xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาและผลกระทบการเปิดเสรีลงทุนด้านเกษตร ประมง และป่าไม้ ภายใต้ความตกลงการลงทุนอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ...กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

***ความเป็นมา

ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน(ASEAN Comprehensive Investment Agreement) เป็นความตกลงเต็มรูปแบบที่เกิดจากการผนวกความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ซึ่งเป็นความตกลงเปิดเสรีการลงทุน ที่มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2541 กับความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN IGA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2530 ให้เป็นความตกลงเต็มรูปแบบฉบับเดียว ทั้งนี้โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ที่หัวหิน ประเทศไทย ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14

ความตกลงนี้จะให้สิทธินักลงทุนในอาเซียน และนักลงทุนนักลงทุนต่างชาติที่มีกิจการอยู่ในอาเซียนและต้องการขยายการลงทุนในอีกประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนตามหลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) กล่าวคือนักลงทุนจากต่างชาติได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนเจ้าของประเทศ ยกเว้นในสาขาที่ได้สงวนเอาไว้(Temporary Exclusion List-TEL) และสาขาที่อ่อนไหว (Sensitive List-SL) หรือข้อยกเว้นทั่วไป (General Exeption-GE)

*** กระบวนการยกเลิกข้อสงวนที่ไม่ชอบธรรม

1) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ซึ่งมีการประชุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธาน ให้ยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทย 3 รายการคือ (1) การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (2) การทำป่าไม้จากป่าปลูก และ ( 3) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช โดยให้ถอนข้อสงวนดังกล่าวออกจากรายการเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ภายในปี พ.ศ. 2553

2)ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้แจ้งต่อที่ประชุมกนศ.ว่าข้อเสนอให้มีการยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว ได้จากข้อสรุปจากการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สัมมนาให้ความรุ้ รวมถึงจัดทำประชาพิจารณ์ แล้ว1 โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน

3)การจัดประชุมสัมมนาดังกล่าวใช้ชื่อว่า “การเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียนภายใต้ความตกลง ACIA” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ 12 มิถุนายน 2552 นั้น เป็นเพียงการจัดประชุม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนตัวแทนของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมิได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดไม่ การจัดประชุมดังกล่าวของบีโอไอจึงปราศจากความชอบธรรมที่จะนำไปอ้างต่อที่ประชุมกนศ.ว่าได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือจัดประชาพิจารณ์แล้ว  

4)นอกเหนือจากมิได้ฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และสาขาอาชีพที่จะได้รับผลกระทบแล้ว ผู้รับผิดชอบในการเจรจา ยังไม่รับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานราชการที่มีความเห็นคัดค้าน เช่น กรณีกรมประมง เป็นต้น

5)เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แถลงว่า กำลังรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน และจากการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 เพื่อจัดทำเป็นรายการข้อสงวน เมื่อจัดทำแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้ความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับ4 แต่ก็มิได้ดำเนินการตามที่ได้แถลงไม่

6)การจัดทำข้อเสนอของบีโอไอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อพิจารณา มีความบกพร่องอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการจัดทำข้อเสนอที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการตั้งธงเพื่อให้มีการเปิดเสรีสาขาที่ประเทศไทยได้สงวนเอาไว้ โดยมิได้นำเสนอทางเลือกในการเจรจาอื่น เช่น ทางเลือกในการปรับข้อสงวนชั่วคราว (TEL) ให้เป็นรายการอ่อนไหว (SL) หรือ ข้อยกเว้นทั่วไป (GE) ได้  มิได้เปรียบเทียบตารางข้อสงวนของประเทศอื่นๆ มิได้ประเมินท่าทีของประเทศอาเซียนอื่น6 เป็นต้น

7)กระบวนการจัดทำความตกลงการลงทุนอาเซียนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการดำเนินการที่ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบ ตรงกันข้ามกับการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ขัดต่อเจตนารมณ์และอาจละเมิดบทบัญญัติตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

***ผลกระทบ

การเปิดเสรีดังกล่าวเป็นการเปิดรับให้กับต่างประเทศมีขอบเขตที่กว้างขวาง เพราะ เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ทรัพยากรพันธุกรรม การเกษตร และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ครอบคลุมถึงการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุน อีกทั้งเชื่อมโยงกับการเปิดเสรีให้กับนักลงทุนนอกอาเซียนที่ได้ลงทุนในอาเซียน (Foreign owned, ASEAN based Investor)ด้วย และจะเป็นข้ออ้างให้กับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป เรียกร้องสิทธิในการลงทุนเท่ากับที่ไทยได้มอบให้อาเซียน หากมีการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศเหล่านั้นในอนาคต

ผลกระทบของความตกลงนี้จึงสร้างความเสียหายได้ยิ่งกว่าการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลไทยในอดีตได้ลงนามกับต่างประเทศ เนื่องจากความตกลงส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีสินค้าเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

ผลกระทบของการเปิดเสรีการลงทุนต่อเกษตรกร ฐานทรัพยากร และภาคเกษตรกรรมโดยรวม มีดังต่อไปนี้

