xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องสงวนการลงทุนด้านการเกษตร 3 สาขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำแถลงยืนยันให้มีการสงวนการลงทุนด้านการเกษตร 3 สาขาภายใต้ความตกลงเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน และมาตรการคัดค้านของภาคประชาชนหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ ของภาคประชาชน มีดังนี้
 
ตามที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อพิจารณาความตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Agreement) และการจัดทำข้อเสนอและมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 นั้น มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)  และองค์กรภาคประชาชนรวม 103 องค์กร ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 
1.             ยืนยันให้รัฐบาลยับยั้งการเปิดเสรีภาคเกษตรและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง 3 สาขา คือ การเพาะและขยายพันธุ์พืช  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปลูกป่า ภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียน และรัฐบาลต้องผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อสงวนอาชีพดังกล่าวสำหรับเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนคนไทย เช่นเดียวกับที่ รัฐบาลอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินการเพื่อสงวนอาชีพและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเอาไว้สำหรับประชาชนของเขา
 
2.             รัฐบาลต้องไม่รับฟังเพียงข้อเสนอของข้าราชการและกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มเดินหน้าการเปิดเสรีทั้ง 3 สาขา โดยอ้างว่าเป็นพันธกรณีภายใต้ความตกลง AIA (ASEAN Investment Agreement) ซึ่งไม่สามารถทบทวนได้ และอ้างว่ามีกฎหมายภายในครอบคลุมอยู่แล้ว อีกทั้งสามารถจัดทำข้อสงวนเพิ่มเติมได้โดยไม่จำเป็นต้องทบทวนการเปิดเสรีใน 3 สาขาข้างต้น
 
ข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถปกป้องผลกระทบต่อเกษตรกรและผลประโยชน์ของประเทศได้ เนื่องจากปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายภายใน การบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งมีปัญหาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน  สภาผู้แทนราษฎร ได้รวบรวมไว้และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลจากการจัดประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีข้อท้วงติงของนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้ศึกษาเรื่องความตกลงการลงทุนอาเซียนมาเป็นเวลานาน
 
หากรัฐบาลมิได้ดำเนินการใดๆ ตามข้อเรียกร้องซึ่งยืนอยู่บนผลประโยชน์ของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ มิได้ฟังเสียงคัดค้านของหลายหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคำท้วงติงของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่าย/องค์กรภาคประชาชนรวม 103 องค์กรจะดำเนินการยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
รายละเอียดของการฟ้องร้อง และการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนในลำดับต่อไปนั้น จะประกาศให้ทราบโดยเร็วหลังการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552
 
แถลงการณ์ โดย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) และเครือข่าย/องค์กรภาคประชาชน 103 องค์กร

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552
เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น