xs
xsm
sm
md
lg

นัก กม.ชี้ UNSC เสี่ยงเสียความเป็นกลางกรณีจุ้นเรื่องไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นักกฎหมายระหว่างประเทศชี้ UNSC จะขาดความชอบธรรมในการพิจารณา กรณีข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เหตุข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้ง ขาดองค์ประกอบในสาระสำคัญที่อาจทำให้ UNSC สูญเสียความเป็นกลาง ทั้งทำให้บางประเทศได้ประโยชน์

นายเจริญ คัมภีรภาพ นักกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกรณีการที่ราชอาณาจักรกัมพูชาเสนอข้อพิพาทระหว่างไทย -กัมพูชาหลังเหตุการณ์ปะทะที่ชายแดนต่อที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ซึ่งจะประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันนี้ ที่สหรัฐอเมริกาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ว่า ตามหลักการใช้สิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการเสนอเรื่องเพื่อให้UNSC พิจารณาจะต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐานทางกฎหมายที่ว่า "equity must come with clean hands" หมายถึงผู้ที่เสนอเรื่องสู่การประชุม UNSCต้องมาด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือมาด้วยมือที่สะอาด แต่กรณีข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชากระทั่งถึงการปะทะกันล่าสุดหากจะเอาข้อเท็จจริงมาวางทีละประเด็น ๆ ตั้งแต่ในอดีตมีข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจสร้างเรื่องกันขึ้นมาของฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ(International Rule of law)

นายเจริญ กล่าวต่อไปว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ต่อชุมชนนานาชาติกรณี ราชอาณาจักรกัมพูชาล้มเหลวในการให้ศาลโลกให้ความเห็นชอบกับแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวในอัตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจะถึกทักเอาเองว่าได้รับการรับรองจากนานาชาติไม่ได้ หากได้รับการรับรองโดยนานาชาติทำไมศาลโลกจึงไม่พิพากษาให้ยิ่งไปกว่านั้นทั้งบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 43 ยังขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชาเอง ที่รับรองอาณาเขตของประเทศโดยยึดเอาอัตราส่วนแผนที่ 1:100,000 ที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรกัมพูชา และใช้บังคับไม่ได้ตาม สนธิสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎการทำสนธิสัญญา คศ. 1986 หรือแม้แต่กรณีการจับกุมคนไทยในเขตพื้นที่พิพาทและรีบเร่งให้ศาลของกัมพูชาเข้าไปตัดสินชี้ขาด ทั้ง ๆ ที่ศาลกัมพูชาขาดความสามรถในฐานะศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น กระทั่งล่าสุดการปะทะที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องการที่จะหลีกหนีจากการระงับข้อพิพาทโดยการเจรจาสองฝ่ายบนพื้นฐานของความสุจริตใจ หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการระงับข้อพิพาทของทั้งสองประเทศที่ยืดเยื้อมานาน

นักกฎหมายระหว่างประเทศ ยังย้ำว่า ตามหลักการใช้สิทธิระหว่างประเทศ ตามหลักที่ว่าความยุติธรรมจะต้องมาจากมือที่สะอาด หรือ "equity must come with clean hands" อาจจะทำให้ความพยายามของราชอาณาจักรกัมพูชา ขาดองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญของการใช้สิทธินำเรื่องเข้าสู่ UNSCจะขาดความชอบธรรมที่จะมีมติใดๆ ในเรื่องที่จงใจสร้างขึ้นโดยข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุของข้อพิพาทอาจขาดองค์ประกอบแห่งการใช้สิทธิ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุจริตเป็นพื้นฐาน อันส่งผลให้การนำเรื่องเข้าสู่ UNSC ไม่ได้มาจากมือที่สะอาด

"ยิ่งไปกว่านั้น ชาติสมาชิกบางประเทศของ UNSC ยังได้ประโยชน์จากกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกด้วย" นายเจริญ กล่าว และว่า สุดท้ายทั้งไทยและกัมพูชาก็ต้องมานั่งเจรจากันเองในท้ายที่สุด

สำหรับประเทศที่อยู่ในคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อให้ความคุ้มครองทรัพย์สินมรดกโลกปราสาทพระวิหารประกอบด้วย จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย โดยประเทศจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นชาติสมาชิก UNSC ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น