ASTVผู้จัดการออนไลน์ – สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงจุดยืน 9 ประเด็นต่อกรณีองค์การอิสระสวล.-สุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ติงคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชุด “อานันท์” อย่าคิดเอาแต่รวบรัดเร่งให้เสร็จเร็วๆ เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมและรัฐบาล หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ 65 โครงการลงทุนมาบตาพุด
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่มีนาย อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กำลังรุกรี้ลุกรนในการหาข้อยุติบทบาท หน้าที่ และรูปแบบขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ถูกคำสั่งศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมไว้ก่อน 65 โครงการ นั้น
คณะกรรมการคู่ขนานของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้หารือจนได้ข้อสรุปและอกแถลงการณ์ประกาศ 9 จุดยืนของสมาคมฯ ในการกำหนดเนื้อหาสาระขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ดังนี้
1) ขอคัดค้านองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามแนวทางประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 เพราะเป็นการออกประกาศ ซึ่งถือว่าเป็น “กฎ” ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ผิดหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง แต่ต้องเป็นแนวทางของ (ร่าง) พรบ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... ที่ภาคประชาสังคมช่วยกันยกร่างขึ้นมาจนตกผลึกทางความคิด และมอบให้กับกระทรวงทรัพยากรฯไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 แล้วเท่านั้น
2) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะกำหนดให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายประเภทใดไม่สำคัญ (ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ, ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี) แต่เนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวต้องให้ความเป็นอิสระในการดำเนินงานและการให้ความเห็นที่ต้องเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง ต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุม ดูแล สั่งการ แทรกแซงหรือการให้คุณให้โทษของหน่วยงานใด
3) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องมีระบบทางธุรการที่เป็นเอกเทศเป็นของตนเอง มีอิสระในการบริหารงาน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณกลางของรัฐร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการ (ค่าธรรมเนียมกลางที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเข้ากองทุนงบประมาณทุก ๆ โครงการ) ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ
4) ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องมีกระบวนการได้มาที่โปร่งใส ผ่านการคัดสรรและหรือเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนของสังคม ต้องไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
5) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องไม่ใช่องค์การที่องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะต้องไปจับมือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ แต่องค์กรหรือสถาบันเหล่านั้น จะต้องมีอำนาจในการดำเนินงานโดยอิสระเป็นปัจเจกของหน่วยงานตน หากจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ
6) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง จะต้องมีอำนาจหน้าที่เข้าไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ในพื้นที่ใด ๆ ที่โครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรง มีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่นั้น ๆ จนได้ข้อยุติที่ชัดเจน
7) รายงานการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (HIA) ที่ผู้ประกอบการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำขึ้น ต้องส่งข้อมูล (ตามกรอบของ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร 2540) รายละเอียดทั้งหมด (เท่าที่มีในแต่ระช่วงของการดำเนินงานศึกษา) ส่งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้รับทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นำข้อมูลไปเผยแพร่และดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชน ในพื้นที่นั้น ๆ มิใช่การจัดส่งให้ภายหลังที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการของ สผ. (คชก.)ให้ความเห็นชอบแล้ว
8) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องสามารถให้ความเห็นใด ๆ ได้นอกเหนือจากกรอบของการศึกษา EIA และ HIA ในแต่ละโครงการหรือกิจกรรม และสามารถให้ความเห็นโครงการหรือกิจกรรมในภาพรวมของพื้นที่ได้
9) องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องไม่ใช่องค์กรแห่งอำนาจ ที่จะไปตัดสินว่าโครงการใดเกิดได้หรือไม่ได้ แต่ควรเป็นองค์กรที่สร้างความรู้ทางปัญญาที่รอบด้านให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาใด ๆ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจเสนอทางเลือกที่เหมาะสม ก่อนที่จะสรุปเป็นความเห็นให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย