“รัฐไทยต้องยอมเสียหน้า เพื่อแลกกับการรักษาเอกลักษณ์ของชาติเอาไว้ อย่าคิดถึงแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มันเทียบกันไม่ได้ระหว่างการรักษาภาพลักษณ์ผู้นำอาเซียน กับยอมเสียหน้าด้วยการไม่ลงนามในสัญญานี้ เพื่อรักษาอาชีพเกษตรกรรมของไทยเอาไว้”
ใครจะตอบได้ว่าเสียงทักท้วงจาก ผศ.ดร. มาริสา จาตุพรพิพัฒน์ ข้าราชการธรรมดาคนหนึ่ง จะดังไกลไปถึงหูของผู้นำรัฐบาลหรือไม่
เป็นเสียงที่เห็นต่างกับรัฐอย่างสิ้นเชิง หลังจากรับรู้ถึงการลงนามหมกเม็ดของรัฐบาลไทยในข้อตกลงว่าด้วยเขตการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA (ASEAN COMPREHENSIVE INVESTMENT AGREEMENT) ซึ่งยอมให้สิทธินักลงทุนในชาติอาเซียนสามารถเข้ามาทำการประมง ทำป่าปลูก และปรับปรุงพันธุ์พืชในประเทศไทย ได้อย่างเสรีมากขึ้น
แน่ล่ะ รัฐไทยคง ‘ไม่ยอมเสียหน้า’ ใครหลายๆ คนกล้าฟันธง แต่มันจะคุ้มกันหรือ? หากการสร้างภาพลักษณ์ ‘หน้าใหญ่ใจโต’ ด้วยการลงนามข้อตกลงดังกล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะมีขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ จักนำมาซึ่งความสูญสิ้นของ ‘กระดูกสันหลัง’ ในชาติตนเอง ชนิดที่เม็ดเงินมหาศาลสักเพียงไหนก็ไม่อาจกู้คืนกลับมาได้
มหกรรมชำเรา ‘แผ่นดิน’
“ข้อตกลงนี้ไม่ต่างจากการตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ชาวนาไทย เกษตรกรไทยก็จนอยู่แล้ว ถูกพ่อค้าคนกลาง ถูกนายทุนในประเทศเอาเปรียบยังไม่พอ นี่จะถูกนายทุนจากต่างชาติเอาเปรียบอีก อาชีพเกษตรกรรมถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย การยอมให้นายทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนทำอาชีพเหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากการสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สูญเสียเอกลักษณ์ของชาติ”
หากมองจากสายตานักลงทุน ถ้อยคำของ ‘เดชา ศิริภัทร’ ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ คงไม่ต่างจากไดโนเสาร์เต่าล้านปี ผสานกับกระต่ายตื่นตูม ที่หวาดกลัวต่อเหตุการณ์ซึ่งยังมาไม่ถึง
แต่สำหรับผู้ที่ติดตามข้อตกลง ACIA อย่างใกล้ชิด ย่อมตระหนักดีว่า ความเห็นของผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญนั้น ไม่ได้เกินเลยความจริงแม้แต่น้อย และความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ใช่อาการตื่นตูมต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะมหกรรมชำเราประเทศด้วยการมอบสิทธิการลงทุนด้านกสิกรรมอันถือเป็นกระดูกสันหลัง เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดินไทยมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเชื้อชวน กวักมือเรียกนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาถลุงทรัพยากรของชาติได้อย่างเสรี
นั่นคืออานุภาพคร่าวๆ ของ ACIA
“การยอมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอาชีพกสิกรรมสำคัญของไทย เป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะอาชีพที่อยู่ในข้อตกลงนี้ ถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะข้อตกลงนี้ยินยอมให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนด้านกสิกรรม ยอมให้มีการพัฒนาพันธุ์พืช ยินยอมให้ทำประมง รวมถึงการทำป่าปลูก”
จากน้ำเสียงร้อนใจของข้าราชการท่านเดิม ที่สอดคล้องกับความห่วงใยของ เดชา ศิริภัทร นับเป็นการสะกิดเตือนที่ไม่อาจมองข้าม ด้วยเหตุนี้ เราจึงน่าจะลองมาตรวจสอบรายละเอียดของเจ้าข้อตกลง ACIA กันดูสักหน่อย ว่าน่าสะพรึงกลัวถึงขั้นทำให้ ‘สูญสิ้นเอกลักษณ์ของแผ่นดินไทย’ ได้อย่างไร
‘ACIA’ ซาตาน ในคราบ ‘ความเสรี’
ASEAN Comprehensive Investment Agreement หรือ ACIA เป็นความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนเต็มรูปแบบ อันเกิดจากการรวมความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) กับความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียน (ASEAN IGA)
แล้วคุณสมบัติของ ACIA ซึ่งถือเป็นความตกลงเต็มรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร?
เดิมที ความตกลงเต็มรูปแบบนี้มีการลงนามไปแล้วเมื่อครั้งประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ที่หัวหินเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข้อตกลงดังกล่าว ยินยอมให้นักลงทุนในชาติอาเซียน และมีความต้องการเข้ามาทำการลงทุนเพิ่มเติมในชาติสมาชิก จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเช่นเดียวกับคนในชาติ มีสิทธิในการลงทุนกิจการสาขาต่างๆ ได้เช่นเดียวกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
อย่างไรก็ดี ความตกลงที่ว่านี้ยังมีข้อยกเว้น คือรัฐบาลไทยไม่ยอมให้มีการลงทุนในสาขาที่สงวนไว้เฉพาะคนในชาติ ซึ่งก็คือ การลงทุนด้านกสิกรรม
ทว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ว่า ขอให้ยกเลิกข้อสงวนของประเทศไทย 3 รายการ ได้แก่ การทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ , การทำป่าไม้จากป่าปลูก รวมถึงการเพาะขยายและปรับปรุงพันธุ์พืช ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาทำการลงทุนได้ โดยอ้างว่าการยกเลิกข้อสงวนดังกล่าวถือเป็น ‘พันธกรณี’ ที่ชาติสมาชิกอาเซียนล้วนต้องยกเลิกโดยไม่มีเงื่อนไข ภายในปี พ.ศ. 2553
เป็นคำอ้างที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ ข้าราชการผู้เกาะติดความตกลงดังกล่าว ซึ่งบอกกับเราว่า
“นั่นเป็นแค่ข้ออ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยเผยแพร่ข้อสงวนดังกล่าวทั้งของไทยหรือสมาชิกอาเซียนให้ประชาชนชาวไทยรับรู้หรือไม่? มีสมาชิกอาเซียนใดที่ทำการยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว ชาวไทยต้องการคงไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ เป็นสมบัติของชาติ ที่บรรพบุรุษได้สร้างและมอบให้เรา แต่เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ครั้งนี้กลับยกเลิกข้อสงวนดังกล่าว ที่เป็นมรดกของชาติ” อยากเรียนถามว่า “ท่านมีวุฒิภาวะแค่นี้หรือ” ???
เป็นข้อมูลอีกด้านที่สอดคล้องกับรายงานของกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ที่ติดตาม และตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของข้อตกลงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โดยรายงานของ FTA Watch โต้แย้งว่า ข้อผูกมัดหรือพันธกรณีในการยกเลิกข้อสงวนของชาติสมาชิกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการจะยินยอมยกเลิกข้อสงวนด้านการลงทุนหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการเจรจา ดังที่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามก็ยังไม่ยอมยกเลิกข้อสงวนหลายรายการ
ทั้งนี้ FTA Watch ร่วมด้วยกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายชาวนา และองค์กรภาคประชาชนอีกไม่น้อย ตั้งข้อสังเกตว่า อาชีพทั้ง 3 ประเภท ซึ่งถือเป็นข้อสงวนชั่วคราวที่ยกเลิกได้ตามข้อตกลงนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจและกล้าหาญมากพอ ก็สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนดังกล่าวให้เป็นการลงทุนในประเด็น ‘อ่อนไหว’ ได้ ดังเช่นที่เคยบัญญัติให้ข้าวไทยจัดอยู่ในประเภทดังกล่าวมาแล้ว
“เป็นเรื่องยากมากที่จะยับยั้งการลงนามครั้งนี้ เท่าที่ทราบจะมีการลงนามกันในเดือนตุลาคมนี้ คงยับยั้งไม่ทันและยับยั้งไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้ประชาชน และทุกๆ ภาคส่วนในสังคมร่วมกันเรียกร้อง และติดตามข้อตกลงนี้ เพราะจะเกิดผลกระทบมหาศาลกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเปิดช่องทางให้ต่างชาติเข้ามาควบกลืนกสิกรรมของไทย การยกเลิกข้อสงวนซึ่งยอมให้เข้ามาเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้นั้นจะเป็นแค่เรื่องบังหน้า เพราะจริงๆ แล้วต่างชาติต้องการขยายอาณาเขตน่านน้ำ เรื่องนี้อันตรายมาก ใครๆ ก็รู้ว่าอาณาเขตตน่านน้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่รัฐไทยก็ยอมให้ต่างชาติมาลงทุนได้
