชาการด้านพลังงานหน้าเดิมๆ ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ไขว้กันไปมา ถูกประชาชน ตาสี ตาสา ออกมาตั้งคำถาม ซึ่งไม่เฉพาะแค่คำถามพื้นๆ ถึงเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ของชุมชนหรือไม่เท่านั้น แต่ถามไปถึงระดับโครงสร้างของการวางแผนจัดหาพลังงานไฟฟ้าเลยทีเดียว

เวลานี้ กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. กระทั่งนักลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ ไอพีพี ไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิง ก๊าซฯ ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ ที่ย่างเหยียบลงไปในพื้นที่จุดก่อสร้าง ณ แห่งหนตำบลใด ก็ต้องเผชิญกับคำถามหลักๆ อย่างเช่น 5 คำถามจากเครือข่ายชาวอุบลฯไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบให้ชัด คือ

1)โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำเป็นจริงหรือไม่ 2) ระบบไฟฟ้าในบ้านเรามีความเป็นธรรมหรือไม่ 3) รัฐบาลโดย กฟผ.และกระทรวงพลังงาน สร้างมายาคติเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าและความต้องการไฟฟ้าเพื่อหาความชอบธรรมในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ 4) มีการหมกเม็ดในแผนพีดีพี 2010 หรือไม่ และ 5)มีผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการวางแผนและจัดหาพลังงานไฟฟ้าหรือไม่

คำถามจากคนอุบลฯ ถึงคนการไฟฟ้าฯและกระทรวงพลังงาน ลามเลยไปถึง ปตท.ขาใหญ่ขายเชื้อเพลิงก๊าซฯให้กับ กฟผ. ไม่แตกต่างไปจากคำถามจากคนนครศรีธรรมชาติ ที่ปักหลักค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือคำถามจากคนหนองแซง สระบุรี ที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าก๊าซฯ เหมือนพวกเขาอยากจะบอกว่า ประชาชนไม่ได้กินแกลบ อย่ามาหลอกกัน

ที่ผ่านมา สาธารณชนและชุมชนในจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งติดตามการจัดทำแผนพีดีพี 2010 (พ.ศ. 2553-2573) มาอย่างต่อเนื่อง มีคำถามและตอบโต้การจัดทำแผนดังกล่าว เช่น

1)เหตุใดการจัดทำแผนถึงต้องประมาณการความต้องการไฟฟ้าล่วงหน้าถึง 20 ปี ซึ่งความเบี่ยงเบนและการเปลี่ยนแปลงตัวเลขเศรษฐกิจอาจไม่สอดคล้องกับการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า

2)ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเหลือ ตัวอย่างเช่น ปี 2553 สูงถึงประมาณ 28% จากปริมาณสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐานทั่วไปที่กำหนดไว้ประมาณ 15% สะท้อนว่า ค่าพยากรณ์ผิดไปจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงมาก และที่ผ่านๆ มาส่วนใหญ่ก็มักเป็นเช่นนั้น มีน้อยครั้งมากที่สำรองไฟจะต่ำกว่าที่กำหนดไว้

3)การลงทุนเกินจำเป็นก่อให้เกิดภาระ/ค่าโง่ ดังที่ ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระจากกลุ่มพลังไท คำนวณว่า แผนพีดีพี 2010 มีภาระการลงทุนเกินจำเป็นในช่วงปี 2553 - 2573 รวมกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ภาระนี้ถูกผลักมาให้ประชาชนเป็นผู้จ่าย

4)ระบบการวางแผนและจัดหาไฟฟ้าบ้านเราไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะสามารถผลักภาระต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆ มาให้ผู้บริโภคแบกรับทั้งหมด ขณะที่นักลงทุนกลับมีการประกันผลตอบแทนเงินลงทุนในอัตราที่สูง ซึ่งปัจจุบันมีการประกันรายได้ให้กับกฟผ.สูงถึง 8.4% ของผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invesmented Capital - ROIC)

5)ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักวางแผน นักจัดหา และนักค้าเชื้อเพลิง ดังเช่นกรณีการถ่างขาควบหลายเก้าอี้ของผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน ที่เข้าไปเป็นบอร์ด กฟผ. บอร์ด ปตท. และบริษัทในเครือ ซึ่งผู้บริหารกระทรวงพลังงานและตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เข้าไปเป็นบอร์ด ได้ผลตอบแทนในรูปของเบี้ยประชุม โบนัส ฯลฯ

