xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จ่อฟ้องยูเอ็น เขมรใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานรบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” เผย คุย “บัน คี มูน” ยืนยันไม่ต้องการความรุนแรง แต่เพื่อปกป้องอธิปไตย หลังถูกรุกราน เตรียมนำภาพถ่าย แฉเขมรใช้ปราสาทพระวิหาร เป็นฐานรบส่งตรงยูเอ็น พร้อมค้านยูเนสโก ลงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร 14 ก.พ.ชี้ไม่เหมาะสม

วันนี้ (9 ก.พ.) เมื่อเวลา 17.30 น.ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการพูดคุยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ว่า จากการพูดคุยกับเลขาฯยูเอ็นทางโทรศัพท์ ซึ่งทางยูเอ็นได้แสดงความห่วงใยสถานการณ์ และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความอดกลั้นในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งตนได้ยืนยันในส่วนของไทยไม่มีความประสงค์ที่จะใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น หรือจะไปรุกรานใคร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดการละเมิดในส่วนของอธิปไตย และมีการใช้อาวุธยิงเข้ามา เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องตนเองด้วยการตอบโต้ เหมาะสมแก่เหตุ และยืนยันชัดเจนว่า การตอบโต้ของเราจะระมัดระวังการตอบโต้ไปยังเป้าหมายที่เป็นที่มาของการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นเป้าหมายทางทหารทั้งนั้น พร้อมกันนี้ ได้เรียนให้เลขาฯยูเอ็น ทราบว่า ขณะนี้เรามีพลเรือนจำนวนกว่าหมื่นคนที่ต้องอพยพจากบริเวณดังกล่าว และมีความเสียหาย รวมทั้งกรณีที่เลขาฯยูเอ็น ถามว่า มีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวปราสาทพระวิหารหรือไม่ ตนได้ตอบไปว่า พร้อมที่จะส่งภาพถ่ายต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ปราสาทพระวิหารไปในเรื่องของการทหาร ไม่ว่าจะเป็นการมีอาวุธ หรือใช้กำลังจากที่นั้น ซึ่งเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของการที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นมรดกโลก

“ผมยังได้เรียนถึงกรณีที่เคยบอกกับเลขาฯยูเอ็น ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ความตึงเครียดจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ตราบเท่าที่ยังมีแรงกดดันจากปัญหาของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา เพราะทางกัมพูชาเองก็รู้สึกกดดันว่า จะต้องมาจัดการพื้นที่ตรงนี้ในขณะซึ่งเป็นพื้นที่ที่ฝ่ายไทยถือว่าเป็นของไทย ก็ย่อมจะเกิดปัญหา เลขาฯยูเอ็นก็รับว่า จะไปติดตามเรื่องนี้กับทางยูเนสโก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ ยังได้เรียนไปว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนได้เดินทางมาพบกับทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว และสนับสนุนให้เราสามารถที่จะเจรจากันในกลไกของทวิภาคี ซึ่งยังดีและใช้การอยู่ ขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศยังมีนัดหมายที่จะประชุมกัน ฉะนั้น หนทางของการที่จะแก้ปัญหาโดยการเจรจาทวิภาคีอย่างที่สหประชาชาติต้องการ ยังเป็นหนทางที่เปิดกว้างอยู่ ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งเลขาฯยูเอ็นเพียงแต่บอกว่า ถ้ามีอะไรที่ทางสหประชาชาติจะช่วยสนับสนุนคลี่คลายสถานการณ์ได้ก็ให้แจ้งไป ดังนั้น โดยรวมคิดว่า ได้อธิบายข้อเท็จจริงชัดเจน รวมทั้งได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่มาของปัญหา คือ มรดกโลก ด้วย รวมถึงการยืนยันว่า เรายังมีกลไกอื่นๆ ที่จะดูแลทั้งในส่วนของทวิภาคี และจากการที่เพื่อนๆ ในอาเซียนให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาระดับทวิภาคี เชื่อว่าเลขาฯยูเอ็นคงจะเข้าใจ และคงจะมีการติดต่อไปยังนายกฯกัมพูชาเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังควรมีการประชุมยูเอ็นเอสซีที่พิจารณากรณีไทย-กัมพูชา อยู่อีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คาดว่า น่าจะได้มีการสอบถามข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งรมว.ต่างประเทศมีความพร้อมที่จะไปชี้แจง เมื่อถามว่า นายกฯมั่นใจว่า ในการประชุมยูเอ็นเอสซีจะไม่มีการแทรกแซงจากสหประชาชาติที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวปัญหาของ 2 ประเทศ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่า จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงสิ่งที่ยืนยันในขณะนี้ในเรื่องกลไกทวิภาคีที่ยังมีอยู่ และเรื่องของอาเซียที่เข้ามาสนับสนุน คิดว่าทางสหประชาชาติคงจะสนับสนุนให้เราดำเนินการในส่วนของเรากันเองมากกว่า