“การลงทุนทำป่าปลูก ก็จะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าในเมืองไทย เพราะต่างชาติเขาเข้ามาลงทุนเพื่อทดลอง เพื่อกว้านซื้อที่สำหรับปลูกพืชพลังงานทางเลือก เช่น ‘ละหุ่ง’ ในอนาคตป่าไม้ของประเทศไทยก็จะหมดไป กลายเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชเชื้อเพลิง กลายเป็นที่ปลูกน้ำมัน
“ส่วนการยินยอมให้เพาะพันธุ์พืช เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพันธุ์ข้าวของเราจะไม่ถูกต่างชาติขโมย แน่ใจหรือ จะยับยั้งเทคโนโลยีปัจจุบันที่ต่างชาติมีเหนือกว่าเราในการดัดแปลงพันธุ์ข้าวหอมมะลิของไทย
ตอนนี้นักลงทุนต่างชาติก็มากว้านซื้อที่สำหรับการทดลองพันธุ์พืชกันแล้ว”
เป็นการ ‘กลืนกิน’ ประเทศในคราบของ ‘เสรีการลงทุน’ เช่นนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยอย่างเดียวกับที่กลุ่ม FTA Watch แถลงไว้ ว่า การยกเลิกข้อสงวนในการเปิดเสรีการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามความตกลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีการค้า ที่จะเริ่มขึ้นในปี 2553 นั้น
คำถามสำคัญก็คือเหตุใด? จึงไม่มีการทำประชามติ ไม่มีการรับฟังความเห็นของประชาชนเจ้าของประเทศ ทั้งที่ข้อตกลงนี้จะนำมาซึ่งผลกระทบและความเสียหายใหญ่หลวงต่อภาคเกษตร ประมง และป่าไม้ของไทย
ว่าไปแล้ว ข้อกังขาที่ว่านั้นคงมีคำอธิบายง่ายๆ นั่นก็คือ ผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการลงทุนสมคบคิดข้ามชาตินี้ ไม่ใช่ประชาชนคนเดินดิน
เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจ?
เสียงที่ห่างไกล
ข้อกังขาที่เกริ่นไปนั้น ใช่จะเลื่อนลอย ไร้คำยืนยัน เพราะเรานำข้อตกลงดังกล่าวไปสุ่มถามเกษตรกร ผู้ถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรง หากอาชีพด้านกสิกรรมถูกต่างชาติยึดครอง และนี่คือคำตอบของพวกเขา
“ผมไม่รู้เรื่องนี้เลย แล้วทำไมรัฐบาลไทยถึงยอมให้ต่างชาติเข้ามา ถ้ารัฐบอกว่าทำเพื่อการค้า หมายความว่ารัฐมองไม่เห็นความสำคัญของเกษตรกรไทย เกษตรกรไทยไม่มีความหมายเลยหรือ? ยอมให้เขาเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทำไม บ่อกุ้ง บ่อปลา เราก็มี เราทำเองได้ ทำไมต้องยอมให้ต่างชาติเขาเข้ามาทำประมงในเมืองไทย”
บันเทิง มีจั่น เกษตรกรวัยกลางคน ตอบด้วยอารมณ์ตระหนกตกใจไม่น้อย เมื่อได้ยินคำถามว่า คิดเห็นเช่นไรในการที่รัฐบาลไทยจะลงนามในข้อตกลงที่ยินยอมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำเกษตรกรรมในบ้านเมืองเรา
“หรือถ้าเขาเข้ามาทดลองพัฒนาพันธุ์พืช หรือพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ เขาก็ส่งกลับไปบ้านเมืองเขา แล้วใครจะมากินข้าวเรา ชาวนาไทยจะไปอยู่ที่ไหน? รัฐบาลต้องไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาทดลองเมล็ดพันธุ์และพันธุ์ข้าว”
นอกจาก บันเทิง มีจั่น แล้ว ความเห็นของ สมใจ สมรูป เกษตรกรวัยไล่เลี่ยกัน ก็น่ารับฟังไม่น้อย แม้จะเป็นเพียงความเห็นสั้นๆ ก็ตาม
“ผมไม่เห็นด้วยครับ ไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามาทำกสิกรรมในบ้านเรา เขาเข้ามา เขาก็ทำตามออเดอร์ ส่งให้นักธุรกิจ ส่งให้พวกที่อยู่ ‘ข้างบน’ ส่วนชาวนาอย่างเราก็โดนกดราคา เหมือนกับ FTA ไงล่ะ ทำให้ข้าวต่างชาติเข้ามาถูก ไม่ต้องเสียภาษี แล้วก็กดราคาข้าวไทย ยิ่งถ้าให้เขาเข้ามาทำเกษตรกรรม แล้วชาวนาไทยจะทำยังไง?” นั่นสิ ชาวนาไทยจะทำอย่างไร?