1. เร่งให้เกิดกระบวนการกว้านซื้อที่ดินและเช่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยกลุ่มทุนจากต่างชาติ เช่น การเข้ามาสัมปทานปลูกป่าในพื้นเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นการขยายความขัดแย้งปัญหาที่ดินและปัญหาการแย่งชิงน้ำในฤดูแล้งระหว่างกลุ่มทุนกับชาวบ้านจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

กลุ่มทุนต่างชาติซึ่งถือครองที่ดินโดยผ่านตัวแทน(นอมินี) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นดังที่ปรากฏเป็นข่าว จะสามารถถือครองที่ดินได้โดยตรงอย่างถูกกฎหมาย โดยผ่านการซื้อขาย เช่าซื้อ หรือสัมปทาน เพื่อทำกิจการในสาขาที่ประเทศไทยได้ยกเลิกข้อสงวน

2. กลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม เช่น พันธุ์ข้าวพันธุ์ไม้ผลเมืองร้อน พืชสมุนไพร ฯลฯ รวมถึงการจดทรัพย์สินทางปัญญาจากสายพันธุ์พืช สอดรับกับความพยายามของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่ผลักดันให้มีการส่งออกพันธุ์พืชออกนอกประเทศโดยเสรี และผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้สามารถผูกขาดสายพันธุ์พืชได้โดยง่าย โดยไม่ต้องขออนุญาตการเข้าถึงพันธุ์พืช และการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งๆที่ได้ใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์พืชในประเทศ ต่างชาติจะเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์พืช เช่น ข้าว ซึ่งมีมูลค่าขั้นต้นสูงมากกว่า 25,000 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ไม่นับการใช้ช่องทางการเข้ามาตั้งกิจการเพาะและขยายพันธุ์พืชเพื่อเข้าถึงทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีมูลค่ามหาศาลประเมินค่ามิได้

การเข้ามาผูกขาดของทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ในสาขาเมล็ดพันธุ์และพันธุ์พืช จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยหลายล้านครอบครัว และต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว

3. การเปิดเสรีการเพาะและขยายพันธุ์พืช ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติเข้ามายึดครองอาชีพและกิจการที่คนไทยได้พัฒนามาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ จนกลายเป็นอาชีพของคนไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ธุรกิจกล้วยไม้ของไทย ทั้งนี้โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานพันธุกรรม ภาพลักษณ์ และฐานการตลาด เบียดขับผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้พัฒนามาเป็นลำดับให้สูญหายไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับร้านค้าปลีกรายย่อย เกิดผลกระทบต่อกิจการกล้วยไม้ของไทยซึ่งมีมูลค่าการส่งออกหลายพันล้านบาท/ปี โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวผลกระทบต่อศักยภาพการพัฒนาในอนาคตและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกล้วยไม้ในระดับท้องถิ่น

4. นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมการเกษตร การอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการวิจัยในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากภาษีอากรของประชาชน รัฐบาลต้องสร้างสภาวะทางนโยบายที่จะต้องนำเอาโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นเพื่อเอื้ออำนวยให้เกษตรกรรายย่อยซึ่ง 60 % ของประเทศต้องเช่าที่ดินทำกิน และ 80% มีหนี้สิน ให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว แทนที่จะเชื้อเชิญให้บรรษัทข้ามชาติ และนักลงทุนต่างชาติที่ร่ำรวยเข้ามาแย่งชิงปัจจัยที่จะเอื้อเฟื้อให้ประชาชนของชาติส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่

แนวทางการเปิดเสรีนี้ ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับนโยบายของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และนโยบายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐบาลเองอีกด้วย

***ข้อโต้แย้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังจากมีการยื่นหนังสือคัดค้านโดยเครือข่ายองค์กรของเกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนในสื่อต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเจรจาครั้งนี้นอกจากไม่ยอมรับความผิดพลาดบกพร่องของตนเองแต่ประการใดแล้ว ยังได้ตอบโต้ต่อเสียงคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เห็นว่าคำโต้แย้งของหน่วยงานข้างต้นปราศจากเหตุผล และไม่น่าเชื่อถือ ดังต่อไปนี้

1) อ้างว่าการเปิดข้อสงวนชั่วคราวทั้ง 3 สาขานั้น เป็นพันธกรณีที่ทุกประเทศจะต้องยกเลิกอย่างไม่มีเงื่อนไขภายในปี 2553

คำโต้แย้ง คำอ้างนี้ไม่เป็นความจริง เพราะความตกลง AIA และ ACIA นั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นข้อบทจะเป็นเรื่องของหลักการในการเปิดเสรีเรื่องการลงทุน ส่วนตารางท้ายบทนั้นกำหนดขอบเขตและรายละเอียดสาขาของการเปิดเสรี ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน แต่จะยืดหยุ่นกว่า สามารถทบทวน หรือยกเลิก แล้วแต่การเจรจา

ประเทศไทยสามารถปรับข้อสงวนชั่วคราว 3 สาขานั้นได้ ดังที่เคยปรับให้การปลูกข้าวเป็นรายการอ่อนไหวมาแล้ว หรือ การเจรจาล่าสุดที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ไม่ขอยกเลิกข้อสงวนชั่วคราวหลายรายการ หรือในกรณีจำเป็นอาจมีการแลกเปลี่ยนระหว่างการขอเปิดเสรีในสาขาอื่นที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยกว่าก็ได้ เป็นต้น