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาต้องการจะยุบการหารือระดับทวิภาคี และเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาการยืนกรานของเราตรงนี้จะมีความเข้มแข็งมากแค่ไหนในสายตาสหประชาชาติ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่า อาเซียนได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากันตรงนี้ เชื่อว่าตรงนี้มีน้ำหนัก เมื่อถามอีกว่า ทางคณะกรรมการมรดกโลกจะส่งตัวแทนไปดูยังปราสาทพระวิหารในวันที่ 14 ก.พ.นี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงยังไม่เหมาะ เพราะเราได้แจ้งไปอย่างชัดเจนว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจะยิ่งเพิ่มพูนขึ้น เพราะตรงนี้คือปัญหาที่เราได้พยายามสื่อสารถึงยูเนสโกตลอด ซึ่งเข้าใจว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้คุยทำความเข้าใจกับเขาแล้ว ขณะเดียวกันเลขาฯยูเอ็นบอกว่าจะไปคุยกับทางยูเนสโกด้วย เพราะสิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งที่ได้พิสูจน์โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางเลขาฯยูเอ็นจะไปคุยอย่างไร เพื่อให้มีการระงับยับยั้งหรืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ตนเองได้ย้ำไปว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมาพูดหลังจากเกิดเรื่อง แต่เคยคุยกับเลขาฯยูเอ็นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ปัญหาเรื่องของมรดกโลกเป็นปัญหามากในการทำให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ ฉะนั้น ยูเนสโกควรจะทบทวนท่าทีของตัวเองในเรื่องนี้ เมื่อถามว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คืออะไร นายกฯ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้คิดว่ายูเนสโกควรจะหยุดเรื่องการกดดันในการกำหนดตารางเวลาว่า ทางกัมพูชาจะต้องมีแผนบริหารจัดการพื้นที่ ในขณะที่พื้นที่ยังมปัญหากันอยู่ ควรจะรอให้กระบวนการจัดทำหลักเขตแดนต่างๆ เสร็จสิ้นเรียบร้อย และมีความชัดเจนก่อน ค่อยมาดำเนินการ เพราะถ้าเขตแดนมีความชัดเจน ตนคิดว่า มันก็จะมีคำตอบในตัวของมันเองว่า จะเดินไปอย่างไร

เมื่อถามว่า แสดงว่า ให้ชะลอเฉพาะการพิจารณาแผนบริหารรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ใช่ เพื่อลดแรงกดดันทั้งหมด ทั้งต่อกัมพูชาที่มีความรู้สึกจะต้องมาทำอะไรก็ตามในพื้นที่ และแรงกดดันต่อไทย ซึ่งยืนยันว่า คนอื่นจะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่นี้ไม่ได้ เมื่อถามว่า ท่าทีของกรรมการมรดกโลกควรจะเกิดก่อนที่จะมีการประชุมในเดือนมิถุนายน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถูกต้องนี้คือสิ่งที่เราจะเดินต่อ และ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินทางไปในช่วงนี้เพื่อช่วยอธิบายด้วย เมื่อถามว่า หากกรรมการมรดกโลก ไม่ฟังและจะยังส่งเจ้าหน้าที่มาดูพื้นที่ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่า เค้าคงต้องฟัง เพราะถ้ามาแล้วยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย เมื่อถามว่า เท่าที่ฟังเสียงของเลขาฯยูเอ็นในสายตานานาชาติยังมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสองประเทศอยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าใช่ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าปกป้องและขณะนี้สถานการณ์ได้หยุดลงในระดับหนึ่ง ซึ่งเค้าก็คงติดตามสถานการณ์ ดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร และคงประมวลข้อมูลต่างๆ

เมื่อถามว่า สถานการณ์ชายแดนคนไทยที่อพยพจะได้กลับบ้านเมื่อใด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการสอบถามในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เราอยากให้เกิดความมั่นใจ ถ้ากลับไปแล้วยังมีเหตุอีกคงไม่ดี ฉะนั้น เราจะเดินหน้าเร่งทำให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว แต่ต้องให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยและต้องนำไปสู่แนวทางปฏิบัติต่อไปในพื้นที่จริงๆ เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่นายกฯ จะคุยกับผู้นำกัมพูชาด้วยตัวเองหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประสานงานต่างๆ ยังทำงานกันอยู่ เค้าจะเป็นคนบอกได้ว่าการพูดคุยควรจะเป็นระดับไหน เมื่อไหร่ แต่ขณะนี้คิดว่ายังต้องทำความเข้าใจกันอีกระยะหนึ่ง และต่างฝ่ายต่างก็ยังดูความเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในภาวะอย่างนี้ ถ้าเหตุการณ์สามารถคงไว้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกสักระยะหนึ่งมันจะง่ายขึ้น เมื่อถามว่าจะสามารถประคับประคองไม่ให้เกิดการปะทะได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เราทำอย่างเต็มที่ แต่เราต้องปกป้องตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า ในสภามีการพูดว่า นายกฯ มีอีโก้สูง ไม่ยอมพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เค้ามีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ไปเรื่อย เดี๋ยวจะชี้แจงให้หมด ซึ่งการพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซน ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น