เอเจนซี/เอเอฟพี - กัมพูชาประสบความล้มเหลวในการผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เปิดประชุมด่วนเพื่อพิจารณากรณีพิพาทชายแดนกับประเทศไทย โดยระบุว่าปัญหานี้ควรที่จะแก้ไขกันเองในระดับภูมิภาค ทางด้าน “ยูเนสโก” ประกาศส่งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบปราสาทพระวิหารอย่างเร่งด่วน หลังจากมีรายงานข่าวว่าได้รับความเสียหายจากการสู้รบ อย่างไรก็ดี พวกสำนักข่าวต่างชาติที่ได้รับไฟเขียวจากฝ่ายกัมพูชาให้ขึ้นไปสำรวจดูเมื่อวันอังคาร(8) บอกว่าเกิดความเสียหายเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในช่วงค่ำวันอังคาร (ตามเวลาประเทศไทย) ว่า UNSC ได้ปฏิเสธคำร้องของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา ที่ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเปิดการประชุมเร่งด่วน โดยที่ มาเรีย ลุยซา ริเบโร วิออตตี เอกอัครราชทูตบราซิลประจำยูเอ็น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แถลงว่าปัญหานี้ควรที่จะแก้ไขกันในระดับภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานในช่วงประมาณตีสามของวันอังคาร (ตามเวลาเมืองไทย ตรงกับช่วงกลางวันวันที่ 7 เวลาในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ยูเอ็น) ว่า วิออตตีได้แถลงว่า บรรดานักการทูตของ 15 ชาติสมาชิก UNSC ได้ปรึกษาหารือกันเป็นการภายใน และ “สมาชิกหลายรายได้แสดงความวิตกอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับความร้ายแรงของความตึงเครียดที่บริเวณชายแดน(กัมพูชา-ไทย)”
เธอกล่าวต่อไปว่า สมาชิกเหล่านี้ “ได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิง และเร่งให้ฝ่ายต่างๆ แก้ไขสถานการณ์อย่างสันติ” และ “พวกเขาได้แสดงความปรารถนาของพวกเขาให้จัดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคง (อย่างเป็นทางการ) ขึ้นมา” ถึงแม้ “พวกเขาได้แสดงการสนับสนุนการเข้าเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยของประธานอาเซียน ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย”
อย่างไรก็ดี ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์ข้างต้น ในที่สุดประธาน UNSC ก็ออกมาแถลงปฏิเสธคำขอของฮุน เซน โดยไม่เปิดประชุมคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาปัญหานี้
อนึ่ง ในช่วงใกล้ๆ กับที่วิออตตีออกมาแถลงในตอนแรกนั้น ทางด้าน ฟิลิป โครวลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็แถลงที่กรุงวอชิงตันว่า สหรัฐฯได้แจ้งความวิตกกังวลของตนให้แก่เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งของไทยและกัมพูชารับทราบ และยังคงเร่งให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และดำเนินขั้นตอนที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อลดความตึงเครียด
โดยที่โครวลีย์แถลงด้วยว่า สหรัฐฯ “ยังไม่ได้ตัดสินใจ” ว่าสหประชาชาติควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทนี้ตามคำร้องขอของกัมพูชาหรือไม่ “เรากำลังพูดจาถกเถียงกันอยู่ภายในคณะมนตรี(ความมั่นคงยูเอ็น) ถึงวิธีการที่ดีที่สุดที่ควรนำมาใช้” โฆษกผู้นี้กล่าว
ทางด้าน ไอรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ออกคำแถลงเมื่อวานนี้ระบุว่า เธอตั้งใจที่จะส่งคณะทำงานเข้าไปยังพื้นที่ปราสาทพระวิหารโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ เพื่อประเมินสภาพ หลังจากที่ “ได้รับความเสียหาย” จากการสู้รบกันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
คำแถลงฉบับนี้ยังบอกว่า “สถานที่ที่เป็นมรดกโลก คือมรดกของมนุษยชาติทั้งมวล และประชาคมระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษที่จะต้องปกป้องสถานที่เหล่านี้” และ “เรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยความพยายามร่วมกัน ซึ่งจะต้องดำเนินการกันด้วยจิตวิญญาณแห่งการปรึกษาหารือและการสนทนากัน มรดกโลกควรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้ประชาชนสามัคคีกัน และควรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือแห่งการสนทนากันและความเข้าใจซึ่งกันและกัน และไม่ใช่เป็นเครื่องมือแห่งความขัดแย้ง”
ที่ปราสาทพระวิหาร เมื่อวันอังคาร(8) ทหารกัมพูชาได้อนุญาตให้พวกผู้สื่อข่าวบางรายผ่านด่านตรวจเข้าไปสำรวจดูตัวปราสาท โดยที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พ.ต.ชาย มาว ผู้บังคับการทหารในท้องถิ่นแถบนั้นได้กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ทำลายประสาทพระวิหาร โดยยิงเข้าใส่ตรงๆ ทั้งที่เป็นสถานที่ซึ่งเป็นมรดกโลก อย่างไรก็ดี พวกผู้สื่อข่าวและช่างภาพของรอยเตอร์ซึ่งได้เห็นสถานที่ด้วยตนเองกลับกล่าวว่า ปราสาทพระวิหารได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย ตัวโครงสร้างยังคงสมบูรณ์มั่นคง มีกองเศษหักพังกองเล็กๆ ให้เห็นอยู่หลายกอง และหลายส่วนของกำแพงหินก็เป็นรอยดำจากระเบิดซึ่งยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด (อาร์พีจี) ที่ตกลงมาในบริเวณใกล้ๆ
ส่วนทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพี ได้อ้างคำพูดของช่างภาพเอเอฟพีผู้หนึ่งที่เข้าไปเห็นตัวปราสาทพระวิหาร บอกว่าตามพื้นปราสาทหลายๆ จุดเกลื่อนกลาดไปด้วยสะเก็ดอาวุธ และกำแพงปราสาทบางแห่งก็ดูจะเป็นรอยกระสุนปืน ช่างภาพผู้นี้บอกด้วยว่า ได้เห็นสิ่งที่ดูคล้ายหยดเลือดบนทางเดินหินช่วงหนึ่งภายในปราสาท และพวกต้นไม้ที่อยู่รอบๆ ปราสาท หลายๆ ต้นอยู่ในสภาพไหม้ดำ