2) อ้างว่าบีโอไอได้ส่งเสริมกิจการทั้ง 3 สาขามานานแล้ว

คำโต้แย้ง โดยปกติหากไม่มีการเปิดเสรีเรื่องการลงทุน รัฐบาลไทยสามารถกำหนดมาตรการ เงื่อนไขต่างๆ ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน อีกทั้งสามารถกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนแต่ละประเภท กำหนดเงื่อนไขต่างๆทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์ต่างๆได้เองตามความเหมาะสม แต่เมื่อมีการเปิดเสรีแล้ว อำนาจคัดกรองการลงทุนก็จะสูญเสียไป การกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆก็เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น บีโอไอเคยผิดพลาดที่ส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการชาวไทยต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก
 
ต่อมาบีโอไอประกาศยุติการส่งเสริมการลงทุนก็สามารถทำได้ หรือบีโอไอเคยผิดพลาดที่ส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและพันธุ์ผัก จนปัจจุบันตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและผักอยู่ในมือของบรรษัทยักษ์ใหญ่เกือบทั้งหมด
 
หากบีโอไอสำนึกผิด ก็สามารถเลิกการส่งเสริมกิจการเมล็ดพันธุ์ได้ แต่หากมีการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผ่านการเปิดเสรีการลงทุน เราไม่อาจห้ามบริษัทต่างชาติไม่ให้มาลงทุนได้ แม้ว่าจะพบภายหลังว่าบรรษัทข้ามชาติแทนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ กลับกลายเป็นการทำลายผู้ประกอบการรายย่อยและไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีก็ตาม

3) อ้างว่าการเปิดเสรีการลงทุนไม่มีผลกระทบเพราะมีกฎหมายภายในที่วางหลักเกณฑ์การถือครองที่ดิน หรือการกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอยู่แล้ว

คำโต้แย้ง การมีกฎเกณฑ์ภายในก็เหมือนการมีหน้าต่างหรือประตูบ้านที่เปิดปิดวางกติกาการครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชั้นหนึ่ง และมีรั้วบ้านเป็นเกราะป้องกันอีกชั้นหนึ่ง แต่เมื่อทำลายรั้วบ้านเสีย วันหนึ่งที่ประตูหน้าต่างถูกถอดออก คนแปลกหน้าก็จะเข้ามาหยิบฉวยข้าวของในบ้านได้โดยง่าย ตัวอย่างเช่น บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติกำลังผลักดันให้กระทรวงเกษตรแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้ตนได้สิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชได้ง่ายขึ้น ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช และอนุญาตให้มีการส่งออกพันธุ์พืชหวงห้าม เป็นต้น การเปิดเสรีให้มีการลงทุนจะทำให้ต่างชาติทะลักเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและผูกขาดพันธุ์พืชอย่างกว้างขวางและมากขึ้นนั่นเอง

***ข้อเสนอแนะทางออกต่อรัฐบาล

1. รัฐบาลต้องยับยั้งการเปิดเสรีการลงทุนภาคการเกษตร โดยการนำข้อสงวนชั่วคราว(TEL) 3 รายการคือ การทำประมง การทำป่าไม้ และการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ไปไว้ในรายการอ่อนไหว(SL) หรือข้อยกเว้นทั่วไป(GE) โดยให้มีผลก่อนความตกลงเกี่ยวกับการจัดทำตารางข้อสงวนจะมีผลบังคับในปี 2553

2. ให้มีการตรวจสอบข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีของไทยในสาขาข้างต้น รวมถึงการเปิดเสรีในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปิดเสรีในสาขาบริการที่เกี่ยวเนื่อง ว่ามีผลกระทบต่อประเทศทั้งในด้านฐานทรัพยากร เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้โดยให้มีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านและเร่งด่วนโดยหน่วยงานและสถาบันที่ไม่มีส่วนได้เสียกับการเจรจาหรือความตกลงที่จะเกิดขึ้น

3. สอบสวนหาสาเหตุความบกพร่องของบุคคล หน่วยงาน และกระบวนการที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งๆที่ได้เคยเกิดปัญหาผลกระทบจากการทำเอฟทีกับต่างประเทศในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา และทั้งๆที่มีกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วอย่างแจ้งชัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก

4. ก่อนเริ่มกระบวนการเจรจา รัฐบาลต้องดำเนินการเจรจาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 อย่างเคร่งครัด กล่าวคือต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวาง และต้องนำกรอบการเจรจา เช่น ตารางการจัดทำข้อสงวนหรือรายการที่อ่อนไหวเพื่อขอความเห็นชอบต่อสภา เพื่อมิให้ขัดต่อเจตนารมย์ และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว

ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ความตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนจะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในการใช้ทรัพยากร ภายในสังคมไทยเองแผ่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น เป็นการเชื้อเชิญให้ทุนขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลกเข้ามาใช้ทรัพยากร ทำลายโอกาสที่เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่จะอยู่รอดและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น