สำคัญกว่านั้น คำถามที่เบาแสนเบานี้ จะลอยไปถึงหูท่านผู้นำ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่หัวหินหรือไม่ ?
************
มุมมองนายฮ้อย และอ้ายคล้าว
นอกจากความเห็นของเกษตรกรตัวจริงแล้ว น่าจะลองฟังดารามากฝีมือที่เคยสวมบทเป็นชาวนา หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินกันบ้าง เหตุผลง่ายๆ ก็เพียงเพราะเราอยากรู้ว่า นอกจากบทบาทการแสดงแล้ว ดาราที่เคยผ่านบทรากหญ้ามาก่อน จะมีความสนใจ ใส่ใจในปัญหาของชาวนาไทยหรือไม่
และถ้าจะวัดกันเรื่องฝีไม้ลายมือในการเล่นละคร รวมถึง ‘กึ๋น’ หรือมุมมองคมๆ ที่มีต่อปัญหาต่างๆ ของชาติบ้านเมืองแล้ว ชื่อของ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ผู้เคยรับบทอ้ายคล้าวแห่งท้องทุ่ง และนายฮ้อยทมิฬถิ่นอีสาน จึงผุดขึ้นมาในความคิด ว่าแล้ว เราก็ต่อสายตรงไปถามไถ่ถึงความเห็นที่เขามีต่อข้อตกลง ACIA ได้ความว่า
“อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพของคนไทย แผ่นดินทำกินของบ้านเรา แน่นอนอยู่แล้วว่า คนที่มีสิทธิ์ในเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ย่อมต้องเป็นพลเมืองไทยครับ
“เกิดเป็นเกษตรกรบนผืนแผ่นดินไทย มีภาระต้องแบกรับความยากลำบากเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เกษตรกรก็ยิ่งลำบากขึ้นกว่าเก่า” ฉะนั้น อ้ายคล้าวมองว่า เรื่องที่ผู้บริหารบ้านเมืองควรดำเนินการมากกว่าเรื่องข้างต้นคือ การทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีกินมีใช้
“การดำเนินการเรื่อง ACIA แม้จะส่งผลให้ปริมาณหรือคุณภาพของผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น และกระจายไปทั่วโลกได้ แต่ท้ายที่สุดหากผลประโยชน์ตกไปอยู่กับกลุ่มทุนต่างชาติ ก็ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะดำเนินการ”
ศรัณยูทิ้งท้ายว่า หากเกษตรกรรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องดังกล่าว ผลที่น่าจะเกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวของภาคเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ ก่อนหน้านี้ ที่กว่าจะประสบผลสำเร็จใช้เวลายาวนานเหลือเกิน บางครั้งเรื่องก็เงียบหายไปเสียดื้อๆ ทางที่ดี ภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหันมาดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง
เพื่อที่ผลประโยชน์ของชาติจะไม่หลุดลอยจากมือคนในชาติไปด้วยการ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’
...นี่สิ ‘นายฮ้อย’ ตัวจริง…
**************
เรื่อง: ทีมข่าวคลิก
ภาพ: พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร