xs
xsm
sm
md
lg

พิษมาบตาพุดลามไม่หยุด ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดกฤษฎีกาทุจริตต่อหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายที่ทุกรัฐบาลเรียกใช้ เจ้าของฉายา ซีอีโอสนช. ในยุครัฐบาลคมช.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มหากาพย์ความขัดแย้งคดีมาบตาพุดบานปลาย ล่าสุดสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นป.ป.ช.เอาผิดเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา - มีชัย ฤชุพันธ์ - วัฒนา รัตนวิจิตร ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตีความกฎหมายขัดแย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์เอกชนเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพิกเฉยไม่ทำหน้าที่เร่งรัดออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 จนเกิดความเสียหาย

ปัญหามลพิษในเขตมาบตาพุดและใกล้เคียงที่ลุกลามบานปลาย มีคดีฟ้องร้องและร้องเรียนเอาผิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด นับแต่ศาลปกครองระยอง พิพากษาให้มาบตาพุดและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามมาด้วยคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้การคุ้มครองชั่วคราวประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษโดยการสั่งระงับการก่อสร้างโครงการลงทุนในเขตมลพิษมาบตาพุด 76 โครงการ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งปล่อยให้เดินหน้าได้ 11 โครงการ ที่เหลืออีก 65 โครงการ กำลังดิ้นรนกดดันศาลและรัฐบาลเพื่อหาทุกวิถีทางดำเนินการต่อให้ได้

การพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาล ทั้งการตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ทั้งการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) กลับกลายเป็นปมปัญหาให้เกิดการฟ้องร้องตามมาอีก
 
โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระ ในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ. 2553 ฉบับลงวันที่ 12 ม.ค. 2553 เพราะขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ – เสีย เข้ามามีส่วนร่วม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดหรือละเมิดกฎหมาย

ในข้อร้องเรียน นายศรีสุวรรณ ระบุว่า จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ปรากฏข้อมูลตามรายงานการพิจารณาไต่สวนของศาลปกครองสูงสุด พบว่า มีหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในหลายหน่วยงานหรือบุคคล ต่างกรรมต่างวาระกันไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หลายกรรมหลายวาระ โดยหน่วยงานหรือบุคคลต่าง ที่ร่วมกันกระทำความผิด ดังนี้

1)นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะ
2)นายวัฒนา รัตนวิจิตร ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 และคณะ
3)นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


นายศรีสุวรรณ ระบุข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลข้างต้นในหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. สรุปได้ ดังนี้

1)ด้วยรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีนัยที่ปวงชนชาวไทยทุกคนต้องรู้และต้องปฏิบัติตามเจตนารมย์ และบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญฯ ทั้งนี้ ตามมาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ชัดเจนว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

เจตนารมณ์ดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มีนาคม2552 สรุปความได้ว่า

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ด้วย

"ดังนั้น ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ดี
 
"หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 แล้ว

2)เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านมาบตาพุด-บ้านฉาง ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง 8 หน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครอง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันมีสาเหตุมาจากการที่หน่วยงานและหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง

จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2552 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปด ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

3)ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ได้ร่วมกันให้ความเห็นไปในทางที่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างแล้วข้างต้น ปรากฏตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 491-443/2552 ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 2 คณะในฐานะนักกฎหมายที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นเช่นไร และมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2552 ออกมาก่อนแล้ว

แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งสองคณะกลับให้ความเห็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน ที่รอใบอนุญาตการประกอบกิจการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือที่มีหนังสือหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา

อีกทั้งปรากฏชัดเจนว่ามีกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกาบางท่านในคณะดังกล่าวเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน กล่าวคือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชน ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อการให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมีหนังสือหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อันเป็นการกระทำที่เพิกเฉย หรือละเว้นต่อการให้ความเห็นไปในทางที่ถูกต้อง ยังผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้การคุ้มครองไว้แล้ว เนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องไปดำเนินการตามความเห็นของกฤษฎีกา อันเนื่องมาจากเคยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ได้วางระเบียบในเรื่องของการตีความและการให้ความเห็นในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้แล้ว และเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น
 
นอกจากนั้น ทั้งที่ ระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 9 ว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้

(1)เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล

แต่ทว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ก็ละเมิดระเบียบของคณะกรรมการเสียเอง โดยได้จัดทำความเห็นเป็นบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 491-443/2552 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 หน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ ที่ร่วมกันกระทำความผิดเสียเอง โดยได้จัดทำความเห็นทับซ้อนกันเองของกรรมการบางท่าน จึงถือว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นอย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้น ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่งประราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 ก็ได้กำหนดข้อห้ามการมีผลประโยชน์ทับซ้อนไว้ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐ

รวมทั้งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการแบ่งกรรมการกฤษฎีกา ออกเป็นคณะและการแต่งตั้งประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ พ.ศ.2551 ก็กำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสมของการแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่การที่เสนอหรืออนุญาตให้มีกรรมการกฤษฎีกาบางท่านในคณะที่ 1 และคณะที่ 5 มาร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา อันมีผลของความเห็นของที่ประชุมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกันเองของกรรมการบางท่านของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างชัดแจ้ง

4)พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 และ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2542 กำหนดหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ การเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 303 (1) กำหนดให้คณะรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต้องดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในส่วนที่ 12 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีชุดแรก คือ คณะรัฐมนตรีชุดที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ดังนั้นแล้วกฎหมายในส่วนที่ 12 ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนต้องดำเนินการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงให้มีหรือให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ซึ่งถึงแม้รัฐบาลจะเปลี่ยนคณะผู้บริหารหลายชุด แต่ผู้ที่ต้องทำให้ที่ในการเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย จึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นตัวแทนในการดำเนินการทางธุรการเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว

แต่ทว่าผลที่ปรากฏ คือ สำนักงานหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนในเรื่องดังกล่าว จนระยะเวลาล่วงผ่านไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว กฎหมายที่จะต้องอนุวัติให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะต้องแจ้งต่อรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีกฎหมายมารองรับ การกระทำดังกล่าวของสำนักงานหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

นอกจากจะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ยังละเมิดกฎหมายด้วยการดำเนินการให้ความเห็นในข้อหารือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีกด้วย โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบันทึกเสนอและแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีหนังสือขอคำปรึกษาหรือหารือมา
 
การกระทำของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 คณะที่ 5 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อย่างชัดแจ้งปรากฏแล้วต่อสาธารณะ

นายศรีสุวรรณ ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องและดำเนินการไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ทั้งชุดและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น