6) มาตรการประหยัดพลังงาน (DSM) ที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.กระทรวงพลังงาน เคยใหัสัมภาษณ์ว่า จะส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 8,708 ล้านหน่วยต่อปี หรือลดค่าใช้จ่ายได้ 26,124 ล้านบาทต่อปี ทำไมไม่ทำให้ได้

7) กระทรวงพลังงาน เคยตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจาก พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล และพลังน้ำขนาดเล็ก โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 6% ของกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมดในปี 2554 หรือประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ทำได้จริงเพียงใด

เวปไซด์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เคยโฆษณาถึงศักยภาพของพลังงานทดแทน ว่า ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานจากชีวมวล 7,000 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์มากกว่า 5,000 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,600 เมกะวัตต์ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก 700 เมกะวัตต์ แต่จนบัดนี้มีพลังงานทดแทนดังว่าเข้าระบบต่ำกว่าศักยภาพมากๆ กระทั่งสงสัยว่า กระทรวงพลังงาน ยังมีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเรื่องอยู่อีกหรือ

8)กระบวนการจัดทำแผนพีดีพี 2010 ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ถึง 5 แห่ง นั้น ทำกันแบบที่มีข้อครหากันว่า “ลวก - จิ้ม” กระทั่งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพีดีพี 2010 อย่าง ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ว่า แผนพีดีพีมีข้อบกพร่องที่รุนแรงมาโดยตลอด เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ไม่ใช่แค่แผนพีดีพี 2010 นี้เท่านั้น อีกทั้งยังมีการใช้ข้อมูลตัวเลขที่ไม่ค่อยโปร่งใส ทำกันแบบเร่งรัดมากเกินไป จนผมเองก็ไม่สามารถเข้าประชุมได้ทุกครั้ง การเปิดรับฟังความเห็น ก็เป็นแบบทำไปอย่างงั้น เพราะข้อสรุปออกมาก็เหมือนเดิม ส่วนแผนนิวเคลียร์ที่ทำกันก็กระท่อนกระแท่นมาก ทั้งการศึกษา การสร้างองค์ความรู้ ไม่ได้มีความพร้อมเท่าที่ควร ทั้งที่ใช้เงินมาก

ถึงบรรทัดนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้รับการบรรจุเข้าไว้ในแผนพีดีพี 2010 จำนวน 5 โรง โดยแห่งแรกจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ส่วนโรงที่ 2, 3, 4 และ 5 จะผลิตไฟเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2564, 2567, 2568 และ 2571 ตามลำดับ ซึ่งจะก่อสร้างบนพื้นที่ ที่เลือกไว้ตามผลศึกษา5 อันดับแรก คือ 1) อ.สิรินธร จ.อุบลฯ 2) ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3. ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ 5) ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร แต่เป้าหมายหลัก 2 จุดแรก คือ ที่จ.อุบลฯ และ จ.นครสวรรค์ นั้น จะยังจำเป็นอยู่อีกหรือไม่

หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิด นักวางแผนและนักจัดหาพลังงานไฟฟ้า ย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ต้องเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยออกไป 2 ปี แทนจะเข้าระบบในปี 2563 ก็เป็น 2565 แทน และเครื่องที่ 2, 3, 4 และ 5 จะเข้าระบบในปี 2566, 2569, 2570 และ 2573 ตามลำดับ และเมื่อ IAEA ออกมาบอกว่าไทยยังไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นักวางแผนและจัดหา ก็ยังยืนยันว่าขอเลื่อนออกไปก่อน ส่วนจะเลิกหรือไม่ยังไม่คิด

แต่สำหรับชุมชนในจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คนไทยที่รอดตายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและหนีภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดกลับมาเมืองไทย รวมทั้งเสียงจากผู้คนในสังคมไทย สะท้อนชัดเจนว่า ไม่ใช่แค่เลื่อน แต่ต้องเลิกถาวร นอกจากจะไม่ต้องเสี่ยงแล้ว ยังไม่ต้องลงทุนให้เกินจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น